คนงานโฮยา จ.ลำพูน ประกาศตั้งสหภาพแรงงานแห่งที่สองในภาคเหนือ

หลังจากที่พนักงาน บจก.โฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน ได้ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง 13 ข้อ พร้อมลงลายมือชื่อกว่า 3,286 รายชื่อ ยื่นกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำพูน และชุมนุมหน้าโรงงาน พร้อมกับเจรจาทวิภาคีกับนายจ้างมาหลายครั้งนับตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. นั้น

 

 

 

 

 

คนงานโฮยาตั้งสหภาพแรงงานแห่งที่สองในภาคเหนือแล้ว

ล่าสุดวานนี้ (17 ม.ค. 51) ที่หน้าโรงงาน บจก.โฮยา กลาสดิสค์ ประเทศไทย นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน พนักงาน บจก.โฮยา ได้เปิดตัวสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ (สอฟส.) และจัดการประชุมใหญ่สามัญขึ้นเป็นครั้งแรก

 

โดยที่ประชุมมีมติเรื่องสำคัญได้แก่ 1.ลงมติรับรองข้อบังคับของสหภาพแรงงาน 2.ลงมติรับรองคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงาน 21 คน 3.ลงมติรับรองให้คณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานเป็นตัวแทนดำเนินการแทนสมาชิกสหภาพทุกคน 4.ลงมติรับรองให้คณะกรรมการสหภาพแรงงานเป็นผู้ยื่นข้อเรียกร้องแทนสมาชิกสหภาพ และ 5.รับรองคุณรัตนา จันทรโชติ เป็นผู้ตรวจบัญชีงบดุลของสหภาพแรงงาน

 

โดยรายชื่อคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ (สอฟส.) ชุดแรก ได้แก่ 1.นายศรีทน เปรื่องวิชาธร 2.นายธาดา ธิมาเกตุ 3.นายนพดล นานาวงศ์ 4.นายมานพ กลั่นจีน 5.นายชาตรี บุญมา 6.นายเกียรติศักดิ์ ลัดดาพันธุ์ 7.นายสุขสันต์ อิ่นคำ 8.นายสมบูรณ์ เผือกเพียร 9.นายณัฐกร ศรีนันต๊ะ 10.นายสนอง ศรีคำสุข 11.นายเสกสรรค์ สินสัตย์ 12.นายชาญสิน เรือนฝายกาจ 13.นายภาสกร พิทักษ์ 14.นายโชคชัย โคดี 15.นายวิชัย คมแสนศรี 16.นายเอกนรินทร์ ทิคำ 17.นายอาทิตย์ หิมะกลัส 18.นายไกรสร โชคนำเรือง 19.นายอัครเดช ชอบดี 20.นายฉัตรชัย สมบูรณ์ และ 21.นายประพันธ์ สมฤทธิ์

 

 

 

 

 

แกนนำเปิดใจสหภาพเกิดได้เพราะพนักงานทุกคน

พนักงานที่ร่วมก่อตั้งสหภาพแรงงานได้กล่าวถึงความในใจที่ร่วมต่อสู้กับเพื่อนพนักงานจนเกิดสหภาพแรงงานขึ้น โดยบางส่วนของกรรมการสหภาพแรงงาน เช่น นายโชคชัย โคดีกล่าวว่า "ทำงานมา 7 ปี อยากล้างระบบเดิมๆ ล้างสภาพกดขี่จากนายจ้าง และสร้างระบบใหม่" นายภาสกร พิทักษ์กล่าวว่า "พวกเราทุกคนถูกเอารัดเอาเปรียบภายใต้ระบบทุนนิยมมานาน ถึงเวลาแล้วที่จะต้องปลดปล่อย" นายนพดล นานาวงศ์กล่าวว่า "วันนี้เป็นวันที่ดีที่สุดที่เกิดสหภาพแรงงานขึ้นมาได้ ที่เกิดขึ้นมาได้เพราะพนักงานทุกคน"

 

นายเกียรติศักดิ์ ลัดดาพันธุ์กล่าวว่า "ครั้งแรกที่แกนนำพนักงานเข้ามาชวน ผมคิดว่าเขามาชวนขายตรง แต่พอเข้ามาจึงพบว่าเป็นการทำงานเพื่อพวกเราจริงๆ จึงสมัครเป็นผู้ร่วมก่อการด้วย ผมย้ายมาหลายแผนกแล้ว มีพนักงานหลายคนมาปรับทุกข์ด้วยหลายเรื่อง จึงอยากให้ต่อไปนี้พนักงานจะมีรอยยิ้มกันทุกคน"

 

นายอัครเดช ชอบดี กล่าวว่า "ไม่อยากเห็นนายจ้างเอาเปรียบลูกจ้างเหมือนทุกวันนี้ ไม่อยากเห็นนายจ้างเอาเปรียบในรุ่นต่อๆ ไป รุ่นลูกรุ่นหลานของพวกเราต้องไม่ถูกเอาเปรียบ วันนี้พวกเราจึงจะสู้"

 

 

เพื่อนคนงานขึ้นให้กำลังใจ แสดงความยินดีตั้งสหภาพได้

หลังวาระการประชุม แกนนำพนักงานได้เชิญอาจารย์ นักกิจกรรม และผู้ใช้แรงงานกล่าวให้กำลังใจการตั้งสหภาพแรงงาน โดย รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ว่า ขอให้ชักชวนเพื่อนมาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ยิ่งมีสมาชิกมาก จะยิ่งมีอำนาจต่อรอง การก่อตั้งสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ (สอฟส.) ครั้งนี้ นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน เพราะนิคมอุตสาหกรรมตั้งมาแล้ว 30 ปี แต่เพิ่งเกิดสหภาพ 2 แห่ง โดยแห่งแรกคือสหภาพอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ (สอส.) เมื่อปี 2549 ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมที่ปลอดสหภาพแรงงานนั้นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง

 

และอาจารย์วรวิทย์ยังกล่าวให้กำลังพนักงานว่า ขอให้การทำงานสหภาพแรงงานได้บรรลุวัตถุประสงค์ ขอให้ทำงานเพื่อส่วนรวม และมีสมาชิกเป็นเกราะป้องกันผู้นำสหภาพ ขอให้ชนชั้นผู้ใช้แรงงานสามัคคี คนงานต้องสามัคคีกัน ถ้ารวมกันไม่เหนียวแน่นก็จะถูกแยกสลาย

 

นายอนุชา มีทรัพย์ รักษาการประธานสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ (สอส.) กล่าวว่า นายจ้างมักพูดว่าในโรงงานมีคณะกรรมการสวัสดิการแล้วไม่ต้องมีสหภาพ แต่ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า สวัสดิการที่โดนตัด สวัสดิการที่ขอแล้วไม่เคยได้ คณะกรรมการสวัสดิการช่วยได้หรือไม่ แต่สำหรับสหภาพแรงงานไม่มีปัญหาเลยว่าจะแก้ไขไม่ได้ แต่ปัญหานั้นจะแก้ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับสมาชิก บางคนบอกว่านายจ้างมีเงิน นายจ้างมีอำนาจ แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเรามี แต่นายจ้างไม่มีคือใจ ใจที่ร่วมต่อสู้ ใจที่คิดว่าคนยังเป็นคนอยู่ ไม่ใช่เครื่องจักรตัวใดตัวหนึ่ง และการเจรจราจะได้ผลหรือไม่นั้น ไม่ใช่อยู่ที่สหภาพ ไม่ใช่อยู่ที่แกนนำ แต่อยู่ที่พวกเราที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานทั้งหมด

 

โดยการประชุมสามัญประจำปีในวันนี้ สิ้นสุดเมื่อเวลา 21.00 น. โดยแกนนำพนักงานเปิดเผยว่า ผู้บริหารได้นัดตัวแทนเจรจาของพนักงาน เจรจาปรับปรุงสภาพการจ้างงานครั้งต่อไปในวันที่ 21 ม.ค. เวลา 10.00 น.

 

 

ผลจากการตั้งสหภาพ เอื้อคนงานยื่นข้อเรียกร้องง่ายขึ้น

โดยผลจากการตั้งสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ (สอฟส.) ครั้งนี้ จะเป็นการลดขั้นตอนยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง โดยที่ผ่านมาพนักงาน บจก.โฮยายื่นข้อเรียกร้องตาม มาตรา 13 วรรค 3 พรบ.แรงงานสัมพันธ์ ที่ต้องลงลายมือชื่อของลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของลูกจ้างทั้งหมด แต่หลังจากการตั้งสหภาพแรงงาน พนักงาน บจก.โฮยาสามารถยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างได้โดยอาศัยสหภาพแรงงาน ตามมาตรา 15 พรบ.แรงงานสัมพันธ์ โดยไม่ต้องลงลายมือชื่อลูกจ้างอีก

 

อนึ่ง สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ (สอฟส.) ได้การจดทะเบียนจากนายผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ในฐานะนายทะเบียนสหภาพแรงงาน เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2550 เลขทะเบียน 984 ปัจจุบันมีสมาชิกสหภาพราว 2,900 คนเศษ

 

สำหรับ บจก.โฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน เป็นโรงงานผลิตแผ่นดิสค์แก้ว เพื่อส่งออกเป็นชิ้นส่วนสำหรับอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และกล้องถ่ายภาพ มีกำลังการผลิตมากกว่า 60 ล้านชิ้นต่อปี จดทะเบียนกับกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2533 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,220 ล้านบาท ปัจจุบันมีสินทรัพย์รวมกว่า 5,848 ล้านบาท เมื่อปี 2549 มีรายได้กว่า 11,510 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิกว่า 4,737 ล้านบาท นับเป็นกิจการประเภทบริษัทจำกัดที่มีผลกำไรเป็นอันดับ 8 ของประเทศไทย เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ที่ได้กำไรสุทธิ 3,488 ล้านบาท

 

 

โฮยาใต้โฉมหน้า "บรรษัทข้ามชาติ"

จากบทความ ก้าวที่กล้าคนงานโฮยา เผยแพร่ในเว็บไซต์โลคัลทอล์ค เมื่อ 22 ธ.ค. 50 ได้นำเสนอข้อมูลของ บจก.โฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) ว่า เป็นหนึ่งบริษัทในเครือ บรรษัทโฮยา (Hoya Corporation) ซึ่งมีสำนักงานแม่ตั้งอยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในประเทศไทย มีบริษัทในเครือโฮยาอยู่ทั้งหมด 5 บริษัท ได้แก่ บจก.โฮยา กลาสดิสค์ (ประเทศไทย) - มี 3 โรงงาน, บจก.โฮยา ออพติกส์ (ประเทศไทย) มีโรงงานเดียว ทั้งสองแห่งที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน และ บจก. ไทย โฮยา เลนส์ ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ, บจก.โฮยา เลนส์ ไทยแลนด์ ตั้งอยู่ที่ปทุมธานี และอยุธยา แพลนท์ (Ayutthaty Plant) ตั้งอยู่ที่นิคมอุสาหกรรม ปางปะอิน อยุธยา

 

โฮยา มีสาขาอยู่ทั่วเกือบทุกภูมิภาค ทั้งในอเมริกา (สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย) ยุโรป (สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เนเธอร์แลนด์) และเอเชีย (สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่สิงคโปร์) ทั้งนี้โฮย่า ดำเนินธุรกิจโดยมีบริษัทผลิตสินค้าหลักอยู่ 3 ประเภท คือ (1) อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนดิสค์หน่วยความจำ อุปกรณ์เลเซอร์ (2) เลนส์สายตา คอนแท็คเลนส์ และ (3) แก้วคริสตอล เครื่องแก้วต่างๆ

 

โฮยา คอร์ปอร์เรชั่น จดทะเบียนก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2484 ด้วยเงินทุนตั้งต้นมากกว่า 6 พันล้านเยน และเมื่อเดือนสิงหาคม ปีนี้เอง ที่โฮยาดึงเอา PENTAX เข้ามาร่วมกิจการด้วย ปัจจุบันมีจำนวนหุ้นประมาณ 85,979 หุ้น ในจำนวนผู้ถือรายใหญ่ประมาณ 10 ราย ส่วนใหญ่เป็นนิติบุคคล - ธนาคาร กองทุนร่วมจากหลายบริษัท และบริษัทประกันภัย ทั้งสัญชาติญี่ปุ่น อเมริกันและยุโรป

 

ปัจจุบัน โฮยามีบริษัทเครือข่ายอยู่ทั่วโลก ดำเนินการผลิตสินค้าจำนวนกว่า 59 ประเภท ในกว่า 29 ประเทศ มีอัตราการจ้างงานทั้งหมดทั่วโลก จำนวน 36,000 คน (กันยายน 2550) ซึ่งประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตเลนส์ อันดับต้นๆ ของโฮยาในเอเชีย และเป็นหนึ่งในศูนย์การผลิตที่ใหญ่ที่สุด (อีกสองประเทศ คือ จีน และฮังการี) เพื่อการส่งออกจำหน่ายทั่วโลก

 

บทความจากโลคัลทอล์ค

ก้าวที่กล้าคนงานโฮยา, เรื่องโดย ทีมงานโลคัลทอล์คและสำนักข่าวประธรรม 22/12/2550

http://www.localtalk2004.com/V2005/detail.php?file=1&code=a1_22122007_01

 

ข่าวประชาไทที่เกี่ยวข้อง

พนักงานโรงงานโฮยานิคมลำพูนยื่นข้อเรียกร้อง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ, ประชาไท, 11/12/2550

คนงานนิคมจ.ลำพูนรวมใจสู้-ร้องนายจ้างปรับปรุงสวัสดิการ-สภาพการทำงาน, ประชาไท, 12/12/2550

บทความ: เมื่อคนงานโฮย่ากลาสดิสก์ลำพูนรวมใจสู้: ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นย่อมมีการต่อสู้, ประชาไท, 13/12/2550

คนงานโฮยาชุมนุมรอฟังการเจรจานัดแรก แต่ผลยังไม่คืบหน้า, ประชาไท, 14/12/2550

มุมมองทางเศรษฐกิจ จากกรณีการต่อสู้ของแรงงานโฮย่า กลาสดิสค์ นิคมอุตสาหกรรมลำพูน, ประชาไท, 18/12/2550

คนงานโฮยาชุมนุมหนที่ 3 - ทำพิธีสู่ขวัญเสริมกำลังใจ - รอฟังผลเจรจา, ประชาไท, 20/12/255

จดหมายจากพนักงานโฮย่า: บันทึกหนึ่งของการชุมนุม, ประชาไท, 20/12/2550

เครือข่ายปชช.เหนือ จม.เปิดผนึกสนับสนุนข้อเรียกร้องคนงานโฮยา กลาสดิสด์(ประเทศไทย) - ประชาไท, 25/12/2550

คนงานลำพูนชุมนุม รอบ 4 ร้องนายจ้างปรับปรุงสภาพการจ้างงาน, ประชาไท, 26/12/2550

คนงานโฮย่าชุมนุมครั้งที่ 5 เจรจายืดเยื้อถึงเที่ยงคืน, ประชาไท, 11/12/2551


คนงานโฮยา จ.ลำพูน ประกาศตั้งสหภาพแรงงานแห่งที่สองในภาคเหนือ, ประชาไท, 18/12/2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท