Skip to main content
sharethis

สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดโครงการทัศนศึกษาเรียนรู้ชุมชนพหุวัฒนธรรม "เมื่อนักศึกษามุสลิมเยือนวัดและนักศึกษาพุทธมามกะเยือนมัสยิด" ณ ชุมชนตำบลตะโหมด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง เทอมละครั้ง ในช่วงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ และวันที่ 1 สิงหาคม 2551


 


สถานที่เยี่ยมเยือนได้แก่ที่ ลานวัดตะโหมดและมัสยิดประจำตำบลตะโหมด โดยระบุหลักการและเหตุผลไว้ว่า ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้น เกิดการใช้ความรุนแรงในหมู่เยาวชน ทั้งในฐานะผู้ร่วมก่อการ ผู้ร่วมแก้ไขปัญหาและผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม มีผลทำให้เกิดลักษณะความสัมพันธ์ที่ไม่ปกติในการอยู่ร่วมกัน เช่น การแบ่งแยกเยาวชนกลุ่มต่างๆ ให้เป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ฝ่ายชาวบ้านหรือฝ่ายแนวร่วมก่อความไม่สงบ รวมถึงมีการแบ่งแยกคนในพื้นที่ระหว่างชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม ทั้งในการทำกิจกรรม การอยู่ร่วมกัน หรือแม้แต่การได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ


 


ปรากฏการณ์ทั้งหมดส่งผลให้ ทั้งการปฏิสัมพันธ์และการใช้ชีวิตประจำวันของเยาวชนที่ต่างศาสนากัน มีระยะห่างมากขึ้น และเกิดข้อสงสัยต่อวิถีชีวิต ศาสนา วัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของกันและกัน


 


ปรากฏการณ์ทั้งหมด ทำให้เกิดแง่คิดหนึ่งว่าเยาวชน วัยรุ่นและนักศึกษาทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ ซึ่งได้รับผลกระทบและมีส่วนสำคัญต่อการขยายความรุนแรง ที่รับรู้ข่าวสารผ่านสื่อ จนเกิดความสับสน สงสัยในข้อมูลข่าวสาร บ้างทีมีข้อโต้แย้งหรือคล้อยตามการนำเสนอของสื่อ


 


แม้เยาวชนบางส่วนอาสาร่วมงานกับทั้งสื่อมวลชน หน่วยงานรัฐและเอกชนที่แก้ไขปัญหาในพื้นที่ ขณะเดียวกันเยาวชนอีกบางส่วนยังสนใจที่เหตุการณ์รายวัน ซึ่งหลายครั้งมักละเลยปัญหาพื้นฐาน เช่น ความไว้วางใจที่มีต่อกันในการอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างทางศาสนาของคนในพื้นที่ ซึ่งส่งผลต่อความสัมพันธ์ของประชาชนชาวไทยในภาพรวมที่ได้รับผลกระทบจากข่าวสารเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย


 


จากการติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) มีข้อวินิจฉัย ว่าความรุนแรงในพื้นที่มาจากเงื่อนไข 3 ประการ คือ เงื่อนไขเชิงบุคคล ได้แก่ หนึ่ง ผู้ก่อความไม่สงบและฝ่ายรัฐตอบโต้กันด้วยความรุนแรง


 


สอง เงื่อนไขเชิงโครงสร้าง ได้แก่ ความไม่เป็นธรรมที่เกิดจากขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมและการปกครองที่เป็นอยู่ ปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจและทรัพยากรที่ไม่เอื้ออำนวยให้คนในพื้นที่สามารถเอาชนะความท้าทายในรูปแบบต่างๆ ทั้งปัญหาในทางโลกและทางธรรม


 


ปัญหาที่เกิดจากความแตกต่างของประชากร การเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตระหว่างผู้คนที่มีเชื้อสายและศาสนาเดียวกัน บริเวณชายแดนภาคใต้ของไทยกับมาเลเซีย


 


และประการสุดท้ายเป็นเงื่อนไขทางวัฒนธรรม คือ ลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์ ภาษา ศาสนาและชาติพันธุ์ของคนในพื้นที่


 


ส่วนหนึ่งคือเยาวชน วัยรุ่นและนักศึกษายังขาดความเข้าใจ การเรียนรู้และตระหนักถึงความแตกต่างของกันและกัน ปัญหานี้หากไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา อาจทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกของเยาวชนเกิดความห่างเหินและอยู่อย่างแบ่งแยกมากยิ่งขึ้น


 


มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้สนองนโยบายของรัฐบาลในการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยใช้การศึกษาชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการเรียนรู้ สร้างความเข้าใจในเรื่องพหุลักษณ์ พหุวัฒนธรรม


 


ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เข้ารับการศึกษาได้ร่วมทำกิจกรรมและสามารถบูรณาการความแตกต่างทางภาษา ศาสนาและชาติพันธุ์เข้ากับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ของตนเข้ากับความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ด้วยกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ โดยจัดโครงการ "เมื่อมุสลิมเยือนวัดและพุทธมามกะเยือนมัสยิด" ขึ้น


 


เป็นกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ชุมชนพหุวัฒนธรรม ผ่านกิจกรรมที่นำนักศึกษามุสลิมเยือนวัด เพื่อเรียนรู้หลักคำสอน วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวไทยพุทธที่ต่างจากที่ตน และนำนักศึกษาชาวไทยพุทธเยือนมัสยิด เรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวไทยมุสลิม และเป็นการศึกษาชุมชนต้นแบบการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ


 


การจุดประกายการเรียนรู้โดยการนำนักศึกษาต่างศาสนา ต่างสาขาวิชาและชั้นปี จำนวน 40 คน ต่อครั้งในหนึ่งเทอมได้ลงชุมชนดังกล่าว


 


ทั้งนี้ เพื่อศึกษาเรียนรู้ ฟังเจ้าอาวาส โต๊ะอิหม่าม ผู้นำชุมชนและชาวบ้าน ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ อีกทั้งยังเป็นการทำความรู้จักและสร้างบรรยากาศแห่งความสามัคคี ความเข้าใจในหมู่นักศึกษา ส่งเสริมให้มีทัศนคติที่ดีในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม จะนำไปสู่การสร้างสันติสุขในการอยู่ร่วมกัน



 


 






ข้อมูลสถานที่เกี่ยวกับ "ตะโหมด" จังหวัดพัทลุง


 


พัทลุงจัดงานสงกรานต์พุทธ - อิสลามแห่งเดียวในโลก


 


ข่าวจากผู้จัดการออนไลน์ 15/04/49


 


นายสม อักษรพันธ์ กำนันตำบลตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง ร่วมกับคณะกรรมการสภาลานวัดตะโหมด กรรมการวัดตะโหมดและผู้นำศาสนาอิสลาม ได้จัดให้มีการทำบุญเยี่ยมหลุมฝังศพผู้นับถือศาสนาอิสลามและทำบุญให้กับผู้ท ี่นับถือศาสนาพุทธที่ล่วงลับไปแล้ว ณ บริเวณป่าช้าและกุโมควนตะโหมด หมู่ที่ 3 ต.ตะโหมด โดยมีประชาชนจากหลายตำบลที่นับถือศาสนาอิสลามและผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ร่วมกันกัดพิธีทำบุญร่วมกันหลายพันคน


 


นายสม อักษรพันธ์ กำนันตำบลตะโหมด กล่าวว่า พิธีทำบุญ 2 ศาสนาของพี่น้องชาวตำบลตะโหมดและตำบลใกล้เคียงมีจัดติดต่อกันมาแล้วกว่า 100 ปี โดยได้กำหนดเอาวันที่ 15 เมษายนของทุกปี จัดกิจกรรมทำบุญร่วมกันระหว่างศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม สำหรับกิจกรรมของประเพณีที่จัดขึ้นนั้น เริ่มจากในช่วงเช้าผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามจะทำพิธีเยี่ยมหลุมฝังศพของบรรพบุรุษที่ฝังอยู่ในกุโบ ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันกับป่าช้าของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ หลังจากนั้นก็จะทำพิธีสงฆ์ตามหลักของศาสนาพุทธและผู้คนทั้ง 2 ศาสนาก็จะทำบุญร่วมกัน จัดแบ่งอาหารถวายพระและอาหารสำหรับผู้นำศาสนาอิสลามที่เดินทางมาร่วมพิธี


 


กำนันตำบลตะโหมดกล่าวอีกว่า ชาวตำบลตะโหมดทั้งศาสนาอิสลามและศาสนาพุทธได้อยู่ร่วมกันมาตั้งแต่อดีตจนถึง ปัจจุบัน ผู้คนทั้ง 2 ศาสนาได้ร่วมกันสร้างหลักเมืองที่สร้างด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ไว้เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนทั้ง 2 ศาสนาไว้ในที่กุโมฝังศพและป่าช้าของศาสนาพุทธ เมื่อถึงวันที่ 15 เมษายน ก็จะเดินทางมาทำบุญพร้อมกัน ซึ่งเป็นการทำบุญร่วมกันของ 2 ศาสนาแห่งเดียวในโลก


 


พระครูสุนทร กิจจานุโยค (พระครูสมชาย) นักเทศชื่อดังของจังหวัดพัทลุง รองเจ้าอาวาสวัดตะโหมด กล่าวว่า กิจกรรมทางศาสนาของประเพณี 2 ศาสนาที่จัดขึ้นครั้งนี้ เป็นการจัดงานตามประเพณีที่ผู้คนในอดีตได้จัดงานมาแล้วกว่า 100 ปี และเท่าที่ทราบก็มีแห่งเดียวในโลกที่ผู้คน 2 ศาสนาได้ทำบุญพร้อมกันและมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจสิ่งเดียวกันคือศาลหลักเมือง และหลุมฝังศพของโต๊ะหมูดผู้สร้างบ้านตะโหมดและศพก็ฝังอยู่ในป่าช้าควนตะโหมด เช่นเดียวกัน ส่วนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั้ง 2 ศาสนานั้น ผู้คนได้อยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข มีผู้นับถือศาสนาอิสลามเดินทางไปวัดและพระวัดตะโหมดก็เดินทางไปร่วมกิจกรรมทางศาสนาอิสลามอยู่เป็นประจำ บางครั้งก็นิมนต์พระไปปาฐกถาธรรมให้ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามได้ฟังด้วย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net