Skip to main content
sharethis


 


 


 


เมื่อวันที่ (10 ธ.ค.) องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดงานรณรงค์เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล "Write for Rights 2550" เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศร่วมกิจกรรมเขียนจดหมาย เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และส่งแรงใจให้แก่นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน รวมทั้งผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งถูกคัดเลือกมาจากทั่วโลก ณ ถนนข้าวสาร หน้าสถานีตำรวจชนะสงคราม


 


กิจกรรมรณรงค์ร่วมเขียนจดหมายเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 11.00 น. และในช่วงเย็นมีการสร้างบรรยากาศแห่งสันติภาพด้วยบทเพลงเพื่อสันติภาพโดย โฮปแฟมมิลี่ และกลุ่ม เยาวชน ก่อนจะสิ้นสุดกิจกรรมของวันด้วยการร่วมจุดเทียนไว้อาลัยให้แก่ผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง


 


นางสาววิลาสิณี เกษน้อย เจ้าหน้าที่องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า กิจกรรมนี้ถือเอาวันสิทธิมนุษยชนสากลเป็นวันเริ่มต้น โดยจดหมายและข้อความในไปรษณียบัตรกว่า 800 ฉบับที่ถูกเขียนขึ้น แม้จะไม่ครบพันฉบับตามที่ตั้งไว้ แต่ก็จะรวบรวมต่อไปและจัดส่งไปยังผู้ถูกละเมิดสิทธิ รวมทั้งผู้นำหรือผู้มีอำนาจของประเทศที่มีการละเมิดสิทธิใน 6 กรณี ซึ่งเป็นกรณีเร่งด่วนจากกรณีการถูกละเมิดสิทธิทั่วโลกที่ได้รับคัดเลือกโดยองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อาทิ กรณีนักโทษทางความคิดในประเทศจีน นายปู้ตงเว่ย ซึ่งถูกลงโทษโดยการส่งไป "ศึกษาการใช้ชีวิตผ่านการใช้แรงงาน" ในความผิดที่นับถือลัทธิฝ่าหลุนกง


 


กรณีที่ 2 การจำคุกผู้นำแรงงานขององค์การสหภาพแรงงานและชาวนา (UWFO) 4 คน และการจับกุมนายตรา ค๊อก เฮียน โฆษกของ UWFO โดยรัฐบาลเวียดนาม ซึ่งไม่มีการอนุญาตให้จัดตั้งสหภาพแรงงาน กรณีที่ 3 การข่มขู่หมายเอาชีวิตนักข่าวหญิง ดิน่า เมซ่า และสมาชิกสมาคม More Just Society (ASJ) ในประเทศฮอนดูรัส จากการเปิดโปงข้อมูลการละเมิดสิทธิแรงงานของบริษัทรักษาความปลอดภัยเอกชน และการข่มขู่นี้อาจเกี่ยวพันถึงการถูกยิงเสียชีวิตของนายดิโอนิซิโอ ดิเอส ทนายความในคดีของสมาคม ASJ เมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2549 ซึ่งขณะนี้ยังหาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้


 


ต่อมาเป็นกรณีทหารลักพาตัวนายอาร์ตูร์ อัคมัตฮานอฟ นักศึกษาและอาสาสมัครด้านสิทธิมนุษยชน โดยใช้รถหุ้มเกราะของทหาร ในเมืองกรอซนีย์ เมืองหลวงของสาธารณรัฐเชชเนียในการปกครองของรัสเซีย เมื่อเดือน เม.ย. 2546 ซึ่งเป็นหนึ่งในกรณีการหายสาบสูญของพลเรือน กว่า 5,000 คน นับตั้งแต่ปี 2542ถึงปัจจุบัน ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการของหน่วยรักษาความมั่นคงที่ยังระบุไม่ได้


 


กรณีที่ 5 การทรมานบังคับให้สารภาพ อันนำไปสู่การตัดสินประหารชีวิต นางซามาร์ ซาอัด อับดุลเลาะห์ ในอิรัก ซึ่งจดหมายที่ส่งถึงประธานศาลอาญา และนายกรัฐมนตรี นูริ กามิล อัลมัลลิกิ ขอให้มีการเรียกร้องลดหย่อนโทษแก่ นางซามาร์ ซาอัด อับดุลเลาะห์ และให้สอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดจากในการทรมานผู้ต้องหา อีกทั้งให้ลดหย่อนและงดการประหารที่ชีวิต อันจะนำไปสู่การการยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด


 


กรณีสุดท้ายที่กล่าวถึงเกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นกรณีของนายสุกรี อาดำ ผู้ช่วยทนายความและครูสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งถูกจับกุมในข้อหาไม่มีใบขับขี่ แต่ถูกบังคับให้สารภาพในคดีฆาตกรรม เมื่อเดือน เม.ย. 2550 อีกทั้งเป็นเหยื่อที่ถูกซ้อมทรมานในค่ายทหารปัตตานี ขณะนี้นายสุกรี อาดำ ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางปัตตานี


 


นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่าการจัดกิจกรรมเนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล มีขึ้นเพื่อกระตุ้นเตือนจิตสำนึกของประชาชน และทำให้รัฐบาล และราชการจะต้องกระตุ้นตัวเองในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ส่วนกิจกรรมของแอมเนสตี้ที่จัดขึ้นนี้เป็นความตั้งใจที่จะช่วยเหลื่อผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการละเมิดสิทธิ์ รณรงค์สร้างจิตสำนึก และให้การศึกษาเพื่อสร้างทัศนคติต่อเรื่องสิทธิในความเป็นมนุษย์ ด้วยวิธีการเดียวกันนี้กับเพื่อนสมาชิกอีกกว่า 70 ประเทศทั่วโลก


 


"วัฒนธรรมการเขียนเป็นสิ่งที่องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ใช้และได้รับความสำเร็จมาตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งแม้จะไม่ใช่วัฒนธรรมที่คนไทยคุ้นเคย แต่ก็แสดงให้เห็นถึงการพยายามด้วยแรงกาย แรงใจ ในการช่วยเหลือคนให้มีชีวิตรอด แม้ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน นับว่าเป็นน้ำใจอันประเสริฐที่มนุษย์มีให้แก่กัน" นายบุญแทนกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net