คนจะนะฟ้องศาลปกครอง เรียก200ล้าน กรมเจ้าท่าทำชายหาดพัง

 

เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 51 เวลาประมาณ 10.30 น. ณ ศาลปกครองจังหวัดสงขลา ชาวบ้านจากตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ประมาณ 20 คน ยื่นคำร้องฟ้องกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี และอธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี ให้ใช้ชดเชยค่าเสียหาย เป็นจำนวนเงินร่วม 200 ล้านบาท ซึ่งศาลปกครองจังหวัดสงขลาได้รับคำร้องไว้พิจารณาหมายเลขที่ 16/2551

 

ผู้ที่ยื่นฟ้องประกอบด้วย นายสาลี มะประสิทธ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 บ้านโคกสัก ต.สะกอม ผู้ฟ้องคดีที่ 1 นายดลรอหมาน โต๊ะกาหวี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 บ้านบ่อโชน ต.สะกอม ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และ นายเจะหมัด สังข์แก้ว สมาชิกอบต.หมู่ที่ 7 ต.สะกอม ผู้ฟ้องคดีที่ 3 เป็นตัวแทนชาวบ้าน ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ยื่นคำร้องฟ้อง กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และอธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เนื่องจากผู้ถูกฟ้องทั้งสองเป็นผู้ทำให้ชายหาดบริเวณตำบลสะกอมพังเสียหาย เนื่องจากการดำเนินการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นบริเวณปากบางสะกอม

 

ผู้ยื่นฟ้องทั้งสามเป็นตัวแทนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการดำเนินการของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี โดยยื่นฟ้องขอให้ศาลปกครองสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ฟ้องคดีทั้งสาม เนื่องจากทำให้ชายหาดบริเวณบ้านตำบลสะกอม ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติ สมบัติของชุมชนพังเสียหาย ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตการประกอบอาชีพประมงและจับสัตว์น้ำบริเวณชายหาด ทำให้ขาดรายได้และขาดประโยชน์จากการได้ใช้ชายหาดสะกอม นับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 41 ถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 9 ปี เป็นเงิน 3,664,149 บาท

 

และขอให้ศาลปกครองสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐ ตามมาตรา 97 แห่งพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูเยียวยาชายหาดสะกอมให้กลับมามีสภาพดีใกล้เคียงกับสภาพเดิมมากที่สุด ปีละ 21,000,000 บาท รวมระยะเวลา 9 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 189,000,000 บาท รวมเป็นเงินยื่นฟ้องทั้งสิ้น 192,664,149 บาท

 

นายสาลี มะประสิทธิ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 บ้านโคกสัก ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า การพังของชายหาดส่งผลกระทบต่อจิตใจตนเองและชาวบ้านตำบลสะกอม เพราะผูกพันกับชายหาด ชายหาดดังกล่าว ชาวบ้านตำบลสะกอมและชาวบ้านตำบลใกล้เคียงได้อาศัยดำรงชีพมาอย่างช้านานตั้งแต่บรรพบุรุษ และพวกตนต้องการรักษาไว้ให้เป็นมรดกแก่ลูกหลานคนรุ่นหลังและแก่ประชาชนไทยที่จะได้ใช้ประโยชน์จากชายหาดต่อไปโดยไม่สิ้นสุด

 

พวกตนตระหนักว่าชายหาดสะกอมมีคุณประโยชน์อันประมาณมิได้ เพราะนอกจากคุณประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ สังคม เชิงระบบนิเวศ เดิมชายหาดสะกอมเป็นชายหาดที่มีหาดทรายละเอียด ทัศนียภาพงดงาม สงบสุข อากาศดีตลอดทั้งปี และที่สำคัญเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนในชุมชนและบริเวณชุมชนใกล้เคียง ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชายหาดพังเนื่องจากการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นบริเวณปากบางสะกอม จึงฟ้องร้องต่อกรมเจ้าท่าและอธิบดีให้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 14 ม.ค.51 สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดประชุมชี้แจงโครงการศึกษาจัดทำแผนหลักและออกแบบเบื้องต้นในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ตั้งแต่แหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช ถึงปากน้ำทะเลสาบสงขลา ตามที่ได้รับมอบหมายจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

ในเอกสารโครงการระบุสาเหตุของการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงว่ามาจากสองสาเหตุหลักคือ การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ โดยคลื่นใหญ่ในช่วงมรสุมจะกัดเซาะทรายชายหาดออกไปนอกฝั่ง จากนั้นคลื่นขนาดเล็กจะค่อยๆ พัดพาทรายที่กองอยู่นอกฝั่งกลับคืนเข้าหาฝั่ง

 

ส่วนอีกสาเหตุมาจากมนุษย์ โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ เขื่อนกันคลื่นรุกล้ำลงไปในทะเล ทำให้เกิดการกัดเซาะหรือเปลี่ยนแปลงชายฝั่งมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งปัจจุบัน

 

สำหรับพื้นที่ศึกษาสามารถสรุปสาเหตุได้ว่า มาจากการขาดความสมดุลของทรายชายหาด เนื่องจากปัจจุบัน มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่โครงสร้างป้องกันการกัดเซาะ ได้แก่ คันดักทราย เกาะกันกัดเซาะ เขื่อนกันทรายและคลื่น กำแพงกันตลิ่ง ตะกอนทรายจึงถูกดักไว้ ทำให้ปริมาณมวลทรายเคลื่อนที่ตามแนวชายฝั่งลดลง ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอีกด้านของโครงสร้างดังกล่าว

 

นอกจากนี้มีการก่อสร้างถนนเลียบชายหาด ทำให้ตะกอนไม่สามารถเคลื่อนลงสู่ชายหาดได้ทำให้ปริมาณตะกอนทรายลดลงด้วยเช่นกัน

 

ส่วนสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ สภาพคลื่นลม ซึ่งในเดือนธันวาคมและมกราคมมีความรุนแรงและคลื่นสูง ประกอบกับระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นมากในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม ทำให้คลื่นมีพลังงานมากในการเคลื่อนมวลทรายในบริเวณที่มีสิ่งก่อสร้างขนานกับชายฝั่ง ทำให้เกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรง รวมทั้งการใช้ประโยชน์ที่ดินและการลดลงของป่าชายเลนทำให้ขาดความสมดุล ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงได้ด้วย

 

สำหรับการจัดโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนเอกสารวิชาการและประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนหลักในการแก้ปัญหากับโครงสร้างที่มีอยู่แล้ว และออกแบบการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะในพื้นที่วิกฤตที่ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนและกำหนดผู้รับผิดชอบเพื่อดำเนินการอย่างเหมาะสมต่อไป โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 540 วัน

 

ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก ireport : ฟ้องศาลปกครองสงขลา กรมเจ้าท่าทำชายหาดพัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท