Skip to main content
sharethis


การสร้างเงื่อนไขให้คนทำความดีอาจดูเป็นกุศโลบายที่น่าจะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย แต่หากมองในอีกด้านหนึ่งแล้ว มนุษย์ตกต่ำลงถึงขนาดไม่สามารถที่จะ เสียสละ แบ่งปัน ให้กับผู้อื่นโดยไม่ต้องสร้างเงื่อนไขหรือแรงจูงใจแล้วหรือ...? ในขณะเดียวกัน การให้ความหมายของ "ความดี" ก็ช่างพร่าเลือนยากที่จับต้องเสียเหลือเกิน เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ "ประชาไท"ใคร่ขอนำเสนอบทความนี้เป็นของกำนัลอีกชิ้นเพื่อเป็นประเด็นในการแลกเปลี่ยนเผื่อว่าวันพรุ่งจะงดงามทรงคุณค่ามากกว่าวันนี้


 


0 0 0


 


มุกดา ตฤณชาติ


 


 


 


ปี 2549-2550 รอบตัวเราเต็มไปด้วยการเชิญชวนให้ "ทำดีเพื่อพ่อ" แต่ผ่านมาจนบัดนี้ สังคมไทยยังไม่มีอะไรบอกได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จึงอาจเป็นไปได้ว่า การทำดีเพื่อใครสักคนซึ่งดีแต่อาจไม่เพียงพอสำหรับสังคมไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2551 จึงขอเชิญชวนให้เรา (ไม่ควรยกเว้นใคร) "ทำดีเพื่อเพื่อนมนุษย์" โดยใช้หลักแห่งความ "พอเพียง" ดังตัวอย่างที่ขอทดลองนำเสนอ เช่น


 


J พอเพียงแล้วกับการบริโภค(กินและใช้)ที่ทำให้เกิดการใช้ไฟฟ้าและพลังงานอย่างบ้าระห่ำ เช่น เดินห้างจ่ายตลาดและตากแอร์ เพราะการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น หมายถึงการขยายการสร้างโรงไฟฟ้าที่สร้างความเดือดร้อนแก่คนในท้องถิ่นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน โรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากถ่านหิน แกลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์


 


J พอเพียงแล้วกับการล้างผลาญทรัพยากรอย่างไม่บันยะบันยัง เช่นการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกอย่างไม่เลือก เพราะนอกจากจะเป็นขยะที่กำจัดไม่ได้เมื่อหมดอายุการใช้งานแล้ว การเติบโตของอุตสาหกรรมพลาสติก เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน ที่จะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อประชาชนคนอีสาน


 


J พอเพียงแล้วสำหรับข้าราชการกับการทำงานตามคำสั่งหรือตามนโยบายรัฐ ทุจริตประพฤติมิชอบ และเห็นประชาชนเป็นผู้ด้อยพัฒนา ต้องถูกพัฒนา ความจริงแล้วประชาชนมีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง บนฐานของความเท่าเทียมในการครอบครองปัจจัยการผลิต การเข้าถึงทรัพยากร งบประมาณ และการตัดสินใจกำหนดวิถีชีวิตตนเอง การทำงานของท่านจึงควรทำเพื่อประชาชนเจ้าของภาษีบนหลักการดังกล่าว


 


J พอเพียงแล้วกับการมองคนที่ต่างเชื้อชาติ ศาสนา ภูมิภาค ภาษา ความคิดเห็น เพศ วัย สถานะ การศึกษา อาชีพ ว่าเป็นอื่น หรือให้ค่าที่สูงหรือต่ำกว่าเรา เพราะเราทุกคนมีคุณค่าเท่ากัน การเคารพความแตกต่างหลากหลายของคนต่างหากจึงจะสร้างสมดุลให้กับสังคม แต่ไม่ได้รวมถึงการยอมรับและดำรงไว้ซึ่งความแตกต่างทางชนชั้น


 


J พอเพียงแล้วกับการเมินเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าการรัฐประหาร การแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายขายชาติหรือละเมิดสิทธิ โครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อคนในท้องถิ่น การเรียกร้องของชาวบ้านในกรณีปัญหาความเดือดร้อน หรือแม้กระทั่งปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นประโยชน์กับคนทุกคนต้องอาศัยความกระตือรือร้น การมีส่วนร่วม และการสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวม (ที่หมายถึงคนส่วนใหญ่ในสังคม ไม่ใช่เพียงแค่การอ้างถึง สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์) อาจเริ่มต้นด้วยการร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ


 


J พอเพียงแล้วกับการจ่ายภาษีในอัตราที่ไม่เป็นธรรม คนที่มีรายได้มากกว่าน่าจะแบ่งปันให้คนด้อยโอกาสที่เป็นเพื่อนร่วมชาติได้ด้วยการจ่ายภาษีในอัตราที่ก้าวหน้า ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก เพื่อนำไปสร้างสวัสดิการที่หมายถึงการสร้างคุณภาพชีวิตคนในสังคมให้ดีเท่าเทียมกัน ไม่ได้แปลว่าส่งเสริมให้คนขี้เกียจ เหมือนอย่างที่คนชั้นนำ/คนชั้นกลางเข้าใจ


 


J พอเพียงแล้วกับการพูดถึง การปฏิรูปการศึกษาที่เน้นหลักสูตรท้องถิ่น ให้ผู้เรียนเรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ความเป็นจริงโรงเรียนใช้หลักสูตรการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนวังไกลกังวล หรือ "ครูตู้" ซึ่งผู้เรียนไม่ได้เรียนรู้จากสิ่งใกล้ตัวในชุมชนเลย และครูตัวจริงก็แทบไม่ได้ทำอะไร แล้วผู้เรียนจะเป็นคนอย่างไรภายใต้การศึกษาแบบนี้ การปฏิรูปการศึกษาจึงน่าจะเป็นเรื่องที่ท้องถิ่นมีบทบาทในการดูแล/กำหนดได้ด้วยตัวเอง


 


J พอเพียงแล้วกับการสนับสนุนการทำรัฐประหารของนักวิชาการ สื่อมวลชน และผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นภาคประชาชน เพราะเราได้เห็นแล้วว่าประชาชนมีสำนึกประชาธิปไตยมากกว่าพวกท่าน (คนจำนวน 10 ล้าน ที่โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยอมรับผลประชามติด้วยดี ต่างจากพวกท่านที่ไม่สามารถยอมรับกับผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา) สิ่งที่ควรทำก็คือทบทวนตัวเอง สร้างสำนึกใหม่ และร่วมกันสร้างวิถีทางประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็นร่วมกับประชาชน


 


J พอเพียงแล้วกับการเมืองแบบเทวดา ที่มองเห็นประชาชนเป็นเพียงไพร่ฟ้า ต้องถูกปกครองด้วยความหวังดี และมีเมตตา เพราะความจริงแล้ว ประชาชนทุกคนเป็นพลเมืองที่ต้องมีสิทธิในการปกครองตนเอง เท่าๆ กับที่จะมีสิทธิได้รับการอุดหนุน/ส่งเสริมจากรัฐอย่างเสมอภาค


 


J พอเพียงแล้วกับคำว่า "พอเพียง" ที่ผู้พูดเกิดมาบนกองเงินกองทองไม่เคยอดอยากหิวโหยและไม่เคยเพียงพอ กลับบอกให้คนยากจนให้พอเพียง คำว่า "พอเพียง" น่าจะชี้เข้าหาผู้พูดเอง และต้องไม่จำกัดแค่เพียงพอในการแสวงหาความร่ำรวย/ผลประโยชน์เท่านั้น แต่ควรจะละวางสิ่งที่มีอยู่ แบ่งปันให้คนที่ไม่พอจะกินบ้าง


 


สุดท้าย ผู้เขียนใคร่ขอเชิญชวนให้เพื่อนพ้องร่วมเสนอความคิดเห็นและช่วยกันนำไปปฏิบัติในการ "ทำดีเพื่อเพื่อนมนุษย์" เพื่อคนที่มีโอกาส มีอำนาจ และมีคุณภาพชีวิตที่น้อยกว่าพวกเรา เพื่อที่จะทำให้ปีใหม่นี้จะเป็นปีแห่งความเสมอภาค เสรีภาพ สร้างสรรค์ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของทุกๆ คน และจะเป็นสิ่งที่ทำให้ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์จะดำรงอยู่กับตัวเราตลอดไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net