เปิดประวัติและผลงาน บุคคลและองค์กรดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนปี 2550

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กำหนดจัดงานวันสิทธิมนุษยชนสากล  ประจำปี 2550  ระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคม 2550 ณ โรงแรมเอเชีย  กรุงเทพมหานคร  โดยมีการมอบรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น ในวันเสาร์ที่ 8  ธันวาคม  2550 ทั้งนี้ ผู้ได้รับการคัดเลือกจะต้องเป็นบุคคล/องค์กรที่มีผลงานดีเด่นในการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน  มีบทบาทต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง  มีความพากเพียรในการทำงานเพื่อปกป้อง  คุ้มครองสิทธิมนุษยชน  และเป็นบุคคล/องค์กรสัญลักษณ์ต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน  ซึ่งมีคุณค่าต่อการเสริมสร้างความเข้าใจสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย

 

โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ประกาศผลการคัดเลือกบุคคลและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น  ประจำปี  2550

 

ประเภทบุคคลชาย  คือ  นายสมชาย หอมลออ  นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่มีผลงานด้านการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

 

ประเภทบุคคลหญิง  คือ  นางสมบุญ  สีคำดอกแค  ผู้ทีมีผลงานด้านการรณรงค์ให้สังคมเกิดความตื่นตัวต่อปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยเนื่องจากการทำงาน 

 

ประเภทองค์กรภาคเอกชน  คือ  สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย  เป็นองค์กรที่รักษาสิทธิและโอกาสแทนคนพิการทั่วประเทศ  เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงกฎหมายและผลบังคับใช้ได้จริง

 





ผู้มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่นชาย

 

 

                                   นายสมชาย  หอมลออ

 


             นายสมชาย  หอมลออ  อายุ  58  ปี  เกิดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เป็นนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบันพยายามผลักดันทุกวิถีทางให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ด้วยมองเห็นว่าปัญหาการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้น เกิดจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจของประชาชน  ข้าราชการ ตำรวจ ทนายความ แม้กระทั่งศาล  มีผลให้เกิดปัญหาการเลือกปฏิบัติ ความไม่เสมอภาคทางสังคม 

 

             เป็นนักกิจกรรมในสมัย  14 ตุลาคม 2516 เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง "สภาหน้าโดม" ที่กลายเป็นแกนนำสำคัญของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องรัฐธรรมนูญและขับไล่จอมพลถนอม-ประภาส-ณรงค์  จนเกิดเหตุการณ์  14  ตุลาคม 2516 เป็นแกนนำในขบวนประท้วงขับไล่จอมพลถนอมที่บวชเณรเข้ามาในคืนวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ต่อเนื่องถึงรุ่งเช้า 6  ตุลาคม 2519  กระทั่ง รัฐบาลสั่งทหาร ตำรวจ ล้อมปราบด้วยระเบิด ปืนกลกราดยิ่งใส่นิสิตนักศึกษาที่ชุมนุมอยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างป่าเถื่อนโหดร้าย เขาถูกรุมทำร้ายเกือบเอาชีวิตไม่รอดบริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ 

 


สมชายยึดวิชาชีพทนายความสิทธิมนุษยชนตั้งแต่จบการศึกษา ปัจจุบันประกอบอาชีพ เป็นทนายความอาวุโส บริษัทที่ปรึกษากฎหมายอินเตอร์เนท จำกัด ในอดีตที่ผ่านมา ได้จัดตั้งองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือคดีสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆแก่ประชาชนทั่วประเทศ อดีตเคยเป็นกรรมการบริหารสภาทนายความ และประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เป็นผู้มีบทบาทเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนเป็นที่รู้จัก เคารพนับถือในกลุ่มชาวบ้าน ชาวนา ชาวไร่ กรรมกร คนจนเมือง สหภาพแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน คนชายขอบ ผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ

 

            ในระดับสากลโดยเฉพาะแถบภูมิภาคเอเชีย มีส่วนร่วมเรียกร้องสนับสนุนในกรณีที่ติมอร์ตะวันออกให้ได้รับเอกราช ตีแผ่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า ต้านการใช้ความรุนแรงในอาเจะห์ อินโดนีเซีย เรียกร้องปล่อยตัวนักโทษการเมืองฝ่ายค้านในมาเลเซีย ฯลฯ

           

การศึกษา

            เมื่อเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นนักกิจกรรม และยังคงต่อเนื่องจนจบนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากนั้นได้ประกอบอาชีพทนายความตามที่ได้เรียนมา ในปี พ.ศ.2531    เดินทางดูงานด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย เป็นเวลา 6 เดือนในฮ่องกง ฟิลิปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ศรีลังกาและอินเดีย และในปี พ.ศ.2532  ฝึกอบรมและฝึกงานด้านสิทธิมนุษยชน 1 ปี ที่ Cambodian Documentation  Commission,  Columbia University,  นครนิวยอร์ค  และที่  Human Rights Watch กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา

 

            นอกจากนี้ตลอดเวลาได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ เช่น ฝึกอบรมฝึกอบรมด้านสิทธิมนุษยชน ขององค์การแอมเนสตีอินเตอร์เนชั่นแนล เป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์นักศึกษาระดับปริญญาโท หลักสูตรนานาชาติด้านสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยมหิดล และหลักสูตรปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

            แนวคิดในการทำงาน

สมชายทำงานทนายความมาตั้งแต่จบการศึกษา กว่าสามสิบกว่าปีที่ทำงาน ประสบการณ์ทั้งในและนอกประเทศที่ผ่านมา ประกอบกับการที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้รู้ ผู้ร่วมงาน ประชาชน ลูกความ  สมชายเกิดแนวคิดในการทำงานว่า ทนายความควรเป็นผู้ให้คำปรึกษาให้คำแนะนำกับประชาชนด้วย  เพราะทนายความคือ นักกฎหมายภาคประชาชน ควรทำหน้าที่ทั้งในด้านการเผยแพร่ความรู้ กฎหมายสิทธิมนุษยชน หลักการทางด้านสิทธิมนุษยชน ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย การต่อสู้ในเชิงคดี รวมทั้งการตรวจสอบการออกกฎหมายของรัฐบาล  ฯลฯ ให้ประชาชนได้ใช้สิทธิของตนเองตามรัฐธรรมนูญบัญญัติ  โดยเฉพาะเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  ความเสมอภาค และการไม่เลือกปฏิบัติ ที่เป็นปัญหา เนื่องจากความเข้าใจของประชาชนและของหน่วยงานราชการยังคลาดเคลื่อนจากที่กฎหมายบัญญัติ

            ผลงาน

สืบเนื่องจากได้ทำงานด้านทนายความ  พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ของตนเอง จึงร่วมกับเพื่อนคิดหาวิธีการที่จะเผยแพร่ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนได้ริเริ่มก่อตั้งองค์กรภาคประชาชน เพื่อพิทักษ์สิทธิมนุษยชนและส่งเสริมประชาธิปไตยขึ้น องค์กรที่ สมชายได้ร่วมดำเนินการ  ดังนี้

 

           กิจกรรมเพื่อสังคมในปัจจุบัน


  1. ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม  ทำกิจกรรมส่งเสริมความเข้าใจอันดีและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มชนที่มีความต่างทางด้านวัฒนธรรม  เน้นการทำงานใน 3  จังหวัดชายแดนภาคใต้  มีการจัดทำคู่มือทนายความที่ปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชน  รวมทั้งแรงงานข้ามชาติ ผู้ไร้สัญชาติ ผู้พลัดถิ่น
  2. กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)  ทำกิจกรรมส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ  เน้นเรื่องแรงงานข้ามชาติ  รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะเรื่องกฎหมายกับหน่วยงานของรัฐ

  3. กรรมการและเหรัญญิก มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม

  4. กรรมการบริหาร Asian Institute for Human Rights  (AIHR) 

  5. กรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย   คณะที่ 1  สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร  สำนักนายกรัฐมนตรี

  6. รองประธานอนุกรรมการพิจารณานโยบายด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และอนุกรรมการเฉพาะกิจอื่นๆอีกหลายคณะ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

  7. ที่ปรึกษากฎหมาย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (AIT)

  8. กรรมการที่ปรึกษากฎหมาย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

  9. กรรมการ Focus for the Global South  ซึ่งเป็นองค์การระดับนานานชาติที่ส่งเสริมและปกป้องการค้าระหว่างประเทศที่เป็นธรรม มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  10. ประธานคณะทำงานคดีต่างๆของสภาทนายความ เช่นคดีสารพิษตะกั่ว หมู่บ้านคลิตี้ล่าง จังหวัดกาญจนบุรี

  11. กรรมการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

  12. ที่ปรึกษาสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

  13. ที่ปรึกษาสมาคมเมืองทองนิเวศน์ 1 หลักสี่  กรุงเทพมหานคร

  14. ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากองค์การสิทธิมนุษยชนต่างๆ  เน้นประเด็นการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน  เพื่อสนับสนุนการทำงานขององค์กรที่ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนให้มีความเข้มแข็ง

  15. กรรมการบริหาร คณะทำงานไทยเพื่อจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน (Thai Working Group for ASEAN Human Rights Mechanism)

  16. ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists-ICJ)  กรุงเทพมหานคร

          

กิจกรรมเพื่อสังคมในอดีต


  1. กรรมการบริหาร สภาทนายความ

  2. ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ

  3. รองประธานกรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ

  4. ประธานคณะทำงานคดีสารกัมมันตรังสี โคบอลท์ 60

  5. ประธานคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ความช่วยเหลือแก่ญาติผู้เสียชีวิตเนื่องจากการสลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส สภาทนายความ

  6. เลขาธิการ ฟอรั่ม-เอเซีย (Forum-Asia)

  7. เลขาธิการ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

  8. ประธาน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

  9. กรรมการระดับชาติควบคุมคุณภาพแลมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

  10. คณะทำงานตรวจสอบสารแคดเมียมปนเปื้อนลำน้ำแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก

  11. ประธานคณะทำงานให้ความช่วยเหลือทางคดีแก่จำเลย ในคดี บริษัทมหาชน  ชินคอร์ปอเรชั่น โจทก์ นางสาว สุภิญญา กลางณรงค์ จำเลย (แพ่ง และอาญา ศาลอาญา คดีดำ 3091/2546) และคดีที่ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ เป็นโจทก์ ฟ้อง นางทิชา ณ นคร และนางยุวดี ธัญญสิริ เป็นจำเลย  ในคดีหมิ่นประมาท

     

ประกอบกับสมชาย ทำงานด้านทนายความได้มองเห็นปัญหาของสังคม รวมทั้งได้สัมผัสกับกลุ่มประชาชนฐานรากมาเป็นเวลานาน มีความตั้งใจปรารถนาให้สังคมเกิดความสมานฉันท์ จึงได้หยิบยกประเด็นทางสังคมที่สร้างปัญหาให้ผู้ด้อยโอกาส มาเปิดเผยจนเป็นที่รับรู้แก่สังคม อันจะส่งผลให้รัฐบาลได้ตระหนักรู้เพื่อให้เกิดการแก้ไขต่อไป  ดังนี้

 

ประเด็นในประเทศ  ได้แก่

-          ให้ความช่วยเหลือสหภาพคนงานอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ พระประแดงในอดีต

-          ความไม่เป็นธรรมต่อคนมุสลิม กรณีกรือเซะ ตากใบ สมชาย นีละไพจิตร กรณีมุสลิมที่ถูกจับโดยพลการ และคนหายอื่นๆ

