ย้อนดูภาพยนตร์ "พระเจ้าช้างเผือก": สงคราม สันติภาพ และชาตินิยม" (ตอนที่ 2)

เมื่อวันที่ 17-18 พ.ย. ที่ผ่านมา มูลนิธิหนังไทย ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี จัดงานประชุมวิชาการด้านภาพยนตร์ไทยครั้งแรกในประเทศไทย ณ แกลเลอรี่ 2 บางกอกโค้ด (ศูนย์ชุมชนน่าอยู่กรุงเทพ) ถ. สาธรใต้ สถานีรถไฟฟ้าสุรศักดิ์ 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะช่วยพัฒนาวงการศึกษาภาพยนตร์ในประเทศไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และเป็นเสมือนเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนระหว่างนิสิตนักศึกษา นักวิชาการ และบุคคลทั่วไป ที่มีความสนใจภาพยนตร์ไทยในแง่เชิงวิชาการ ภายในงานจะมีการนำเสนองานวิจัยและบทความเชิงวิชาการเกี่ยวกับภาพยนตร์ 13 เรื่อง ซึ่งครอบคลุมประเด็นตั้งแต่ กระบวนการศึกษาภาพยนตร์ ประวัติศาสตร์ ชาตินิยม ความเป็นไทย อัตลักษณ์ ลัทธิหลังสมัยใหม่ และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดฉายภาพยนตร์ชาติพันธุ์ และการสัมมนาเรื่อง การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ : การคุกคามเสรีภาพทางปัญญา

 

โดยในหัวข้อ ชาตินิยม และ ความเป็นไทย ในภาพยนตร์ไทย อรรคพล สาตุ้ม นักวิชาการและคนทำงานศิลปะอิสระ ได้นำเสนอมุมมองเรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก ผลงานของปรีดี พนมยงค์ ที่เหนือกว่าชาตินิยม"

 

ซึ่งประชาไทขอนำเสนอในรายงานชุด "ย้อนดูภาพยนตร์ "พระเจ้าช้างเผือก": สงคราม สันติภาพ และชาตินิยม" โดยแบ่งออกเป็น 3 ตอน ซึ่งวันนี้จะขอเสนอตอนที่ 2

 

อ่านตอนเก่า:

ย้อนดูภาพยนตร์ "พระเจ้าช้างเผือก" สงคราม สันติภาพ และชาตินิยม (ตอนที่ 1)

 

0 0 0

 

การเมืองชาตินิยม ( 2481-2484 ) สยามกลายเป็นไทย  กับการสิ้นสุดของเจ้าเชียงใหม่  ในที่สุด มีปัญหาเขตแดนแม่น้ำโขง และ "พระเจ้าช้างเผือก"

 

อรรคพล สาตุ้ม

 

จอมพล ป. และหลวงวิจิตรวาทการ เริ่มต้นการเปลี่ยนนามประเทศสยามเป็นไทย

ในสมัยจอมพล ป.หรือจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้เกิดมีความริเริ่มเปลี่ยนแปลงสร้างสิ่งแปลกใหม่ให้กับสังคมไทย เช่น การเริ่มต้นเปิดสวนสัตว์ดุสิต[1] รวมถึงความพยายามในการสร้างชาติไทยตามแนวอิทธิพลแบบคณะราษฎร เป็นต้น

 

เหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือความต้องการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศ ดังปรากฏในบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 8 พฤษภาคม ปี 2482 มีวาระเรื่อง "เปลี่ยนนามประเทศ" ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่าการที่หลวงวิจิตรวาทการอยู่เบื้องหลังเรื่องการเปลี่ยนชื่อประเทศให้เป็นลักษณะตามเชื้อชาตินั้น มีองค์ประกอบหรือเนื้อหาอย่างหนึ่งที่แยกไม่ออกก็คือ ลักษณะแอนตี้จีน[2] และมีการวิเคราะห์ถึงเรื่อง ปัญหาของปัตตานี  รวมถึงแผนรวมมหาอาณาจักรไทย โดยมีแผนที่ชนชาติไทยประกอบอยู่ด้วย ดังที่มีบันทึกในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีดังกล่าว

 

เหตุการณ์สำคัญต่อมาก็คือ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์สุดท้าย คือ พลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ ได้ถึงแก่พิราลัย (ซึ่งมีการสร้างศาลเจ้าจีนด้วย[3])ในวันที่ 3 มิถุนายน 2482 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ก่อนที่จะเปลี่ยนนามประเทศจากสยามเป็นไทย ในวันที่ 24 มิถุนายน  และปีเดียวกันนี้เอง รัฐบาลได้เฉลิมฉลอง "วันชาติ" ให้เป็นวันหยุดราชการ และยังมีการดำเนินการหลายอย่าง เช่น มีการลงนามในสนธิสัญญาใหม่กับมหาอำนาจต่างประเทศ[4] ซึ่งปรีดีได้มองเห็นการตั้งเค้าของสงครามแล้ว จึงได้ผลักดันให้ได้มีกฎหมายว่าด้วยความเป็นกลางขึ้นในปี 2482 เจตนาของกฎหมายฉบับนี้ก็คือประเทศไทยจะรักษาความเป็นกลางเอาไว้ ด้วยจะนำไปสู่เค้าโครงแนวคิดสันติภาพในพระเจ้าช้างเผือก ซึ่งตรงข้ามกับภาพยนตร์ "เลือดทหารไทย" นั่นเอง

 

จอมพล ป. กับชาตินิยมในภาพยนตร์-ปัญหาเขตแดนแม่น้ำโขง

จอมพล ป. กับการสร้างภาพยนตร์เรื่อง "เลือดทหารไทย" นั้นก็มีความหมายเกี่ยวโยงกับเรื่องชาตินิยม เช่น ชื่อของภาพยนตร์นั้น คำว่า "เลือด" ก็คือ "เชื้อชาติ" (ความหมายที่สองของBlood[5] หรือ Race) ซึ่งได้มีการศึกษาไว้แล้วสำหรับนักวิชาการหลายคน

 

โดยในมุมประเด็นชาตินิยม ก็มีเรื่องความคิด ความจริง อุดมการณ์ รวมถึงสิ่งที่เกี่ยวกับพลเมืองและการทหาร ซึ่งความคิดของรัฐแบบจอมพล ป. ที่มีต่อพลเมืองของรัฐนั้น เป็นรูปแบบของชีวการเมือง (bio politics) ที่รัฐได้ดำเนินนโยบายเพิ่มจำนวนประชากรสร้างชาติ[6] โดยรัฐบงการชีวิตพลเมืองภายใต้อำนาจวิทยาศาสตร์ ความจริง ความรู้ของรัฐ ฉะนั้นรัฐจึงอาศัยวาทกรรมทางการแพทย์เข้าไปควบคุม/กำกับ/จัดการกับร่างกายของประชาชน แล้วสถาปนาความรู้ควบคุมพลเมือง[7] ซึ่งถือเป็นการเสนอร่างกายแข็งแรง ที่รัฐต้องการอย่างมาก จึงเป็นกระบวนการ นำไปสู่การเปลี่ยนความคิดในการมองร่างกายของคน ให้หันมายอมรับร่างกายแข็งแรงแทนมองร่างกายในวัฒนธรรมเดิมของไทย ที่มองผ่านอุดมการณ์พุทธศาสนาว่าเป็นสิ่งไม่เที่ยง และบ่อเกิดแห่งทุกข์ตามไตรลักษณ์ แต่วิทยาศาสตร์การแพทย์มองมนุษย์แบบแยกส่วนเป็นกลไกทางชีววิทยาเท่านั้นเอง[8]

 

โดยลักษณะของความคิด ภายใต้อิทธิพลวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์นั้น ก็มีปรากฏในผลงานศิลปะ เช่น ประติมากรรม ลักษณะผลงาน ที่แสดงร่างกายกำยำ แข็งแรงแบบสัจนิยมแนวสังคม หรือสไตล์ฟาสซิสม์แบบอิตาลี เป็นต้น

 

ร่างกายก็ถูกสร้างความหมายโดยรัฐซึ่งนำเสนอร่างกายเพื่อการทหารไปด้วย ดังนั้น ผู้วิจัยจะขอสะท้อนแนวคิดร่างกาย "ที่มาว่า เกี่ยวข้องทฤษฎีวิวัฒนาการ" อันบ่งบอกว่า ผู้แข็งแรง คือ ผู้อยู่รอด และ เทคโนโลยี  วิทยาศาสตร์ ทฤษฎีวิวัฒนาการ ถูกนำไปรับใช้สงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์[9] จึงขอยกตัวอย่าง กรณีนาซี ใช้แนวคิดดังกล่าว ทำลายพวกเชื้อชาติยิว แม้ว่าประเทศไทยได้รับอิทธิพลดังกล่าวแล้วมีปฏิกิริยาต่อชาวจีน แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่นาซีกระทำต่อชาวยิวก็ตาม

 

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ก่อนเริ่มสงครามอินโดจีนได้เกิดกรณีข้อพิพาทปักปันเขตแดนแม่น้ำโขง(แตกต่างในกรณีของอังกฤษนั้น ไทยสามารถจัดการเรื่องเขตแดนได้) ซึ่งมันมีบริบททางความคิด ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังจะเริ่มวิกฤตของสงครามโลก[10] โดยไทยได้รับอิทธิพลของผู้นำญี่ปุ่นและฮิตเลอร์-ฟาสซิสม์มาด้วย ซึ่งจะมีวิธีการที่เกี่ยวข้องรวมชาติพันธุ์ไทยขึ้นมา ดังที่มีการตั้งชื่อวัดประชาธิปไตย เพราะพุทธศาสนาไม่สามารถเน้นมาก เนื่องจากจะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างเอกภาพทางความรู้สึกนึกคิด โดยนโยบายชาตินิยม ที่เน้นการขยายอาณาเขตเพื่อเป็นมหาอำนาจในแหลมทอง ทำให้ต้องรวมคนที่นับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่นๆไว้ในชาติไทย แม้แต่การสร้างวัดประชาธิปไตยดังกล่าวก็ตาม ซึ่งต่อมารู้จักกันดีในปัจจุบันในชื่อวัดพระศรีมหาธาตุ และในที่สุดก่อนจะถึงเรื่องภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือก ก็สะท้อนเรื่อง "อาณาเขต" เกี่ยวข้องกรณีแม่น้ำโขง ดังนี้


นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศสยามได้ออกแถลงต่อหนังสือพิมพ์ว่า ได้ยื่นบันทึกในเรื่องนี้ให้แก่รัฐมนตรีฝรั่งเศสฉบับหนึ่งและอีกฉบับหนึ่งได้นำส่งไปให้รัฐบาลฝรั่งเศส มีข้อความว่ามีความยินดี ที่จะกระทำสัตยาบันในกติกาสัญญาฝรั่งเศส-ไทย ในการไม่รุกราน ซึ่งกันและกัน เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน  2483 โดยเงื่อนไข 3 ข้อ  คือ การปักปันเขตแดนแม่น้ำโขง ให้ถือร่องน้ำลึกของลำน้ำโขงเป็นเส้นแบ่งเขตแดน ให้รัฐบาลฝรั่งเศสคืนหลวงพระบาง ปากเซ[11] ดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งนั่นเอง

 

 "จอมพล ป. ได้ส่งอิทธิพลการเรียกร้องเรื่องปรับปรุงเขตแดน อินโดจีน 8 ตุลาคม 2483 นิสิตจุฬาฯ และนักเรียนเตรียมอุดมชายและหญิงจากจุฬามหาวิทยาลัย 3,000 คน เดินขบวนจุฬาไปกระทรวงกลาโหมสนับสนุนรัฐเรียกร้องดินแดนคืน และนักเรียนเตรียมไปถึงธรรมศาสตร์ ในวันต่อมามีประชาชน นักหนังสือพิมพ์ประโคมข่าวใหญ่ตลอดเวลา และมีภาพการเดินขบวนของชาวเชียงใหม่ด้วย[12]"


เรื่องของจอมพล ป. กับแนวคิดเรื่องญี่ปุ่นเข้ามาในแผนที่มหาอาณาจักร โดยญี่ปุ่นผ่านการประสานแนวคิดของเอเชีย กับปะทะเจ้าอาณานิคม[13] ด้วยว่าความร่วมมือของไทย ทำให้กำลังรุกอันล้ำหน้าของญี่ปุ่นสะดวกง่ายดายขึ้น รัฐบาลทหารของไทย ซึ่งปรับตัวให้เข้ากับดุลแห่งอำนาจที่กำลังเปลี่ยนแปลงในยุโรป และเอเชีย และสนับสนุนลัทธิชาตินิยม ที่เข้มแข็งของตนได้ ยอมรับการสนับสนุนทางการฑูตจากญี่ปุ่นในการบังคับฝรั่งเศส ที่อ่อนอำนาจลงให้ยินยอมดินแดนชายเขตกัมพูชาบางเมืองให้แก่ไทย เมื่อการรุกทางทหารของญี่ปุ่นเริ่มขึ้น ไทยก็เต็มใจเปิดประเทศในฐานะเป็นดินแดนหยุดพักของญี่ปุ่น[14]


การวิเคราะห์ในด้านความคิดของจอมพล ป.ว่า พยายามแอบอ้างการโอนอ่อนต่อญี่ปุ่นว่าเป็นกลนโยบายแบบเดียวกับที่ใช้กันมาในสมัยราชาธิปไตย โดยกล่าวว่า "เราฝากเนื้อฝากตัวกับมัน มันอาจจะมีศีลธรรมก็ได้ คล้ายกับเราฝากตัวกับอังกฤษและฝรั่งเศสครั้งโบราณ ไม่ใช่ว่าจะขี้แย แต่รถรบเราก็มีอยู่เพียง 50 คัน เขามาแน่นฟ้ามัวฝน[15]" ซึ่งมันก็เป็นเรื่องกรณีตัวอย่าง ด้านการทหารของจอมพล ป. กับแนวคิดเรื่องอาวุธทางการทหาร (สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงพบว่าบรรดาประเทศต่างๆได้ขยายอุตสาหกรรมอาวุธของตน พร้อมกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีทหาร[16]) และเรื่องญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทย ก็มีความสนใจในการสร้างแผนที่มหาอาณาจักร[17]


กระนั้น ผู้วิจัยขอสรุปเหตุการณ์ กรณีตัวอย่าง "มีการวางศิลาฤกษ์ของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้นก็ในวันเปลี่ยนนามสยามเป็นไทย"  และการวางหมุดที่ระลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า "ณ ที่นี้ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎร ได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ"โดยหมุดแสดงจุดที่หัวหน้าคณะราษฎรยืนอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 "หมุด" มีตัวอักษรบอกความหมายไว้แล้ว แต่ "ตัวหมุด" มีความหมายใด หรือจะหมายถึง "หยุด" หรือ "เขตแดน" กันแน่  โดยเหตุการณ์ดังกล่าว ก่อนหน้าปัญหากรณีปักปันเขตแดนแม่น้ำโขง โดยอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีเกี่ยวกับหลัก 6 ประการ คือ เอกราช และความสงบภายใน สิทธิ เสรีภาพ ฯลฯ เป็นต้น  มีพิธีเปิด   เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2483 ต่อมาด้วยเหตุพิพาทอินโดจีนดังกล่าว เกิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484 แสดงวีรกรรม ทหาร ตำรวจ พลเรือน ที่เสียชีวิต ซึ่งรูปแบบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเปรียบเทียบแตกต่างจากอนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่มี ลักษณะสถูปเจดีย์  ดังนั้น อนุสาวรีย์สะท้อนรูปแบบชาติไทยไปในตัวเอง


นอกจากนั้น ด้านภาพยนตร์ ในช่วงปี พ.ศ. 2483 นั้น ความเจริญรุ่งเรืองของวงการภาพยนตร์ไทยโดยเฉพาะภาพยนตร์เสียง ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 2470 มีอันต้องสะดุดลง เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรปวิกฤตการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อวงการภาพยนตร์ไทยโดยตรง เพราะได้ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนฟิล์มถ่ายภาพยนตร์ขนาด 35 มม. อย่างฉับพลัน เนื่องจากประเทศผู้ผลิตฟิล์มส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปซึ่งกำลับประสบกับภาวะสงครามโดยตรง ส่งผลให้ภาพยนตร์เสียงซึ่งเคยเฟื่องฟูมากในช่วงต้นทศวรรษ 2480 ค่อย ๆ ลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย ภาพยนตร์เสียงเพียงเรื่องเดียวที่สร้างในปี พ.ศ. 2483 ก็คือ พระเจ้าช้างเผือก ซึงสร้างโดยนายปรีดี พนมยงค์ เมื่อรูปการณ์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเป็นเช่นนี้ จึงมีผู้สร้างภาพยนตร์บางรายพยายามหาทางออกเพื่อแก้ไขกับสถานการณ์ดังกล่าว และความสำเร็จของภาพยนตร์พากย์เรื่อง สามปอยหลวง ของบริษัทไตรภูมิภาพยนตร์ ที่ออกฉายในช่วงปลายปี พ.ศ. 2483 ก็คือตัวอย่างอันดีของความพยายามครั้งนี้[18] และใน ปี 2483 ก็มีภาพยนตร์ เรื่อง "คะนองรัก" ซึ่งเกี่ยวข้องในฐานะภาพยนตร์ หรือสื่อมวลชนกับบทบาทการแพร่วาทกรรมป้องกันกามโรค[19]  


อย่างไรก็ดี ความคิดของจอมพล ป. และกลุ่มคณะราษฎร หรือปรีดี ก็คงประเมินสถานการณ์ของสงครามโลก ในแนวทางคนละแบบไว้ โดยจอมพล ป. คงจะประเมินว่า ญี่ปุ่นจะชนะ โดยเข้าร่วมรบทำสงครามในพม่า ดังจะขอยกตัวอย่าง คือ กรณีบุกเชียงตุง สร้างสหรัถไทยเดิม[20] และก็คล้ายกับกรณีอินโดจีน เชิญธงไตรรงค์ คือธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา และสะพาน พ.. 2485 (ตามการสร้างภาษาแบบจอมพล ป.[21])แถบต้นน้ำของแม่น้ำปิง  ซึ่งสะพานเชื่อมต่ออำเภอเชียงดาว กับอำเภอไชยปราการ ที่ติดกับอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ในปัจจุบันเขตติดต่อพม่า( ช่วงเกิดสงคราม ปรีดีเคยคิดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในพม่าเขตปกครองของอังกฤษ) โดยยุคนั้น กองทัพไทย มีปักหลักอยู่ที่เชียงใหม่ นอกจากตั้งฐานที่มั่นในจังหวัดลำปาง[22] ในเหตุการณ์เกี่ยวกับยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 มี อนุสาวรีย์แห่งความดี  ที่เชลยศึกชาวต่างประเทศสร้างไว้ระลึกถึงความเมตตาปราณี คุณงาม ความดีของชาวเมืองอุบลราชธานี นอกจากนั้น ในช่วงนี้เกิดภาพยนตร์เรื่อง "บ้านไร่นาเรา"  สร้างจากเค้าเรื่องโดยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม  และ"สงครามเขตหลัง" และ "บินกลางคืน[23]" (2486) เป็นต้น


แต่ว่าผลงานของหลวงวิจิตรวาทการ ที่ช่วยเป็นกระบอกเสียงให้กับจอมพล ป. และช่วยสร้างลัทธิทหาร ซึ่งเรียกว่า "โฆษณาการ" และตามสถานีวิทยุ นายมั่น นายคง(สังข์ พัทธโนทัย) มีการประดิษฐ์เครื่องแต่งกายของพลเมือง เรื่องร่างกายแข็งแรงในช่วงสงคราม การตื่นตัวของวงการวรรณกรรม ย่อมควรจะพิจารณาบทบาทของหลวงวิจิตรวาทการ อิทธิพลต่อภาพยนตร์

 

จอมพล ป.กับหลวงวิจิตรวาทการ อิทธิพลต่อภาพยนตร์

หลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งยอมรับความหลากหลายของพลเมืองในช่วง 2475-76 มากกว่าทศวรรษที่ 2480 โดยหลวงวิจิตรวาทการ มาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร พ.. 2477-2483 จะเชื่อมโยงกับจอมพล ป.มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเขาเป็นผู้สนใจประวัติศาสตร์ มีความรู้ทางจิตวิทยา และมีวาทศิลป์ในการโน้มน้าวใจคนแบบนักการทูต และมักใหญ่ใฝ่สูงในการทำงาน[24]


อนึ่ง จะขอยกตัวอย่าง นวนิยาย กับภาพยนตร์ เป็นส่วนประกอบของการสร้างวัฒนธรรมความเป็นไทย โดยสะท้อนผ่านหลวงวิจิตรวาทการ ที่มีบทบาทสำคัญ ซึ่งแตกต่าง กับกลุ่มนักประพันธ์ต่างๆ อันเป็นเรื่องอ่านเล่นสมัยใหม่ ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ผลงานของ กุหลาบ สายประดิษฐ์  หรือศรีบูรพา หนึ่งในคณะสุภาพบุรุษ (ผลิตนิตยสารสุภาพบุรุษ 2472) แต่ไม่ได้เข้าร่วม "คณะราษฎร"  ซึ่งศรีบูรพานำเสนอ "ยาขอบ" ให้เขียนนิยายปลอมประวัติศาสตร์โด่งดังเรื่อง "ศึกอนงค์" เปรียบเทียบกับหลวงวิจิตรวาทการ คือ "สยามกับสุวรรณภูมิ" แล้วก็ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย แต่ว่าหลวงวิจิตรวาทการขึ้นมาเหนือกว่ายาขอบ และขุนวิจิตรมาตรา (เขียนเรื่องหลักไทย)  เพราะว่าการเล่นการเมือง ทำให้หลวงวิจิตรวาทการเข้ากับระบบราชการเก่า และคณะราษฎร


ซึ่งแตกต่างกับกลุ่ม ส.ธรรมยศ[25] และกลุ่มนักหนังสือพิมพ์ อื่นๆ โดยบทบาทของ หลวงวิจิตรวาทการ ในฐานะตัวแทนนักประพันธ์ หรือนักหนังสือพิมพ์ ก็เตรียมจะเล่นการเมืองในฐานะ "คนกลาง"ของคณะราษฎร์ และผู้ชี้ให้เห็นว่า อำนาจของคณะราษฎร "ก่อนสยามเป็นไทย"อาณาเขตครอบคลุมไม่ทั่วถึงล้านนา  ซึ่งมันอาจจะทำให้ประเทศสยามแตกแยกพอๆกับการบุกเข้ามาของฝรั่งเศสได้ ซึ่งความคิดแบ่งแยกดินแดนนี้ ปรากฏในหลายเขตแดน เช่น จังหวัดน่าน[26] มีการผลิตธนบัตรรูปวัดภูมินทร์ และข่าวลือแยกดินแดน เป็นต้น โดยหลวงวิจิตรวาทการ ผู้ไม่ได้เป็นนักเขียนนวนิยายของ "คณะสุภาพบุรุษ" แต่ว่า ในเวลาต่อมา เขาคือตัวแทน "คณะชาติ" ก่อนที่จะเข้าร่วม "คณะราษฎร" นั่นคือที่มาความสำคัญของเขา โดยการสนับสนุนของคณะราษฏร


อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวันชาติ คือ วันที่ 24  มิถุนายน 2481 ในสมัยพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นรัฐมนตรี แต่ก็ยังไม่มีการเตรียมการสำหรับการฉลองวันชาติ แต่อย่างใด  "คณะราษฎร" ซึ่งมอบหมายให้หลวงวิจิตรมาทำงาน "ปลูกต้นรักชาติ" ขึ้นในหัวใจประชาชน โดยการแต่งละครประวัติศาสตร์ และเพลงที่เป็นบทปลุกใจให้รักชาติขึ้นในระยะเวลาติดต่อกัน อาทิ เช่น ละครอิงประวัติศาสตร์เรื่อง เลือดสุพรรณ(2479 ) ราชมนู(2479-80) พระเจ้ากรุงธน (2480) ศึกถลาง(2480) เจ้าหญิงแสนหวี และอื่นๆ อีกมาก โดยเขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีลอย(ไม่ว่ากระทรวงใดๆ) และยกตัวอย่าง ในเรื่อง "ราชมนู" รับอิทธิพลรัฐบาล มีนโยบายที่จะสร้างชาติให้เป็นมหาอำนาจของแหลมทอง หลวงวิจิตรวาทการก็ได้สร้างคำนิยาม "ชาติไทย"ให้มีความหมายครอบคลุมคนชาติต่างๆ ในแหลมทอง โดยอาศัยสื่อเช่นการละคร การบรรยายทางวิทยุกระจายเสียง การพิมพ์ และการบรรยายในที่ต่างๆ รวมทั้งในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา[27] โดยตัวละครในเรื่อง"ราชมนู" กล่าวว่า "เขมรเป็นชื่อสมมุติแท้ๆ พวกเราในแหลมทองนี้ ทั้งแหลม พวกเดียวกันทั้งนั้น" ในทัศนะของหลวงวิจิตรวาทการเปลี่ยนไปตามอิทธิพลของนายกรัฐมนตรี คือ จอมพล ป.  โดยภายใต้อิทธิพลโต้ตอบชาวจีน และรวมชาติไทยในภาคเหนือ[28]


ในบริบทของความเกี่ยวข้องกับหลวงวิจิตรวาทการ กับความเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาตินิยมของจอมพล ป. และอิทธิพลในการสร้างภาพยนตร์ด้วย โดยจะยกตัวอย่าง  2  ประการ


ประการที่ 1 หลวงวิจิตร บ่งบอกว่าเขาเข้าใจในอำนาจของแผนที่ และอาณาเขตดินแดนด้วย ดังตัวอย่างที่ได้เขียนไว้ในบันทึกปาฐกถาเรื่อง "ของดีในภาคอีสาน" ตอนหนึ่งว่า

 

"…….ข้าพเจ้าได้เคยท่องเที่ยวในภาคอีสานตั้งแต่ครั้งเป็นเลขานุการข้าหลวงแม่น้ำโขงเมื่อ 15  ปีมาแล้ว และต่อจากนั้นก็ได้ท่องเที่ยวไปมาอยู่เสมอ จนกระทั่งถึงเวลานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในขณะที่มีกรณีพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างเวลาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.. 2483[29]  …."


การบรรยายทางวิทยุกระจายเสียง เมื่อ 15 ธันวาคม 2483 เรื่อง "ชาติไทยจะชนะ" หลวงวิจิตรวาทการกล่าวว่า "ชาติไทยในที่นี้… ข้าพเจ้าหมายตลอดถึงพี่น้องของเราฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและในกรุงกัมพูชาด้วย ส่วนปาฐกถาแสดงแก่ครูอาจารย์และนักเรียนกรมยุทธศึกษา เรื่อง "การเสียดินแดนไทยให้แก่ฝรั่งเศส" เมื่อ 17 ตุลาคม 2483 นอกจากเน้นว่าดินแดนลาวและเขมร "เป็นถิ่นที่อยู่ของชนชาติไทย เลือดไทย ซึ่งเป็นหน่อเนื้อเชื้อเดียวกับเรา มีจำนวน 4 ล้านคน" แล้ว ยังสร้างความสะเทือนในแก่ผู้ฟังด้วยการกล่าวว่า


"ทุกๆครั้งที่ข้าพเจ้าไปแลเห็นแม่น้ำโขง ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนว่าน้ำที่ไหลอยู่นั้นคือน้ำตาของชาวไทย พวกเราทางฝั่งนี้เป็นอิสรเสรี แต่พี่น้องเราทางฝั่งโน้นถูกกดขี่ข่มเหงอยู่ทุกวัน[30] …"


ทั้งนี้ การปลุกระดมให้คนไทยสนับสนุนการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส ย่อมมีผลต่อคนไทย ซึ่งประเทศกำลังเข้าสู่สงคราม เนื่องจากใช้อำนาจทางกำลังทหารเข้าตัดสินปัญหาแทน ที่จะใช้หลักกฎหมายระหว่างประเทศ หรือว่าไม่มีสนธิสัญญาใดๆ จะเป็นสันติภาพอย่างแท้จริงได้


ประการที่ 2 ในส่วนการรณรงค์ของการประชาสัมพันธ์ ในเรื่องเขตแดน ที่กล่าวข้างต้น สร้างกระแสภาพลักษณ์ให้แก่จอมพล ป. ด้วยผลจากการประชาสัมพันธ์ นั้นเอง และเขา ก็คือ ประธานคณะกรรมการรัฐนิยม อันเชื่อมโยงชาตินิยมของเขากับจอมพล ป. "คณะกรรมการรัฐนิยม" มาจากที่ถูกเสนอเปลี่ยนชื่อจากคณะกรรมการธรรมนิยม[31] โดยปรีดี และเขาเคยกล่าวว่า "เห็นแสงจอมพล" คือเรื่องว่าหลวงวิจิตรวาทการเข้าไปในวังสวนกุหลาบ เห็นรูปจอมพลฯ ซึ่งวาดด้วยสีน้ำมัน ซึ่งที่จริงมีอยู่เพียงคนเดียวว่า "ผู้ติดตั้งรูปฉลาดในศิลปะแห่งการติดตั้งรับกับแสงทำให้รูปมีรัศมี[32]" ทำให้เขาถือผู้คนมุ่งร้ายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นเป็นช่วงคาบเกี่ยวเวลาที่เขาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ. 2483) เป็นต้นมา


หลวงวิจิตรวาทการ มีบทบาทตามการไปปาฐกถา รวมทั้งด้านศิลปะ-ละคร-ภาพยนตร์ นอกจากตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ที่เชี่ยวชาญแลกเปลี่ยนความรู้กับสำนักฝรั่งเศส ฯ เป็นต้น ดังนั้น การสร้างชาติ เกี่ยวพันกับรัฐนิยม ซึ่งต่างจากความเชื่อร่างกายทางศาสนา เหมาะแก่ร่างกายทางวิทยาศาสตร์การทหาร ร่างกายแข็งแรง และสามารถสร้างเผ่าพันธุ์ให้รูปร่างใหญ่โตได้ เพราะร่างกาย ที่ได้มาตรฐานเป็นสิ่งที่จะช่วยประเทศก้าวไปเป็นมหาอำนาจ อารยะได้  จึงขอยกตัวอย่างว่า หัวข้ออาณาเขต หรือดินแดน กลายเป็นอยู่ในแผนที่สมัยใหม่ เปรียบเทียบกับร่างกายพลเมืองสมัยใหม่ และวิทยาศาสตร์ ก็มีผลต่อการทหารในรัฐนิยม เช่นเดียวกันแต่ทำไมพระเจ้าช้างเผือกกลับย้อนอดีตไปไกลกว่าบริบทสงครามโลก ทั้งที่ไม่มีช้างเผือก 


แน่นอนว่า ยุคอโยธยา(ในจินตนาการของภาพยนตร์) เป็นยุคที่แผนที่แบบสมัยใหม่ยังไม่ปรากฏขึ้นมา ในที่นี้ยังมีกระบวนการจัดทำภาพยนตร์ใช้สถานที่ของไทยฟิลม์ และเกิดชื่อปรีดีภาพยนตร์ (ซึ่งยุคนั้น ก็มีชื่อไตรภูมิภาพยนตร์) ถ่ายทำบรรยากาศธรรมชาติในจังหวัดแพร่ นักแสดงเป็นครู-นักเรียน แตกต่างกับเอาทหารแสดงในเรื่อง "เลือดทหารไทย" โดยประเด็นของภาพยนตร์คือการแย่งชิงช้างเผือก

 

(โปรดติดตามตอนที่สาม)

……………………….

 

เชิงอรรถตอนที่สอง

 

 

[1] เขาดินวนา หรือสวนสัตว์ดุสิต เดิมเป็นพระราชอุทยานส่วนพระองค์ของร.5 ต่อมาในร.6 สร้างขึ้นบริเวณที่ราบด้านตะวันออกของพระราชวังดุสิต และจอมพล ป. ขอปรับปรุงเป็นส่วนสัตว์ ในที่สุด ตั้งชื่อว่าสวนสัตว์ดุสิต พ.. 2481ส่วนในหนังสือจากสยามเก่าสูไทยใหม่ กล่าวว่า มีนิทรรศการที่มีความสำคัญ คือจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2482 ที่สนามเสือป่าหน้าเขาดินวนา

 

[2] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล "ประเทศไทย"อายุครบ ๖๕: ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อประเทศปี ๒๔๘๒ ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 25.8  มิ.. 2547 : 82

 

[3]อรรคพล สาตุ้ม ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ชาวจีนกับผู้ปกครอง ความเชื่อ พิธีกรรมในศาลเจ้าจีนจังหวัดเชียงใหม่http://www.thai-d.com/siam-china/silapawat/chiangmaichi.htm

 

[4] สันติสุข โสภณสิริ บก. ชาญวิทย์  เกษตรศิริ"จากสยามเป็นไทย : นามนั้นสำคัญไฉน?" ใน  ประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทย กรุงเทพฯ : มูลนิธิเด็ก,2544:  57

 

[5] A P Cowie Chief Editor. A S Hornby. OXFORD ADVANCED LEARNER"S DICTIONARY OF CURRENT ENGLISH. Oxford University Press 1994: 116

 

[6] ก้องสกล  กวินรวีกุล การสร้างร่างกายพลเมืองไทยในสมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม พ.. 2481-2487 วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2545 : 57

 

[7] ทวีศักดิ์ เผือกสม "วาทกรรมการแพทย์สมัยใหม่ของตะวันตกกับการเปลี่ยนแปลงของรัฐไทย:ข้อสังเกตเบื้องต้น" วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 26.2 ,2543 : 85

 

[8] โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ "จิตวิญญาณกับสุขภาพ"ใน มิติสุขภาพ:กระบวนทัศน์ใหม่เพื่อสร้างสังคมแห่งสุขภาวะ.นนทบุรี:สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข 2546  : 47

 

[9] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ สันติทฤษฎี วิถีวัฒนธรรม กรุงเทพฯ : มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2539 : 130

 

[10] ซึ่งถ้าพิจารณาในบริบท ปี 2485 เปรียบเทียบกับยึดเชียงตุง ที่ต้องการให้แผ่นดินไทยรวมกัน ในแง่สะท้อนอิทธิพลอาณานิคมเรื่องเชื้อชาติ และทฤษฎีวิวัฒนาการ

 

[11] สุพรรณี กาญจนัษฐิติ ผู้เก็บความ "เรื่อง ชายแดนของประเทศสยามกับอินโดจีน การเรียกร้องสิทธิของชาวสยาม" จุลสารโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ปีที่ 3 ฉบับ 2  ..-มีค. 2519

 

