Skip to main content
sharethis

หลังการรัฐประหาร 2549 ทหารไม่ได้เป็นใหญ่แค่ในกรุงเทพมหานคร แต่ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทหารยังคงมีบทบาทหลักในการคลี่คลายสถานการณ์


 


สภาพการณ์จะเป็นเช่นนี้อยู่อีกหรือไม่ ในเมื่อพรรคการเมืองต่างๆ ที่ลงชิงชัยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ล้วนต่างเสนอนโยบายการแก้ปัญหาเพื่อนำความสงบกลับคืนสู่พื้นที่ เป็นนโยบายหลัก


 


อนาคตชายแดนใต้หลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร อ่านได้จากบทสัมภาษณ์ "ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี" รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี


 


000


 



 


หลังเลือกตั้งทหารยังเป็นใหญ่ในแผ่นดินใต้


 


"ผมมองออกเป็นสองทาง หนึ่ง เนื่องจากนโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในภาพรวมขณะนี้อยู่ในมือของฝ่ายทหารเป็นหลัก โดยเฉพาะหลังจากวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่ทหารปฏิวัติยึดอำนาจจากรัฐบาลเก่าเป็นต้นมา และอำนาจของทหารก็ยังไม่ตกมาจนถึงวันนี้


 


อีกทั้ง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากทหาร และทหารมีอำนาจอยู่แล้วขณะนี้ นโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงออกมาในรูปนั้นอยู่แล้ว


 


ส่วนการเปลี่ยนแปลงแนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คิดว่าขึ้นอยู่กับนโยบายและแนวคิดของฝ่ายทหารเป็นหลักว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง


 


การเปลี่ยนแปลงในนโยบายที่จะเกิดขึ้น ถ้าหากทหารเชื่อมั่นว่า วิธีการเน้นการใช้กำลังในการควบคุมพื้นที่หรือมาตรการต่างๆ เช่น การตรวจค้นปิดล้อมหรือการควบคุมในพื้นที่ เขาก็จะทำต่อไป เพราะเขาเชื่อว่าจะหยุดเหตุการณ์ได้ สามารถทำให้สถานการณ์ความรุนแรงลดลงได้ แม้ว่าฝ่ายพลเรือนจะคิดอย่างไรก็ตาม แต่ทหารเขาก็ไม่ได้เชื่อตาม


 


แต่ถามว่าทหารบางฝ่ายที่พยายามปรับตัวก็มีอยู่ แต่ไม่รู้ว่าเขาจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ในแง่ของการนำรูปแบบใหม่ๆ หรือแนวทางการปฏิรูปนโยบายใหม่ๆ มาใช้ในการแก้ปัญหา เช่น เน้นแนวทางการเมืองมากขึ้น เน้นการใช้มาตรการทางกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรม ที่ไม่ใช่มาตรการทางทหารอย่างเดียว


 


แต่การใช้กำลังทหารที่เป็นอยู่ ก็เป็นที่ยอมรับได้ถ้าเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นมา โดยที่ไม่มีใครในพื้นที่กล้าเข้าไปแก้ปัญหาในพื้นที่ ซึ่งตามตอนนี้มีทหารฝ่ายเดียวเท่านั้นที่เป็นคนแก้ปัญหา


 


แต่การใช้กำลังที่ทหารดำเนินการอยู่นั้น จำเป็นต้องสามารถเชื่อมต่อกันได้ ระหว่างงานการทหารกับงานการเมือง รวมทั้งทางกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และการพัฒนาด้วย


 


ถ้าเชื่อมต่อกันไม่ได้ หรือการเชื่อมต่ออย่างไม่มีประสิทธิภาพ จะกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า เกิดลัทธิทหารขึ้นมา คือ การใช้กำลังทางทหารอย่างเดียวในการแก้ปัญหาทุกอย่าง


 


ทั้งนี้เพราะ การดำเนินการของทหาร มีกฎหมายรองรับอยู่ ทั้งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกพ.ศ.2457 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548


 


โดยทหารคิดว่า แค่ใช้กำลังก็เอาอยู่ แล้วมีการใช้อำนาจของตัวเองฝ่ายเดียว เพราะคิดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ซึ่งรูปแบบนี้ไม่เคยแก้ปัญหาที่ไหนได้ในโลก


 


แต่ถ้าทหารสามารถเชื่อมต่อหรือขึ้นกับฝ่ายพลเรือนได้ แล้วก็เชื่อมต่อกับงานของภาคประชาสังคมได้ มันจะเป็นระยะเปลี่ยนผ่านที่สำคัญมากที่ทหารสามารถถอยห่างออกไปได้


 


แต่ว่าการเชื่อมตรงนั้น คงจะมีแต่ว่า ทหารจะขอความร่วมมือจากพลเรือนมากกว่า ให้ทำโน่นทำนี่ หลังเลือกตั้งจะออกมาในรูปนั้นมากกว่า นั่นคือข้อเสียของระบบการแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ขณะนี้ แต่จะมีข้อดีตรงความมีประสิทธิภาพในส่วนของทหารเอง


 


เพราะแนวคิดของเขาคือ การควบคุมและการจัดการที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่นในเรื่องอาวุธสงคราม ซึ่งมันก็ถูกต้องในระดับหนึ่ง


 


แต่อย่างไรก็ตาม ทหารก็ต้องเปิดให้การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายประกอบกันอย่างมีประสิทธิภาพด้วย เพราะการควบคุมของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อาจไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องเสมอไป


 


เพราะเรื่องนี้มีการทดสอบโดยประสบการณ์ของหลายประเทศทั่วโลกมาแล้ว ซึ่งในที่สุดแล้ว ทหารก็ต้องถูกบีบให้เปิดการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายอยู่ดี


 


ยกตัวอย่าง กรณีการแก้ปัญหาแคว้นอาเจะห์ ของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งถึงแม้สถานการณ์ความไม่สงบภายในจะลากให้มีการใช้กำลังทหารในการดำเนินการอยู่ฝ่ายเดียว แต่ในที่สุดเขาก็ต้องเปิด แต่เปิดตอนที่ไม่ดีแล้ว เป็นการเปิดแบบแพ้และเสียรูปไปแล้ว


 


ดังนั้น ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะทำอย่างไรถึงจะให้มีการเปิดการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบจากทุกฝ่าย อย่างที่เรียกว่า Power sharing หรือการแชร์อำนาจกัน ซึ่งต้องทำให้ได้อย่าไปแข็งตัวมากเกินไป


 


ระบบการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายนี้ ถ้าแข็งตัวไปแล้ว มันจะทำลายตัวมันเองในแง่ที่ว่า ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือฝ่ายทหารมีอำนาจมากเกินไป ก็จะไม่เกิดความสมดุลของการจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องงบประมาณ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก


 


เพราะหากงบประมาณลงไปอยู่ที่ฝ่ายทหารอย่างเดียว จะเปิดโอกาสให้ทหารทำผิดหรือทุจริตอย่างที่เคยทำมาแล้ว ถ้าเป็นรูปนั้นมันก็จะพาให้เสียหายกันทั้งระบบ ทั้งที่ทหารอาจคิดดีก็ได้ แน่นอนมันไม่ส่งผลดีต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย


 


ทีนี้เราไม่รู้ว่า ทหารเองมีความเชื่อขนาดไหนว่า ถ้าเปิดให้ฝ่ายอื่นเข้ามามีส่วนร่วมแล้วเขายอมรับได้


 


ตัวอย่างเช่น ในรูปแบบของกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร (พตท.) เดิม ที่ถูกยุบไปในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งที่จริงแล้วเป็นรูปแบบที่ดีมาก แต่มันจะไม่เกิดขึ้นได้แน่นอน ถ้ารูปแบบการแก้ปัญหายังอยู่ในระบบปัจจุบันหรืออาจเกิดขึ้นได้ แต่คิดว่าคงยากมาก


 


ดังนั้นจะทำอย่างไรถึงจะขยับจากรูปแบบจากทหารฝ่ายเดียว มาสู่ความเป็น พตท.ที่แท้จริงให้ได้ ไมใช่เพียงประสานงานเพื่อให้เกิดความร่วมมือเท่านั้น แต่สามารถที่จะมานั่งทำงานร่วมกันได้เลย


 


อีกอย่างหนึ่งที่เป็นปัญหา คือ สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่แล้ว ถ้าหากการแก้ปัญหาในเรื่องการกระจายอำนาจยังไม่จบ ปัญหาอื่นๆ ก็จะยังแก้ไม่ตกไปด้วยและความรุนแรงก็ยังมีต่อไป


 


แม้ว่าทหารทำงานมีประสิทธิภาพเพียงไร เขาก็ทำได้เพียงแค่ควบคุมไว้ไม่ให้ปัญหาบานปลายออกไปเท่านั้น แต่จะให้ลดลงไปกว่านี้ผมว่ายาก และมันจะเป็นอยู่อย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ


 


เพราะตามสถิติการเกิดเหตุการณ์ไม่สงบที่ผ่านมา มีสถิตที่ขึ้นลงๆ แต่มันจะไม่พุ่งสูงขึ้น เพราะกำลังทหารกันไว้ได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเส้นสถิติจะหักลงจนมีสภาพเหมือนเมื่อก่อนปี 2547 ซึ่งคิดว่าคงไม่มีทางเกิดขึ้นแน่


 


ไม่รู้ว่าทหารคิดอย่างนี้หรือเข้าใจอย่างนี้หรือไม่ ถ้าคิดอย่างนี้ได้ก็ดี เพราะจริงๆ แล้ว ทหารเองก็ฉลาด คนที่อยู่ในกองทัพก็เก่ง เพียงแต่จะยอมรับได้ขนาดไหนในการปรับตัวและปรับแนวคิด ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร


 


การที่บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันสร้างขึ้นโดยระบอบทหารนั้น ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่เป็นรัฐธรรมนูญที่ไล่ทหารออกไป แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเกิดจากทหารมาล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ภายใต้กรอบของทหาร


 


พูดง่ายๆ คือ ดุลอำนาจที่แท้จริงที่ขณะนี้อยู่ที่ทหาร ดังนั้น กรอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงไม่ใช่กรอบที่จะดันทหารออกกจากระบบการเมือง ในภาษาทางรัฐศาสตร์ เรียกว่า ระบบอมาตยาธิปไตยนั่นเอง


 


แน่นอนว่าในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทหารก็ยังมีเสียงใหญ่ และไม่มีทางที่ในกรอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือในกรอบของระบบที่มีอยู่ทุกว่านี้ ที่จะให้นักการเมืองพลเรือนสามารถทำได้อย่างพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ทุบโต๊ะแล้วทหารต้องผงะ


 


แต่สถานการณ์ในวันนี้ ถ้าทหารทุบโต๊ะแล้ว พลเรือนต่างหากที่น่าจะต้องผงะแทน"


 


 


พรรคการเมืองต้องกล้าต่อรองกับทหาร


 


"หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 นี้ สำหรับพรรคประชาธิปัตย์แล้ว เฉพาะนโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดูแล้วเป็นระเบียบดีมาก เพราะผ่านการทำวิจัยมาแล้ว เช่น จะให้มีองค์กรดูแลการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีการบังใช้และจัดระบบกฎหมายชารีอะห์ เรียกว่า มีการริเริ่มสร้างสรรค์ทางนโยบายสูง


 


ดูภาพรวมแล้วนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์เป็นระบบที่สุด ถ้าได้ชนะการเลือกตั้งจนได้เป็นรัฐบาลแล้ว รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะดำเนินนโยบายเหล่านี้ได้ขนาดไหน ถ้าหากทหารไม่เห็นด้วย พรรคประชาธิปัตย์จะกล้าต่อรองกับทหารหรือไม่ นี่คือปัญหาที่สำคัญ


 


แล้วถ้าทหารคิดไปอีกอย่างหนึ่ง เพราะทหารก็มีความคิดของตัวเอง เป็นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ทางนโยบายของทหารเอง แล้วเรื่องอะไรที่เขาต้องให้นักการเมืองหรือฝ่ายพลเรือนไปมีส่วนร่วมด้วย


 


จะเห็นได้ว่าทหารเขาจะทำอะไรใหม่ๆ เช่น มีโครงสร้างการจัดการอะไรใหม่ๆ เขาก็ทำของเขาเอง นี่คือปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง คือ ความคิดของแต่ละฝ่ายจะเป็นคนละแนวไปเลย


 


รัฐบาลในสายพรรคประชาธิปัตย์อาจต้องต่อรองกับทหารสูงมาก ในเรื่องนโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่พรรคประชาธิปัตย์คงไม่กล้าหักฝ่ายทหาร ดังนั้น รัฐบาลพลเรือนในกรอบนี้ก็ยังคงทำอะไรไม่ได้มาก ต้องให้ทหารยอมรับเสียก่อน ดังนั้น ในเรื่องนโยบายคงยื้อกันอีกนาน"


 


 


การเมืองยุ่งชายแดนใต้ยิ่งเละ


 


"อีกทางที่เป็นลบ คือ ถ้าพรรคของกลุ่มอำนาจเก่าได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยิ่งเละ เพราะจะมีการอัดกันทางการเมืองในกรุงเทพมหานคร ส่วนจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะถูกปล่อยมือไปเลย


 


ที่เป็นเช่นนี้ เพราะถ้ากลุ่มอำนาจเก่าหรือพรรคไทยรักไทยเดิมได้กลับมาเป็นรัฐบาล คราวนี้ทหารจะยุ่ง โดยเฉพาะทหารที่อยู่ส่วนกลาง จะมีการอัดกันไปมาในทางการเมืองกันที่นั่น เพราะทหารเป็นผู้ยึดอำนาจจากรัฐบาลเก่านั่นเอง ส่วนปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะถูกปล่อยให้กับหน่วยคอมมานโด หรือผู้บัญชาการระดับพื้นที่ หรืออาจเป็นใครคนใดคนหนึ่งดูแล


 


หมายความว่า ยังหาความแน่นอนไม่ได้ ซึ่งจะยิ่งเสี่ยง เพราะว่าไม่รู้สถานการณ์ในพื้นที่ต่อไปจะอย่างอะไร ที่เป็นเช่นนั้น เพราะการเมืองข้างล่างในจังหวัดชายแดนภาคใต้กับการเมืองของประเทศมีความสัมพันธ์กัน


 


เพราะฉะนั้น ตราบใดที่การเมืองยังชุลมุนกันอยู่ในกรุงเทพ ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะการแก้ปัญหาได้ มันต้องใช้สัญญาณ เวทีหรือการเปิดพื้นที่ทางกฎหมายหรือนโยบาย ซึ่งมันก็ต้องมาจากทางส่วนกลาง แต่ถ้าส่วนกลางยังไม่ลงตัว ทางนี้ก็จะแก้ไม่ได้ ปัญหาจะยิ่งแย่ลงไปอีก"


 


 


ให้องค์กรต่างชาติช่วยความหวังที่ไม่เกินจริง


 


"ทางที่สอง คือ หากแก้ปัญหาในระบบที่เป็นอยู่ไม่ได้ ก็ต้องเปิดให้องค์กรสากล หรือองค์กรต่างประเทศเข้ามาช่วย


 


เพราะในที่สุด ถ้าไม่ให้เข้ามาวันนี้ เขาก็จะเข้ามาวันหน้า ซึ่งอาจเข้ามาแบบสวมหมวกฟ้าก็ได้ นั่นหมายถึง เข้ามาแบบกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ คุณจะให้เข้ามาแบบนั้นหรือ


 


ถ้าให้เข้ามาตอนนี้ ก็ให้มาช่วยเรื่องระบบการบริหารจัดการ การพัฒนาด้านต่างๆ หรือการประสานงานในด้านกิจการพลเรือน เป็นต้น ทำให้มีการจัดการที่ดี มีธรรมาภิบาลโดยอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ อาจไม่ใช่สหประชาชาติอย่างเดียวก็ได้ อาจเป็นประเทศเพื่อบ้าน หรือกลุ่มประเทศมุสลิม หรือ องค์การที่ประชุมประเทศมุสลิมหรือโอไอซี ให้เขาเข้ามา


 


ต้องเปิดให้เขาเข้ามา เพราะมันจะแก้ปัญหาปมในใจของขบวนการชาตินิยมภายในประเทศด้วย รวมทั้งขบวนการแบ่งแยกดินแดน เช่น ขบวนการบีอาร์เอ็น เพราะพวกนี้มีทัศนคติที่แคบ แล้วมาต่อสู้กับรัฐไทย ยิ่งถ้ารัฐไทยแคบไปด้วยก็ยิ่งก็มันเข้าไปใหญ่ เพราะเข้าทางเขา แต่ถ้าสามารถนำปัจจัยระหว่างประเทศเข้ามาร่วมด้วย ก็จะช่วยควบคุมกันได้


 


แต่ในความคิดของทหาร กลับมองว่า การที่สหประชาชาติหรือองค์กรเหล่านั้นเข้ามาแล้ว จะเป็นการสูญเสียอธิปไตย นั่นเป็นแนวคิดอำนาจอธิปไตยแบบเก่า ขณะทั่วโลกนี้มันโพสโมเดิร์นไปหมดแล้ว ไม่มีทางที่จะคิดแบบเก่าแล้วจะแก้ปัญหาได้


 


ผมว่าต้องเปิดแนวใหม่ โดยให้องค์กรหรือสถาบันระหว่างประเทศ หรือประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาช่วยกันดูแล จึงจะครอบคลุม เพราะปัญหาใหญ่ตอนนี้คือ ลัทธิชาตินิยม อัตลักษณ์แบบมลายู แต่แบบที่มันทำอยู่ทุกวันนี้มันแคบไป เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาต้องคลายการกดของอำนาจรัฐลง แต่คุณก็ไม่กล้าคาย เพราะกลัวเขามีอำนาจมาก กลัวว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้จะหลุดไป


 


แล้วจะทำอย่างไร ที่จะให้มันคลายแล้วมีหลักประกันและการจัดการที่ดี คุณก็ต้องอาศัยหรือเพิ่มตัวแสดงใหม่ๆ ให้มากขึ้น ตัวแสดงใหม่พวกนี้สามารถช่วยให้ปกที่มันกดอยู่เปิดออกได้และทำได้ถูกต้อง เช่นโดยการบริหารจัดการ การพัฒนา การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม แล้วมันจะตรวจสอบและควบคุมกันเองได้


 


ถ้าหากองค์กรระหว่างประเทศเข้ามา ไม่ว่า สหประชาชาติ กาชาดสากล หรือแม้แต่โอไอซี ถ้าพวกนี้ทำแบบบ้าๆ บอๆ เช่น ฆ่าคนอย่างโหดร้ายทารุน เป็นอาชญากรเสียเอง มันก็ผิดกฎหมายระหว่างประเทศด้วยอยู่แล้ว เขาคงไม่ทำแน่นอน


 


ดังนั้นคุณก็ต้องปรับตัว แต่เรื่องนี้ยังไม่มีการพูดคุยกันอย่างมีเหตุผลมากขึ้น การทำเช่นนี้ รัฐก็ไม่เสียอะไร รัฐก็ยังอยู่ ทหารก็ยังทำงานได้ แต่ทำงานโดยร่วมกับฝ่ายอื่นๆ ดังนั้น รัฐแบบรัฐชาติ สามารถทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศได้ ภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้


 


องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาแล้ว ก็ไม่ทำผิดกฎหมายของประเทศนั้นอยู่แล้ว แล้วยิ่งองค์กรระหว่างประเทศในปัจจุบันมีประสบการณ์มาก อย่างเช่นสหประชาชาติก็มีประสบการณ์มากกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งเช่นนี้ เพราะเขาเข้าไปทำงานในประเทศต่างๆ มามากแล้ว เขาจึงรู้ว่า ถ้าเขาทำแล้วอันไหนบ้างที่เขาถูกหลอก เพราะเขารู้ว่าถูกหลอกมาจากขบวนการหัวรุนแรงแบบนี้มาหลายประเทศแล้ว


 


ถ้าสหประชาชาติเข้ามาแล้ว เขาต้องทำอะไรบ้าง หนึ่ง เขาต้องร่วมมือประสานงานกันเพื่อจะแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม ไม่ใช่เข้ามาเพื่อนั่งโต๊ะเจรจา เพราะถ้ามานั่งโต๊ะเจรจาเลยทันที เขาก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือ ซึ่งเขาเองก็รู้


 


ดังนั้น องค์กรระหว่างประเทศพวกนี้ มีองค์ความรู้ และจะเป็นการดีด้วยในแง่ที่เราจะได้มีมิติใหม่ๆของการแก้ปัญหา ได้องค์ความรู้จากเขาในเรื่องการแก้ปัญหา


 


ที่ผ่านมาทราบว่า ทางทหารเองก็มีการติดต่อพูดคุยกับระหว่างประเทศต่างๆ รวมทั้งสหประชาชาติด้วย แต่ไม่รู้ว่าเป็นการคุยแบบพร้อมเปิดรับหรือแบบปิด เพราะทหารเก่งในเรื่องการจัดการแบบนี้อยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่รู้ว่าเขาคิดอย่างไรเท่านั้นเอง


 


ถ้าทหารเปิดรับจริงๆ ก็เชื่อว่าน่าจะทำให้การแก้ปัญหาดีขึ้น เพียงแต่ต้องประสานกันทั้งภายในและภายนอกองค์กรและประเทศ แล้วสร้างโมเดลหรือรูปแบบใหม่ในการแก้ปัญหา ซึ่งอาจเป็นแบบแคว้นอาเจะห์ของอินโดนีเซียก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม นอกจากจะประสานทั้งจากภายในและภายนอกแล้ว ก็ยังต้องปล่อยให้มีการจัดการภายในตัวมันเองด้วย


 


ถ้าเป็นรูปแบบการปกครองแบบพิเศษ หรือในรูปแบบการจัดการที่มีการมีส่วนร่วมสูง หรือการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงแล้ว สำหรับประเทศไทยมันก็คือ การกระจายอำนาจออกจากส่วนกลางนั่นเอง แต่ความเป็นรัฐเดี่ยวก็ยังไม่เสียหาย


 


นั่นเป็นสถานการณ์ในสองทางที่น่าจะเป็นไปได้หลังการเลือกตั้งที่จะถึงอีกไม่กี่วัน แต่ทางที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดขณะนี้ ก็คงไม่พ้นทางแรกคือทหารยังคงเป็นใหญ่ ในการแก้ปัญหาชายแดนใต้อยู่ดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net