-          เป็นกำลังหลักในการต่อต้านการฆ่าตัดตอน วิสามัญฆาตรกรรม การทรมานผู้ต้องหา  การลักพาตัว การข่มขู่ และโทษประหารชีวิต

-          ผลักดันให้มีการแก้กฎหมาย นโยบายเพื่อให้รัฐช่วยเหลือประเด็นคนไร้สัญชาติ

-          เป็นผู้ผลักดันคนสำคัญให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมีการระบุเนื้อหาด้านสิทธิมนุษยชนโดยละเอียด

-          ผลักดันให้เกิดองค์กรอิสระ รวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในไทย

-          ความเป็นอิสระของสื่อ และเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุม

-          ช่วยเหลือการจัดทำคู่มือต่างๆ ในการอบรมกฎหมายในประเทศ

-          ที่ปรึกษาการโครงการศึกษาสิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บรรยายพิเศษรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถานศึกษาอื่นๆ

-          คัดค้านกฎหมายความมั่นคงภายในที่มีแนวโน้มละเมิดสิทธิทางการเมืองของประชาชนทั้งประเทศ

-          ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีการเคารพสิทธิมนุษยชนเช่น ปฏิญญาสากล อนุสัญญาต่างๆ หรือให้ความรู้ต่อสาธารณชน ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม

-          เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

                 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ

-          ผลักดันให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันหรือปฏิบัติตามอนุสัญญาต่างๆ จำนวน  6  ฉบับ  กล่าวคือ 

(1)    หลักกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไปเกี่ยวกับสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

(2)    หลักกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไปเกี่ยวกับสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนและอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ

(3)    หลักกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไปเกี่ยวกับสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

(4)    หลักกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไปเกี่ยวกับสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนและอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ

(5)    หลักกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไปเกี่ยวกับสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

(6)    อนุสัญญาต่อต้านการทรมานขององค์การสหประชาชาติ

-          ผลักดันให้ประเทศให้สัตยาบันกติกากรุงโรมว่าด้วยการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ

-          สนับสนุนการทำงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศของสหประชาชาติ องค์การแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ก่อตั้งโครงการรณรงค์ให้ประเทศในเอเชียลงนามในศาลอาญาระหว่างประเทศ

-          ริเริ่มให้มีการรณรงค์คัดค้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนในติมอร์ตะวันออก อาเจะห์  อินโดนีเซีย พม่า ม้งลาว และให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเขมร คดีซกเฮือน ค้านกฎหมายความมั่นคงที่เป็นผลให้เกิดการละเมิดสิทธิคนมาเลเซียและสิงคโปร์  รวมทั้งการคัดค้านการใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนในประเทศต่างๆ ของเอเชีย

 

(1)    ให้ความช่วยเหลือกรณีแรงงานพม่า  รวมถึงการต่อสู้คดีนางหนุ่ม  คนงานก่อสร้างที่ที่ถูกไม้แบบหล่อปูนตกลงมาทับจนเป็นอัมพาตตลอดชีวิต ชาวประมงพม่าที่เสียชีวิตในน่านน้ำ  และคัดค้านนโยบายของผู้ว่าราชการที่ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติที่จังหวัดสมุทรสาคร

(2)    หยิบยกประเด็นผู้ลี้ภัยเกาหลีเหนือให้ได้รับการพิจารณาเพื่อช่วยเหลือต่อไป

(3)    สนับสนุนให้เกิดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมในภูมิภาคเอเชีย  ลงพื้นที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศต่างๆ  พร้อมกับให้คำแนะนำในเรื่องประชาธิปไตย

 

