Skip to main content
sharethis

ขึ้นเงินประจำตำแหน่ง ประธานองคมนตรี - รัฐบุรุษพร้อมคณะ
มติชนออนไลน์ :  25 มกราคม มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งขององคมนตรีและรัฐบุรุษ พ.ศ.2551 ในราชกิจจานุเบกษาปรับขึ้นเงินประจำตำแหน่งให้ประธานองคมนตรีเป็นเดือนละ 121,990 บาท จากเดิม 114,000 บาท องคมนตรีได้รับ 112,250 บาท จากเดิม 104,500 บาท สำหรับผู้ซึ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯยกย่องไว้ในฐานะรัฐบุรุษได้รับเงินประจำตำแหน่งเป็นรายเดือน เดือนละ 121,990 บาทจากเดิมเดือนละ 100,000 บาท ทั้งนี้เหตุผลในการเพิ่มเงินประจำตำแหน่งดังกล่าวเนื่องจากอัตราเงินประจำตำแหน่งเดิมไม่สอดคล้องกับภาวการณ์ในปัจจุบัน สมควรปรับปรุงอัตราเงินประจำตำแหน่งให้เหมาะสมยิ่งขึ้น


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้าหนี้ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2551 มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาปรับขึ้นเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม ข้าราชการตุลาการศาลปกครองและข้าราชการอัยการโดยเงินประจำตำแหน่งของประธานองคมนตรี รัฐบุรุษเท่ากับเงินเดือนของประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด


ปชป.วางสเป็ค รมต. 4 ต้อง 2 ไม่
เว็บไซต์แนวหน้า : นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) เปิดแถลงข่าวว่า การที่มีข่าวพรรคร่วมรัฐบาลกำลังข่าวแย่งตำแหน่งรัฐมนตรีในขณะนี้ ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ได้สร้างความหวังให้กับประเทศชาติ เนื่องจากวิกฤตการเมืองที่ผ่านมาไม่ได้ยึดบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง ดังนั้น คนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีต้องยึดหลัก 4 ต้อง 2 ไม่ คือ 1.ต้องไม่เลือกนายกรัฐมนตรีที่มีมลทินมัวหมอง 2.ต้องสรรหารัฐมนตรีที่ไม่มีประวัติด่างพร้อย 3.ต้องตั้งรัฐมนตรีโดยยึดหลักความรู้และความซื่อสัตย์ และ 4.ต้องเลือกคนที่มีประสิทธิภาพเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศชาติไทย ส่วน 2 ไม่ คือ 1.ไม่ตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอมินี และ2.ไม่ตั้งรัฐมนตรีสีเทา เพราะการเลือกตั้งวันที่ 23 ธ.ค.2550 ประชาชนมีความหวังว่า การเมืองจะแก้ไขปัญหาประเทศชาติได้ ดังนั้น การตั้งรัฐบาลใหม่ควรสร้างความหวังให้กับประชาชน และไม่ควรย้อนกลับไปสู่การเมืองยุคเก่า



ชง 13 มาตรการเร่งด่วน สอท.จี้ลดดอกเบี้ย-ภาษีฟื้นศก.
เว็บไซต์แนวหน้า
: สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอแนวทางเร่งด่วน 13 ข้อ แนะรัฐบาลใหม่ใช้เป็นแนวทางวางแผนรับมือภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ โดยผลักดันให้มีการลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดภาษีเงินได้ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา รวมทั้งเร่งรัดการลงทุนในโครงการเมกกะโปรเจ็กต์ ขณะที่สภาพัฒน์เสนอให้มุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจกลุ่มฐานรากและธุรกิจเอสเอ็มอี รวมทั้งลดการพึ่งพิงการส่งออกให้น้อยลง


