ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช: ควันหลงหลังเลือกตั้ง : ความเสมอภาคของคนอีสานกับคนกรุง

ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

 

 

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความชื่นชมคนไทยทุกคนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างท่วมท้นไม่ว่าจะเลือกพรรคใดก็ตาม การเลือกตั้งคราวนี้ในความเห็นผม ปัจจัยด้านนโยบายทางเศรษฐกิจของพรรคการเมืองที่หาเสียงนั้นไม่ค่อยมีน้ำหนักเพราะแต่ละพรรคการเมืองก็เดินตามนโยบายของพรรคไทยรักไทยเดิม แต่ปัจจัยด้านการเมืองกลับมีอิทธิพลมากกว่า การเลือกตั้งคราวนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกี่ยวโยงมาตั้งแต่วันทำรัฐประหารรัฐบาลของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เรื่อยมาจนถึงที่มีการทำประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งก็มีการแบ่งขั้วอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มรับกับไม่รับ และการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมาอาจกล่าวอย่างกว้างๆ หยาบๆ ว่า เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายไม่เอาเผด็จการบวกกับฝ่ายที่ยังสนับสนุนพรรคไทยรักไทยเดิม ที่ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นพรรคพลังประชาชน กับ ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์บวกกับกลุ่มอำมาตยาธิปไตยและชนชั้นกลาง (บางกลุ่ม) ในกรุงเทพมหานคร

 

เหตุผลที่ผมใช้คำว่าบางกลุ่มเพราะผมไม่เชื่อว่าคนกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ อย่าลืมว่าคนกรุงเทพฯ มิได้มีเฉพาะชนชั้นกลางที่มีความรู้ เป็นพวก white collar เสมอไป ในเขตรอบนอกและฝั่งธนบุรีก็ยังมีคนระดับธรรมดาอยู่มาก เพียงแต่สื่อ นักวิชาการ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และ รมต. กลาโหม พลเอกบุญรอด สมทัศน์ พยายามอ้างว่าคนกรุงเทพฯ สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีนัยว่า ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ผมฟังคนพวกนี้พูดแล้วรู้สึกเศร้าใจว่า พวกนี้ไม่อ่านรัฐธรรมนูญ 2550 ที่พวกคุณร่างขึ้นมากับมือหรือครับ

 

มาตรา 4 บัญญัติว่า "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับการคุ้มครอง"

 

มาตรา 5 บัญญัติว่า "ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน"

 

และมาตรา 30 บัญญัติว่า " บุคคลย่อมเสมอกันตามกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน" และ "การเลือกปฎิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุความแตกต่างในเรื่อง ….ความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้"

           

แค่ 3 มาตราของรัฐธรรมนูญที่ผมอ้างมาข้างต้นก็น่าจะเพียงพอให้คนพวกนี้หยุดดูถูกคนอีสานที่เลือกพรรคพลังประชาชนได้แล้ว เพราะคนอีสานก็มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ (ตามมาตรา 4) คนอีสานก็เป็น "ประชาชน" ในความหมายของมาตรา 5 เหมือนกับคนกรุงเทพฯ และ คนอีสานก็เป็น "บุคคล" ตามมาตรา 30 ดังนั้น คนอีสานและคนกรุงเทพฯ ย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน อีกทั้ง ผู้มีอำนาจจะเลือกปฏิบัติต่อคนอีสานเพียงเพราะว่า คนอีสานมีความคิดเห็นทางการเมืองต่างจากคนกรุงเทพฯ (ด้วยการสนับสนุนอดีตนายกทักษิณหรือพรรคพลังประชาชน) ไม่ได้ เพราะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 30

 

ผมเองเป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เกิดโตที่ตลาดพลู แต่รู้สึกว่า ที่ผ่านมาคนกรุงเทพฯ เอาเปรียบคนต่างจังหวัดเกือบทุกภาคมานานแล้วจน "กรุงเทพฯ" กลายเป็น "ประเทศไทย" ไปแล้ว ทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลายรวมทั้งแรงงานต่างมาระดมรับใช้คนกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ นอกจากเอาเปรียบด้านทรัพยากรธรรมชาติและคนแล้ว คุณจะมาเอาเปรียบเรื่อง "สิทธิทางการเมือง" ของคนต่างจังหวัดอีกหรือ ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะล้มความเชื่อที่ว่า "คนต่างจังหวัดตั้งรัฐบาล คนกรุงเทพฯ ล้มรัฐบาล" หากพรรคพลังประชาชนจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ ซึ่งเป็นไปตามครรลองตามระบอบประชาธิปไตยแล้วหากชนชั้นกลางในกรุงเทพไม่พอใจเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยไม่มีเหตุผล แล้วออกมาเดินขบวนขับไล่ (ถ้าชุมนุมประท้วงโดยสันติผมรับได้) ผมก็อยากเชิญชวนคนอีสาน-เหนือ ยาตราเข้ากรุงเทพฯ เพื่อใช้ "สิทธิปกป้องรัฐบาล" ที่พวกคุณเลือก ในเมื่ออีกฝ่ายไม่มีเหตุผลและไม่เคารพเสียงข้างมากของพวกคุณที่คิดจ้องจะล้มรัฐบาลอย่างเดียว

 

เหตุผลที่พวกอำมาตยาธิปไตย สื่อ และพวกนักวิชาการชอบอ้าง หรือเชื่อว่าคนอีสานไม่ฉลาด และยากจนหากสมมติฐานนี้เป็นจริง ผมก็ต้องถามกลับว่าแล้วเป็นความผิดของพวกเขาหรือ พรรคการเมืองใดครับที่อยู่นานกว่าเพื่อน แต่กลับไม่คิดถึงเรื่องการกระจายโอกาสด้านการศึกษาและรายได้ และลองกลับไปอ่านประกาศคณะราษฎรสิครับ

 

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากพูดก็คือ ในวันเลือกตั้งที่ 23 ธันวาคม ผมได้มีโอกาสไปร่วมรายการกับเคเบิลทีวีช่องหนึ่ง โดยทางรายการได้เชิญอาจารย์ท่านหนึ่งจากนิด้า โดยอาจารย์ท่านนี้แสดงความคิดเห็นในเชิงว่าคนอีสานติดกับระบบอุปถัมภ์ และตำหนินโยบายประชานิยม รวมทั้งชมชนชั้นกลางในกรุงเทพ พอพิธีกรมาถามผม ผมก็ตอบว่าหากนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทย เช่น กองทุนหมู่บ้านไม่ดีจริงแล้วทำไมพรรคประชาธิปัตย์เสนอนโยบายกองทุนตำบลๆ ละ 2-3 ล้านบาท ทำไมเสนอนโยบายเรื่องแบบเรียนฟรี ทำไมเสนอว่าจะตรึงราคาแก๊สหุงต้ม ทำไม…. ฯลฯ รู้สึกว่าอาจารย์ท่านนี้ไม่ได้ตอบคำถามอะไรผม

 

ผมเชื่อว่า ระยะเวลาประมาณ 10 ปีข้างหน้า หากรัฐบาลแก้ไขปัญหาปัจจัยขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจของคนต่างจังหวัดได้สำเร็จระดับหนึ่ง คนกลุ่มนี้ก็จะเรียกร้องอะไรที่เป็นนามธรรมมากขึ้น เช่น ความเสมอภาคด้านต่างๆ ซึ่งสำคัญที่สุดก็คือเรื่องการศึกษา เมื่อถึงจุดนั้นแล้ว นโยบายในเชิงสวัสดิการก็อาจจะค่อยๆ ลดความสำคัญลง ซึ่งผมเห็นว่ารัฐบาลจะต้องตอบสนองข้อเรียกร้องของเขา เนื่องจากรัฐบาลที่ผ่านมามองข้ามคนต่างจังหวัดมานาน

 

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมอยากกล่าวถึงคือเรื่องความสมานฉันท์หรือความปรองดอง ก่อนอื่นต้องให้คำจำกัดความก่อนว่าความสมานฉันท์นั้นคืออะไร ผมเห็นว่า ในสังคมรัฐสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยปัญหาสังคมมากมาย เต็มไปด้วยกลุ่มผลประโยชน์ รวมทั้งการศึกษาและเทคโนโลยีด้านสื่อสารข้อมูลที่เจริญก้าวหน้ามากแล้ว ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ทำให้สังคมประชาธิปไตยเต็มไปด้วยความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างหลากหลายซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา สมานฉันท์นั้นมิได้หมายความว่าต้องทำให้ทุกคนคิดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน ห้ามวิจารณ์ ความแตกต่างทางความคิดเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพียงแต่ทั้งฝ่ายข้างมากและข้างน้อยต้องเคารพความเห็นของกันและกัน และกลไกของรัฐก็ต้องมีอคติให้น้อยที่สุด อย่าเลือกปฏิบัติจนน่าเกลียด (ผมไม่เชื่อว่าในทุกสังคมจะไม่มีการเลือกปฏิบัติ) และหากมีปัญหาอะไรก็พึ่งพากลไกของระบอบรัฐสภา กระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น การเข้าชื่อเสนอกฎหมายหรือการถอดถอน แต่ห้ามไม่ให้มีการเชื้อเชิญ "สิ่งแปลกปลอม" ของระบอบประชาธิปไตยมาเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหา เช่น การทำรัฐประหาร หรืออ้างมาตรา 7 พร่ำเพรื่อ

 

ประการสุดท้ายก็คือ น่าจะมีการประมวลคำพูดของนักการเมือง บรรดานักวิชาการและประชาชนที่สื่อตั้งฉายาว่า "ราษฎรอาวุโส" ว่าที่ผ่านมานับตั้งแต่วันทำรัฐประหาร คนพวกนี้แสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างไร หากว่าในอนาคตเกิดปัญหาทางการเมืองขึ้นมาอีก ประชาชนทั่วไปก็อย่าให้ราคากับคนพวกนี้อีก เพราะพวกนี้ไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอย หลงไปตามกระแสและเป็นพวกฉวยโอกาสทางการเมือง เกาะผู้มีอำนาจ ไม่อยากเห็นคนไทยลืมง่าย ให้จำไว้เป็นบทเรียน ในความเห็นของผม คนพวกนี้ล้วนมีส่วนต้องรับผิดชอบกับการทำ (หรือสนับสนุน) รัฐประหารในวันที่ 19 กันยายนด้วยไม่มากก็น้อย ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม

 

ท้ายที่สุด ผมอยากกล่าวว่า ลาก่อนเผด็จการ และขอต้อนรับประชาธิปไตย (อีกครั้ง)

           

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท