Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 4 ม.ค.50  นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดเผยถึงความคืบหน้า กรณีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ และคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ ร้องเรียนการถอนการขึ้นทะเบียนยาของบริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด ว่า ฝ่าฝืน พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 มาตรา 25 เรื่องการมีอำนาจเหนือตลาด และ 28 เรื่องการจำกัดโอกาสในการซื้อสินค้านอกราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 26 เม.ย.50 โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.50 นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า ได้ทำหนังสือแจ้งกลับมาว่า คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าพิจารณาแล้วเห็นว่า การยกเลิกคำขอการขึ้นทะเบียนยาไม่เข้าข่ายความผิดทั้ง 2 มาตรา


 


ทั้งนี้ บริษัทแอ๊บบอตฯ ได้ถอนคำร้องขอขึ้นทะเบียนยาใหม่ในประเทศไทยหลายตัว ได้แก่ Zemplar สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง, Simdax ยารักษาโรคหัวใจล้มเหลว, Humira ยารักษาข้อต่ออักเสบ/โรค Autoimmune Disease, Aluvia tablet ยารักษาโรคเอดส์ ยาระงับปวด บรูเฟนที่ทำรูปแบบใหม่ ยาฆ่าเชื้อโรค/ยาปฏิชีวนะแอบบอติค ยาป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด "คลีวารีน"ยารักษาความดัน "ทาร์ก้า" ภายหลังกระทรวงสาธารณสุขไทยประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) นำเข้ายาโรคหัวใจ 1 ตัว และยาต้านไวรัส 2 ตัว ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นของบริษัทแอ๊บบอตด้วย


 


จดหมายกระทรวงพาณิชย์ระบุเหตุผลการพิจารณาว่า ประเด็นมาตรา 25 (3) ตามประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่ง ในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่ง หรือบริการใดบริการหนึ่ง ที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป และมียอดขายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป เป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏ บริษัทแอ๊บบอตฯ มียอดขายในปี 2549 ไม่ถึงหนึ่งพันล้านบาท อีกทั้งบริษัทยังไม่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับยาทำให้ยังไม่มีสินค้าในตลาด จึงไม่ถือว่าเป็นการระงับการจำหน่าย หรือการนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เพื่อลดปริมาณสินค้าให้ต่ำกว่าความต้องการของตลาด คณะกรรมการฯ จึงมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าบริษัท แอ๊บบอตฯ ไม่เข้าข่ายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ตามนัยมาตรา 25 (3)


 


ประการต่อมา ประเด็นมาตรา 28 คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า การที่บริษัทแอ๊บบอตฯ ยกเลิกคำขอขึ้นทะเบียนตำรับยาต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ยังไม่ถือว่าเป็นการกระทำ หรือดำเนินการใดๆ เพื่อให้บุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรที่ประสงค์จะซื้อสินค้ามาใช้เองต้องถูกจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าจากผู้ประกอบธุรกิจซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักรโดยตรง เนื่องจาก การขอขึ้นทะเบียนตำรับยาเป็นเรื่องของระเบียบ  ที่อย.กำหนดในเรื่องความปลอดภัยของยา นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏว่าเคยมีการสั่งซื้อยาโดยตรงจากผู้บริโภคไปที่บริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากการใช้ยาในประเทศไทยปกติจะใช้เฉพาะในโรงพยาบาลและต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ผู้ทำการรักษา รวมทั้งกรณีสูตรดื้อยาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้รับรองการใช้ยา จากข้อเท็จจริงดังกล่าว กรรมการฯ จึงมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า พฤติกรรมของบริษัทแอ๊บบอตฯ ผู้ถูกร้องเรียน ไม่เข้าข่ายความผิดในมาตรา 28


 


อย่างไรก็ตาม นายนิมิตร์ให้ความเห็นถึงผลการพิจารณาครั้งนี้ว่า ในชั้นอนุกรรมการฯ ซึ่งมีตัวแทนจากทั้งกลุ่มของผู้บริโภคและกลุ่มของกระทรวงพาณิชย์นั้นมีความเห็นไม่ตรงกันในหลายเรื่อง โดยฝ่ายกรมเจรจาการค้า ตีความว่าสินค้าต้องมีมูลค่ามากกว่าพันล้าน จึงจะมี "อำนาจเหนือตลาด" ขณะที่ฝ่ายของผู้บริโภคและนักวิชาการด้านยาเห็นว่าการตีความมูลค่าของยาควรตีความต่างจากสินค้าอื่น เพียงแค่ผลของยาในการรักษาโรค การมีผู้ผลิต 1 รายต่อโรค ก็ต้องถือว่ามีอำนาจเหนือตลาดแล้ว


 


อย่างไรก็ตาม นิมิตร์กล่าวว่า ผลการลงมติของอนุกรรมการฯ นั้นมีความเห็นแย้งกัน โดยอนุกรรมการ 3 คนบอกว่าเข้าข่ายความผิดตามที่เอ็นจีโอและเครือข่ายผู้ป่วยร้องเรียน ขณะที่อนุกรรมการอีก 3 คนบอกว่าไม่เข้าข่ายผิด ดังนั้น จึงให้กรรมการชุดใหญ่เป็นผู้พิจารณาและมีมติออกมาว่าไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าดังที่ร้องเรียน ซึ่งทางผู้ร้องเรียนจะทำการอุทธรณ์คำตัดสินนี้ และอาจต้องมีการส่งเรื่องสู่ศาลปกครอง เนื่องจากเห็นว่ากระทรวงพาณิชย์ต้องคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่านี้


 


นิมิตร์ แสดงความเห็นด้วยว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศ มักจะกังวลว่าจะกระทบกับการนำเข้าส่งออกยา หรือผลประโยชน์ของบริษัทยา โดยเฉพาะหากมีการประกาศใช้ซีแอล แต่ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ก็มีเครื่องมือคือมาตรการควบคุมราคาสินค้าของกรมการค้าภายใน ซึ่งหากนำมาตรการนี้มาช่วยกำกับราคายาให้เป็นธรรมสามารถเข้าถึงได้ ก็ไม่ต้องประกาศซีแอลและไม่ต้องกังวลเรื่องผลกระทบดังกล่าว


        

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net