โดยแผนระยะสั้น มีทั้งสิ้น 13 ข้อ ประกอบด้วย การลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้ใช้อัตราอ้างอิงเปรียบเทียบกับการลดดอกเบี้ยของสหรัฐ การเสนอขอให้รัฐบาลลดการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลลงอีกร้อยละ 5 การขยายเวลานำผลขาดทุนสะสมมาหักภาษีเงินได้ จาก 5 ปี เป็น 8 ปี และให้มีการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมถึงเพิ่มค่าหักลดหย่อนในอัตราก้าวหน้า สำหรับผู้มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอขอให้รัฐบาล คงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ร้อยละ 7 ไปจนกว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศจะฟื้นตัว การขอให้รัฐบาลเร่งรัดการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจค และก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพื่อไม่ให้ประเทศเสียโอกาสแข่งขัน และมีต้นทุนอุตสาหกรรมสูง เนื่องจากประเทศในภูมิภาคเอเชียที่เป็นคู่แข่งของไทย ต่างเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้วทั้งสิ้น ขณะเดียวกันยังขอให้ภาครัฐสนับสนุนค่าใช้จ่าย การประกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน โดยขอให้เอกชน นำผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนมาหักค่าใช้จ่าย ได้ 2-3 เท่า ซึ่งประเด็นนี้จะช่วยลดการเก็งกำไรค่าเงินของผู้ส่งออกได้


ข้อเสนอขอให้รัฐบาล จัดสรรงบประมาณร้อยละ 2 เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา หรือ R&D สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้วัตถุดิบในประเทศสูง การเสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การดูแลผลกระทบที่มีต่อค่าเงินบาทโดยให้คงมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไว้ และสำหรับอุตสาหกรรมที่มีการใช้วัตถุในประเทศมากกว่าร้อยละ 75 ให้ลดอัตราภาษีนิติบุคคลลงอีกร้อยละ 10 และให้ความช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งให้รัฐบาลจัดโรดโชว์ไปประเทศคู่ค้าและประเทศตลาดเป้าหมาย ขอให้รัฐบาลเร่งขยายฐานภาษี โดยมีมาตรการจูงใจให้ผู้เสียภาษีเข้าระบบมากขึ้น การขอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อบริหารการใช้พืชพลังงานทดแทน เช่น จัดตั้ง ปาล์ม ออย บอร์ด เพื่อดูแลการผลิตและใช้น้ำมันปาล์ม และสุดท้าย ขอให้ภาครัฐสนับสนุนความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระหว่างภาครัฐและเอกชนให้มีมากยิ่งขึ้น



สศช.แนะรบ.ใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจรากฐาน
เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ : รองเลขาธิการสภาพัฒน์ เสนอรัฐบาลใหม่ส่งเสริมเศรษฐกิจกลุ่มฐานรากและธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจปี 51 รับมือปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในงานสัมมนาในหัวข้อ "หลังเลือกตั้ง เศรษฐกิจไทยฟื้นจริงหรือ" ซึ่งจัดโดยบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ว่า รัฐบาลใหม่จะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและเอสเอ็มอี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ เนื่องจากประเทศไทยไม่สามารถพึ่งพิงการส่งออกจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เหมือนกับปีที่แล้ว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ดังนั้น การทำให้กลุ่มรากหญ้าและกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มีรายได้ จะทำให้เกิดการจับจ่าย ทาง สศช. เห็นว่าควรดำเนินโครงการโอท็อปต่อเนื่อง และสร้างความหลากหลายในกลุ่มสินค้า ให้ตอบสนองกำลังซื้อในวัยทำงานที่เปลี่ยนไป โดยจะนำเสนอแนวคิดนี้ต่อรัฐบาลใหม่ นอกจากนี้ยังเห็นว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับสินค้าภาคเกษตร โดยเฉพาะพืชทางเลือกที่จะนำไปผลิตพลังงานทดแทนอย่างจริงจัง หากทำได้ จะทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกน้อยลง



กกต.เตรียมประกาศชื่อ ส.ว.สรรหา 28 ม.ค.นี้ ก่อนส่งให้ กก.สรรหาคัดสรร
เว็บไซต์แนวหน้า
: นางสดศรี สัตยธรรม กกต. ด้านกิจการพรรคการเมือง  กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรตามรัฐบาลเพื่อเข้ารับการแต่งตั้งเป็น ส.ว. สรรหา ว่า ในวันที่  28 ม.ค. นี้ กกต.จะพิจารณาพร้อมประกาศว่าบุคคลใดบ้างที่องค์กรเสนอชื่อเข้ามาผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเข้ารับการพิจารณาสรรหาของคณะกรรมการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งเป็นส.ว.สรรหาทั้ง 74  คน  โดยกกต.จะตรวจสอบจะดูว่าใครบ้างที่เคยเป็นสมาชิกพรรคการเมือง และพ้นลาออกไม่เกิน  5  ปี ตามที่กฎหมายกำหนด  ซึ่งจะมีการตัดชื่อผู้สมัครบางส่วนออกไป


ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแล้วอาจจะจะเหลืองเพียงผู้ที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสรรหาเพียง  500-600 คนเท่านั้น  ส่วนผู้สมัครส.ว.นั้นทางกกต.จังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติภายใน 7  วัน ก่อนที่จะประกาศรับรองเช่นเดียวกัน ทั้งนี้หากบุคคลใดไม่ได้รับการประกาศเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อหรือสมัครเลือกตั้งส.ว.ก็สามารถร้องต่อศาลฎีกาได้ ส่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าวันเลือกตั้งส.ว.คือวันใดนั้น ขณะนี้ทางกกต.ได้เร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้มากขึ้น  โดยได้จัดทำสปอตโฆษณา และการลงสื่อทางหนังสือพิมพ์ เพื่อสร้างความเข้าใจให้ประชาชนมากขึ้น


5ชาติสำคัญยูเอ็น โอเคร่างมติคว่ำบาตรอิหร่าน
เว็บไซต์คมชัดลึก
: อิหร่านอาจจะเจอมาตรการคว่ำบาตรที่หนักขึ้นจากสหประชาชาติ หลังจากที่ 6 ชาติสมาชิกสำคัญของสหประชาติ เห็นพ้องกันเรียบร้อยในเนื้อหารายละเอียดของมติคว่ำบาตรใหม่ของสหประชาชาติ ร่างมติคว่ำบาตรครั้งใหม่นี้ เป็นการเห็นพ้องร่วมกันที่กรุงเบอร์ลิน ในเยอรมนี เมื่อวันอังคาร ระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศ 5 ชาติที่มีอำนาจวีโต้ หรือสิทธิยับยั้งมติ ในคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ประกอบด้วย อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย และสหรัฐ นอกจากนั้น ก็ยังรวมถึงประเทศเจ้าภาพเยอรมนีด้วย

ร่างนี้ได้ถูกส่งให้กับทั้ง 15 ชาติสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติแล้วเมื่อวันศุกร์ โดยมันจะถูกใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการจัดทำมติคว่ำบาตรอิหร่านทั้งทางเศรษฐกิจและการค้าชุดที่ 3 เพื่อลงโทษที่ไม่ยอมยุติโครงการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมตามคำสั่งของสหประชาติ เพราะเกรงกันว่าอาจจะนำไปสู่การผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้

ในร่างมตินี้ขอให้ทุกประเทศ ตรวจสอบสินค้าที่จะส่งเข้าไป และออกมาจากอิหร่านเพราะเชื่อว่า เรือและเครื่องบิน อาจจะถูกใช้ขนส่งสินค้าต้องห้ามที่กำหนดไว้ในมติ นอกจากนั้น ก็ยังห้ามเจ้าหน้าที่โครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธของอิหร่านเดินทางออกนอกประเทศด้วย

นายฌอง มัวริซ ริแปร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสหประชาชาติบอกว่า ในร่างนี้มีการใช้คำแรงๆที่ชี้ให้เห็นแนวความคิดของประชาคมโลก เพื่อให้อิหร่านเข้าใจว่า โลกจะกดดันอิหร่านมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net