Skip to main content
sharethis


 



 



 



 


 


กรุงเทพฯ, 14 ธันวาคม 2550- กรีนพีซแขวนป้ายรณรงค์ขนาดใหญ่ระบุข้อความ "เมื่อธรรมชาติล่มสลาย มีเงินก็อยู่ไม่ได้: Vote for the environment" บนสะพานพุทธฯ และให้ความเห็นว่าพรรคการเมืองหลักยังคงขาด "เจตจำนงทางการเมือง" ในการผลักดันนโยบายและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม


 


จากการสำรวจนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พบว่าแนวนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคการเมืองดังกล่าวยังขาดแผนปฏิบัติการรองรับที่ชัดเจน เมื่อพิจารณาว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤตการณ์ปนเปื้อนในแหล่งน้ำจากภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร รวมถึงภัยคุกคามจากจีเอ็มโอในระบบเกษตรกรรมของประเทศ


 


"ผู้ที่จะเข้ามาบริหารประเทศในอนาคตต้องมีแผนปฏิบัติการที่มุ่งมั่นและเป็นจริงเพื่อตอบรับกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทยที่นับวันยิ่งเลวร้ายลง และน่าผิดหวังมากที่ยังเห็นประชาชนและสิ่งแวดล้อมของไทยได้รับแต่เพียงคำมั่นสัญญาลมๆแล้งๆของนักการเมืองที่มัวแต่กอบโกยผลประโยชน์ส่วนตน" นายธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว


 


ในประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงาน การสำรวจพบว่านโยบายของพรรคการเมืองยังขาดเป้าหมายและแนวทางในการลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ แม้บางพรรคจะมีข้อเสนอเรื่องพลังงานหมุนเวียนและมาตรการประสิทธิภาพทางพลังงานก็ตาม แต่ไม่มีพรรคการเมืองใดเลยที่แสดงเจตจำนงทางการเมืองอย่างแท้จริงในการดำเนินการแผนงานที่ก้าวหน้าเพื่อให้ประเทศไทยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลลง ส่วนด้านพลังงานนิวเคลียร์ พรรคการเมืองส่วนใหญ่มีท่าทีที่ไม่ชัดเจน


 


สำหรับปัญหามลพิษ ทุกพรรคการเมืองเสนอให้มีเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ การปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อมและเห็นด้วยกับแนวทางด้านการผลิตที่สะอาด ตลอดจนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ไม่มีพรรคการเมืองใดแสดงให้เห็นถึงแผนกาสรที่รองรับเพื่อทำให้นโยบายเป็นจริง และยังขาดการให้ความสำคัญที่จะนำมาปฏิบัติ พรรคการเมืองหลายพรรคยังมีนโยบายที่ขัดแย้งกันเอง โดยเฉพาะการเสนอให้มีการฟื้นฟูปัญหามลพิษ ในขณะเดียวกันก็ผลักดันนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่


 


ถึงแม้จะมีบทเรียนการปนเปื้อนของจีเอ็มโอในพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรไทยแต่พรรคการเมืองส่วนใหญ่ก็ยังไม่ยื่นคำขาดที่จะปฏิเสธเทคโนโลยีเสี่ยงนี้ ประเด็นนี้ถือเป็นหายนะของสิ่งแวดล้อมและเกษตรกรรมของประเทศไทยเนื่องจากยังไม่มีข้อพิสูจน์ใดที่สามารถระบุได้ว่าพืชจีเอ็มโอปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม


 


"เราอยากให้คนไทยร่วมกันเรียกร้องพรรคการเมืองให้เห็นความสำคัญต่อนโยบายและแผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านโยบายอื่นๆ รัฐบาลต่อไปจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อประชาชน อนาคตสิ่งแวดล้อมไทยจะมืดมนหากไร้ซึ่งเจตจำนงทางการเมืองจากผู้ที่จะก้าวสู่อำนาจในการบริหารประเทศในสมัยต่อไป" นายธารากล่าวเสริม


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net