Skip to main content
sharethis



  แถลงการณ์


ขอให้ระมัดระวังการปิดล้อมตรวจค้นบริเวณศาสนสถาน


 


 


จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2550 เวลาประมาณ 05.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจสภอ.สายบุรี ร่วมกับกองกำลังเจ้าหน้าที่ทหารนาวิกโยธิน ฉก.ปัตตานี และทหารพราน จำนวนกว่า 200 นาย ได้สนธิกำลังเข้าปิดล้อมตรวจค้นและจับกุมควบคุมตัวประชาชนที่อยู่ในมัสยิดชะเมาสามต้น ม. 5 ต.เตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ขณะร่วมประกอบศาสนกิจในการทำละหมาดก่อนพระอาทิตย์ขึ้น(ละหมาดซุบฮิ) จำนวนทั้งสิ้น 21 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีเยาวชน และเด็กอายุ 14 ปี สองคนรวมอยู่ด้วย โดยผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดมิได้รับทราบข้อกล่าวหาหรือเหตุแห่งความสงสัยใดๆในการควบคุมตัวดังกล่าวและทราบต่อมาว่าผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดได้ถูกนำไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เพื่อทำการสอบสวน


 


คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพมีข้อห่วงใยเป็นอย่างสูงในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกที่ประกาศใช้ภายหลังจากที่มีการประกาศของคณะปฎิวัติเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปิดล้อมตรวจค้นและควบคุมตัวประชาชนในบริเวณสถานที่สำคัญทางศาสนาเช่น มัสยิด อีกทั้งข้อมูลล่าสุดที่ทางคณะทำงานฯได้รับการร้องเรียนจากประชาชนคือพบว่าในการควบคุมตัวประชาชนในค่ายทหารบางแห่งยังมีการซ้อมทรมานผู้ที่อยู่ระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่


 


แม้เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมาก และภาครัฐเองได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้วยสันติวิธีมาโดยตลอด หากแต่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานนั้นได้สร้างความไม่เข้าใจ ความหวาดระแวง และความรู้สึกไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน ซึ่งการติดตามหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมนั้นต้องเป็นไปด้วยการเคารพต่อหลักนิติธรรม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อันเป็นหลักการขั้นพื้นฐานที่รับรองไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 และกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1976 ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นภาคี ได้รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องสัยแม้ประเทศแห่งรัฐภาคีได้ประกาศสภาวะฉุกเฉินแล้วก็ตาม หลักการคุ้มครองบุคคลทุกคนที่ถูกคุมขังหรือจำคุก ค.ศ. 1988 และแนวทางขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันการกระทำความผิดของเยาวชน (แนวทางริยาร์ด) ค.ศ. 1990


 


เพื่อให้การดำเนินการหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมเป็นไปด้วยความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพจึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้


 


1. ในการควบคุมตัวเด็กและเยาวชน จะต้องเป็นไปตามสิทธิเด็กที่ได้รับรองไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยภาคีอย่างเคร่งครัด


 


2. ผู้ถูกควบคุมตัวควรมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ หรือญาติที่ผู้ถูกควบคุมตัวไว้วางใจแม้รัฐจะได้ประกาศใช้กฎหมายพิเศษแล้วก็ตาม เพื่อแสดงความโปร่งใสในการปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวว่าบุคคลคนเหล่านั้นจะไม่ถูกซ้อม ทรมาน เพื่อให้รับสารภาพ


 


3. ในช่วงที่ผู้ถูกควบคุมตัวอยู่ระหว่างการซักถามของกฎหมายพิเศษ หากพบว่าผู้ถูกควบคุมตัวคนใดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด เจ้าหน้าที่จะต้องปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวโดยทันที


 


4.รัฐควรใช้ความระมัดระวังอย่างสูงในการเข้าปิดล้อม ตรวจค้น และควบคุมตัวประชาชนในบริเวณศาสนสถาน เพื่อเป็นการลดเงื่อนไขมิให้ประชาชนมีความรู้สึกถึงการถูกดูหมิ่นศักดิ์ศรี และการลบหลู่ทางศาสนา


 


5.ขอให้รัฐยึดหลักนิติธรรมและสันติวิธีเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเคร่งครัด และควรให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังทั้งนี้เพื่อเป็นการลดความหวาดระแวงและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนให้กลับคืนมา




ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net