[12] แถมสุข นุ่มนนท์  เมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดวงกมล, 2521  : 39

 

[13] นับว่าแรงสนับสนุนของนักศึกษาเดินขบวนครั้งแรก น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญกับกรณีพิพาทอินโดจีน และ"เมื่อเกิดกรณีการพิพาทอินโดจีนแล้ว สิ่งนี้พอจะสรุปให้เห็นได้ว่าทำไมฝรั่งเศส จึงยอมให้ญี่ปุ่นยื่นมือเข้ามาไกล่เกลี่ย และเป็นที่น่าสังเกต อีกว่าไทยก็ยอมรับการแทรกแซงของญี่ปุ่นใน 2 วันต่อมา"

 

[14] ภรณี กาญจนัษฐิติ และชื่นจิตต์ อำไพพรรณ แปล,จอห์น แบสติน และแฮรี่ เจ.เบ็นดา เขียน ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยใหม่  กรุงเทพฯ:โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2521:239-247

 

[15] สันติสุข โสภณสิริ "รัฐไทยกับจักรวรรดินิยม" ปาจารยสาร ปีที่12. 2,2538 : 31

 

[16] สุรชาติ บำรุงสุข รัฐและกองทัพ ในโลกที่สาม: ข้อพิจารณาทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง กรุงเทพฯ: ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: 2529: 73

 

[17] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อ้างแล้ว เครือข่ายกับญี่ปุ่น เช่น พระสารสาสน์ฯ เขียนจดหมายจากโตเกียว-อาชญากรสงคราม เป็นต้น

 

[18] ภาณุ อารี ความรุ่งโรจน์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ยุคบุกเบิก (2470 - 2489) 

ที่มา http://www.thaifilm.com/articleDetail.asp?id=9

 

[19] ชาติชาย มุกสง. "วาทกรรมทางการแพทย์กับนโยบายการสร้างชาติ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.. 2481-2487) สังคมศาสตร์ ฉ. 1/2548 : 60-61

 

[20] มรว.รุจยา อาภากร. "คน "ไท"กับเพื่อนบ้าน: กรณีเมืองเชียงตุง" ใน สรัสวดี อ๋องสกุล และโยชิยูกิ มาซูฮารา บก. การศึกษาประวัติศาสตร์และวรรณกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไท เชียงใหม่ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2544.:176-206

 

[21] อาจถูกมองข้ามสะพานแตกต่างกับ สะพานนวรัฐ (เปิดโดยพระองค์เจ้าบวรเดช) ที่มีชื่อเสียงในเชียงใหม่ โดยอำเภอฝาง คือ เป็นที่พบช้างเผือกประจำรัชกาลที่ 7 (สถาปนาสะพานกษัตริย์ศึก) และยังมีเอกสารที่เชื้อสายเจ้านายเชียงใหม่ ถึงจอมพลป. เป็นต้น

 

[22] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ.  สงครามเชียงตุงครั้งสุดท้าย พ.. ๒๔๘๕-๒๔๘๘ เมืองโบราณ ปีที่ 20.1..-มี.. 2537 :85-88

 

[23] จอมพล ป. พิบูลสงคราม (รัฐบุรุษ ผู้ใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อทางการเมือง) ที่มา http://www.thaifilm.com/articleDetail.asp?id=50

 

[24] ประอรรัตน์ บูรณมาตร หลวงวิจิตรวาทการกับบทละครประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2528 :76

 

[25] กลุ่มเพลินจิตต์  ฯลฯ และส.ธรรมยศ มีเชื้อสายเจ้าลำปาง  มีเครือข่ายภาคเหนือด้วย แต่ยาขอบ อยู่กลุ่มคณะสุภาพบุรุษ ทั้งที่มีเชื้อสายเจ้านายแพร่

 

[26] อรรคพล สาตุ้ม  "การอ่านภาษาภาพจิตรกรรมกับอักษรธรรมล้านนา:ชื่อของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แม่น้ำโขง" อ้างแล้ว

 

[27] สายชล สัตยานุรักษ์ ความเปลี่ยนแปลงในการสร้าง "ชาติไทย" และ "ความเป็นไทย" โดย หลวงวิจิตรวาทการ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545

 

[28] อรรคพล สาตุ้ม สวัสดีครับ…บทสัมภาษณ์ สสร.เรื่องรัฐธรรมนูญหลังยุคเสรีไทย

http://www.thaiwriternetwork.com/twncolumnread.php?id=174

 

[29] เฉลียว  พันธุ์สีดา อ้างแล้ว (ดูเพิ่มเติม ในหลวงวิจิตรวาทการ,ปาฐกถาเรื่องของดีในภาคอีสาน," "นิพนธ์บางเรื่องของพลตรีหลวงวิจิตรวาทการสมัยดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมศิลปากรในวิจิตรวาทการอนุสรณ์ เล่ม ๒…). : 231

 

[30] สายชล สัตยานุรักษ์  อ้างแล้ว : 63-64

 

[31] สมศักดิ์ อ้างแล้ว : 88

 

[32] "เรื่องมุ่งร้ายหมายขวัญ" ในวิจิตรวาทการอนุสรณ์ : 130

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท