Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ที่มา http://doctorfreedom.com/

น.พ. โชติช่วง ชุตินธร

นักสิทธิมนุษยชน

 

ร่างกฎหมาย การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. ... สนช. รับหลักการ วาระที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2550 (101 เสียง ต่อ 20) ทุกฝ่ายยอมรับว่ากฎหมายนี้ให้อำนาจรัฐลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รัฐบาล เสนอร่าง กฎหมายความมั่นคงนี้ต้องการให้ประชนเสียสิทธิเสรีภาพ เพื่อ "ความมั่นคง" ของประเทศ ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาผู้ก่อการร้าย ฟังดูแล้วเป็นเจตนาที่ดี  

 

แต่ถ้าเราถูกหลอกให้เสียสิทธิและเสรีภาพเพื่อผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจที่ไม่เข้าใจประชาธิไตยและขาดคุณธรรมก็น่าเสียดาย โง่เขลาและอันตรายอย่างยิ่งเพราะกฎหมายนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวางและมากเกินไปเหมือนการเซ็นเช็คเปล่า (blank cheque) ที่ไม่ได้ระบุจำนวนเงิน (ม. 17) เพราะผู้ที่ได้อำนาจมหาศาลไปอาจจะหลงอำนาจแล้วอาจจะกลับมากดขี่เรา จากประวัติศาสตร์ถ้าสูญเสียสิทธิเสรีภาพแล้วจะเรียกร้องคืนมายากมาก ตัวอย่างเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา และพฤษภาทมิฬ กว่าจะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพคืนได้ ประชาชนต้องตายและบาดเจ็บจำนวนมาก เราคงไม่ต้องการให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

 

เบนจมิน แฟรงกินส์ (Benjamin Franklin) กล่าวว่า "ผู้ใดที่ยอมสละสิทธิเสรีภาพแม้เพียงประการเดียว เพื่อแลกกับความปลอดภัยหรือความมั่นคง เขาผู้นั้นไม่สมควรจะได้รับทั้งเสรีภาพและความมั่นคงปลอดภัย "He that would give up even one freedom for security, deserves neither freedom nor security"

 

แต่กฎหมายนี้ไม่ได้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพเพียงประการเดียวซึ่งแม้เพียงประการเดียวก็เสียไม่ได้ แต่กฏหมายความมั่นคงนี้ทำลายหลักการของสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน( basic human rights )ของรัฐธรรมนูญใน(หมวด 3) ทั้งหมดหรือเกือบหมด (ม.17 ม.21 ม.22) ในหมวด 3 ของรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย เป็นหมวดที่สำคัญที่สุดสำหรับประชาชนเป็นหัวใจของรัฐธรรมนูญ ถ้าขาดหมวดนี้รัฐธรรมนูญก็หมดความหมายเหมือนถูกฉีกทิ้ง  

 

ในทำนองเดียวกัน แมกนาคาร์ตาร์ Magna Charta (ค.ศ. 1215) ของประเทศอังกฤษเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของโลกและเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวอังกฤษ ถ้าตัดข้อที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพออกไป แมกนาคาร์ตาร์ก็หมดความหมายเหมือนถูกฉีกทิ้ง หรือรัฐธรรมนูญของอเมริกาซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่อาจนับได้ว่าดีทีสุดในโลกและเป็นแม่แบบของรัฐธรรมนูญของหลายประเทศทั่วโลก ก็มีบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ถึง 10 ข้อ (Bill of Rights ค.ศ. 1791) ถ้าตัด บทบัญญัตินี้ไปก็เหมือนรัฐธรรมนูญของอเมริกาถูกฉีกทิ้งไป

 

แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าและน่ากลัวที่ระยะ 6 ปีที่ผ่านมา หลังจาก วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 ที่ตึกเวิลเทรดถูกถล่ม แมกนาคาร์ตา Magna Charta ของประเทศอังกฤษ และ Bill of Rights รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา   กำลังถูกฉีกเป็นครั้งแรกเพราะประเทศของเขาก็ออกกฎหมายความมั่นคงต่อต้านผู้ก่อการร้ายซึ่งกฎหมายไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐธรรมนูญของเขาได้รับรองไว้  ประเทศอื่นๆที่ยืนอยู่ข้ างประชาธิปไตยมาตลอดเช่น ฝรั่งเศษ เยอรมัน ออสเตรเลีย ล้วนออกกฎหมายต่อต้านผู้ก่อการร้ายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน โลกของเรากำลังเดินเข้าสู่ระบบเผด็จการเหมือนที่ จอร์จ ออเวล George Orwell ได้ ทำนายไว้ในหนังสือ ชื่อ 1984

 

ในอดีตรัฐบาลและทหารใช้กฎหมายรักษาความมั่นคง ที่เรียกว่า กฎหมายคอมมิวนิสต์มาปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ มีการสู้รบอย่างดุเดือดหลายปี ประชาชนคนบริสุทธิ์หลายคน เคราะห์ร้าย ได้รับความเดือดร้อนเพราะถูกกลั่นแกล้งถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์  จึง ถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ ถูกจับกุมคุมขัง บางคนก็ถูกขังเป็นเวลานาน ทั้งฝ่ายคอมมิวนิสต์และฝ่ายทหารหลายคนก็ เสียชีวิตในสมรภูมิรบ แต่แล้วก็ปราบไม่ได้รัฐบาลต้องเปลี่ยนมาใช้นโยบายที่ลดความรุนแรง เช่นใช้นโยบาย คำสั่ง 66/2523 นิรโทษกรรมจึงจะประสบความสำเร็จ และในที่สุด เพราะความบอบช้ำและโหดร้ายไม่ยุติธรรมและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน กฎหมายคอมมิวนิสต์จึงถูกยกเลิกไป ในสมัยรัฐบาล นายกชวน หลีกภัยที่เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ตอนนี้รัฐบาลกำลังเสนอกฏหมายความมั่นคงที่โหดร้ายยิ่งกว่ากฎหมายคอมมิวนิสต์เสียอีก

กฎหมายคอมมิวนิสต์เมื่อจับผู้ต้องสงสัยมาแล้วต้องพิจารณาตามกำหนดขั้นตอนระยะเวลาว่าจะขังต่อหรือไม่และมีระยะเวลาในการฝากขังและต้องส่งเข้าสู่ขบวนการยุติธรรมทางศาลในที่สุด แต่กฎหมายฉบับใหม่นี้ไม่จำกัดเวลาในการใช้ (ทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะฉุกเฉินอย่างถาวรโดยไม่ต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน) และไม่จำกัดเวลาในการกักขังทำให้ถูกขังลืมไม่มีสิทธิ์ร้องเรียนตามกระบวนการของกฎหมาย และศาล (due process) เช่นไม่จำเป็นต้องมีข้อกล่าวหา ไม่มีการนำตัวผู้ต้องหามาให้ศาลพิจารณาไต่สวนว่าจะให้ปล่อยตัวหรือฝากขังต่อ (habeas corpus) และไม่มีสิทธิ์ฟ้องร้องต่อศาลให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำผิด (แม้แต่ พ.ร.ก ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นกฎหมายรักษาความมั่นคงที่ร้ายแรงและใช้ในภาวะฉุกเฉินก็ยังต้องทบทวนทุก 3 เดือนและต้องประกาศ)

 

กฎหมายความมั่นคงเป็นกฎหมายที่ใช้มาตรการรุนแรง เพียงแค่สงสัยเท่านั้นก็มีอำนาจจับกุมคุมขังแล้ว กฎหมายที่รุนแรง จะแก้ปัญหา ความรุนแรงของผู้ก่อการร้ายไม่ได้ แต่ความรุนแรงจะทวีมากขึ้น เป็นการลาดน้ำมันในกองไฟ ประชาชนผู้สุจริตที่โดนกลั่นแกล้ง หรือ ถูกลูกหลง และ ถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพอาจจะกลายเป็นผู้ก่อการร้ายด้วยความจำเป็นหรือด้วยความโกรธแค้นที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เราลืมบทเรียนในประวัติศาสตร์เราใช้กฎหมายคอมมิวนิสต์และกฎอัยการศึก(ล้วนเป็นกฎหมายความมั่นคง) ปราบคอมมิวนิสต์ ผลลัพธ์ คือยิ่งปราบยิ่งเยอะ จึงเป็นที่มาของภาษิต "หญ้าคอมมิวนิสต์ ยิ่งปราบยิ่งเยอะตัวอย่างเช่น รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ใช้กฎอัยการศึกและเพิ่ม พ.ร.ก ฉุกเฉิน (พ.ศ. 2548)โดยอ้างว่าจำเป็นเพื่อจะแก้ปัญหาผู้ก่อการร้ายภาคใต้แต่ปรากฎว่ายิ่งปราบผู้ก่อการร้ายก็ยิ่งมากขึ้น นโยบายของทักษิณ "ตาต่อตา ฟันต่อฟัน" มีแต่จะสร้างปัญหาให้รุนแรงยิ่งขึ้น ท่านมหาตมะคานธีกล่าวว่า "การใช้นโยบาย ตาต่อตา จะทำให้คนทั้งโลกตาบอด An eye for an eye will make the whole world blind"

 

รัฐจะแก้ปัญหาผู้ก่อการร้ายและรักษาความสงบและความมั่นคงด้วยการใช้กฎหมายที่เข้มงวดไม่ได้ รัฐไม่ควรใช้หลักนิติศาสตร์เท่านั้นต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ และเมตตาธรรมและความยุติธรรมด้วย ในอดีตรัฐปราบคอมมิวนิสต์ชนะด้วยการให้นิรโทษกรรมแก่กลุ่มนักศึกษาที่เข้าป่าไม่เอาผิดและให้กลับเข้าเรียนมหาวิทยาลัยต่อจนจบส่วนชาวนาก็ให้เข้ารายงานตัวไม่เอาผิดและให้ความช่วยเหลือด้วย รัฐไม่ได้เอาชนะคอมมิวนิสต์ด้วยกฎหมายคอมมิวนิสต์

 

ปัจจุบันนี้นักเขียนกฎหมายและผู้ใช้กฎหมายมักจะคิดว่า การห่วงเรื่องสิทธิมนุษยชนมักจะเป็นอุปสรรคต่อการจับตัวอาชญากรอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงมี กฎหมายใหม่หลายฉบับอ้างว่าเป็นกฎหมายที่มี "ประโยชน์"ต่อประชาชนและประเทศชาติเพราะสามารถจับอาชญากรได้อย่างรวดเร็ว ข้อนี้อันตรายเพราะ ถ้าจับเร็วไปอาจจับผิดตัวก็ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ไล่จับได้โดยไม่ต้องมีหมายศาลเท่ากับว่าไม่มีการตรวจสอบจากศาลเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากเกินไปจึงเป็นการไปลิดรอนเสรีภาพและสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน กฎหมายใหม่เช่น กฎหมายความมั่นคงนี้ก็อ้างเช่นเดียวกัน

ความกลัวต่อความรุนแรงของผู้ก่อการร้ายทำให้ประชาชนยอมเสียสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานให้กับรัฐบาลด้วยการยินยอมให้ออกกฎหมายความมั่นคงมาลิดรอนสิทธิ์ของประชาชน จริงๆแล้วเราลืมประวัติศาสตร์ว่าในอดีตผู้ก่อการร้ายที่อันตรายที่สุดก็คือผู้นำหรือรัฐบาลนั่นเอง เช่นใน สมัย ฮิตเลอร์ สตาลิน และ พอลพต ประชาชนนับล้านๆคนถูกเข่นฆ่าโดยนโยบายที่โหดเหี้ยมของรัฐบาล

 

ประเทศไทยก็เคยเกิดเหตุการณ์ที่เลวร้ายหลายครั้งเช่น 14 ตุลา 6 ตุลา และพฤษภาทมิฬ ซึ่งเราต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลของเราก็เป็นผู้ก่อการร้ายเข่นฆ่าประชาชนได้ สมัยรัฐบาล นายกทักษิณ เกิดกรณีย์ที่ตากใบ (80 ศพ) และนโยบายปราบยาเสพติดเกิดวิสามัญฆาตกรรม 2500 ศพโดยไม่ใช้กระบวนการยุติธรรมของศาล และคดีอุ้มหายตัวไปของทนาย สมชาย นีละไพจิต ล้วนเป็นการเข่นฆ่าประชาชนที่ส่วนใหญเป็นคนสุจริตโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมไม่มีคนรับผิดชอบไม่มีการลงโทษผู้กระทำผิด ทั้งๆที่รัฐยังไม่มีกฎหมายความมั่นคงฉบับนี้ซึ่งให้อำนาจรัฐมากขนาดเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาไม่มีความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา (ม.22) เจ้าหน้าที่ของรัฐยังโหดร้ายขนาดนี้

จอร์จ วอชิงตัน George Washington ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า "รัฐบาลเปรียบเสมือนพระเพลิง ดุจเจ้านายที่น่ากลัวและเป็นลูกจ้างที่อันตราย"

 

รัฐบาลอ้างว่าเพื่อภาพพจน์ที่ดีต่อนานาประเทศรัฐบาลจึงต้องออกกฎหมายความมั่นคงฉบับนี้เพื่อจะได้ไม่ต้องใช้กฎอัยการศึกหรือประกาศภาวะฉุกเฉินซึ่งปัจจุบันยังประกาศใช้อยู่ในหลายจังหวัด ส่วนกฎหมายความมั่นคงฉบับนี้ถ้าผ่านและประกาศใช้แล้วเท่ากับว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะฉุกเฉินอย่างถาวร (เพราะไม่มีการกำหนดเวลา) เป็นการปฏิวัติเงียบไม่ต้องใช้รถถังแต่ใช้กฎหมายยึดอำนาจโดยทหารหรือฝ่ายบริหาร

 

ถ้ากฎหมายความมั่นคงผ่านและประกาศใช้ฝ่ายบริหาร นายกรัฐมนตรีและ ฝ่าย กอ.รมน (ทหาร) ก็จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จะเป็นการยึดอำนาจของฝ่ายตุลาการเพราะไม่ต้องผ่านขบวนการยุติธรรมของศาล (ม. 17, ม.21, ม. 22,)  ประชาชนไม่มีสิทธิ์ฟ้องศาลแพ่งและศาลอาญาเพื่อลงโทษเจ้าหน้าที่ ที่ทำผิด (ม.22) และไม่มีสิทธิ์ฟ้องต่อศาลปกครองได้เลย (ม. 21) กระบวนการในการตรวจสอบหมดไป

 

กฏหมายความมั่นคงฉบับใหม่นี้เป็นกฏหมายป้องกัน (preventive law) (ม.3, ม.14, ม.15, ม.17) กฎหมายป้องกันเป็นกฎหมายเผด็จการใช้ในประเทศเผด็จการเท่านั้น เช่นประเทศเยอรมัน สมัยนาซี ฮิตเลอร์ ประเทศรัสเซีย สตาลิน และประเทศคอมมิวนิสต์หรือประเทศเผด็จการต่างๆทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลัง 11กันยายน ตึกเวิลเทรดถูกเครื่องบินถล่ม รัฐบาลอเมริกันจึงหยิบเอาแนวความคิดของการออกกฎหมายป้องกันอาชญากรรมจากผู้ก่อการร้ายมาใช้และประเทศไทยก็กำลังจะออกกฎหมายป้องกันเช่นเดียวกันซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิไตยและสิทธิมนุษยชน กฎหมายแนวนี้อันตรายมาก ขัดต่อหลักนิติธรรม และขัดต่อรัฐธรรมนูญเพราะกฎหมายมีไว้ลงโทษผู้กระทำผิดแล้วแต่ กฎหมายป้องกันจะลงโทษไว้ก่อนเพราะเพียงแค่สงสัยก็ถูกดำเนินการเอาผิดแล้วโดยไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมไม่จำเป็นต้องมีหมายศาลก็จับและขังหรือตรวจค้นบ้าน ได้และในที่สุดเพื่อจะเค้นข้อมูลโดยอ้างว่าเพื่อป้องกันเหตุร้ายจึงทรมานผู้ที่ถูกสงสัยเหมือนคุก-ลับของอเมริกาที่ Guantanamo

 

การมีกฎหมายรักษาความมั่นคงอาจจะจำเป็นเมื่อประเทศตกอยู่ในสถาณการณ์ฉุกเฉินเช่นสงครามแต่ปัจจุบันนี้บ้านเมืองไม่มีสงคราม  มี แต่เหตุการณ์ความไม่สงบที่ 3 จังหวัดภาคใต้ซึ่งรัฐบาลใช้กฎอัยการศึกและพ.ร.ก.ฉุกเฉินซึ่งก็เป็นกฎหมายความมั่นคงอยู่แล้ว และรัฐบาลนี้มิได้มาจากการเลือกตั้งและท่านก็เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน โดยปกติ สภาจะปิดสมัยประชุม ไม่พิจารณากฎหมายใดๆอีกในช่วงที่ประกาศให้มีการเลือกตั้ง รัฐ จึงไม่ควรออกกฎหมายความมั่นคงในขณะนี้ ควรรอให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งพิจารณาและอภิปรายอย่างรอบครอบกว่านี้ไม่ควรทำอย่างรวบรัดรีบเร่งควรฟังความคิดเห็นมีประชาพิจารณ์ด้วย

 

ในที่ประชุมสภานิติบัญัติแห่งชาติมีการอภิปรายคัดค้านการออกกฎหมายความมั่นคงนี้เพราะเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพชของประชาชนส่วน สนช. ที่สนับสนุนก็แก้ต่างว่าประเทศมหาอำนาจและประเทศเพื่อนบ้าน ก็มีกฏหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพเพื่อความมั่นคงของประเทศเหมือนๆกันจึงไม่ต้องเป็นห่วง ... ไม่ห่วงไม่ได้เพราะ การออกกฎหมายที่ดีไม่ใช่เพราะประเทศอื่นมีเราก็ต้องมีด้วย เขาทำผิดลิดรอนสิทธิเสรีภาพเราก็ไม่จำเป็นต้องทำผิดเหมือนเขา เราต้องมีสติอย่าให้เขานำเราไปลงเหวด้วยกัน การออกกฎหมายที่ดีต้องมีความยุติธรรมและความถูกต้องเป็นหลัก การลิดรอนสิธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในยามปกติและไม่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นการไม่ยุติธรรมและไม่ถูกต้องและจะนำเราไปสู่ความไม่สงบและความไม่มั่นคงในที่สุด

ที่ผ่านมาอเมริกาเป็นแม่แบบของประชาธิไตย แต่ปัจจุบันประชาธิไตยของอเมริกาเองก็ถดถอยอย่างรวดเร็วและน่ากลัวเขาทำตัวเป็นตำรวจโลกและนักเลงโตไม่เคารพอำนาจอธิปไตยของประเทศอื่น มีคุกลับไว้ในหลายประเทศไว้กักขัง (ขังลืม)และทรมานอย่างไร้มนุษยธรรมต่อบุคคลที่เขาสงสัยว่าจะเป็นผู้ก่อการร้ายหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ เช่นคุก-ลับที่ กวนตานาโม Guantanamo ประเทศ คิวบา (Cuba) ซึ่งกำลัง เป็นข่าวอื้อฉาวไปทั่วโลก ขณะนี้สมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกาที่เป็นห่วงเรื่องสิทธิมนุษยชนถูกละเมิดได้ยื่นเรื่องเสนอให้ปิดและยกเลิกคุก-ลับที่ กวนตานาโมแล้วด้วย

 

หลังเหตุการณ์เครื่องบินชนตึกเวิลด์เทรด เมื่อ 11 กันยายน 2001 สหรัฐออกกฎหมายต่อต้านผู้ก่อการร้ายหรือกฎหมายรักษาความมั่นคงหลายฉบับซึ่งเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างไม่เคยมีมาก่อน เช่น Patriot Acts (Oct.16,2001), Homeland Security Act 2002, Intelligence Reform Act 2004, Military Commissions Act 2006   กฎหมายต่อต้านผู้ก่อการร้ายหรือกฎหมายรักษาความมั่นคงเหล่านี้ล้วนทำลายรัฐธรรมนูญของตนเองเพราะไปลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและชาวต่างชาติทั้งในและนอกประเทศโดยละเมิดบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ( Bill of Rights ). อเมริกากำลังเดินไปสู่ความเป็นเผด็จการแล้วไม่ใช่แม่แบบที่ดีของประชาธิไตยที่สมบูรณ์เหมือนเมื่อก่อนแล้วเราควรคิดให้รอบครอบว่าเรายังจะเดินตามหลังความผิดของเขาหรือไม่

 

ตามคำปรารภ ของร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงนี้มีการ จำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ(หมวด 3)ถึง 9  มาตราโดยอ้างว่าโดยอาศัยมาตรา 29 ของ รัฐธรรมนูญ ที่ให้อำนาจในการจำกัดสิทธิเสรีภาพดังนี้   "การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่...   เท่าที่จำเป็นและจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้"  ปัจจุบันประเทศของเราไม่ได้อยู่ในภาวะสงครามหรือภาวะฉุกเฉินทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายรักษาความมั่นคงมาละเมิดสิทธิเสรีภาพ และ ไม่จำเป็นต้องตรากฎหมายนี้อีกเพราะเรามีกฎหมายความมั่นคงฉบับอื่นๆที่มีอยู่แล้วที่จะนำมาใช้รักษาความมั่นคงได้เช่น กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ กฎหมายอาญาซึ่งมี 30 มาตราที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงรวมตลอดจนมีมาตราที่ลงโทษประหารชีวิตได้ซึ่งก็รุนแรงที่สุดแล้ว  กฎหมายความมั่นคงนี้จึงเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ(ม.29)

 

ถ้าพิจารณาให้ดีๆจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย หลักการของสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของทุกมาตราหรือเกือบทุกมาตรา(ในทางตรงหรือทางอ้อม) ถูกละเมิดด้วยกฎหมายความมั่นคงนี้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นการกระทบกระเทือนสาระสำคัญของสิทธิและเสรีภาพเช่น มาตรา 17 ของร่างกฎหมายความมั่นคง มีข้อห้ามหลายข้อ เช่น

  1. "ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการหรืองดปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด"หมายความว่าเจ้าหน้าที่มีสิทธิ์ทำอะไรก็ได้ไม่ทำอะไรก็ได้ ข้อนี้อันตรายมากเป็นการให้อำนาจมากเกินไปไม่มีขอบเขตประชาชนต้องแล้วแต่ท่านจะเมตตาจะฆ่าจะแกงก็ได้ไม่ผิดกฎหมาย (ม. 21, 22 )  
  2. "ห้ามเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่กำหนด ...." (หมายความว่า อาจจะเป็นการเริ่มต้นของค่ายกักกันหรือค่ายนรก (concentration camp)หรือ คุก- ลับ ขังลืมก็ได้)
  3. "ห้ามออกจากเคหสถานในเวลามี่กำหนด" (เท่ากับประกาศ เคอร์ฟิวได้แม้บ้านเมืองอยู่ในภาวะสงบสุขโดยไม่ได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน)
  4. "ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน" (ข้อนี้ก็ยุ่งยากแล้วแต่รัฐจะนิยามว่าอะไรคืออาวุธ เช่นเดี๋ยวนี้ห้ามนำของเหลวหรือของมีคมขึ้นเครื่องบินกลายเป็นว่าแม้แต่น้ำเปล่าหรือมีดพกเล็กๆไว้ปลอกผลไม้ก็ห้ามนำเข้าเครื่องบินแล้ว)
  5. "ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ..." (ห้ามเดินทาง ห้ามขึ้นเครื่องบิน ห้ามขับขี่รถยนต์หรือจักรยานยนต์หรือแม้แต่จักรยาน)
  6. "ให้บุคคลปฏิบัติหรือหรืองดเว้นการปฏิบัติ.... เครื่องมือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์... " (หมายความว่ารัฐมีสิทธิ์ล้วงข้อมูลจากคอมพิวเตอร์หรือปิดเว็บไซด์ แอบดูข้อมูลทางอินเตอร์เน็ท (Email) หรือ ดักฟังโทรศัพท์มือถือหรือโทรศัพท์บ้านและที่ทำงาน...) ล้วนเป็นการละเมิดและกระทบกระเทือนสาระสำคัญของสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (รัฐธรรมนูญ ม.29 และหมวด 3) สรุปแล้วร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงไม่จำเป็นเพราะประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาวะสงครามหรือภาวะฉุกเฉินทั้งประเทศและมีกฎหมายเพียงพอที่จะนำมาใช้เพื่อรักษาความมั่นคงได้ และร่างกฎหมายความมั่นคงฯนี้ยังขัดต่อสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของกฎหมายรัฐธรรมนูญจึงออกเป็นกฎหมายไม่ได้

เวลาเราอ่านข่าวหรือฟังข่าวเราต้องระวังอย่าเชื่อทั้งหมดในทันทีเพราะบางครั้งเป็นข่าวลวงหรือข่าวหลอก ผู้ก่อการร้ายตัวจริงอาจจะไม่ใช่คนที่ถูกกล่าวหาและเป็นข่าวบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ ความจริงอาจจะสลับซับซ้อนกว่าที่เราอ่านจากข่าว อาจจะมีวาระซ่อนเร้น(hidden agenda) ที่ผ่านมาบางทีรัฐบาลอาจจะสร้างสถานะการณ์ให้ประชาชนกลัวและยอมเสียสิทธิเสรีภาพให้กับผู้นำโดยการออกกฎหมายฉบับใหม่ที่อ้างว่าเพื่อจะป้องกันคุ้มครอง และรักษาความมั่นคงแต่จริงๆแล้วเป็นการเพิ่มอำนาจให้ผู้นำแต่ลดลิทธิและเสรีภาพของประชาชนและให้กฎหมายพวกนี้รับรองอำนาจของผู้นำให้ดูถูกต้องว่ารัฐทำถูกต้องตามกฎหมายทั้งๆที่เป็นเผด็จการ หรือฉวยโอกาสประกาศภาวะฉุกเฉินหลังจากการสร้างสถานการณ์ให้เป็นที่หวาดกลัวเพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการใช้กฎอัยการศึกหรือกฎหมายรักษาความมั่นคงปราบปรามและบังคับควบคุมหรือกดขี่ประชาชนจนกลายเป็นรัฐบาลผเด็ดการในที่สุด

ผู้ก่อตั้งอาณาจักรโรมัน เตือนไว้ว่า"โปรดระวังหัวหน้าที่ทำหน้าที่ลั่นกลองศึกเพื่อจะปลุกเร้าให้ประชาชนมีอารมณ์รักชาติ เพราะการรักชาติเป็นดาบสองคม มันจะกระตุ้นให้เลือดรักชาติเดือดพล่านและในขณะเดียวกันกระตุ้นให้จิตใจแคบลง และเมื่อเสียงกลองศึกสงครามดังจนได้จังหวะมีคนคลั่งไคล้สูงสุดและเลือดเดือดพล่านด้วยความโกรธและจิตใจปิดแคบแล้วเมื่อนั้นหัวหน้าไม่จำเป็นต้องออกแรงแทรกแซงสิทธิและเสรีภาพของมวลประชาชนเลย เพราะประชาชนถูกอัดฉีดซึมซับเข้าในสายเลือดให้อยู่ในภาวะหวาดกลัวและรักชาติอย่างตาบอดจนขันอาสาที่จะเสียสิทธิและเสรีภาพทั้งหมดให้แก่หัวหน้าด้วยความยินดีอย่างยิ่ง ข้าพเจ้ารู้ได้อย่างไร? เพราะนี่คือสิ่งที่ข้าพเจ้าได้ทำมาแล้ว และ ข้าพเจ้าคือ ซีซ่า --- จูเลียตส์ ซีซ่า Julius Caesar"

 

สมัยฮิตเลอร์ ตึกรัฐสภาชื่อ ไรส์ต๊าก (Reichstag) ถูกวางเพลิงเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1933 ฮิตเลอร์ก็ปรักปรำสัตรูว่าเป็นคนเผาตึกจากเหตุการณ์นี้มีคนถูกจับราว 4,000 คนหลายคนก็ถูกฆ่าแต่ภายหลังมีคนจำนวนหนึ่งในสมัยนั้นสงสัยว่าพวกฮิตเลอร์เผาเองแต่กล่าวหาว่าพวกศัตรูเป็นคนเผาตึก ฮิตเลอร์ต้องสร้างสถานการณ์เพื่อจะได้ประกาศภาวะฉุกเฉินและยึดอำนาจและควบคุมเข่นฆ่าสัตรูของเขาและนับจากนั้นเพียง 1 เดือนฮิตเลอร์ก็ประกาศภาวะฉุกเฉินยึดอำนาจและเป็นเผด็จการเต็มตัว

 

ร่าง กฎหมายความมั่นคง (มาตรา 17.2) น่าเป็นห่วงมาก เพราะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ มีสิทธิ์ "ห้ามเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่ อาคารหรือสถานที่ที่กำหนด .... " เท่ากับให้อำนาจในการกักบริเวณหรือมีค่ายกักกันนั่นเอง ที่ภาคใต้มีค่ายอบรม (ค่ายกักกัน)ที่จับผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้ก่อความไม่สงบที่ภาคใต้ไปอบรม ประมาน 400 กว่าคนเป็นเวลา หลายเดือนและเพิ่งจะมีการปล่อยตัวกลับบ้าน การกระทำเช่นนี้เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในสมัยฮิตเล่อร์เขาก็เริ่มต้นด้วยการจับคนที่เขาสงสัยว่าจะเป็น " ภัยต่อความมั่น คง"เข้าค่ายอบรมและต่อมาก็กลายเป็นค่ายนรก (concentration camp )และฆ่าชาวยิวไป 6 ล้านคนอย่างโหดเหี้ยม Holocaust และยังฆ่าชาวเยอรมันที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐรวมทั้งคนชาติต่างๆอีกมากมาย ในอดีตประเทศคอมมิวนิสต์และประเทศที่เป็นเผด็จการต่าง ก็มีค่ายอบรมและค่ายกักกันกดขี่และเข่นฆ่าเหมือนกัน

 

เรามักจะคิดว่าสิ่งที่เลวร้ายเหล่านี้เป็นเรื่องไกลตัวจะเกิดขึ้นกับเราไม่ได้แต่จริงๆแล้วเคยเกิดขึ้นแล้วหลายครั้งเช่น 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภาทมิฬ และเหตุการประท้วงที่ตากใบ 80 ศพ และวิสามัญฆาตกรรม 2,500 ศพเพราะนโยบายปราบปรามยาเสพติด หรือแม้แต่ประเทศ เขมรเพื่อนบ้านของเราในอดีตสมัยรัฐบาล พอลพตก็ฆ่าประชาชน 2 ล้านกว่าคนที่รัฐบาลเขมรแดงสงสัยว่าจะเป็น " ภัยต่อความมั่นคงของประเทศ "

ปัจจุบันเราจะเห็นคำจารึกที่เตือนความทรงจำบนกำแพงพิพิธภัณฑ์ของค่ายนรกนาซีที่เมือง ออสวิทซ์ในประเทศโปแลนด ์(Auschwitz Concentration Camp) จากจอร์จ ซานทายานา นักปรัชญาชาวสเปนที่มีชื่อเสียง  (George Santayana) ดังนี้ "ผู้ใดไม่จดจำประวัติศาสตร์ ผู้นั้นจะต้องมีชีวิตเผชิญกับเหตุการณ์อันเลวร้ายนั้นอีก"

 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สมัยอังกฤษปกครองประเทศมาลายู(มาเลเซีย) ต้องเผชิญกับปัญหาผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ กว่าจะเอาชนะได้ต้องสู้รบและปราบปรามกันหลาย ปี (ค.ศ. 1948 - 1960 )ต้องสูญเสียชีวิตมากมายทั้ง 2 ฝ่าย ในที่สุดอังกฤษ ก็ได้ชัยชนะ แต่ไม่ใช่อาศัยอาวุธหรือกฎหมายเท่านั้นแต่ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้มีชัยชนะคือการชนะใจและจิตใจของประชาชนให้ประชาชนร่วมมือกับรัฐบาลและให้โอกาสศัตรูกลับใจไม่ใช้กฎหมายความมั่นคงลงโทษแต่นิรโทษกรรมแก่ผู้หลงผิดให้ออกจากป่าและให้ความช่วยเหลือในการกลับสู่สังคมใหม่  

 

การออกกฎหมายที่มีมาตรการที่รุนแรงเป็นเหมือนดาบ 2 คม จริงอยู่เจ้าหน้าที่ของรัฐอาจจะทำงานได้คล่องขึ้นและรวดเร็วทันใจแต่จากประสบการที่เจ็บปวดในอดีตของทุกประเทศทั่วโลกผู้นำหรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีกฎหมายให้อำนาจมากเกินไปมักจะทำเกินกว่าเหตุจับคนบริสุทธิ์เกิดการกลั่นแกล้งหรือจับกุมและทรมานหรือเข่นฆ่ากันเพราะรัฐถือว่า"เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ" เมื่อทำมากๆเข้าประชาชนที่รักความเป็นธรรมจะลุกขึ้นต่อต้านและรัฐก็จะพยายามใช้อำนาจปราบปรามมากขึ้นจนในที่สุดก็นำไปสู่สงครามกองโจรหรือสงครามผู้ก่อการร้าย หรือสงครามกลางเมือง   ถึงขั้น เกิดรัฐบาลเผด็จการในที่สุดแต่รัฐบาลเผด็จการจะอยู่ได้ไม่นานจะถูกโค่นล้มโดยประชาชนและเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆเป็นวงจรที่เลวร้ายดังนั้นเราควรตัดไฟแต่ต้นลมไม่ออกกฎหมายที่จะนำเราไปสู่การเป็นรัฐบาลเผด็จการเพราะร่าง กฎหมายความมั่นคงนี้เป็นกฎหมายเผด็จการ

 

ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. .... ฉบับนี้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร หรือ กอ. รมน. (ทหาร) อย่างมหาศาล  ให้อำนาจฝ่ายบริหาร ยึดอำนาจฝ่ายตุลาการ (ม. 17, ม.21, ม.22 ) และถ้าสภาอ่อนแอเป็นสภาตรายางอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติก็จะถูกยึด ก็จะขาดการตรวจสอบขาดการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันก็จะกลายเป็นรัฐบาลเผด็จการโดยมีกฎหมายรับรองเป็นการปฏิวัติเงียบไม่ต้องใช้รถถังแค่ออกกฎหมายเผด็จการในนามกฎหมายรักษาความมั่นคงก็ยึดอำนาจได้แล้ว

 

สรุป ถ้ากฎหมายความมั่นคงนี้ผ่านสภาในอนาคต กอ.รมน จะกลายเป็นเหมือนหน่วยงาน เกสตาโป (Gestapo)ของพวกนาซี บริหารโดย ฮิตเลอร์ทรราษฎ์คนใหม่อย่างถูกต้องตามกฎหมายและไม่ต้องประกาศภาวะฉุกเฉินแต่ใช้อำนาจเหมือนกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน (มาตรา 14)

รัฐบุรุษ ลอร์ด เอกซ์ตัน ของอังกฤษเคยเตือนไว้ว่า "อำนาจทำให้เกิดการทุจริตและชั่วร้าย เมื่อมีอำนาจเด็ดขาดก็ยิ่งทำให้ยิ่งทุจริตและยิ่งชั่วร้ายอย่างแน่นอน Power corrupts. Absolute power corrupts absolutely."

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net