ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ : แรงงานนอกระบบก็มีบำนาญได้ : แนวทางสวัสดิการ "การออมพันธมิตร" รัฐ+ชุมชน

หมายเหตุ : การนำเสนอนี้ เป็นส่วนหนึ่งในงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ "ความยากจน แรงงาน และสวัสดิการ: โจทย์สำหรับรัฐและชุมชน" จัดโดย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2550 ณ ห้องประชุมชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

 

หัวข้อเสวนาในช่วงเช้า คือ "แรงงานและสวัสดิการแรงงาน: สภาพปัญหา สถานะความรู้ และทางออก"

การนำเสนอในประเด็นต่างๆ ได้แก่ "แรงงานนอกระบบ" โดย ผศ.ดร.วัชรียา โตสงวน คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "แรงงานข้ามชาติ" โดย ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "คนจนในชุมชนเมือง" โดย รศ.ดร.นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ., "สวัสดิการแรงงาน" โดย ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มธ., "ระบบประกันสังคม" โดย อภิชาต สถินิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

 

หัวข้อเสวนาในช่วงบ่าย คือ "สวัสดิการเพื่อแก้ปัญหาความยากจน: สภาพปัญหา สถานะความรู้ และทางออก" มีการนำเสนอประเด็น ได้แก่ "มาตรการทางการคลังเพื่อคนยากจนและด้อยโอกาส" โดย ศ.ดร.ปราณี ทินกร คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม" โดย ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "การคลังท้องถิ่นกับสวัสดิการสังคม" โดย รศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "สวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุ" โดย รศ.ดร.มัทนา พนานิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "นโยบายสังคมและสวัสดิการสังคม" รศ.ดร.กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุล คณะสังคมสังเคราะห์ศาสตร์ มธ., "องค์กรการเงินชุมชน" โดย คุณภีม ภคเมธาวี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 

ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ปัทมาวดี ซูซูกิ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

 

ทั้งหมดนี้ "ประชาไท" จะทยอยนำเสนอ โปรดติดตาม

 

 

 

 

 

ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. มีข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางการสร้างหลักประกันทางสังคม ซึ่งสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องรีบถกกันในเวลานี้ คือเรื่องของ "ระบบการออม" นอกจากนี้ จะวางแนวทางเหล่านี้ให้ขยายไปครอบคลุมประชากร โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่นอกระบบได้หรือไม่ แนวทางควรเป็นเช่นไร และมีความยั่งยืนแค่ไหน

 

ศ.ดร.ดิเรกเสนอถึงระบบที่เริ่มจากการออมด้วยตัวเอง มิใช่การเอาเงินคนวัยทำงานไปเลี้ยงผู้สูงอายุซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อความผันผวนของเศรษฐกิจ ผลจากการวิเคราะห์ทำให้ศ.ดร.ดิเรกเสนอถึง "การออมพันธมิตร" คือ มีการประกันการออมด้วยตัวเอง เป็นบัญชีที่หนึ่ง และรัฐสมทบเป็นบัญชีที่สอง ซึ่งเขาย้ำว่า แนวคิดนี้ไม่ใช่แนวคิดของการสงเคราะห์ แต่มันคือการสร้างหลักประกันด้วยการออม

 

 

 

000

 

"โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม"

ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์

คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

 

 

 

รายงานนี้เป็นการวิเคราะห์เพื่อขยายความคุ้มครองผู้สูงอายุ เป็นโครงการวิจัยที่ทำให้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) เมื่อประมาณ 3-4 ปีนี้ อาจารย์ประเวศ วะสี เคยให้ความเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ เกี่ยวพันกับเรื่องการเงินการคลังระดับพื้นล่าง แต่ถ้าจะขับเคลื่อนเป็นนโยบายสาธารณะที่สำคัญ ต้องอาศัยความร่วมมือทางด้านการคลังระดับบน

 

ขอท้าวความว่าสังคมไทยแต่เดิมเป็นสังคมเกษตรกรรม ซึ่งมีความเกื้อกูลกันในระดับเครือญาติ เพื่อนบ้าน โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง แต่เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไป มีความเป็นเมืองมากขึ้น ก็ต้องคิดถึงเจ้าภาพใหม่ และต้องคิดถึงสิ่งที่ ILO (องค์การแรงงานระหว่างประเทศ) เรียกว่า การคุ้มครองทางสังคม อาจมีรัฐเป็นแกนกลางและอาจมีส่วนอื่นๆ ร่วมด้วย อีกอย่างที่น่าสนใจคือ สังคมไทยกำลังเคลื่อนสู่สังคมผู้สูงอายุเหมือนประเทศอื่นๆ แต่ยุคเบบี้บูมของไทยอาจจะช้ากว่าสังคมตะวันตกสัก 10 กว่าปี จะอยู่ที่ประมาณทศวรรษ 2510 ตอนนี้คนรุ่นนั้นก็ประมาณ 40 ปี ซึ่งเป็นโอกาสดี ทำระดมการออมให้ทัน แต่ถ้าไม่มี แล้วรอคอยไปจะยิ่งเป็นระเบิดเวลา

 

ฉะนั้น โจทย์ก็คือ จะขยายประกันสังคมให้ครอบคลุมประชากรได้หรือไม่ ปัจจุบันก็มีแค่ 1 ใน 3 ของประชากรผู้ใหญ่ (ไม่นับเด็ก)

 

หนังสือ Financing Social Protection พิมพ์โดย ILO เป็นหนังสือที่ดี ให้คอนเซ็ปป์ว่า ระบบประกันสังคมคืออะไร การให้สิทธิโดยเท่าเทียม มาตรการช่วยเหลือ มีทั้งเรื่องการเงิน การมีกติกา การมีสถาบัน องค์กรที่ดูแล ตลอดจนถึงการนิยาม Social Protection ของ ILO มีทั้งด้านเจ็บป่วย การจ้างงาน ฯลฯ

 

ในเรื่องบทบาทภาครัฐในแง่ความเป็นธรรมและหลักประกันทางสังคม ในวงการเศรษฐศาสตร์พูดถึงหลักเสมอภาคมาเป็นเวลานานแล้ว แต่เราไม่คิดถึงอุดมคติขนาดนั้น ถ้าย่อยลงไปก็คือความเสมอภาคที่ย่อยลงไปในบางเรื่อง เช่น สิทธิขั้นพื้นฐาน อันนี้มีหลักทฤษฎีที่ว่า สังคมต้องให้มากที่สุดกับคนที่มีน้อย ซึ่งความคิดเขาสอดคล้องกับแนวคิดของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์  

 

ถ้าพูดถึงระดับโลก สวัสดิการมีมานานมากแล้ว ตั้งแต่ในเยอรมันช่วงจอมพลบิสมาร์ค (ออตโต ฟอน บิสมาร์ค - Otto von Bismarck) และอังกฤษก็ขยายตามมา เคลื่อนไปถึงขั้นรัฐสวัสดิการในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ของเราอาจไม่ได้มุ่งเน้นไปขนาดรัฐสวัสดิการ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราไม่ควรมีสวัสดิการของภาครัฐ สวัสดิการความหมายมันไปไกลกว่านั้นมาก

 

ถ้าเราดูจากรายจ่ายประกันสังคมเฉลี่ยทั่วโลกเฉลี่ยที่ 14% กลุ่มเอเชียอยู่ที่ 6.4% ต่ำที่สุดคือแอฟริกา ฉะนั้น บทบาทของภาครัฐด้านสวัสดิการยังน้อย เชื่อว่าสำหรับไทยแม้ในกลุ่มเอเชียด้วยกัน เราก็ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

 

ในเชิงทฤษฎี ควรทบทวนทฤษฎี 2 อย่างที่เป็นประโยชน์ คือ ทฤษฎีวงจรชีวิตที่สนับสนุนให้คนเราคิดถึงรายได้ การออม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องออมในวัยทำงาน และออมให้พอเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ในช่วงสูงวัย การที่จะทำไปตามแบบจำลองมันยาก เพราะมีความไม่แน่นอน ในสภาพความจริงจะมีคนออมไม่ได้หรือออมไม่พอ อีกแบบจำลองหนึ่งคือ คนคร่อมรุ่นกันอยู่พร้อมกันในเวลาเดียวกัน รุ่นหนึ่งเป็นพ่อแม่ รุ่นเรา และรุ่นลูก แบบจำลองนี้ให้ไอเดียเรื่องการพึ่งพา สังคมดั้งเดิมมันมีดุลยภาพของมัน แต่ในยุคใหม่มันหายไปแล้ว จากอัตราคนวัยทำงาน 6 คนดูแลพ่อแม่หนึ่งคน แต่ปัจจุบันมันลดลงเหลือ 3 ต่อ 1 หรือ 2 ต่อ 1 ในบางสังคมเริ่มเป็น 1 ต่อ 1 ซึ่งจะเป็นภาระหนัก

 

งานวิจัยนี้มีหลายประเด็น แต่โจทย์ในเชิงการคลังระดับใหญ่นั้น เรากำลังหาทางที่ภาครัฐจะช่วยไปเติมการออมให้กับประชาชน เลยอยากจะใช้ฐานข้อมูลและแบบจำลองที่คิดว่าจำเป็น โดยใช้ข้อมูลของปี 2547 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อดูว่ารายได้ของคนทำงานมีเท่าไร ตัดเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และแรงงานในระบบที่อยู่ในประกันสังคมออกไป เพื่อดูว่าแรงงานนอกระบบมีรายได้เท่าไหร่ ข้อมูลการสำรวจชุดนี้มีคนอยู่ 100,000 กว่าคน หรือ 30,000-40,000 ครัวเรือน

 

ต่อจากนั้นเป็นการวิเคราะห์สถานการณ์สมมติที่เป็นระบบที่ออมด้วยตัวเอง ไม่ใช่ระบบที่เอาเงินของคนวัยทำงานไปเลี้ยงผู้สูงอายุ ซึ่งก็จะสุ่มเสี่ยงต่อความผันผวนในด้านภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ สมมติว่าเขาออมด้วยตัวเองตั้งแต่ 15-60 ปี และออม 3% ซึ่งก็ไม่มาก ประมาณ 200 กว่าบาท และขึ้นอยู่กับช่วงอายุด้วย แล้วจำแนกเป็นชายหญิง และเงินที่ออมก็จะมีดอกเบี้ยด้วย ข้อสรุปคือว่า ในกลุ่มของแรงงานนอกระบบ ผู้หญิงออมได้ 150,000 บาท ผู้ชายได้ 190,000 บาท จากนั้นก็ทดสอบว่ามันจะยั่งยืนหรือไม่ โดยคิดบำนาญผู้สูงอายุไว้ที่ 1,300 บาท สูงกว่าเส้นยากจนนิดหน่อย ซึ่งนี่ไม่ใช่ concept ของการสงเคราะห์ แต่เป็นการประกันโดยได้จากการออม ปรากฏว่าพออายุซัก 74 ปี เงินก็หมด แสดงให้เห็นว่าลำพังการออมของตัวเองนั้นไม่สามารถประกันได้อย่างยั่งยืน แต่ถ้าหากรัฐบาลเติมไปให้ มีงานที่ดีมากที่เขียนถึง "การออมพันธมิตร" ถ้าเขาออมในบัญชีที่หนึ่ง แล้วรัฐช่วยสมทบสัก 120 บาทต่อเดือนในบัญชีที่สอง เมื่อรวมกันสถานการณ์ก็จะเปลี่ยนเป็นประมาณ 300,000 กว่าบาท เปลี่ยนสถานะจากไม่ยั่งยืนเป็นยั่งยืนได้

 

การวิจัยนี้นำเสนอที่เวทีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา มีทำหลายสถานการณ์ เพราะอายุตั้งต้นอาจเร็วเกินไป อาจมีสมมติฐานต่างๆ ไป

 

บทความนี้ต้องการชี้ว่าถ้าการขยายความคุ้มครองทางสังคมให้ครอบคลุมคนที่ไม่เป็นทางการ โดยใช้กลไกไม่เป็นทางการใน 2 รูปแบบ คือ สัจจะออมทรัพย์และสวัสดิการภาคประชาชน ซึ่งจะมีอยู่แล้วในชนบท แต่มีจุดอ่อนเพราะสัจจะวันละบาทมันน้อยเกินไป แต่ในเขตเมืองอาจทำในรูปของกลุ่มบำนาญตามอาชีพ ซึ่งเขาก็มีการรวมตัวกันอยู่แล้ว เช่น กลุ่มแท็กซี่ กลุ่มแม่บ้าน ก็ต้องมีกลไกให้เขาออมแล้วภาครัฐเติมไปให้ก็จะเป็นแรงจูงใจที่มากขึ้น ซึ่งมองว่ามันเป็นเรื่องความเป็นธรรม ไม่ใช่การสงเคราะห์

 

ถ้าคำนวณว่าจะมีผู้ใหญ่ต่อไปในอนาคตประมาณ 22 ล้านคน ก็จะเป็นต้นทุนที่รัฐต้องเติมประมาณ 31,000 ล้านบาทต่อปี นี่ไม่ใช่ประชานิยมเอาเงินไปแจก เงินยังอยู่ที่กระทรวงการคลัง เงินจำนวนนี้จะว่ามากก็มาก แต่ถ้าคิดเป็นรายจ่ายของภาครัฐก็ไม่มาก ประมาณน้อยกว่า 2% เพราะประเทศไทยเราช่วยเหลือประชาชนไม่มาก มีสวัสดิการค่อนข้างน้อย ผมไม่คิดว่าการทำเช่นนี้จะทำให้รัฐเกิดวิกฤตทางการเงินการคลัง ไม่ได้ทำให้รัฐเสียวินัยการเงินการคลัง สิ่งที่ผมคิดว่ามันได้มันมีมากกว่าเรื่องของเงินคือ การที่คนเรามาร่วมกันมันเป็นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้น เพียงแต่เงินเป็นตัวล่อให้คนมาทำกิจกรรมร่วมกัน การทำร่วมกันจะทำให้มีพลัง

 

อีกอย่างหนึ่งคือ การใช้ social norm มาเป็นตัวกำกับการออม เพราะคนเราผัดวันประกันพรุ่งเสมอ นอกจากนี้ยังมี spill over effect หลายแห่งเขาเกิดกิจกรรมอื่น เช่น ปลูกป่า จัดกลุ่มแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องสมุนไพร ฯลฯ มันน่าจะเกิดมากกว่าการจัดโดยภาครัฐ เพราะค่าโสหุ้ยมันน้อยกว่าแน่นอน การโกงกันเองก็คงจะน้อย เราพบว่าหลายแห่งเงินยังไม่ได้ใช้ เพราะยังไม่มีผู้สูงอายุจริง ยังมีเวลาที่จะออมอยู่ แต่ถ้ายิ่งช้าจะยิ่งเป็นภาระหนัก ผมเห็นบทบาทของสหวิทยาการหลายอย่างที่จะไปช่วยเขา เช่น การบริหารจัดการแบบต่างๆ  เพราะในหลายที่เงินกองทุนน่าจะเป็นร้อยล้าน และการบริหารจัดการฐานข้อมูลยังไม่ได้มาตรฐาน เราน่าจะหาตัวอย่างกองทุนสัจจะออมทรัพย์และสวัสดิการชั้นนำมาเป็นตัวอย่างในการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูลได้

 

