บทความ: 3 ปีแห่งความทรงจำ รัฐ "ไร้รับผิดชอบ" คราวคลื่นยักษ์สึนามิ

วันนี้ ครบ 3 ปีที่เกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิจนทำให้ผู้คนล้มตายไปหลายพันคนในเมืองไทย และยังไม่รวมอีกหลายประเทศในละแวกนี้ ผมยังพอจำถึงกลิ่นศพอันน่าสะอิดสะเอียนได้ ในช่วงที่ไปทำข่าวหลังเกิดเหตุการณ์เพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ที่ผมทนรับไม่ได้ยิ่งกว่ากลิ่นศพก็คือ ความประพฤติและการไม่รับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมอุตุนิยมวิทยา 

เมื่อ 3 ปีก่อน ผมไปทราบมาว่า พวกเขารู้เรื่องแผ่นดินไหวมหึมาใต้ทะเลอย่างทันท่วงที และได้มีการประชุมหารือเรื่องนี้ แต่สุดท้าย ก็ตัดสินใจที่จะไม่พยายามที่จะเตือนสาธารณะ ยังผลให้มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกเขาให้เหตุผลว่า พวกเขาไม่แน่ใจว่าจะเกิดสึนามิรึเปล่า และยังบอกอีกว่า ห่วงว่าหากเตือนไปแล้วไม่เกิดขึ้นจริง ธุรกิจการท่องเที่ยวรวมถึงตำแหน่งของพวกเขาจะต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้    

แต่ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน มีหรือไม่ในสังคมไทย ผมขอฝากบทความที่เขียนลงครั้งแรกเมื่อ 2 ปีที่แล้ว มาให้ผู้อ่านประชาไท ช่วยกันพิจารณา

000000

 

บันทึกข่าว : กรมอุตุนิยมวิทยา เลือกที่จะ (ไม่) เตือนภัยสึนามิ

ที่มา : นิตยสารฟ้าเดียวกัน ปีที่ 3 ฉบับที่ 1

 

26 ธันวาคม 2547 คนไทยทั้งประเทศได้รู้จักพิษสงของคลื่นยักษ์สึนามิ แม้ว่าราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการณ์นี้จะต้องแลกด้วยความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของคนจำนวนมาก คำถามที่ตามมาก็คือว่า เราจะหลีกเลี่ยงโศกนาฎกรรมเช่นนี้ได้หรือไม่ ทางออกที่เสนอกันมามากก็คือการจัดตั้งระบบเตือนภัยขนาดใหญ่ พรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยีราคามหาศาล

คำถามที่เรามักไม่เคยถามกันก็คือ ก่อนหน้าเกิดโศกนาฎกรรมนี้ ประเทศไทยเราไม่มีระบบที่จะเตือนภัยธรรมชาติเลยหรือ หรือว่าถ้ามีแล้ว ทำไมระบบนี้จึงไม่ทำงาน

ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ได้เข้าไปเจาะลึกถึงโครงสร้างการทำงานของระบบเตือนภัยในสังคมไทยว่าเป็นอย่างไร เพื่อประกอบการพิจารณาว่าปัจจัยที่จะสร้างระบบเตือนภัยให้เกิดขึ้นได้จริงนั้น ลำพังเทคโนโลยีอย่างเดียวอาจจะไม่พอ เพราะโครงสร้างการเตือนภัยของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ หรือภัยที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง เช่นภัยเศรษฐกิจ นอกจากความรู้และเทคโนโลยีในเรื่องนั้นๆ แล้ว ยังจะต้องมีโครงสร้างการตัดสินใจที่เอื้อให้ระบบเตือนภัยนั้นทำงานด้วย

(กองบรรณาธิการฟ้าเดียวกัน)

 

 

1

คำให้การและการปฎิเสธ

"ประการที่สำคัญมากๆ ต่อการตัดสินใจของเรา (กรมอุตุนิยมวิทยา) ทะเลอันดามันในช่วงนี้เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว ห้องพักเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ (เต็ม) ถ้าเราเตือนตูมปุ๊บ เกิดการอพยพจะเกิดอะไรขึ้น? ความเสียหายทางธุรกิจจะเกิดขึ้นทันทีเลย"

"(ถ้าเตือนแล้วไม่เกิด) สุดที่กรมอุตุฯ จะแบกรับไว้ได้ จมดินอย่างเดียวเลยถ้าไม่เกิด เราก็มีการลังเลอยู่ แต่ไม่ได้มีการเตือน และระบบเตือนภัยของเราตรงนี้ไม่มี"

นี่คือคำบอกเล่าของหนึ่งในสี่นักธรณีวิทยา ผู้รับผิดชอบเรื่องแผ่นดินไหวของกรมอุตุนิยมวิทยา ในบ่ายวันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม 2547 หรือเพียง 30 ชั่วโมง หลังคลื่นสึนามิระดับ 9.0 ริกเตอร์ คร่าชีวิตผู้คนใน 6 จังหวัดอันดามันไปกว่า 5,300 คนและผู้สูญหายอีก 3,716 คน (จำนวน ณ วันที่ 22 มกราคม 2548)

คำบอกเล่าต่อผู้เขียนจากแหล่งข่าวข้าราชการชายผู้สงวนไม่ขอให้เอ่ยนามคนนี้ ทำให้ผู้เขียนรู้สึกอึ้งและโกรธ อีกทั้งคำบอกเล่า ณ กรมอุตุฯ นั้น ฟังดูปกติเหมือนมิมีอะไรผิดหรือต้องรับผิดชอบ

และตั้งแต่ผู้เขียนเสนอออกเป็นข่าวลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ในวันที่ 28 ธันวาคม (รวมถึงบทความในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้าทัศนะวิจารณ์ วันที่ 29 ธันวาคม 2547) เจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยาผู้อื่นที่เกี่ยวข้องก็ทยอยออกมาให้การปฎิเสธว่า เรื่องสึนามิไม่เคยอยู่ในหัวสมองพวกเขา ถึงแม้จะมีคำสั่งย้าย ศุภฤกษ์ ตันศรีรัตน์วงศ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาในขณะนั้น วันที่ 4 มกราคม 2548 โดยนายกรัฐมนตรีอย่างฉับพลัน

"ดิฉันไม่เคยคิดที่จะเตือนภัยเรื่องสึนามิ เพราะเราไม่เคยประสบกับสึนามิมาก่อน... ความเป็นห่วงเรื่องทำให้นักท่องเที่ยวแตกตื่นนั้นไม่เคยอยู่ในสมอง" สุมาลี ประจวบ ผู้อำนวยการสำนักแผ่นดินไหวกล่าวในนิตยสารไทมส์ของสหรัฐอเมริกา ฉบับวันที่ 4 มกราคม 2548 (หน้า 42)

นายบุรินทร์ เวชบรรเทิง ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งในสี่เจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยา ผู้ดูแลให้ข่าวเลยเถิดไปถึงว่า สึนามินั้นไม่สามารถที่จะพยากรณ์ได้ (หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น หน้า 2 วันที่ 6 มกราคม 2548)

ความรู้สึกผู้เขียน : โกรธ โกรธเพราะทั้ง 2 คนที่เอ่ยชื่อมาก็เห็นเดินไปเดินมาในห้องเดียวกันกับที่ผู้เขียนสัมภาษณ์แหล่งข่าวในวันนั้น

แถมหน้าห้องติดตามตรวจสอบแผ่นดินไหวยังมีกระดาษ 1 แผ่น ปะติดอยู่ ซึ่งได้แก่ มาตรการป้องกันภัยจากคลื่นสึนามิ 14 ข้อ ที่กรมกลับมิได้นำมาเผยแพร่ให้ความรู้แก่สาธารณะได้ทันท่วงที

ข้อ 1 เขียนว่า : "เมื่อรู้สึกว่ามีการสั่นไหวเกิดขึ้นขณะที่อยู่ในทะเลหรือบริเวณชายฝั่ง ให้รีบออกจากบริเวณชายฝั่ง ไปยังบริเวณที่สูงหรือดอนโดยทันที โดยไม่ต้องรอประกาศจากทางการ เนื่องจากสึนามิเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง

ข้อ 2 เขียนว่า : "เมื่อได้รับฟังประกาศจากทางการเกี่ยวกับแผ่นดินไหวบริเวณทะเลอันดามัน ให้เตรียมรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดคลื่นสึนามิตามมาได้โดยด่วน

ข้อ 3 : "สังเกตปรากฎการณ์จากชายฝั่ง หากทะเลมีการลดระดับน้ำลงมากหลังเกิดแผ่นดินไหว ให้สันนิษฐานว่าอาจจะเกิดคลื่นสึนามิตามมาได้ ให้อพยพคนในครอบครัว สัตว์เลี้ยง ให้อยู่ห่างจากชายฝั่งให้มากๆ และอยู่ในที่ดอนหรือที่น้ำท่วมไม่ถึง

ข้อ 6 เขียนว่า : "ติดตามการเสนอข่าวของทางราชการอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง"

ข้อ 8 แนะนำให้ "หลีกเลี่ยงการก่อสร้างใกล้ชายฝั่งในย่านที่มีความเสี่ยงภัยสูง"

ข้อ 13 บอกว่า : "อย่าลงไปในชายหาดเพื่อดูคลื่นสึนามิ เพราะเมื่อเห็นคลื่นแล้วก็ใกล้เกินกว่าจะหลบหนีได้ทัน"

และอีกข้อที่น่าแปลกใจยิ่งก็คือ

ข้อ 11 : "ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ประชาชนเรื่องการป้องกันและบรรเทาภัยจากคลื่นสึนามิและแผ่นดินไหว"

 

 

 

2

ภาพที่ไม่สอดคล้อง

 

 

ปี 2541 กรมอุตุนิยมวิทยาเคยเตือนภัยจนคนภูเก็ตแถวป่าตองหนีตายเข้าเมืองขึ้นเขาไปตามๆ กัน บางคนไปนอนอยู่บนเขาถึง 2 วัน

คุณสงเข หงส์จักรเพชร หัวหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ Phuket Gazette เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เธอยังจำได้ แถมไปทำข่าวด้วย พร้อมบอกว่า หลังกรมอุตุนิยมวิทยาเตือนนั้น "ชาวบ้านแถวชายหาดก็ขนอะไรกันหมด มาหลบตาย (ที่) ศาบป่าตองและก็หนีเข้าเมือง"

แถมเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดภัยพิบัติ วันที่ 26 ธันวาคม 2547 นายสมิทธ ธรรมสโรช อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา สมัยปี 2541 ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะว่า ตนนั้นได้พยายามเตือนสาธารณะในอดีตอย่างน้อย 2 ครั้งในช่วงหลายปีที่แล้ว ซึ่งทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าแท้จริงแล้ว กรมอุตุนิยมวิทยานั้นผ่านการขบคิดเรื่องความเป็นไปได้ของการมีสึนามิกระทบไทยมาแล้วอย่างโชกโชนและเจ็บปวดถึงขนาดนายสมิทธกล่าวว่า อธิบดี 4 คนหลังจากที่คนดำรงตำแหน่งไม่ชอบขี้หน้าตนอย่างยิ่ง

"ขณะผมเตือนผมเป็นอธิบดี เดี๋ยวนี้ผมเป็นอะไร? คนธรรมดา" สมิทธกล่าวต่อผู้สื่อข่าวที่ตึกหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ในวันพฤหัสที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา

ก่อนหน้านั้น นายนสมิทธิกล่าวในสัมมนาเรื่องภัยแผ่นดินในวันเดียวกันว่า "(ในปี 2536 ตน) ได้รับทั้งคำด่าว่าคนบ้า ซาดิสม์ ทำให้ธุรกิจภูเก็ตล้ม" แถมยังถูกกล่าวหาว่าปล่อยข่าวภัยสึนามิในสมัยนั้น เพื่อให้ราคาที่ดินภูเก็ตตก จะได้กว้านซื้อที่ดินหากำไร

"7 ปีผมซัฟเฟอร์มากับเรื่องนี้... พอเกิดขึ้น (วันที่) 26 ก็กลับมาเป็นดาราอึกครั้งหนึ่ง (นักข่าว) ก็โทรมาสัมภาษณ์ทั้งวัน..."

ผู้เขียนถามนายสมิทธิต่อหน้านักข่าวอีกจำนวนมาก ณ วันนั้นว่า แล้วเรื่องสอบสวนบทบาทกรมอุตุนิยมวิทยาในช่วง 1 ชั่วโมงเศษ หลังเกิดแผ่นดินไหวว่า ทำไมไม่มีการเตือนภัยแต่อย่างใด นายสมิทธก็ตอบว่า "เรื่องทำโทษคนนี่ง่ายมากไม่มีปัญหาหรอก"

นายสมิทธกล่าวเพิ่มเติมว่า เช้าวันนั้นตนได้พยายามโทรไปหาผู้บริหารกรมอุตุนิยมวิทยา แต่ก็โทรไม่ติด แถมได้พยายามติดต่อไปยังสถานีวิทยุแห่งหนึ่ง ซึ่งก็ปรากฎว่าเขาไม่เชื่อ

ผู้เขียนถามว่าสถานีอะไร?

"บอกไม่ได้" นายสมิทธตอบ

หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันศุกร์ที่ 14 มกราคม 2548 (หน้า 2) ลงพิมพ์จดหมายนายสมิทธ 3 ฉบับซึ่งนายสมิทธนำไปเปิดเผยเป็นหลักฐานยื่นต่อคณะกรรมาธิการการปกครอง วุฒิสภา เพื่อยืนยันว่า เคยเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันภัยเตรียมการรับมือคลื่นยักษ์

"สำหรับประเทศไทย แม้ว่าจะยังไม่เคยเกิดปรากฎการณ์ร้ายแรงจากคลื่นยักษ์สึนามิ แต่เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อาจสันนิษฐานได้ว่าแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดคลื่นสึนามิพัดเข้าหาฝั่งด้านภาคใต้ตะวันตก ได้แก่ แผ่นดินไหวในทะเลอันดามัน แผ่นดินไหวในทะเลบริเวณเกาะสุมาตรา โดยคาดว่าจะมีผลกระทบต่อบริเวณชายฝั่งตะวันตกของจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล"

นั่นคือส่วนหนึ่งของหนังสือของนายสมิทธ สมัยเป็นอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งเขียนถึงอธิบดีกรมการปกครอง เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2536 ซึ่งเรียกร้องให้กรมการปกครองระมัดระวังและตั้งมาตรการป้องกันและบรรเทาภัย

จดหมายอีกฉบับในมติชน ได้แก่ บันทึกถึงนายจเด็จ อินสว่าง ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตในปี 2541 (บันทึกที ค.ค. 0201/ลงวันที่ 3 กันยายน 2541) ซึ่งนายสมิทธเขียนเมื่อสมัยเป็นรองปลัดกระทรวงคมนาคม

"เรื่องที่ท่านได้ให้สัมภาษณ์ว่า ผมอาจจะเกิดอันตรายถ้าได้ไปภูเก็ต ก็เป็นการขู่กรรโชกผมอย่างเป็นทางการของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะกระทำ (ถ้าท่านพูดจริง) และที่กล่าวหาว่าผมพูดหรือปล่อยข่าวเรื่องคลื่นสึนามิให้เป็นเรื่องตื่นเต้นโดยว่าไม่น่าจะพูดแบบนี้เลยเพราะเป็นถึงกรรมการ ททท. นั้น

"ผมจะไม่เรียนชี้แจงท่านผู้ว่าฯ ให้เปลืองกระดาษ ขอเรียนเชิญท่านผู้ว่าฯ อ่านจดหมายและเอกสารทางวิชาการที่ผมเรียนเสนอ ฯพณฯ ท่านรัฐมนตรี แล้วใช้วิจารณญาณของท่านพิจารณาว่าผมเป็นคนปล่อยข่าว เป็นคนให้ข่าวต่อสื่อมวลชนหรือประชาชนจริงหรือไม่ ข่าวนี้เผยแพร่ต่อมวลชนได้อย่างไร ทำไมถึงเพิ่งจะออกสู่มวลชน ทั้งๆ ที่ผมวิเคราะห์เรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2536 แล้ว"

ส่วนอีกฉบับเป็นบันทึกถึงนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงวันที 21 กรกฎาคม 2541 ซึ่งส่วนหนึ่งของบันทึกเขียนว่า

"...จึงใคร่ฝากเรียนให้ท่านรัฐมนตรีได้พิจารณาถึงความเหมาะสมและความสมควรที่จะชี้แจงเตือนประชาชนในจังหวัดที่จะมีผลกระทบดังกล่าวให้ทราบล่วงหน้าหรือไม่ จะให้เป็นธุระผมซึ่งอยู่ในฐานะผู้เชี่ยวชาญและผ่านประสบการณ์ด้านนี้มาบ้างเป็นผู้ชี้แจงเรื่องนี้ต่อประชาชน กระผมก็มีความยินดีที่จะดำเนินการให้โดยต้องหาวิธีการเตือนภัยธรรมชาตินี้อย่างเรียบง่าย ไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนกจนเกินเหตุ..."

นอกจากนั้น คุณลลิตา ดามศริ เจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยาผู้หนึ่งก็ตกเป็นข่าว เมื่อบิดาของเธอให้สัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ว่าลูกสาวโทรมาเตือนเมื่อตอนเช้าตรู่วันที่ 26 ธันวาคม จนทำให้บิดารอดชีวิต ในขณะที่เพื่อนชาวประมงอีก 4 คนถูกคลื่นยักษ์คร่าชีวิต (คม ชัด ลึก 30 ธันวาคม 2547)

หลังจากนั้นคุณลลิตาออกมาปฏิเสธว่าไมได้เตือนในเช้าวันนั้น หากเคยคุยให้ข้อมูลเรื่องสึนามิแก่บิดามาก่อนเท่านั้น

น่าสงสัยว่า หากคนกรมอุตุนิยมวิทยาไม่เคยคิดเรื่องสึนามิมาก่อน คนอย่างคุณลลิตาจะมัวมานั่งพูดเรื่องคลื่นยักษ์ให้พ่อเธิอฟัง เพื่อเสียเวลาและน้ำลายทำไม?

ความคิดของผู้เขียน : หลังเกิดเหตุวันที่ 26 ธันวาคม คนไทยธรรมดาก็เข้าใจได้ว่า หากเกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเลแรงระดับ 7 ริกเตอร์ขึ้นไป ก็อาจทำให้เกิดสึนามิได้โดยไม่ต้องไปเรียนธรณีวิทยาระดับปริญญา แล้วยังเป็นไปได้อีกหรือว่า ผู้เชี่ยวชาญกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างคุณสุมาลีและคุณบุรินทร์ จะมิเคยนึกฝันเรื่องสีนามิ?

 

 

3

สังคมที่อยู่เพื่อการท่องเที่ยว ตายเพื่อการท่องเที่ยว

 

 

วันจันทร์ที่ 17 มกราคม 2548 นายโกรัน เพิซซัน นายกรัฐมนตรีสวีเดน ผู้มาเยือนภูเก็ตเพื่อดูการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต (ชาวสวีเดนเสียชีวิตในเหตุการณ์มากที่สุดในประวัติศาสตร์รัฐชาติสวัเดน) กล่าวต่อนักข่าวไทยและเทศ ณ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ตว่า

"(เรา) ต้องการให้การสอบสวนเกี่ยวกับการเตือนภัยหายนะนี้ แผ่นดินไหวนั้นเกิดก่อนสึนามิตั้งนานแถมคลื่นคร่าชีวิตคนไปเป็นพันๆ แล้วใครล่ะที่จะต้องรับผิดชอบ?" (หน้า A3 หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น 18 มกราคม 2548)

ความเห็นแรกของผู้เขียน : ใครโกหกก็ขอให้โกหกไปให้ตลอดรอดฝั่งก็แล้วกัน

ความเห็นที่สองของผู้เขียน : _ _ _ (ขอเซ็นเซอร์ตัวเองและปล่อยให้ผู้อ่านเติมต่อเอง) เปิดเสียงผู้ตายและผู้สญเสียญาติและคนรักจากสึนามิ : _ _ _

ป.ล. ผู้เขียนไม่มีความมั่นใจว่าคณะกรรมการของรัฐที่ทำการสอบสวนจะหาความจริงมาสู่สาธารณะได้ และเคยเขียนเสนอลงหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ว่าควรให้ตัวแทนญาติฝ่ายไทยและเทศฝ่ายละหนึ่งคนมาร่วมในคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงด้วยเพราะกลัวว่าจะมีการล้มมวย

ป.ล. สอง ผู้เขียนได้โต้แย้งกับเจ้าหน้าที่กองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ว่าด้วยความเหมาะสมในการอ้างคำให้การของแหล่งข่าวในข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น และ กรุงเทพธุรกิจ

เจ้าหน้าที่ สกว.รุ่นพี่ผู้นี้กล่าวว่า แหล่งข่าวนั้นอาจหมดอนาคตในการรับราชการได้ แถมตั้งแต่เป็นข่าวไปก็ถูกสอบสวนทางวินัย (แหล่งข่าวกรมอุตุนิยมวิทยาผู้นั้นได้บอกกับผู้เขียนในวันที่ 27 มกราคม 2547 "ในบางแห่งมีคำสั่งห้ามสัมภาษณ์เลย ลงโทษทางวินัย ตัดเงินเดือน โอกาสเติบโตข้างหน้าค่อนข้างเป็นศูนย์เลย" และบอกว่า ปัญหามิได้อยู่ที่ตัวบุคคล แต่อยู่ที่ระบบ

ส่วนผู้เขียนนั้น นึกอยู่ในใจเสมอว่า ญาติผู้เสียชีวิตไม่มีสิทธิ์แม้กระทั่งจะรับรู้เลยหรือว่า หากมีความพยายามที่จะเตือนภัย คนที่พวกเขารักก็ยังอาจมีชีวิตอยู่ ณ วันนี้.

 

 

-บทส่งท้าย-

 

หลังจากบทความนี้ลงตีพิมพ์ได้ไม่นาน ผู้เขียนได้มีโอกาสสอบถามและสัมภาษณ์นายสมิทธ ธรรมสโรช ประธานอำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเมื่อคราวพบกันในงานครบรอบ 1 ปีสีนามิที่รัฐบาลจัด ณ เขาหลัก แล้วนายสมิทธก็ยืนยันว่าจะไม่มีรายงานให้สาธารณะได้อ่าน เพราะว่าตนตัดสินใจไม่เขียนด้วยซ้ำไป เนื่องจากกลัวว่า ญาติผู้เสียหายต่างชาติอาจฟ้องร้องรัฐบาลไทยเพื่อเรียกค่าเสียหายจำนวนมาก

ส่วนตัวอธิบดีกรมอุตุฯ ซึ่งถูกพักราชการจากตำแหน่งชั่วคราวก็ได้กลับมารับหน้าที่ตามเดิม

 

..........................

ปล. ล่าสุด ได้อ่านบทความจากเพื่อนรุ่นพี่ในหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น (So who's going to press the button?, December 23, 2007) เขียนลงเมื่อ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งชาวบ้านบ้านน้ำเค็มบอกว่า พวกเขาไม่มั่นใจว่ากรมอุตุฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะแจ้งเหตุเตือนเขาอย่างจริงใจและตรงไปตรงมาหรือไม่ การสูญเสียความเชื่อมั่นต่อคนในรัฐ ก็คือผลพวงจากเหตุการณ์ความไร้ความรับผิดชอบเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท