Skip to main content
sharethis

"นี่คืออำนาจทหารที่มาใหม่ ถ้าเราไม่ต้านหรือพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธ.ค. ไม่แก้ไข เราจะอยู่กับระบอบทหารและจะพาประเทศไปสู่ความขัดแย้ง เหมือนกับการสู้กับคอมมิวนิสต์ ตลอด 30 ปี"

 

 

วันที่ 21 ธ.ค. ภาคประชาชนประมาณ 300 คน ชุมนุมหน้ารัฐสภาต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 เพื่อเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติ (สนช.) ยุติการออกกฎหมายอันตรายที่จะเข้าสู่การพิจารณา อาทิ ร่าง พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง ร่าง พ.ร.บ.สภาการเกษตร ร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

 

 

นอกจากนี้ทางผู้ชุมนุมได้ตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อ เพื่อถอดถอน พ.ร.บ. ความมั่นคงที่ผ่านสภาไปเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ 50 ระบุให้ประชาชน 10,000 ชื่อสามารถเข้าชื่อกันถอดถอนกฎหมายได้ โดยผู้ร่วมลงชื่อจะต้องนำบัตรประชาชนมาเป็นหลักฐานด้วย

 

นายไพโรจน์ พลเพชร รองประธาน กป.อพช. อภิปรายถึง พ.ร.บ.ความมั่นคงว่า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. สนช.ได้ให้ความชอบธรรมของการยึดอำนาจโดยการรัฐประหารเงียบ เป็นการยึดอำนาจครั้งที่ 2 เป็นการพยายามออกกฎหมายให้แก่ทหารที่เริ่มต้นมาตั้งแต่หลัง 19 ก.ย. 49 เมื่อเดือน ธ.ค. 49 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งขยายอำนาจ กอ.รมน. ที่หมดไปแล้ว หลังสงครามคอมมิวนิสต์สิ้นสุดลง ตั้งแต่ พ.ศ. 2534 พล.อ.สุรยุทธ์ มีความพยายามออกกฎหมาย ให้อำนาจแก่ทหารเรื่อยมา นับแต่นั้นจนมาบรรลุโดย สนช. ดังนั้น สนช. แท้จริงแล้วก็เป็นสภาทหาร ที่ให้ความชอบธรรมแก่ทหาร ข้าราชการ และนายทุน ผ่านกฎหมาย

 

นายไพโรจน์ กล่าวถึงอำนาจของ พ.ร.บ. ความมั่นคง โดยยกตัวอย่างว่า กอ.รมน. มีอำนาจในการพิจารณาเหตุการณ์อย่างเช่น การที่ประชาชนรวมตัวกันคัดค้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่รัฐอนุมัติให้กลุ่มธุรกิจในพื้นที่ใดๆ อย่างยาวนาน หรือการที่ประชาชนลุกขึ้นมาตรวจสอบการกระทำของรัฐ ถ้า กอ.รมน.มองว่าการกระทำดังกล่าวมีผลกระทบต่อรัฐ ธุรกิจหรือต่างชาติ จะสามารถประกาศให้เป็นพื้นที่พิเศษได้

 

นอกจากนี้ในพื้นที่พิเศษได้ให้อำนาจแก่ กอ.รมน. จัดการทุกเรื่อง ในการป้องกันปราบปราม กลายเป็นพื้นที่เขตอำนาจพิเศษของ กอ.รมน. ที่สามารถใช้อำนาจแทนทหาร ตำรวจ และข้าราชการได้ทุกหน่วยโดยทันที โดย กอ.รมน.เป็นผู้ให้ความหมายของความมั่นคง

 

นายไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้นแล้ว กอ.รมน.ยังสามารถจัดหน่วยพิเศษ งบพิเศษและค่าตอบแทนพิเศษ มีเขตอำนาจทหาร เรียกว่าเขตความมั่นคง ที่ถ่ายโอนอำนาจทุกส่วนสู่ทหาร อย่างนี้ก็คือ "รัฐทหาร" กอ.รมน.ยังสามารถให้ประชาชนออกจากพื้นที่หรือเข้าพื้นที่ได้ หมายถึงสามารถห้ามคนไทยไม่ให้เข้าออกในบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองได้ และสามารถออกจากพื้นที่ได้ ถ้าเห็นว่าบุคคลนั้น "กระทบ" ต่อความมั่นคง รวมทั้งห้ามไม่ให้ใช้ยานพาหนะ และในอนาคตอาจเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ทำอะไรก็ได้ และในกรณีที่มีบุคคลยอมรับผิด กอ.รมน. มีอำนาจควบคุมตัวได้ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน

 

รองประธาน กป.อพช. ยังกล่าวถึงกรณีที่สมาชิก สนช.หลายคนระบุว่า แก้ไข พ.ร.บ. ความมั่นคงให้ดีแล้วนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะอำนาจทหารยังอยู่ตามเดิม ผลกระทบคือเราจะมี "รัฐซ้อนรัฐ" มีหน่วยงานความมั่นคงเป็นหน่วยงานระดับชาติ มีโครงสร้างที่ปกครองด้วยสายบังคับบัญชาที่ทหารคุมไปถึงระดับจังหวัด หน่วยงานใดที่ร่วมมือกับ กอ.รมน. จะมีงบพิเศษให้ แต่ถ้าบุคคลหรือหน่วยงานใดไม่ทำตามสามารถสั่งย้ายได้ทันที

 

นายไพโรจน์ กล่าวว่า นี่คืออำนาจทหารที่มาใหม่ ถ้าเราไม่ต้านหรือพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธ.ค. ไม่แก้ไข เราจะอยู่กับระบอบทหารและจะพาประเทศไปสู่ความขัดแย้ง เหมือนกับการสู้กับคอมมิวนิสต์ ตลอด 30 ปี

 

เขายังได้กล่าวถึงข้อเรียกร้องต่อนักการเมืองที่จะได้รับเลือกเป็นรัฐบาลว่า หากมีกฎหมายที่ประชาชนไม่เห็นด้วย ให้บรรจุเป็นแผนนิติบัญญัติ เพื่อปรับปรุงแก้ไข หรือเสนอกฎหมายใหม่ต่อไป พร้อมกันนี้ยังเรียกร้องให้ช่วยสนับสนุนร่างกฎหมายของภาคประชาชนด้วย

 

ทั้งนี้ เขากล่าวทิ้งท้ายว่า เชื่อว่า สนช. 105 คนจะหายหัวและไม่รับผิดชอบใดๆ คนเหล่านี้ไม่เคยเลือกตั้งพิสูจน์ตัวเองจะถูกแต่งตั้งมามีอำนาจทุกครั้ง และหลายคนคงถูกแต่งตั้งไปเป็น ส.ว. ในการสรรหาที่จะเกิดขึ้น เพื่อเป็นบำเหน็จตอบแทน

 

"เราไม่เคยยอมจำนนอำนาจทหาร สังคมไทยสู้กับอำนาจทหารมายาวนานมาก และจะสู้ต่อไป" นายไพโรจน์ กล่าว

 

 

ด้านนายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธาน กป.อพช. กล่าวว่า เมื่อวานพอหยุดชุมนุม สนช. ก็ฉวยเอา พ.ร.บ.ความมั่นคงมาพิจารณา เป็นความขี้ขลาดของ สนช. ไม่กล้าเผชิญหน้าโดยตรง อาศัยช่วงที่ผู้ชุมนุมไม่อยู่ รีบผ่านกฎหมาย ทำลายสิทธิเสรีภาพ ทำลายประชาชนทั้งประเทศ ทั้งนี้ สิ่งที่แสดงให้เห็นมาตลอดคือ สมาชิก สนช. ไม่ได้รับใช้ประชาชน ทั้งยังเป็นหนี้บุญคุณต่อทหาร เมื่อมีคำสั่งอย่างไรก็ทำตาม 

 

"เราจะดำเนินกิจกรรมทุกอย่างที่แสดงให้ สนช. รับทราบว่า เรายอมรับไม่ได้" นายจอนกล่าว และว่า ตลอดทั้งวันจะดำเนินกิจกรรมอย่างเข้มข้น 

 

ต่อมา ในช่วงสายมีผู้มาชุมนุมมากขึ้นเกือบพันคน โดยในเวลาประมาณ 11.30 น. ผู้ชุมนุมได้จัดขบวนบนถนนหน้ารัฐสภา โดยมีนักศึกษาเป็นแถวหน้าในการเดิน ซึ่งหลังจากประชาชนเดินไปทางพระบรมรูปทรงม้า จนสุดถนนแล้ว ได้เดินไปทางฝั่งถนนราชวิถี หลังจากนั้น ผู้ชุมนุมได้นอนลงกับพื้นทีละแถว เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า หลังจากนี้ ทุกคนคงตายลงอย่างช้าๆ เพราะการมี พ.ร.บ.ความมั่นคง ก็เหมือนประชาชนได้ตายไปแล้ว หลังจากนั้นได้ลุกขึ้น เดินกลับมาที่หน้ารัฐสภา พร้อมทั้งขอเจ้าหน้าที่ตำรวจไปนั่งหน้าสภาเช่นเดียวกับวันอื่นๆ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจยอมเลื่อนรถยกและแผงกั้นออกให้

 

สำหรับการประชุมของสภานิติบัญญัติยังคงมีต่อไปตามปกติ โดยขณะนี้ สนช. ได้เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. 8 ฉบับ ได้แก่

ร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ด้วยเสียง 146-1 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง

ร่าง พ.ร.บ.สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 59 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง    

ร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 45 เสียง

ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองการดำเนินงานของสำนักงานใหญ่ของสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 50 เสียง

ร่าง พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 62 เสียง งดลงคะแนน 1 เสียง

ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 60 เสียง

ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 59 เสียง

ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 82 เสียง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net