Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 51 เมื่อเวลา 9.30 น. ชาวบ้านกลุ่มปกป้องและทวงคืนที่ดินวะกัฟ อ.จะนะ จ.สงขลา พร้อมทั้งวะเระ (ทายาทของผู้วะกัฟ) กว่า 200 คนได้เดินทางไปยังสำนักจุฬาราชมนตรีเพื่อขอพบจุฬาราชมนตรีและผู้ทรงคุณวุฒิ และยื่นจดหมายขอแก้ไขคำวินิจฉัย กรณีที่ดินวะกัฟ (ที่ดินที่ถูกอุทิศเพื่อพระผู้เป็นเจ้า ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันตามหลักศาสนาอิสลาม) ในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งถูกโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียสร้างคร่อมพื้นที่ ภายใต้การดำเนินการของ บริษัททรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด


ในจดหมายได้ระบุคำขอ 3 ข้อ คือ 1.แก้ไขคำวินิจฉัยเดิมของจุฬาราชมนตรีในปัญหาที่ดินวะกัฟข้างต้นให้ถูกต้องเป็นไปตามหลักฐาน พยาน และหลักการทางศาสนาที่ว่า "เส้นทางดังกล่าวเป็นทางวะกัฟจริง" 2.แจ้งให้บริษัททรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ทราบถึงคำวินิจฉัยดังรายละเอียดในข้อหนึ่ง เนื่องจากเอกสารคำวินิจฉัยเดิมเป็นเงื่อนไขที่สำคัญทำให้ทางบริษัทนำไปกล่าวอ้าง สร้างความชอบธรรมในการดำเนินโครงการฯ และปิดกั้นเส้นทางดังกล่าว และ 3.ขอให้รัฐบาลเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินสาธารณะประโยชน์อันหมายถึงที่ดินวะกัฟดังกล่าว เพราะขัดกับหลักการทางศาสนาอิสลาม


นอกจากนี้ จดหมายยังได้กล่าวถึงเนื้อหาการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง ทางออก กรณี "ปัญหาที่ดินวะกัฟ" กับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า อิหม่ามการีม อับดุลเลาะห์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักจุฬาราชมนตรี ยอมรับว่าในการวินิจฉัยที่ผ่านมา ได้ลงไปตรวจสอบผิดพื้นที่ จึงไม่พบหลักฐานและพยานที่ยืนยันได้ว่าเป็นที่ดินวะกัฟ และเมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติมก็ต้องยื่นเรื่องเพื่อเริ่มต้นแก้ไขคำวินิจฉัยใหม่ และความคิดเห็นของวิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสงขลา ที่ว่าเมื่อข้อมูลเปลี่ยน ก็จำเป็นที่จะต้องส่งข้อมูลให้สำนักจุฬาราชมนตรีให้มีการตรวจสอบอีกครั้ง แต่กระบวนการไม่น่าจะต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ในพื้นที่แต่อย่างใด


นายเฉม สะอุ กลุ่มปกป้องที่ดินวะกัฟและขอทวงคืน เล่าถึงการยื่นจดหมายในครั้งนี้ว่า เมื่อชาวบ้านกลุ่มปกป้องและทวงคืนที่ดินวะกัฟ เดินทางถึงสำนักจุฬาราชมนตรี นายฮากีม อับดุลกาซิม ผู้ประสานงานสำนักจุฬาราชมนตรี ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนจากสำนักจุฬาราชมนตรีเข้ามาเจรจากับกลุ่มชาวบ้านโดยใช้มัสยิดใกล้อาคารสำนักจุฬาราชมนตรีเป็นสถานที่เจรจา แต่การเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จแม้จะใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง เนื่องจากนายฮากีมไม่รับข้อเสนอของชาวบ้านซึ่งต้องการขอดูหลักฐานที่สำนักจุฬาราชมนตรีใช้ในการตัดสินคำวินิจฉัยเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับหลักฐานและพยานที่ชาวบ้านมี รวมทั้งขอพบกับผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำหน้าที่วินิจฉัยเพื่อร่วมพูดคุยในประเด็นปัญหา และบอกเพียงให้ยื่นหนังสือเอาไว้


แต่ต่อมานายฮากีม อับดุลกาซิม ได้เจรจาตกลงด้วยปากเปล่ากับกลุ่มชาวบ้านว่าจะมีการสอบสวนวินิจฉัยเรื่องนี้ใหม่ภายใน 1 สัปดาห์นับจากวันเจรจา และซึ่งเป็นเวลาประกอบพิธีละหมาดวันศุกร์ตามหลักการศาสนาอิสลลาม นายฮากีม ได้ขอตัวเดินทางกลับออกไปประกอบพิธีละหมาดที่มัสยิดที่อยู่ภายนอกสำนักจุฬาราชมนตรี โดยรับปากว่าหลังจากประกอบพิธีละหมาดเสร็จจะเดินทางกลับเข้ามาทำข้อบันทึกข้อตกลงที่รับปากกับทางกลุ่มฯ


จนกระทั่งเวลา 13.30 น.หลังจากที่ประกอบพิธีละหมาดเสร็จ ปรากฎว่าฮากีม อับดุลกาซิม ไม่เดินทางกลับเข้ามาตามที่รับปากไว้ และเจ้าหน้าที่จากสำนักจุฬาราชมนตรีทั้งหมดได้เดินทางออกไปจากสำนักงาน ทำการปิดและมีการล็อคประตูสำนักงานไว้ ทางกลุ่มฯ จึงได้ประสานงานทางโทรศัพท์กับนายฮากีม จึงได้ทราบข้อมูลว่าหลังจากที่นายฮากีมเจรจาและรับปากกับกลุ่มแล้วได้มีเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของสำนักจุฬาราชมนตรีสั่งให้ระงับการทำข้อตกลงการเจรจา


"เขาบอกว่าจะไม่กลับมาแล้ว และให้เรากลับออกไปจากสำนักจุฬาราชมนตรีก่อนจะค่ำ ไม่เช่นนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาในพื้นที่ นี่ถือเป็นการข่มขู่พวกเรา แต่ที่เราออกมาไม่ใช่เพราะว่ากลัว แต่การอยู่ที่นั่นไม่มีประโยชน์เพราะถึงอย่างไรสำนักจุฬาฯ ก็ปิดแล้วและพรุ่งนี้ก็เป็นวันหยุดไม่มีการเปิดทำการ" นายเฉมกล่าว ถึงเหตุการณ์หลังจากใช้เวลาในการรอนานกว่า 3 ชั่วโมง ก่อนที่จะนำกลุ่มชาวบ้านเดินทางไปที่ศูนย์อิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อพูดคุยปรึกษากัน


นายเฉมยังกล่าวอีกว่า ในขณะที่ชาวบ้านเข้าไปทำการเจรจา ที่บริเวณสำนักจุฬาฯ มีรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจจอดสังเกตการณ์ทั้งในและนอกรั้วราว 5 คัน และในตอนต้นของการเจรจามีการขอพบตัวแทนกลุ่มชาวบ้านเพียง 4-5 คน ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความไม่น่าไว้วางใจของสำนักจุฬาฯ อีกทั้งที่ผ่านมาการเชิญให้ไปลงพื้นที่ก็ยากเหลือเกิน การเข้าพบในครั้งนี้ก็ยาก แต่สุดท้ายการพูดคุยในวันนี้ก็ไม่ได้ผลอะไร


ส่วนนางรอกีเย๊าะ มะเดทายาทของผู้วะกัฟ กล่าวว่า ยินดีที่จะสบถ (สาบาน) ยืนยันว่าที่ดินซึ่งถูกผู้มีคุณวุฒิของสำนักจุฬาฯ ตัดสินว่าไม่ใช่ที่วะกัฟนั้นเป็นที่ดินวะกัฟจริงและมีการวะกัฟมาตั้งแต่รุ่นปู่ทวดนับเป็นเวลาร่วม 100 ปี เพราะเรื่องวะกัฟไม่ได้เป็นเรื่องเล่นใครจะมาอ้างยืนยันลอยๆ ไม่ได้ และเรื่องนี้ผู้มีคุณวุฒิของสำนักจุฬาฯ ก็ยืนยันแล้วว่าลงพื้นที่ผิด ซึ่งเจ้าหน้าที่ในจังหวัดสงขลาเองก็ผิดที่ไม่เอาข้อมูลที่แท้จริงยื่นเสนอต่อสำนักจุฬาฯ


นางรอกีเย๊าะ กล่าวต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่ใช่ความผิดของชาวบ้าน และที่ผ่านมากว่า 10 ปีชาวบ้านก็พยายามต่อสู้คัดค้านมาตลอดตั้งแต่เรื่องโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย มาจนถึงปัญหาที่ดินวะกัฟ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่เหยียบย่ำความศรัทธาต่อศาสนาของคนมุสลิม


"วันนี้จะได้คืนหรือไม่ เราก็ต้องคิดหาหนทางต่อไปที่จะต้องบรรลุจุดประสงค์ในการเอาที่ดินวะกัฟคืนมาให้ได้ เราในฐานะมุสลิมมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ เราต้องปกป้องหลักการศาสนาของเราที่ถูกเหยียบย่ำ โดยเฉพาะมุสลิมโดยตรงก็เหยียบย่ำศาสนา แต่ถ้าเราต่อสู้จนถึงที่สุด สุดๆ แล้วเราก็จะยกให้พระเจ้าเป็นผู้ตัดสินเอา แต่วันนี้เรายังไม่หมด ยังไม่สุด ให้ถึงเวลาสิ้นสุดเสียก่อน แล้วคนที่เอาที่ดินวะกัฟนี้ไปโดยไม่ถูกต้องก็ให้เขารับบาปของเขาไป ให้พระเจ้าลงโทษเขา" นางรอกีเย๊าะกล่าว


ด้านนางสุไรด๊ะห์ โต๊ะหลี ผู้ร่วมกลุ่มปกป้องและทวงคืนที่ดินวะกัฟ กล่าวเสริมว่าการต่อสู่ในวันนี้อย่างน้อยก็ทำให้สาธารณชนและมุสลิมโลกได้รู้ว่า สำนักจุฬาราชมนตรีของประเทศไทยทำงานกันอยู่อย่างไร เมื่อทำกับมุสลิมด้วยกันเช่นนี้ ทั้งที่ในฐานะที่เป็นอยู่สำนักจุฬาราชมนตรีน่าจะทำหน้าที่ร่วมมือกับชาวบ้าน ช่วยกันปกป้องหลักการศาสนา ปกป้องทรัพย์สมบัติของพระผู้เป็นเจ้าไม้ให้ใครฉ้อโกงไป โดยเฉพาะบริษัทของต่างชาติที่มุงแสวงหาผลประโยชน์ของตนเอง


ทั้งนี้ คำวินิฉัยของสำนักจุฬาราชมนตรีในเรื่องที่ดินวะกัฟ มีขึ้นเมื่อวันที่ 22 มี.ค.47 โดยได้ส่งหนังสือดังกล่าวต่อ นายเพิ่มศักดิ์ ชีวาวัมนานนท์ ผู้จัดการใหญ่บริษัททรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ในขณะนั้น มีเนื้อหาว่า "ที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินวะกัฟ และหากแลกเปลี่ยนที่ดินดังกล่าวเป็นประโยชน์ส่วนรวมก็สามารถทำได้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net