Skip to main content
sharethis


สารเคมีและอุปกรณ์ในการทำลายไม้สัก ที่ตำรวจจับกุมได้ ในเขตแก่งเสือเต้น


 


ประชาไท - ประเมินสถานการณ์ลุ่มน้ำในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ ต้นไม้สักตายที่แก่งเสือเต้นลางบอกเหตุเขื่อนเดินหน้าต่อ, พื้นที่เขื่อนสาละวิน กฟผ. ลงพื้นที่สร้างมวลชนสนับสนุนเขื่อน, เขื่อนกั้นน้ำโขงเตรียมผุดลาวอีกหลายแห่ง, ลุ่มน้ำลี้ถูกเกษตรเชิงเดี่ยวรุกหนัก


 


วันนี้ (21 ม.ค. 51) ที่ศูนย์พัฒนาศักยภาพเกษตรกร, อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ได้มีการพูดคุยถึงสถานการณ์ของชาวบ้านในแถบลุ่มน้ำต่างๆ ถึงปัญหาที่ผ่านมาและประเมินการเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือกันในอนาคต


 


ไม้สักตายที่แก่งเสือเต้น


สำหรับสถานการณ์ล่าสุดที่พื้นที่สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นก็คือ การที่ต้นสักถูกทำลายด้วยวิธีวางยา ซึ่งทางชุมชนได้ประเมินว่าอาจจะเป็นฝีมือของกลุ่มพ่อค้าไม้ธรรมดา หรือไม่ก็เป็นฝีมือของกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์หากจะมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นต่อ


 


โดยขณะนี้ทางกลุ่มชาวบ้านได้ลงสำรวจว่ามีต้นไม้ถูกทำลายไปเท่าใด โดยอาจจะมีกิจกรรมไว้อาลัย หรือทำให้ต้นไม้ที่ตายเหล่านั้นเป็นอนุสรณ์สถาน


 


สำหรับประเด็นการเดินหน้าสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นต่อไปนั้นค่อนข้างเงียบ ซึ่งอาจจะมีการตั้งคณะกรรมการชุดใหมืทั้งจากตัวแทนรัฐและตัวแทนชาวบ้าน


 


โดยตัวแทนชาวบ้านกล่าวว่าการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น จากข้อสรุปของงานวิจัยหลายชิ้นนั้นปรากฏว่า ถึงแม้จะมีเขื่อนก็ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ รวมถึงไม่คุ้มค่าในการสร้าง ซึ่งอาจจะสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กจะเหมาะสมกว่า ทั้งนี้หากอนุรักษ์พื้นที่ป่าไว้จะมีประโยชน์มากกว่าทั้งในแง่ของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม


 


กฟผ. ลงพื้นที่หาแนวร่วม ในเขตสาละวิน


ตัวแทนจากเครือข่ายในพื้นที่เขื่อนสาละวินได้กล่าวถึงความคืบหน้าในพื้นที่ โดยล่าสุดเครือข่ายได้ทำเรื่องถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้มีมติออกมาแล้วว่าไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนสาละวิน ทั้งนี้ รมต.พลังงาน ก็ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีส่วนในการสร้างเขื่อนสาละวินนี้


 


แต่ในทางปฏิบัติพบว่า เจ้าหน้าที่ของ กฟผ. กลับลงไปในเขตพื้นที่สร้างมวลชนเพื่อให้มีการสนับสนุนการสร้างเขื่อนตลอดเวลา รวมถึงการเคลื่อนไหวของชาวบ้านยังเป็นไปได้ยาก สาเหตุสำคัญก็คือชาวบ้านในเขตพื้นที่สาละวินนั้นส่วนใหญ่ยังเป็นคนไร้สัญชาติ ไม่ได้รับรองจากรัฐ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านกลัวที่จะออกมาเคลื่อนไหว


 


แต่ทั้งนี้ทางเครือข่ายก็ได้นำชาวบ้านออกไปดูงานในหลายพื้นที่ที่มีเขื่อน และพบว่าชาวบ้านเริ่มมีความตื่นตัวกันสูงเนื่องจากได้ไปเห็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งนี้ทางชาวบ้านเองอยากที่จะให้องค์กรจากภายนอกเข้าไปให้ความรู้ทางด้านสิทธิการเคลื่อนไหว เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการต่อสู้ของชาวบ้านในอนาคต


 


ส่วนเขื่อนท่าซาง ทางการพม่าได้วางกำลังทหารปิดล้อมพื้นที่ไว้ นักเคลื่อนไหวจึงไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ และขณะนี้ทางการพม่าได้ให้บรรษัทจากจีนมาดำเนินการต่อ ซึ่งคาดการณ์กันว่าเขื่อนท่าซางคงจะสำเร็จในเร็ววันนี้


 


พื้นที่เชียงของ ผลกระทบจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง


ส่วนพื้นที่ใน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ประสบการณ์ของคนในพื้นที่ก็คือ หลังจากที่มีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีนเมื่อหลายปีที่ผ่านมา พบว่าคนที่อยู่ใต้น้ำได้รับผลกระทบจากการเปิด ปิด เขื่อน ทั้งเรื่องน้ำลด ทำให้วิถีชีวิตของคนที่อยู่กับสายน้ำได้เปลี่ยนแปลงไป เพราะแม่น้ำโขงถือว่าเป็นแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่ง


 


นอกจากนี้ ยังจะมีเขื่อนใหม่ๆ เกิดขึ้นในลาว และกัมพูชา ซึ่งจะส่งผลกระทบให้กับคนที่อยู่เหนือเขื่อนเหล่านี้มากกว่าเดิม


 


ส่วนปัญหาเรื่องการระเบิดแก่งเพื่อการเดินเรือนั้น ปัจจุบันเรื่องนี้ได้เงียบไปเพราะชาวบ้านมีความเข้มแข็งในการต่อสู้ ซึ่งถ้าหากเกาะแก่งต่างๆ ถูกทำลายเพื่อความสะดวกในการคมนาคมทางเรือ จะส่งผลให้ไม่มีการชะลอความแรงของน้ำโดยธรรมชาติ ไม่มีเกาะแก่งช่วยในการกักเก็บน้ำในหน้าแล้ง รวมถึงเป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำ


 


ส่วนเขตลุ่มน้ำอิงในเชียงราย พบปัญหาการใช้สารเคมีในการเกษตร รวมถึงการบุกรุกไปในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำ (wel land) เพื่อทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งอาจจะทำให้พื้นที่ปลูกข้าวแหล่งใหญ่ของจังหวัดเชียงรายหมดศักยภาพไปในอนาคต


 


ลุ่มน้ำลี้ ลุ่มน้ำทา เมื่อความเจริญบุกรุก


สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำลี้ มีปัญหาเรื่องการตัดไม้ทำลายป่าตั้งแต่ในอดีต ในยุคสัมปทานป่า ซึ่งได้ก่อให้เกิดความเสียหายให้กับพื้นที่ป่ามาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


 


และในขณะมีปัญหาเรื่องการบุกรุกที่ต้นน้ำเพื่อทำการเกษตรเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะข้าวโพด ซึ่งมีกลุ่มทุนเกษตรได้เข้าไปแนะนำให้ชาวบ้านปลูกเพื่อนำไปทำเอทานอล ซึ่งได้ราคาดีทำให้ชาวบ้านขยายพื้นที่เพาะปลูกออกไปเรื่อยๆ


 


เช่นเดียวกับพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ทา นอกเหนือจากการเกษตรเชิงเดี่ยวแล้ว ปัญหาจากความเจริญโดยเฉพาะสนามกอล์ฟของนายทุน ได้เข้าไปแย่งพื้นชิงการใช้น้ำกับชาวบ้าน รวมถึงการขุดลอกแม่น้ำหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2549 ซึ่งทำให้สายน้ำมีความผิดปกติ น้ำไหลแรงทำลายตลิ่งในบางพื้นที่ เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net