บทความ: "การเมืองเครือข่าย การเมืองแห่งความหวัง"

โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์
บทความเนื่องในโอกาสการเปิดตัวเว็บไซต์
"ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย" http://www.politicalbase.in.th

000

"ทางออกของปัญหาการเมืองไทย ด้วยการปฏิวัติข้อมูลข่าวสาร"

            ปีศาจที่คอยหลอกหลอนพลเมืองโลกในขณะนี้ คือ ปีศาจแห่งความเบื่อหน่ายการเมือง ทุกสิ่งดูสิ้นหวัง หดหู่ ไม่มีทางออก ไร้ความหวัง

            ปรากฏการณ์สิ้นหวังทั่วโลกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ไม่หลอกลวง แต่สิ่งที่อยู่ลึกลงไปคึอ ความหวัง ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตบนโลกของเรา จะมีโอกาสใหม่เกิดขึ้นเสมอ สิ่งใหม่นั้นจะผลักดันให้โลกเปลี่ยนแปลงจนไม่อาจกลับไปสู่จุดเดิมก่อนหน้านี้ได้อีก ไม่มีวันกลับไปเหมือนเดิม

            เราเบื่อหน่ายการต่อสู้ทางการเมืองในขณะนี้ เราไม่รู้จะเลือกพรรคใดดี เราไม่อาจแยกแยะว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ใครผิดใครถูก เราจะเชื่อนายกคนก่อน นายกคนปัจจุบัน นายกคนใหม่ หรือเชื่อใครดี การคิดเช่นนี้ทำให้เราสับสน หมดพลัง

            เรากำลังมองโลกอย่างผิดพลาด เราตกอยู่ใต้มายาของระบบพรรคการเมือง นักการเมืองที่ขัดแย้งทั้งในและนอกเวทีขณะนี้ แท้จริงแล้วเป็นพวกเดียวกัน คือ การเมืองคลื่นลูกที่สอง การเมืองยุคอุตสาหกรรม ซึ่งมีความไม่เหมาะสมและก่อให้เกิดวิกฤตต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก ลูกแล้วลูกเล่า ทางออกที่ดีที่สุด คือ การสร้างการเมืองรูปแบบใหม่ การเมืองคลื่นลูกที่สาม การเมืองหลังอุตสาหกรรม

            สาเหตุที่การเมืองแบบพรรคการเมือง การเมืองคลื่นลูกที่สอง การเมืองอุตสาหกรรมล้มเหลวนั้น เพราะเป็นการเมืองที่ไม่สอดคล้องกับสังคมคลื่นลูกที่สาม ในสมัยหนึ่ง การเมืองแบบพรรคการเมือง เป็นการเมืองที่ดีที่สุด เป็นการเมืองที่ช่วยให้โลกและประเทศไทยของเราพัฒนาก้าวไกล เนื่องจากในสังคมคลื่นลูกที่หนึ่ง สังคมเกษตรกรรม ชีวิตของเรากระจัดกระจาย แม้จะมีอิสระเสรีภาพ แต่เราถูกคุกคามด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ภัยธรรมชาติ การปล้นฆ่า การกดขี่จากผู้นำท้องถิ่น เจ้าเมือง เจ้าพ่อ ดังนั้น เราจึงเลือกที่จะเดินหน้าเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม เลือกใช้การเมืองแบบพรรคการเมือง เพื่อสร้างความเป็นระบบระเบียบ ใช้กฏหมายแทนที่กฏหมู่ในการตัดสิน เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาสินค้าบริการ ยารักษาโรค สุขภาพอนามัย สิ่งนี้เป็นไปได้ด้วยการเมืองแบบพรรคการเมือง รวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง เพื่อสร้างความเป็นระเบียบ บริหารจัดการประเทศให้พัฒนาก้าวไกล

            เรายอมเสียสละอิสรภาพส่วนตัวของสังคมคลื่นลูกที่หนึ่ง เพื่อแลกมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุและการบริหารจัดการสังคมให้สงบสุข บรรเทาการกดขี่ข่มเหงให้ลดน้อยลง ปรับปรุงกฏหมายเพื่อสร้างประสิทธิภาพในการดำรงชีวิต อาจมีข้อบกพร่อง แต่ยังดีกว่าสังคมคลื่นยุคที่หนึ่ง ที่ทุกอย่างจัดการไม่ได้ ขึ้นอยู่กับโชคชะตา

            ขณะที่สังคมของเราพัฒนาตามแนวทางคลื่นลูกที่สอง ด้วยความก้าวหน้า ด้วยสวัสดิภาพ บางทีจะมีจุดอ่อนข้อบกพร่องมากมาย แต่ต้องยอมรับว่าสังคมแบบนี้มีความสุขมากกว่าสังคมคลื่นลูกที่หนึ่ง ซึ่งแม้จะมีอิสรภาพ แต่ต้องประสบภัยคุกคามนานับประการ ความเจริญถึงขีดสุดของสังคมคลื่นลูกที่สอง ทำให้เรามาถึงทางตัน เราไม่สามารถก้าวหน้าไปมากกว่านี้ได้อีก ถ้าเราไม่ปรับเปลี่ยนวิธีคิด ปรับเปลี่ยนการทำงาน ดังนั้นโลกจึงค่อยๆ คืบคลานเข้าสู่คลื่นลูกที่สาม คลื่นแห่งอิสระเสรีภาพ ที่ใช้ความรู้ข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยี เอาชนะความจำกัดและภัยคุกคาม สังคมคลื่นลูกที่สามจึงเป็นบทสังเคราะห์ของคลื่นลูกที่หนึ่งและสอง ขณะที่เรามีเสรีภาพเหมือนในสังคมคลื่นลูกที่หนึ่ง แต่เรากลับมีความเจริญก้าวหน้าและระบบระเบียบของคลื่นลูกที่สอง สังคมคลื่นลูกที่สามจึงเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ เราต้องมีสติในการก้าวเข้าสู่คลื่นลูกที่สาม ไม่ใช่การทำลายคลื่นลูกที่สองเพื่อกลับไปสู่คลื่นลูกที่หนึ่ง แต่เป็นการสังเคราะห์ประสิทธิภาพของคลื่นลูกที่สองเข้ากับอิสระเสรีภาพของคลื่นลูกที่หนึ่ง เพื่อยกระดับสู่คลื่นลูกที่สาม

            การที่เราจัดทำเวปไซด์นี้ขึ้นมา เพื่อเป็นส่วนสนับสนุนการสร้างการเมืองคลื่นลูกที่สาม ที่มีความแตกต่างอย่างถึงรากฐานกับการเมืองรูปแบบเดิม การเมืองคลื่นลูกที่สอง โดยในเบื้องต้น เรามุ่งพัฒนาข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชน เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้ทุกคนที่จะพาตัวเองเข้าสู่การเมืองคลื่นลูกที่สาม

            การเมืองของคลื่นลูกที่สาม จึงเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาและยกระดับการเมืองคลื่นลูกที่สอง ระบบพรรคการเมืองมีข้อดีคือ ความเป็นระบบระเบียบชัดเจน มีการบริหารจัดการ มีพลังขับเคลื่อนอันยิ่งใหญ่ แต่จุดอ่อนคือ ขาดความยืดหยุ่น ขาดอิสระเสรีภาพ ขาดความแตกต่างหลากหลาย แต่ในตอนนี้เทคโนโลยีและความรู้ภูมิปัญญาของเราได้พัฒนาไปมากพอที่จะสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ทั่วโลก ดังนั้น การเมืองที่มีประสิทธิภาพสามารถเกิดขึ้นได้จากเครือข่ายการเมือง การเมืองไม่จำเป็นต้องเกิดจากพรรคขนาดใหญ่ แต่เกิดจากกลุ่มการเมืองขนาดเล็กจำนวนมากที่ร่วมกันขับเคลื่อนร่วมกับปัจเจกชน การร่วมมือกันนี้เกิดขึ้นได้เพราะโลกาภิวัตน์ เพราะการปฏิวัติระบบข้อมูลข่าวสาร เราจะพบว่ากลุ่มการเมือง กลุ่มเคลื่อนไหวเล็กๆ  ในบริบทที่เหมาะสมสามารถขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองได้อย่างมหัศจรรย์

            Alvin Toffler เขียนถึงเรื่องนี้ไว้เมื่อ 27 ปีก่อน แม้ว่าจะเป็นหนังสือที่ออกมาเนิ่นนานแล้ว แต่ภาพรวมยังใช้ได้อยู่ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาของ Toffler คือ การขาดยุทธศาสตร์ในการนำมาปฏิบัติได้จริง ซึ่งยุทธศาสตร์ที่ขาดไปนั้นคือการเมืองคลื่นลูกที่สาม หรือการเมืองเครือข่าย จะเป็นไปได้เมื่อเรามีความคิดด้านบวก เราต้องเชื่อว่าเราสามารถทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้โดยผ่านตัวเรา ผ่านคนในกลุ่มของเรา ผ่านเครือข่ายของเรา โดยไม่จำเป็นต้องสร้างพรรคการเมืองขนาดใหญ่ การคิดเช่นนี้ทำให้คนเล็กๆ อย่าง ท่านมหาตมา คานธี สามารถกอบกู้อินเดียจากอิสรภาพของอังกฤษได้สำเร็จ บางทีท่านอาจเคลื่อนไหวในแบบการเมืองคลื่นลูกที่สอง แต่จิตวิญญาณที่เด็ดเดี่ยวของท่านสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเมืองคลื่นลูกที่สามได้ เราทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยให้มุ่งไปยังสิ่งที่ดีกว่าได้ เพียงแต่เราทำในสิ่งที่ดีสุด และการจะทำอะไรให้ดีที่สุดนั้น ต้องเกิดจากความรัก และความรักจะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากการคิดด้านบวก เราต้องทำในสิ่งที่เรารัก เราอาจเป็นแพทย์ วิศวกร นักธุรกิจ อาจารย์ หรืออาชีพอื่นใด แต่เราสามารถมีบทบาททางการเมืองได้ ทางอ้อม คือ สร้างคุณค่าในวิชาชีพของเราให้ดีที่สุด นั่นจะเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงส่วนเล็กๆ  จนสามารถเกิดสภาพแวดล้อมที่สามารถแปรเปลี่ยนพัฒนาการเมืองในภายหลังได้

การเคลื่อนไหวทางตรง อาจเริ่มจากเครือข่ายของกลุ่มอาชีพที่เรารัก ออกมาปฏิรูปวงการของเรา เรียกร้องสิ่งที่คนในวงการของเราต้องการ ต่อสู้ในทุกวิถีทางเพื่อให้วงการของเราเจริญก้าวหน้า นั่นเป็นการเมืองโดยตรง และถ้าสิ่งที่เราทำนั้นถูกต้อง ดีงาม สร้างสรรค์ แม้แต่รัฐบาลก็ไม่อาจขัดขวางเจตนำนงเช่นนั้น หากแต่ท่านต้องมีการระดมความเห็นอย่างกว้างขวาง ไร้อัตตา เพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นให้ประโยชน์ต่อประเทศชาติ ในยุคสมัยใหม่รัฐบาลจำต้องฟังประชาชนมากขึ้น การใช้อำนาจมาบีบบังคับประชาชนทำได้น้อยลงกว่าเดิม (แม้จะยังคงปรากฎอยู่) เพียงแต่ประชาชนต้องมีคุณสมบัติ 2 ประการ คือ การสร้างสรรค์ประโยชน์ให้ชาติ และการยืนอยู่บนเส้นทางแห่งการสร้างสรรค์ ใช้พลังด้านบวกทุกวิถีทางเพื่อให้การสร้างสรรค์เป็นไปได้

            ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองย่อมเกิดขึ้นได้จากการทำงานวิชาชีพของเราอย่างสร้างสรรค์ จัดตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวในแวดวงวิชาชีพเพื่อปฏิวัติวงการ แต่หากเรายังไม่พอใจ, ก็สามารถขยับไปสู่การเมืองเครือข่ายได้อย่างง่ายดาย การเมืองแบบเครือข่ายไม่ต้องใช้พลังทรัพยากรมากมาย เพราะแต่ละกลุ่มมีทรัพยากรที่พอเพียงของตนแล้ว ทรัพยากรของเครือข่ายจึงใช้ในการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันเท่านั้น แต่จะต้องระมัดระวังการยึดติดในอัตตาและมุมมองของกลุ่มตนเองมากเกินไป การปฏิวัติข้อมูลข่าวสารช่วยทำความเข้าใจกลุ่มเครือข่ายของเราได้มากขึ้น การศึกษาเครือข่ายของเราเองอย่างลึกซึ้ง จะช่วยให้การปฏิบัติการร่วมกันนั้นเกิดพลังสูงสุด

อย่ามองว่าเป็นเรื่องยุ่งยากหรือเหนื่อยยาก เพราะการเมืองของเครือข่ายนั้น เป็นเรื่องรื่นรมย์ และสิ้นเปลืองพลังงานน้อยลง จึงแตกต่างจากการเมืองแบบพรรค ที่ใช้พลังงานมหาศาลและยังได้ผลน้อย การเมืองเครือข่ายนั้นเนื่องจากแต่ละคนทำในสิ่งที่ตนเองรัก ดังนั้น จึงสามารถทำงานได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และเนื่องจากเป็นสิ่งที่รักและถนัดจึงสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้พลังงานน้อยแต่ได้ผลงานมาก เกิดคุณภาพในทุกๆ ด้าน เมื่อกลุ่มที่ดีเข้มแข็งมาประสานกับกลุ่มที่ดีเข้มแข็ง ย่อมเกิดพลังผนึกที่ยิ่งใหญ่ สิ่งเหล่านี้เป็นไปได้  ย่อมเกิดจากความเข้าใจในกลุ่มเครือข่ายและเพื่อนของเราเองอย่างลึกซึ้ง การมีมุมมองเชิงบวก และใช้ประโยชน์จากข้อมูลและภูมิปัญญาของยุคปฏิวัติข่าวสารให้ดีที่สุด

            "การเมืองชีวิต ธุรกิจ ความรัก สัจจะ" ไม่แยกออกจากกัน เราต้องข้ามพ้นกรอบคิดแบบคลื่นลูกที่สอง เราจะมีความสุขกับชีวิต พร้อมกับปฏิบัติการทางการเมือง คำว่า "การเมือง" ถูกทำให้เป็นความหมายด้านลบมานาน แม้แต่ตัวผมเองก็เคยรังเกียจการเมือง แต่สุดท้ายกลับเขียนหนังสือที่มีชื่อบทแรกว่า "การเมืองชนชั้นล่าง" ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะก่อนหน้านี้พยายามเขียนมาระยะหนึ่ง แต่ดูคุณภาพยังใช้ไม่ได้ พอคิดชื่อตอนว่า "การเมืองชนชั้นล่าง" ได้สำเร็จ หลังจากนั้นงานเขียนลื่นไหลสวยสด จนสำเร็จเป็นรูปเล่ม ชื่อ "จอมคนในจอมคนแผ่นดินเดือด หมื่นวิถีสู่ราชัน" ผมได้รู้แล้วว่า การเมืองที่ผมรักนั้นคือ การเมืองเครือข่าย การเมืองคลื่นลูกที่สาม การเมืองด้านบวก การเมืองแห่งความรัก การเมืองแห่งความสร้างสรรค์ ซึ่งหากเรายังไม่เปลี่ยนวิธีคิด ยังใช้วิธีคิดแบบคลื่นลูกที่สอง ไม่ว่ารูปแบบการเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างไร เป็นกลุ่มการเมืองที่ใหญ่โตเพียงใด หรือสร้างเครือข่าย สร้างขบวนการขับเคลื่อนเพียงใด ก็มิอาจแก้ปัญหาการเมืองได้

            แต่การใช้วิธีคิดแบบคลื่นลูกที่สาม ไม่ว่าจะทำในรูปพรรคการเมืองขนาดเล็กหรือใหญ่เพียงใด มันยังสามารถอยู่ในขบวนการของคลื่นลูกที่สาม และสามารถสร้างสรรค์สังคมได้อย่างไม่สิ้นสุด

            ดังนั้น โดยรูปแบบ, ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ หรือกลุ่มขนาดเล็ก หรือแม้แต่ปัจเจกชน แต่สิ่งที่กลุ่มนั้นต้องมีอันดับแรก คือ วิธีคิดจิตวิญญาณแบบคลื่นลูกที่สาม ที่มีความเปิดกว้าง ให้อิสระภาพกับทุกคนในการเติบโต เรียนรู้ที่จะยอมรับความแตกต่าง และพร้อมทำงานประสานกับผู้อื่น และทั้งหมดนี้ต้องมี "ศิลปะการคิดด้านบวก" เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ความรัก ความหวังดี ยังไม่เพียงพอ เพราะอาจกลายเป็นการยึดติด ยัดเยียดในนามของความรักและหวังดี แต่การคิดด้านบวกอย่างมีศิลปะ จะนำไปสู่ความรัก ความหวังดี และการสร้างสรรค์ที่ไม่ยึดติด แต่เป็นพลังก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่

            การเมืองคลื่นลูกที่สาม การเมืองเครือข่าย การเมืองด้านบวก ไม่ต้องไปมุ่งทำลายการเมืองคลื่นลูกที่สอง การเมืองแบบแข็งเกร็ง การเมืองลดทอนตัวตน เฉกเช่นเดียวกับการเดินหมากในกระดานหมากล้อม ผู้ที่มุ่งเอาชนะจะกลายเป็นผู้แพ้ การชนะที่แท้จริง คือ การสร้างสรรค์ การที่อเมริกาก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจนั้น เกิดจากการพัฒนาประเทศอย่างรอบด้าน มีรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้อิสรภาพแก่บุคคลได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ ขณะที่ในยุโรปช่วงนั้น การเมืองตกอยู่ในภาวะแก่งแย่งแข่งขัน จนนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งนำความพินาศถอยหลังมาสู่ยุโรป อเมริกาที่มีส่วนร่วมในการแข่งขันครั้งนี้น้อยมาก แต่มุ่งสร้างสรรค์ประเทศของตนเองมากกว่า จึงได้กลายเป็นมหาอำนาจและผู้ชนะในท้ายที่สุด ส่วนอเมริกาที่ก่อสงคราม อเมริกาที่บ้าคลั่ง เป็นเหตุการณ์ภายหลังการขึ้นเป็นมหาอำนาจเต็มขั้น ซึ่งสุดท้ายนำไปสู่ความเสื่อม อีกตัวอย่าง คือ รัฐฉินของจิ๋นซีฮ่องเต้ ปฐมกษัตริย์คนแรกของจีน ในยุคสงครามระหว่างรัฐ ฉิน เป็นรัฐที่อยู่ทางตะวันตก คล้ายอเมริกา จึงรอดพ้นจากการช่วงชิงกับ 6 รัฐที่เหลือ การเติบโตของฉินได้สร้างความหวั่นเกรงให้กับ 6 รัฐที่เหลือ แต่เนื่องจากฉินอยู่ห่างไกล และมุ่งเน้นที่การสร้างสรรค์ตนเอง 6 รัฐที่เหลือจึงไม่ระแวงมากนัก ในที่สุด เมื่อฉินเติบโตจนคุกคามการเมืองภูมิภาค มันก็สายไปแล้วที่ 6 รัฐจะรวมตัวกันเพื่อต่อสู้ สุดท้ายหลังจากการขับเคี่ยวกันในท้ายกระดาน รัฐฉินก็ได้รับชัยชนะ สถาปนาเป็นมหาอาณาจักรแรกของจีน ชัยชนะนั้นส่วนหนึ่งมาจากการทำลายล้าง การเข่นฆ่า แต่ส่วนสำคัญมากจากการพัฒนาสร้างสรรค์จากภายใน ในทางตรงกันข้าม การต่อสู้ บ่อนทำลายกันอย่างอ่อนล้า กลับกลายเป็นโอกาสของผู้สร้างสรรค์ ที่จะได้รับชัยชนะในขั้นสุดท้าย

            นี่เป็นความลึกซึ้งของเกมหมากล้อม ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้กับการเมืองคลื่นลูกที่สามได้ เพราะหากเรายังมีจิตใจยึดติดกับการต่อสู้แข่งขัน นั่นแปลว่า เรายังคิดด้านบวกได้ไม่ดีพอ เรายังยึดติดกับมุมมองแบบคลื่นลูกที่สอง สุดท้ายกลับจะกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่เป็นการพ่ายแพ้ของคลื่นลูกที่สอง ไม่ใช่คลื่นลูกที่สาม

            "การเมือง คือทุกสิ่ง และทุกสิ่ง คือ การเมือง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท