Skip to main content
sharethis

ภายใต้กระแสการเมืองการเลือกตั้ง ที่กำลังเกิดขึ้นในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 นี้นั้น พรรคการเมืองใดจะได้เสียงข้างมาก นักการเมืองคนใดจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี หน่วยงานต่างๆของรัฐได้ประชาสัมพันธ์กันว่า "ใครไม่ไปเลือกตั้งเท่ากับไม่รักชาติรักประชาธิปไตย" "ใครขายเสียงทำลายชาติ กันอย่างครึกโครม"


 


แต่อย่างใดก็ตาม สมัชชาคนจน องค์กรภาคประชาชนหาได้นิยามการเมืองเท่ากับการเลือกตั้ง หรือการรัฐประหารเท่ากับการแก้ไขวิกฤตประชาธิปไตย สมัชชาคนจนองค์กรประชาชนที่อิสระจากอำนาจระบบราชการ และอำนาจพรรคการเมืองนายทุน ได้นิยามความหมายของประชาธิปไตยที่มากกว่าเพียงการเลือกตั้ง


 


เมื่อวันที่ 15-16 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมาสมัชชาคนจนได้จัดประชุมสรุปบทเรียนโอกาสครบรอบ 12 ปีสมัชชาคนจน มีตัวแทนเครือข่ายต่างๆ ร่วมสองร้อยคนเข้าร่วมประชุม


 


และเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2550 ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้มีคำประกาศจุดยืนว่า


 


"ตลอด 12 ปี ภายใต้การปกครองของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ สมัชชาคนจนผลักดันให้เกิดการเจรจาแก้ปัญหา การตั้งกรรมการระดับต่างๆ ตลอดจนนำผลการเจรจา และผลการดำเนินงานของกรรมการดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข


 


เนื่องจากความจนที่พวกเราประสพเป็นความจนที่เกิดจากโครงการพัฒนาของรัฐ และนโยบายการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นความจำเริญทางเศรษฐกิจ ตามระบอบทุนนิยม ที่คนในรัฐบาลและชนชั้นนำในสังคม ล้วนแสวงประโยชน์สร้างความมั่งคั่งให้ครอบครัววงศ์ตระกูล บนความทุกข์ยากของพวกเรา


 


ทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำป่า อากาศที่พวกเราพึ่งพิงในการดำรงชีวิต ถูกมองเป็นวัตถุดิบที่พร้อมจะแย่งชิงไปในนามของการพัฒนา แม้กระทั่งลูกหลานของเรา ก็ถูกมองเป็นแรงงานราคาถูก ที่พร้อมจะถูกแย่งชิงไปสร้างความร่ำรวยให้กับนายทุน ด้วยการขูดรีดแรงงานเพื่อสร้างกำไรสูงสุด


 


ที่สำคัญผู้ปกครองปัจจุบัน อ้างอำนาจที่ยึดมาทำการแทนประชาชนอย่างหน้าด้านๆ สร้างรากฐานการกดขี่ทางการเมือง และขูดรีดทางเศรษฐกิจ อย่างไม่ละอายต่อความผิดชอบชั่วดี โดย รวมศูนย์อำนาจทางการเมือง จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และยึดทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นของรัฐ ด้วยการตรากฎหมายหลายฉบับมารองรับอำนาจเถื่อนของตน เช่น กฎหมายความมั่นคง กฎหมายน้ำ กฎหมายป่าชุมชน เป็นต้น


 


กฎหมายดังกล่าวล้วนทำลายความเป็นปรกติสุขในการดำรงชีวิตของพวกเราทั้งสิ้น หากเป็นช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างน้อยพวกเราจะได้มีโอกาสคัดค้าน เรียกร้องการมีส่วนร่วม ไม่ปล่อยให้กฎหมายดังกล่าวขึ้นทางด่วนข้ามหัวผ่านสภาฝักถั่วดังที่พวกเขาทำอยู่ในขณะนี้


 


บทเรียน 12 ปี ของสมัชชาคนจน พวกเราเรียนรู้ว่าผู้ปกครอง ไม่ว่าจะเข้าสู่อำนาจด้วยวิธีการใดก็ตาม ล้วนไม่ใช่ที่พึ่งของคนจน พวกเราจึงไม่งอมืองอตีนรอความเมตตาจากใคร และเห็นว่าการเชิญชวนให้ประชาชนไปมอบอำนาจให้ผู้ปกครองในนามของการเลือกตั้ง เป็นเพียงรูปแบบของการมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบหลอกๆเท่านั้น


 


พวกเราเห็นว่า ปัญหาของสมัชชาคนจนที่ไม่ได้รับการแก้ไข เป็นปัญหาของการพัฒนาประชาธิปไตย ที่ไม่เปิดโอกาสให้คนเล็กคนน้อยในสังคม มีพื้นที่ทางการเมืองที่จะปกป้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ของตน ความเป็นประชาธิปไตยที่พวกเราพร้อมที่จะต่อสู้ฟันฝ่าเพื่อไปให้ถึงนั้น ต้องเป็นประชาธิปไตยที่กินได้ เป็นการเมืองที่เห็นหัวคนจน เปิดโอกาสให้คนจนเป็นผู้กำหนดอนาคตของตนเอง ไม่ใช่เพียงการไปเลือกตั้ง


 


สุดท้ายในวาระ 12 ปี ของสมัชชาคนจน พวกเราขอยืนยันว่า จำนวนตีนที่ก้าวลงบนท้องถนน คืออำนาจของคนจนในระบอบประชาธิปไตย ที่จะสร้างสรรค์จรรโลงความยุติธรรมในสังคม และปลดแอกคนจนสู่ความเป็นไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net