Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 17-18 พ.ย. ที่ผ่านมา มูลนิธิหนังไทย ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี จัดงานประชุมวิชาการด้านภาพยนตร์ไทยครั้งแรกในประเทศไทย ณ แกลเลอรี่ 2 บางกอกโค้ด (ศูนย์ชุมชนน่าอยู่กรุงเทพ) ถ. สาธรใต้

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะช่วยพัฒนาวงการศึกษาภาพยนตร์ในประเทศไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และเป็นเสมือนเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนระหว่างนิสิตนักศึกษา นักวิชาการ และบุคคลทั่วไป ที่มีความสนใจภาพยนตร์ไทยในแง่เชิงวิชาการ ภายในงานจะมีการนำเสนองานวิจัยและบทความเชิงวิชาการเกี่ยวกับภาพยนตร์ 13 เรื่อง ซึ่งครอบคลุมประเด็นตั้งแต่ กระบวนการศึกษาภาพยนตร์ ประวัติศาสตร์ ชาตินิยม ความเป็นไทย อัตลักษณ์ ลัทธิหลังสมัยใหม่ และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดฉายภาพยนตร์ชาติพันธุ์ และการสัมมนาเรื่อง การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ : การคุกคามเสรีภาพทางปัญญา


 


โดยในหัวข้อ ชาตินิยม และความเป็นไทยในภาพยนตร์ไทย อรรคพล สาตุ้ม นักวิชาการและคนทำงานศิลปะอิสระ ได้นำเสนอมุมมองเรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก ผลงานของปรีดี พนมยงค์ ที่เหนือกว่าชาตินิยม"


 


ประชาไทขอนำเสนอในรายงานชุด "ย้อนดูภาพยนตร์ "พระเจ้าช้างเผือก": สงคราม สันติภาพ และชาตินิยม" โดยแบ่งออกเป็น 3 ตอน และครั้งนี้เป็นตอนจบ


 


อ่านตอนเก่า:


ย้อนดูภาพยนตร์ "พระเจ้าช้างเผือก" สงคราม สันติภาพ และชาตินิยม (ตอนที่ 1)


ย้อนดูภาพยนตร์ "พระเจ้าช้างเผือก" สงคราม สันติภาพ และชาตินิยม (ตอนที่ 2)


 


 


0 0 0


 



 


 


การอ่านผลงานของปรีดี พนมยงค์ กับนวนิยาย-ภาพยนตร์ : "ช่วงชิงช้างเผือก VS อาณาเขต"


ในนวนิยาย หรือภาพยนตร์ต่างๆ ในปัจจุบัน มักยกเอากรณีอยุธยามาเป็นตัวอย่างสะท้อนการต่อสู้กับอาณานิคมโดยพม่า เพื่อปลุกเร้าเรื่องชาตินิยม อาจเพราะการไม่ตกเป็นอาณานิคมของตะวันตกมาก่อน[1] จึงต้องหันไปต่อสู้กับพม่า กรณีนี้ก็เลยเป็นตัวอย่างในการวิเคราะห์ "พระเจ้าช้างเผือก" โดยลักษณะการเขียน นวนิยาย หรือ ประวัติศาสตร์ ในการปลูกต้นรักชาติของหลวงวิจิตรวาทการ ผู้ซึ่งจะหาใครบทบาทเด่นเท่าเขาไม่ได้อีกแล้ว และหลวงวิจิตรวาทการน่าจะมีอิทธิพลกับเรื่องพระเจ้าช้างเผือก ไม่มากก็น้อย โดยเขาเป็นผู้โจมตีอยุธยาอย่างหนัก ว่าด้วยเรื่องวัฒนธรรมเสื่อมสลาย[2] เป็นต้น


 


จากส่วนผสมของจินตนาการในยุคปัจจุบันของปรีดี คือ ไม่มีช้างเผือกประจำรัชกาลที่ 8 ผู้วิจัยได้ต่อยอดความรู้ "อ่าน" และขยายความคิดต่อไปว่า พระเจ้าช้างเผือกเป็นนิยาย  "อิง" ประวัติศาสตร์  ทำไมจึงนำเค้าโครงเรื่องมาจาก  "สงครามช้างเผือก" และ  "สงครามยุทธหัตถี"  ระหว่างอยุธยา[3] (สมัยพระเจ้าจักรพรรดิ  พระสุริโยไท  พระนเรศวร)  กับหงสาวดี  (พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้  บุเรงนอง  และพระมหาอุปราชา)


 


การช่วงชิงช้างเผือกนั้นเป็นไปเพื่ออะไร โดยความเห็นส่วนตัวของผู้วิจัยเห็นว่า มันไม่ใช่เรื่องอำนาจเขตแดนในแผนที่สมัยใหม่อย่างที่เข้าใจในปัจจุบัน การช่วงชิงดังกล่าวกลับสะท้อนไปหาปัญหาเรื่องเขตแดน "แม่น้ำโขง" และในแง่มุมมองของอดีตนั้น "ช้างเผือก"  ต่างกับยุคของปรีดีที่แนวคิดเรื่องการแย่งชิงเขตแดน "ภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก" เหนือกว่าแนวคิดเรื่องเขตแดนของหลวงวิจิตร-จอมพล ป. จากอิทธิพลความคิดทางวิทยาศาสตร์ด้านทหารและภาพยนตร์ และการอยู่บนหลักธรรมะ คือ "กรรม" ซึ่งเป็นสิ่งตัดสินชีวิตของคน ดุจเดียวกับผู้กำกับภาพยนตร์ ดังนั้น การกระทำ หรือ กรรม ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิดของช้างเผือกของกษัตริย์  และมาเป็นช้างเผือกของพระเจ้าจักรา หรือพระเจ้าช้างเผือก นั่นเอง


 


การตีความตัวบทนวนิยาย เพื่อรื้อสร้างภาพยนตร์


ปรีดี พนมยงค์  เขียนนวนิยาย "พระเจ้าช้างเผือก" มีประโยคตัวอย่างเกี่ยวกับ "ชาติ" "ช้างเผือก" และ "สันติสุข" ว่า "ราชอาณาจักรไทย" นั้นหมายความว่า "ราชอาณาจักรของประชาชนที่เป็นไท" โดยนวนิยายมีลักษณะของการใช้คำสมัยใหม่ อันแสดงแนวคิดร่วมสมัยของผู้แต่ง เช่นคำว่า "ประท้วง" และการเชื่อมโยงเปรียบเทียบการเลือกช้างกับสตรี คือ ช้างกับมเหสี 365 นาง (หน้า 24) ซึ่งให้ความสำคัญกับสตรีสูงมาก ดังที่มีการให้สิทธิสตรีเลือกตั้งได้ และยังมีการเปรียบเทียบช้างจำนวนมาก กับจำนวนรถรบยุคทหารของจอมพล ป. แต่นวนิยายนี้ อ้างเกี่ยวกับหลักธรรมว่า พระธรรมกล่าวไว้ว่าอย่างไรในเรื่องของเหตุและผล ซึ่งเกี่ยวโยงกันเป็นลูกโซ่ (ปฎิจจสมุปบาท) อาณาจักรแห่งความทุกข์นั้นแวดล้อมเรา(หน้า 33) โดยการบ่งชี้สัญลักษณ์ของช้างเผือก-ชาติ-ธงชาติว่า อาณาจักรแห่งความทุกข์นั้นแวดล้อมเรา(หน้า 33) "ในเรือนร่างของสัตว์ป่าที่สูงส่ง และบริสุทธิ์นี้เป็นที่สิงสถิตย์แห่งดวงวิญญาณของมนุษย์ที่ประเสริฐที่สุดที่ต้องใช้ชีวิตหลายภพหลายชาติในเรือนร่างขั้นต่ำเพื่อชดใช้บาปของตน และในที่สุดก็ได้รับการปลดเปลื้องบาปนี้ ช้างเผือกนี้สามารถเป็นที่สิงสถิตย์ได้โดยเฉพาะจิตวิญญาณของพระเจ้าแผ่นดิน โดยกษัตริย์จับได้จะปกครองราษฎรอย่างสันติ และหมายความว่าเราจะไม่ถูกปกครองโดยเจ้าหงสาวดี หรือกษัตริย์โมกุล" "ช้างเผือกเป็นของศักดิสิทธิ์ซึ่งนำสันติสุข จงเป็นสัญลักษณ์ของธงชาติเรา"(หน้า 53-54)


 


ส่วนความคิดของฝ่ายตรงข้าม สะท้อนในบทสนทนาของกษัตริย์หงสาที่กล่าวว่า "เจ้าคิดหรือว่าทั้งโลกเขาจะจัดตั้งเป็นสันนิบาตขึ้นมาต่อต้านข้า"(หน้า 58) โดยไม่มีความคิดเรื่อง "เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร"(หน้า 140) และประโยคสำคัญของนวนิยายพระเจ้าช้างเผือก คือ "ขอจงมีสันติสุขเถิด…ขอคุณพระศรีรัตนตรัยกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสกลจักรวาลดลบันดาลให้สันติภาพนั้นดำรงอยู่ ลาก่อน"(หน้า 143) แน่นอนว่า เหล่านี้ชี้ให้เห็นคุณค่า "ไม่มีสุขใดเสมอด้วยความสงบ" : "นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ " ซึ่งผู้วิจัยคิดตรงกับ โดม สุขวงศ์ ผู้ตีความไว้ว่า


 


"นิยายเรื่องพระเจ้าช้างเผือกนี้  มีพื้นเรื่องเดิมมาจากเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยอันเป็นที่รู้จักกันดี  คือ การรุกรานของประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมักจะยกเรื่องช้างเผือกจำนวนไม่กี่เชือกมาบังหน้า แต่แท้ที่จริงก็เพื่อขยายบารมีและอานุภาพส่วนตัว  ความปราชัยของจ้าวผู้ครองนครที่เปี่ยมไปด้วยความทะเยอทะยาน กระหายอำนาจ ก้าวร้าวในการต่อสู้ตัวต่อตัวกับขุนศึกของไทยที่ยิ่งใหญ่และเพียบพร้อมด้วยคุณธรรมอันสูงส่ง ชัยชนะอันเด็ดขาดของธรรมะเหนืออำนาจ การปฏิบัติตามกรุณาธรรมและเมตตาธรรมอันปรากฏในคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งแม้กาลเวลาจะล่วงเลยมากว่าสองพันสี่ร้อยปีก็ยังคงเป็นประดุจประทีปแห่งความกรุณาที่ฉายแสงนำทางจิตใจของมนุษยชาติทั้งมวลให้หลุดพ้นจากความหายนะ  นวนิยายเรื่องนี้เขียนขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่สันติภาพ เพราะว่า ชัยชนะแห่งสันติภาพนี้ มิได้มีชื่อเสียงบรรลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด[4]"


 


รวมไปถึงการเน้นย้ำด้วยการตีความของชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในส่วนของ "คำนำ"  ที่ท่านปรีดีเขียนไว้ในหนังสือเรื่องเดียวกันเมื่อ  11 พฤษภาคม 2483 (วันคล้ายวันเกิดของท่านปรีดีเอง) คือ "นวนิยายเรื่องพระเจ้าช้างเผือก"(ขอเน้นว่านวนิยาย) เนื้อหา (ไม่ใช่รูปแบบ) กล่าวว่า "ในดินแดนแห่งนี้ มีช้างดกดื่น ช้างเผือกสูงส่งเหนือช้างใด แลราษฎรก็แซ่ซ้องสรรเสริญ "พระเจ้าช้างเผือก" กษัตริย์ผู้กล้าหาญ พระองค์ทรงนาม "จักรา" พระองค์หาได้โปรดความฟุ้งเฟ้อแห่งราชสำนักไม่ กลับทรงอุทิศพระวรกายให้กับความผาสุกของประเทศชาติ" และพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร  ทรงแปลงานเขียนของ  ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์  จากภาษาอังกฤษเป็นไทย นอกจากนี้ยังมีข้อความอีกว่า  "ผู้แต่งเรื่องได้เตรียมการแต่งเรื่องไว้ตั้งแต่  2-3 ปี  โดยมีความประสงค์ที่จะส่งเรื่องไปประกวดรางวัลสันติภาพ เพื่อรางวัลโนเบล โดยพระเจ้าช้างเผือกเสด็จลงโรงหนังศาลาเฉลิมกรุง และเฉลิมบุรี[5] ด้วย และผลงานของปรีดี ดังกล่าวทำให้เกิดอารมณ์ร่วมของการปลุกให้เกิดสันติภาพ และรักชาติ ซึ่งเป็น "รักไร้พรมแดน"ไปพร้อมกับให้ความสำคัญกับสัตว์โลกด้วย


 


ศิลปะ-อารมณ์ อันสุนทรีของภาพยนตร์


ผู้วิจัยทบทวนการตีความภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก โดยผู้วิจัยเห็นด้วยกับคนที่เสนอความคิดเห็นว่า "ภาพยนตร์" พระเจ้าช้างเผือก" เป็นการผสานระหว่างสองทฤษฎีคือ สมจริงแบบฮอลลีวู้ดและสมมติแบบไทย[6] ดังนั้น ลักษณะสมมติช่วยเพิ่มจินตนาการร่วมกับข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์ เช่น ฉากท้องพระโรง ยืนร่วมกัน เป็นต้น ส่วนทางด้านความบันเทิง มีความงดงามทางนาฏลักษณ์ของลีลาการแสดง ไม่ว่าฉากร่ายรำ หรือสร้างบรรยากาศให้เห็นความรักคือ พระ-นาง และพระเจ้าช้างเผือก ก็ถ่ายภาพช้างได้ดี[7] เห็นการถ่ายภาพยนตร์ ด้วยฟิล์ม ขาว - ดำ และมีเสน่ห์ โดยเฉพาะการถ่ายโคลสอัพ ที่สำคัญ คือ การถ่ายภาพฉากช้าง


 


ประสาท สุขุม กล่าวว่า "ครั้งแรกที่เราเห็นช้างเป็นฉากการจับช้างป่า เราจะเห็นช้างบ้านกำลังทำงานในป่า จากมุมมองไกล ๆ และดูธรรมดา แล้วใกล้เข้าไปเห็นอิริยาบถของช้าง ขณะทำงานชักลากซุงไปในลำน้ำเพื่อนำไปสร้างเพนียด จากนั้นเราเห็นการจับโขลงช้างป่าจากมุมมองห่างๆ เห็นการไล่ต้อนช้างป่า ช้างป่าเข้าเพนียด เป็นภาพธรรมดาเหมือนการบันทึกเหตุการณ์อย่างข่าวสารคดี ตามด้วยการเสนอภาพของช้างเผือกซึ่งถูกจับได้ในครั้งนั้น เมื่อช้างเผือกได้ขึ้นระวางหรือสถาปนาเป็นช้างสำคัญ  เป็นภาพขบวนแห่ชักแถวนำช้างเข้ากรุง[8]" ซึ่งแน่นอนว่าผู้วิจัยต้องการชี้ให้เห็นรูปแบบของภาษาภาพนั้นจะส่งผลต่อการรับรู้ของผู้ดูอย่างมาก โดยกล้องทำหน้าที่นำสายตาของเราอย่างเป็นธรรมชาติผ่านมุมกล้อง สร้างศิลปะที่สะท้อนออกมาจากธรรมชาติ


 


ดังที่ ประสาท สุขุม เสนอว่า"เราจะเห็นกองทัพช้างศึกนับสิบเชือกโผล่ขึ้นมาจากระดับพื้นดินระยะไกลมาก แล้วเคลื่อนตรงเข้ามาหากล้องในระยะชัดตลอด แล้วเท้าอันมหึมาของช้างก็ย่างเหยียบผ่านหัวเราไปอย่างน่าอัศจรรย์ เป็นการแสดงให้เห็นอำนาจข่มขวัญอันน่าเกรงขามของมัน สำทับด้วยเสียงร้องก้องกัมปนาทของช้างแต่ละตัวกลบทั่วบรรยากาศ ภาพตัดชนกับเหล่าไพร่พลทั้งสองฝ่ายถืออาวุธโถมเข้าใส่กล้องและกระโดดข้ามหัวเราไปอีกแล้ว ทั้งสองกองทัพก็เข้าตะลุมบอนหรือประจัญบานกัน  ด้วยอาวุธประจำกาย ถ่ายให้เห็นทั้งในระยะไกลและระยะปานกลาง ทั้งสองฝ่ายต่างล้มตายกันเป็นเบือ น่าสังเกตว่าในการถ่ายฉากการรบมีการเคลื่อนไหวสับสนวุ่นวายมาก และรวมทั้งการเคลื่อนไหวของช้างในบางฉาก[9]"


 


ผู้วิจัยรู้สึกถึงอารมณ์ของสุนทรียภาพ ฉากสงครามยุทธหัตถี แฝงนัยยะแก่นสันติภาพของภาพยนตร์ไทย โดยเราจะเห็นว่า สาระสำคัญของภาพยนตร์มิได้อยู่ที่ความเก่งกล้าสามารถในการยุทธของพระเจ้าช้างเผือก โดยฉากสู้รบปรากฏภาพไม่นาน แต่อยู่ที่การประกาศสันติภาพของพระองค์ต่อโลก ซึ่งทรงตั้งพระทัยอย่างจริงจังและกระทำทันทีต่อเผด็จการหรือทรราช แต่ว่าเรื่องราวรูปแบบของภาษาที่ภาพยนตร์ใช้ภาษาอังกฤษก็สะท้อนกลับเข้าไปหาคนดูและเจตจำนงของการสร้างภาพยนตร์เพื่อแสดงให้มหาอำนาจ รับรู้พรมแดนของภาษา และชาวไทย ผู้ใช้ภาษาไทยได้รับรู้เอาไว้[10]


 


ผู้วิจัยซึ่งอยู่ต่างจากบริบท "เวลา" ของโลกในอดีต ที่มีการฉายภาพยนตร์ "พระเจ้าช้างเผือก" นำเสนอในยุคนั้นเอง มันมีผลสะท้อนว่า ภาพยนตร์เก่าๆ เราจะเข้าถึงได้ ในวิถีแห่งพื้นที่โรงภาพยนตร์[11] ที่นั่งดูภาพยนตร์ในห้องแอร์เป็นของใหม่  และกลุ่มผู้ชมภาพยนตร์เสียงกลุ่มหนึ่ง ต่างจากกลุ่มผู้ชมหนังพากย์อีกกลุ่มหนึ่ง โดยกลุ่มผู้ชมภาพยนตร์เสียงจะเป็นผู้มีการศึกษา และความนิยมในวัฒนธรรมต่างประเทศ คือความแตกต่างทางชนชั้นหรือไม่ ในขณะที่ผู้ชมหนังพากย์เป็นกลุ่มชาวบ้านที่มีความผูกพันในวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างหาก ดังที่มีการกล่าวว่า คนไทยตื่นเต้นในเนื้อเรื่องอิงประวัติศาสตร์และความแปลกของกองทัพช้างและสงครามยุทธหัตถี รวมทั้งตื่นเต้นที่ได้ชมหนังไทยที่พูดภาษาอังกฤษ[12] ทั้งที่ภาพยนตร์ คือทางเลือกแห่งสันติภาพ[13] ที่ชี้ปัญหาสูญเสียเลือด เนื้อในการสู้รบ


 


ซึ่งข้อมูลดังกล่าว ก็ตรงกันข้ามกับที่ผู้วิจัยจะวิเคราะห์ว่า ภาพยนตร์ถูกฉายอยู่ในช่วงกระแสแห่งการเชิดชูเรียกร้องเส้นเขตแดนแม่น้ำโขง-ดินแดนอินโดจีนว่า อาจจะกระทบกับความคิดเห็นของคนดูในช่วงสงคราม แต่ว่า"เนื้อเรื่องก็มีสงครามยุทธหัตถี ที่ภาษาภาพของภาพยนตร์ ก็ปลุกใจรักชาติ คือปกป้องชาติ" และทำให้คนรู้สึกถึงสันติภาพ ได้ในสองอย่างพร้อมกัน  โดยอาจจะเป็นไปได้ว่า ถ้าการอ้างว่าการตอบรับของคนดูภาพยนตร์ในอดีตเป็นความจริง


 


ดังนั้น ภาพยนตร์ "พระเจ้าช้างเผือก" เรื่องนี้ก็น่าจะสอดรับกับการปกป้องดินแดนของตนเอง โดยภาพยนตร์พาเราย้อนยุคหลายชั้นเชิงจากยุคที่เราดูอยู่กับสังคมในสมัยอดีต 2484  และย้อนไปสู่จินตนาการถึงอโยธยา(ในจินตนาการ)  ซึ่งสิ่งที่สำคัญของสันติภาพ นอกจากช้างเผือก หรือกฎหมายที่เขียนบนแผ่นกระดาษแล้ว ก็ต้องเริ่มต้นที่ใจก่อน ทำให้สอดคล้องกับคำประกอบภาพยนตร์ว่า สุขอื่นใดยิ่งกว่าความสงบไม่มี หรือ สันติภาพ


 


บทสรุป : พระเจ้าช้างเผือก ผลงานของปรีดี พนมยงค์ ที่เหนือกว่าชาตินิยม


 


จากบริบทแวดล้อมทางประวัติศาสตร์และนวนิยายดังกล่าวนั้น สู่การรื้อสร้างโดยการอ่านภาพยนตร์ "พระเจ้าช้างเผือก" ในการศึกษาเรื่องชาตินิยม ไม่ได้มองแค่ประเด็นความเป็นไทย ตรงข้ามลัทธิทหารของจอมพล ป.และสันติภาพเท่านั้น แต่มองถึงแนวคิดวิทยาศาสตร์-สิ่งแวดล้อม เป็นองค์ประกอบของการสร้างแนวคิดอันหนึ่ง เกี่ยวกับมนุษยภาพ  ซึ่งการถ่ายทำฉาก  "ช้าง"  มโหฬาร ก็ต้องมีธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม แน่นอนว่าประเด็นการเลือกสตรีเพียงคนเดียว แลกกับช้างก็เป็นข้อสำคัญ ที่สะท้อนแง่คิดตรงกันข้าม กระทบกับราชวงศ์หงสา ที่มีสตรีจำนวนมาก และจากพระเจ้าจักรา กลายเป็นพระเจ้าช้างเผือก อันเกี่ยวข้องหลักเวียนว่ายตายเกิดคน-สัตว์ โดยองค์ประกอบของสีภาพยนตร์ยุคขาว-ดำ ซึ่งต้องเน้นมุมกล้อง ให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกให้ความสำคัญกับเสียงดนตรี เพลงไทยสากลประกอบฉากโรแมนติกเล็กๆ ของพระ-นาง ฉากโอบเอวตอนจบ ทั้งคู่เดินหายลับขึ้นไปบนปราสาทกรุงอโยธยา


 


กระนั้น ด้านความสำคัญแก่ช้าง ทั้งที่ช้างเผือกหายไปในยุคของภาพยนตร์ โดยสะท้อนการหายไปของช้างเผือก เกี่ยวข้องสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และความเชื่อในการหายไปของความคิดเวียนว่ายตายเกิด แล้วภาพยนตร์ก็แสดงออกวัฒนธรรมไทยแบบไม่ใช่จารีตประเพณีปกติ ทั่วๆไป ไม่ว่าจะใช้ภาษาอังกฤษพูดสนทนากัน จึงต้องแปลความหมายเป็นราชาศัพท์ไทยอีกต่อหนึ่งด้วย ซึ่งประเด็นของนวนิยาย สะท้อนผ่านภาพยนตร์ในการยอมรับคำว่าไท คืออิสระ และใช้คำว่าไทย เกี่ยวโยงในทางปฏิบัติต่อมา กับเสรีไทย  อันเป็นองค์กรใต้ดิน โดยรูธเป็นหัวหน้า  คือปรีดี รวมถึงมีชื่อกลุ่มช้างเผือก  เครื่องบินติดธงรูปช้างเผือก รวมถึงสร้างรหัสโดยพูนศุข พนมยงค์ก็เคยช่วยด้วย เขียนรหัสลายมือเป็นภาษาอังกฤษให้เสรีไทยสายอังกฤษถอดรหัส เป็นต้น (ต่อมาหลังสงครามโลก มีภาพยนตร์เกี่ยวกับแอนนาฯในปี พ..2490[14])


 


แต่ว่า นั่นคือกรณียกตัวอย่าง ด้วยเหตุว่า กำลังอยู่ในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 นั้น ก็อยู่ท่ามกลางบริบทคอมมิวนิสต์จีน เหมาเซตุง กำลังต่อสู้กับญี่ปุ่นและมีปรากฏในไทย [15] โดยบริบทของผลงานนวนิยายพระเจ้าช้างเผือก แต่งภาษาอังกฤษและภาพยนตร์ภาษาอังกฤษ อยู่ในปี พ.. 2483 ก็เกิดขึ้นคาบเกี่ยวญี่ปุ่นเข้ามาไทย ต่อมาภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก ฉาย ในปี พ.. 2484 เรื่องเกี่ยวกับสงครามอโยธยา รบกับพม่า แต่แล้วก็เกิดไทยรบพม่าจริงๆ ในปี พ.. 2485 คือสงครามเชียงตุง ซึ่งจำเป็นจะต้องรักษาเอกราชของชาติไว้ [16] ให้ได้จากเจ้าอาณานิคม และญี่ปุ่น ดังกล่าวไปแล้ว


 


อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์สะท้อนให้เห็นอุดมการณ์ของชาตินิยม ที่มีผลกระทบของสงครามต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และสิ่งที่ผู้สร้าง คือ ปรีดี พนมยงค์ กับตัวบทของนวนิยาย-ภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก รื้อให้เห็นความหมายที่เหนือกว่าชาตินิยม ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยการช่วงชิงความหมายของชาติโดยปรีดี ตรงกันข้ามกับอาณาเขต คือว่าด้วยสงครามแย่งชิงช้าง ทำให้สูญเสียทั้งคน และความหมายของการให้ความสำคัญกับช้างเผือก ดังนั้น ช้าง หรือ คนเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ในที่สุด ภาษาที่เป็นประโยคที่นำไปสู่การประสานกับภาพยนตร์ "สุขอื่นใดยิ่งกว่าความสงบไม่มี" คือ สันติภาพไร้พรมแดน.


 



 


เชิงอรรถ


 


[1] กาญจนา แก้วเทพ  สื่อส่องวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : มูลนิธิภูมิปัญญา, 2539 :217


 


[2] สุนทรี อาสะไวย์, ม.ล. วัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธุ์, กาญจนี ละอองศรี บก.  เคร็ก เจ เรย์โนลด์ส "โครงเรื่องของประวัติศาสตร์ไทย: ทฤษฎีและการปฏิบัติ" ใน ไทยคดีศึกษา:รวมบทความทางวิชาการเพื่อแสดงมุทิตาจิต อาจารย์พันเอกหญิง คุณนิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา  กรุงเทพฯ : อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊ฟ, 2533


 


[3] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ "๖๐ ปี พระเจ้าช้างเผือก" ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม 2544 ปีที่ 22.10.. 2544 : 120-123


 


[4] โดม สุขวงศ์  ชี้ให้เห็นว่า นายปรีดี พนมยงค์  เขียนถึงเหตุผลที่ท่านแต่งเรื่อง  "พระเจ้าช้างเผือก"  ไว้ในคำนำหนังสือนี้ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๔๘๔  และดูข้อมูลจำเพาะได้ใน พระเจ้าช้างเผือก  :  ช้างเผือกของหนังไทย The  King  of  the  White  Elephant  ที่มา http://www.pridiinstitute.com/autopage/show_page.php?h=43&s_id=18&d_id=14


 


[5] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เพิ่งอ้าง: 120-123


 


[6] สันห์  วสุธาร กับการกำกับการแสดง ที่มา http://www.pridiinstitute.com/autopage/show_page.php?h=43&s_id=11&d_id=21


 


[7] พระเจ้าช้างเผือก ถ่ายช้างได้ดีที่สุดในโลก http://www.thaifilm.com/newsDetail.asp?id=25


 


[8] การถ่ายภาพของประสาท สุขุม http://www.pridiinstitute.com/autopage/show_page.php?h=43&s_id=10&d_id=22


 


[9] ประสาท สุขุม เพิ่งอ้าง


 


[10] สุเจน กรรพฤทธิ์ "การกลับมาของพระเจ้าช้างเผือก" โดยข้อมูลอีกด้านว่า หนังออกฉายในแบบที่  "ยุคนั้นพากย์ไทยโดยทิดเขียวหรือนายสิน ศรีบุญเรือง ปรมาจารย์นักพากย์ ดังนั้นโฆษณาที่ปรากฏใน นสพ.ศรีกรุง นอกจากคนในเรื่องพูดไทยแล้ว ช้างก็พูดไทยด้วย ที่มา http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9480000132626  


 


[11] ดูเพิ่มเติม วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์  "๑๐๐ ปี ของราษฎรไทย ชื่อ ปรีดี พนมยงค์"  สารคดี ปีที่ 16.182 เม..2543 : 90 "ศัครูทางการเมืองของปรีดี …ส่งคนไปตะโกนในโรงหนังว่า ปรีดีฆ่าในหลวง" (ที่เริ่มแผนโค่นล้มประชาธิปไตย บดขยี้ทำลายนายปรีดีให้ย่อยยับ โดยการกระจายข่าวไปตามร้านกาแฟและสถานที่ต่างๆ ตลอดจนตามหน้าหนังสือพิมพ์….) ดังนั้น โรงภาพยนตร์อาจจะเป็นพื้นที่แห่งอาณาเขตยุคสมัยใหม่ เป็นต้น


 


[12] สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ "ช้างไทย" กรุงเทพฯ,มติชน,2540 : 228-229


 


[13] ดูแนวคิดภาพยนตร์ทางเลือก ใน Glen Lewis. "The Thai Movie Revival and Thai National Identity." Contiuum:Journal of Media & Cultural Studies.Vol. 17,No1.2003. และแนวคิดสันติวิธี ในบทคัดย่อของ สุรัยยา เบ็ญโส๊ะ. แนวคิดสันติวิธีในเรื่อง พระเจ้าช้างเผือก ของปรีดี พนมยงค์ 2540. http://www.arts.chula.ac.th/~complit/thesis/thesis_th/2540.htm#4


 


[14] ยังไม่โดนแบนเข้าประเทศไทยแต่ก็มีผลกระทบไม่ว่าจะกระแสต่อต้านจักรวรรดินิยม ที่มีผลจากภาพยนตร์เรื่องนี้ และความหมิ่นเหม่กับราชวงศ์


 


[15] และแล้วเกิดอุดมการณ์ วันสันติภาพ ต่อมาความขัดแย้งขั้วเสรีนิยม กับคอมมิวนิสต์ -ขบวนการกบฏสันติภาพ ช่วงปี 2490 ซึ่งผู้วิจัยขอให้สันติภาพ มีอยู่ในภูมิศาสตร์ และทรัพยากรมนุษย์ตราบฟ้าดินสลาย


 


[16] สมบัติ จันทรวงศ์  ภาษาทางการเมือง : พัฒนาการของแนวอธิบายการเมืองและศัพท์การเมืองในงานเขียนประเภทสารคดีทางการเมืองของไทย พ.ศ. 2475-2525  กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2533 :138

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net