อีกทั้งเขาควรต้องมีช่องทางที่จะนำไปลงทุนเพื่อได้ผลตอบแทน ประเด็นหนึ่งที่อยากจะให้ภาครัฐไปเติมอีกอันหนึ่งคือ ให้เขามีผลตอบแทนสูงขึ้น ผมเสนอให้ออกพันธมิตรแหวกแนวรุ่นชุมชนท้องถิ่นพัฒนา พันธมิตรนี้ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าราคาตลาด ปกติหากำไร 5% ก็อาจเป็น 8% เขาก็จะมีช่องทางการออมที่สูงกว่าตลาด หรือ เป็นการอุดหนุนเรื่องดอกเบี้ยนิดหน่อย และมันก็เป็นเงินไม่มาก แต่จะช่วยให้กองทุนสัจจะออมทรัพย์ต่างๆ ที่มีอยู่ดีขึ้น และถ้าจะให้ดีสัจจะออมทรัพย์ควรจะมีคนทุกวัย โดยเฉพาะวัยเด็กเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

 

 

การแลกเปลี่ยนในช่วงท้าย

ในช่วงท้ายของการอภิปราย ศ.ดร.ปราณี ทินกร คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวถึงการคำนวณความยั่งยืนของเงินออมที่จะจ่ายให้คนสูงวัย ที่ระบุว่า เมื่ออายุ 74 ปี จะไม่มีเงินเหลือ และอาจเป็นความไม่ยั่งยืนนั้น ในการคำนวณเรื่องนี้ได้นำเรื่องช่วงอายุขัยโดยเฉลี่ยของคนไทยมาคำนวณด้วยหรือไม่ เพราะอายุขัยโดยเฉลี่ยของคนไทย ผู้ชายเสียชีวิตประมาณ 67 ปี ผู้หญิงเสียชีวิตประมาณ 72 ปี ดังนั้น สิ่งที่ว่าไม่ยั่งยืนอาจจะยั่งยืนก็ได้

 

ด้าน ศ.ดร.ดิเรก กล่าวว่า เราคงต้องคิดในเชิงที่ต้องรอบคอบไว้ก่อน โดยเลือกคำนวณที่อายุ 74 ปี ถ้าเกิดว่าเขาเสียชีวิตก่อน 74 ปีก็ไม่เป็นไร ถือเป็นมรดกให้รุ่นต่อไป

 

รศ.ดร.กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุล คณะสังคมสังเคราะห์ศาสตร์ มธ.  กล่าวว่า เคยไปสำรวจกลุ่มสังคมกลุ่มเล็กๆ ที่จัดการกองทุนร่วมกัน ลงขันกันเพื่อทำกิจกรรมบางอย่าง แล้วพอเกิดความไม่ไว้วางใจกัน กลุ่มก็เจ๊ง ระยะหลังกลุ่มออมทรัพย์วันละบาทเข้มแข็งขึ้นมา สังคมไทยมันมีพัฒนาการมากขึ้น ผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์อาจจะไม่มาก แต่มันเป็นเรื่องสังคมล้วนๆ เป็นทุนทางสังคม แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเรามองโลกสดใสเกินไปหรือเปล่า

 

ศ.ดร.ดิเรก กล่าวว่า เวลานี้มีกองทุนลักษณะนี้เป็นร้อยๆ กองทุน แต่ก็ไม่ได้จะกล่าวรวมได้ว่ามีกองทุนที่จะทำสำเร็จมากมาย และอาจเป็นแค่หยดน้ำในมหาสมุทรถ้ามองภาพรวมทั้งประเทศ ก็เป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุนให้มันมีขึ้นมา และเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำตามอย่างกันได้ไม่ยาก เพราะคนเริ่มตระหนักเรื่องการออม เรื่องสวัสดิการ อายุคนก็ยืนยาวมากขึ้น ถ้าไปรอภาคที่เป็นทางการมากๆ คงยาก ระบบประกันสังคมมันสำหรับกลุ่มทางการ หัก ณ ที่จ่าย แต่นี่เป็นกลุ่มอิสระของเขาเอง ก็ต้องพยายามหาทางออก แต่คิดว่าไม่จำเป็นต้องหวังว่ามีอย่างนี้ครบทั้งประเทศไทย แต่ให้มันเป็นพัฒนาการ มันอาจต้องมีการจดทะเบียน มีกรรมการ มีบัญชี ซึ่งกระทรวงการคลังสามารถตรวจสอบได้เพื่อจะสบทบ และอาจจะสมทบของภาครัฐครึ่งหนึ่ง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ครึ่งหนึ่ง ซึ่งเริ่มมีแล้วที่ อปท.สนใจ เพราะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่เขา มันเข้าทางทางการเมืองด้วย

 

รศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. แสดงความเห็นต่อว่า "มีในบางพื้นที่ที่ดูเหมือนจะเป็นปัญหาเช่นกัน เช่นบางกลุ่มพอรวมกันได้ก็เรียกร้องกับ อปท. บางทีสูงถึง 10-20% ของงบประมาณ โดยที่ อปท.ก็รู้สึกว่าไม่ใช่นโยบายของเขา ผลก็คือ กลุ่มเองเริ่มง่อนแง่น ขนาดเดียวกัน อบต.ก็ปฏิเสธไม่ได้เพราะถ้ากลุ่มล้มไปก็เป็นปัญหากับตัวเองเหมือนกัน นี่ก็เป็นภาพอีกมุมหนึ่ง"

 

รศ.สุขุม อัตวาวุฒิชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า "เรื่องของการออม อ.ดิเรก พูดอยู่สองสามคำที่น่าสนใจคือ การใช้การออมเหมือนเป็นอุบายในการนำไปสู่สิ่งอื่น ทุนสังคม การออมคงไม่ได้ดูเฉพาะเรื่องเงินออม มันเป็นวิธีการให้คนในชุมชนหันมาแก้ปัญหาโดยผ่านการออม ถ้าเขาร่วมมือกันทำแล้วเขาเกิดความมั่นใจว่าเขาแก้ปัญหาได้ ความยั่งยืนน่าจะอยู่ตรงนี้มากกว่าว่าจะมีเงินไปจนกระทั่งเสียชีวิตหรือไม่ ถ้ากระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้น ชุมชนจะเกิดความเข้มแข็ง และโครงการแบบนี้ในระดับจุลภาคจะง่าย แต่ระดับมหาภาคจะยาก และระดับจุลภาคมันก็หลากหลาย ประสบการณ์ของแต่ละพื้นที่มันก็จะเป็นประโยชน์สำหรับที่อื่นในการปรับประยุกต์ ผมคิดว่า อบต.จะเข้มแข็ง ถ้ากลุ่มพวกนี้เข้มแข็ง เพราะไม่ว่ารัฐบาลหรือ อบต.ก็อยากจะรู้ว่าคนในชุมชนมีปัญหาอะไร ต้องการอะไร"

 

 


รายงานอื่นๆ ที่น่าสนใจ :

นฤมล นิราทร : แล้ว "คนจน" ก็จะ "จน" ต่อไป ?

วัชรียา โตสงวน: คนส่วนใหญ่ไร้สวัสดิการ! ไม่ใช่เรื่องต้อง"ช่วยเหลือ"แต่คือความบกพร่องที่ต้อง"แก้ไข"

กิริยา กุลกลการ : ทำไมไม่กระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่นดูแล "แรงงานข้ามชาติ"

ปราณี ทินกร : ดู "ความจริงใจ" ของรัฐบาลได้จากงบประมาณที่ใช้ในการแก้ปัญหาของ "ประชาชน"

มัทนา พนานิรามัย : สังคมจะเตรียมตัวอย่างไรให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่ได้อย่างมี "คุณภาพ" ?

 


ชมเทปบันทึกงาน เสวนา "ความยากจน แรงงาน และสวัสดิการ: โจทย์สำหรับรัฐและชุมชน"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท