Skip to main content
sharethis

25 ม.ค. 51 รายงานเรื่อง "ลดโลกร้อนด้วยเกษตรกรรมเชิงนิเวศ" ของกรีนพีซ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยศาสตราจารย์พีท สมิธ จากมหาวิทยาลัยอะเบอร์ดีน ผู้เขียนรายงานฉบับล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้ระบุถึงผลกระทบ ทั้งทางตรงและทางอ้อมของเกษตรกรรม ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลสำรวจปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคเกษตรกรรม


 


"การทำเกษตรกรรมเชิงอุตสาหกรรมถือเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่ง ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น รัฐบาลทั่วโลกจึงควรให้การสนับสนุนการทำเกษตรกรรมวิถีธรรมชาติ  ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลกน้อยกว่าและยั่งยืนกว่าการเกษตรกรรมเชิงอุตสาหกรรม" นางสาวณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพันธุวิศวกรรม กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว


 


ในรายงานยังชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการทำเกษตรกรรมในปัจจุบัน และปริมาณการเพิ่มของก๊าซเรือนกระจกว่า มีสาเหตุหลักจากการใช้ปุ๋ยในปริมาณมาก การทำลายหน้าดิน การลดคุณภาพดินและการทำปศุสัตว์ ผลการสำรวจพบว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของทั่วโลกจากการทำเกษตรกรรม การทำลายป่าเพื่อการเกษตรและการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินนั้นมีปริมาณสูงถึง 8.5-16.5 พันล้านตัน หรือ 17-32% ของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีสาเหตุมาจากมนุษย์


 


การใส่ปุ๋ยในปริมาณมากเพียงอย่างเดียวส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 2.1 พันล้านตันต่อปี รวมถึงก๊าซไนตรัสออกไซด์ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 300 เท่า


 


นอกจากนี้ในรายงาน "ไนเตรทกับคุณภาพน้ำใต้ดินในประเทศไทย" ของกรีนพีซที่เปิดเผยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ยังระบุถึงผลกระทบจากการใช้ปุ๋ยในปริมาณมากว่า ทำให้เกิดการปนเปื้อนไนเตรทในแหล่งน้ำบาดาลหลายแห่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพในระยะยาวได้


 


 "รัฐบาลควรให้ความรู้แก่เกษตรกรในเรื่องการใช้สารเคมีเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ หลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยเกินความจำเป็นเบื้องต้นของพืช โดยให้ใส่ในเวลาที่สมควร และใส่ในตำแหน่งที่ถูกต้องเพื่อลดการสูญเสีย แต่ทางออกที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดก็คือการทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศ" นางสาวณัฐวิภากล่าวเสริม


 


ทางออกสำหรับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากวิธีการทำการเกษตรในปัจจุบันนั้นอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงวิธีการด้านทำการเกษตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มแหล่งดูดซับคาร์บอนหรือคาร์บอนซิงค์ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วควรเริ่มลงมือแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังโดยมุ่งไปที่การใส่ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสม ปกป้องหน้าดิน ปรับปรุงและพัฒนาการผลิตข้าว และลดความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์


 


 


...................................


หมายเหตุ


ศาสตรจารย์พีท สมิธ เป็นผู้เขียนรายงานเรื่อง "การบรรเทาสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ในบทที่ 8 (การเกษตร) ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) สามารถติดตามได้จาก http://www.ipcc.ch/ipccreports/ar4-wg3.htm


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net