ผลงานที่ภาคภูมิใจ

ผลงานของท่านที่ผ่านมามีมากมายเป็นที่ประจักษ์ทั้งในและต่างประเทศ  แต่ที่ภาคภูมิใจที่สุด  คือ การสร้างนักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนรุ่นใหม่ๆ ซึ่งเป็นงานที่ท้าทาย การอบรมทนายความและผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำอย่างไรจะให้ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการใช้กฎหมาย เช่น ตำรวจ นักปกครอง อัยการ บุคคลมีความรู้ความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน สมชายต้องการผลักดันให้งานสิทธิมนุษยชนมีความเข้มแข็ง  ต้องการให้ประชาชนมีความรู้ด้านกฎหมาย เสริมหลักนิติธรรมกับผู้ปฏิบัติงานอันเป็นผลต่อการสร้างฐานความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนที่เข้มแข็งให้กับสังคมไทย โดยเฉพาะผู้ที่มีบทบาทในการใช้กฎหมายให้เข้าใจและใช้หลักนิติธรรมในการทำงานมากขึ้น เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติ หรือการใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐาน

 

 

 

 





ผู้มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่นหญิง

 

 

นางสมบุญ  สีคำดอกแค

 

นางสมบุญ สีคำดอกแค อายุ 48 ปี เป็นชาวจังหวัดนนทบุรี เติบโตมาในครอบครัวที่ยากจน พ่อเป็นข้าราชการ แม่เป็นชาวนา มีพี่น้อง 6 คน เธอเป็นลูกคนที่ 2 ชีวิตในวัยเด็กอาศัยอยู่ในชนบท  ท่ามกลางท้องไร่ท้องนา มีชีวิตอย่างพอเพียง แม่สอนให้รู้จักหาผัก หาปลามาทำอาหาร เก็บข้าวตก ( ข้าวที่เหลือในท้องนาหลังจากเจ้าของนาเกี่ยวข้าวไปแล้ว ) มาเลี้ยงไก่ ผลไม้ที่รับประทานหาได้ในท้องถิ่นรอบๆบ้าน เช่น ลูกหว้า มะขวิด ฝรั่งขี้นก มะม่วง ตามฤดูกาล หน้าแล้งแม่จะพาไปหาฟืนเผาถ่าน  เธอตื่นตั้งแต่ตีสี่ เก็บลูกตาลสุกที่ร่วงมาจากต้นนำไปขายที่ตลาดเป็นค่าขนมพี่ๆน้องๆ หรือเป็นค่าหนังสือเรียน เธอเป็นเด็กแข็งแกร่งตั้งแต่เล็ก พ่อได้มอบให้เป็นหลักในการดูแลครอบครัว ถูกปลูกฝังให้เป็นคนเสียสละ ช่วยทำงานหาเงิน ดูแลบ้านและน้องๆ

 

            ครอบครัวพยายามส่งให้ลูกทุกคนได้เรียนต่อจนจบชั้นมัธยมศึกษา เธอเป็นเด็กเรียนดีมาตลอด      เป็นหัวหน้าห้อง เป็นนักกีฬาของโรงเรียน แต่ด้วยความยากจนของครอบครัว จึงทำให้ไม่ได้เรียนต่อหลังจากจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทั้งที่ได้ทุนการศึกษา แต่ทางบ้านไม่มีเงินพอที่จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ทำให้เธอผิดหวังกับชะตาชีวิตของตน หลังจากทำใจกับความผิดหวังเรื่องเรียนต่อแล้ว ก็มุ่งหน้าหางานทำเพื่อแบ่งเบาภาระการเงินทางบ้าน โดยไปสมัครงานที่โรงงานทอผ้าแถวบางซ่อน ในกรุงเทพฯ  ตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 เป็นโรงงานใหญ่มีคนงานนับพันคน เธออยู่ในแผนกปั่นด้าย คุมเครื่องรีด โดยตั้งความหวังว่า ถ้ามีเงินจากการทำงานจะเก็บไว้เรียนต่อจนจบปริญญาตรี

 

วันแรกที่เข้าทำงาน เธอเป็นลม อึดอัด ตาลาย เพราะสภาพในโรงงานที่ไม่คุ้นเคย เครื่องจักร       ส่งเสียงดังอยู่ในห้องทึบ ไม่มีหน้าต่าง แสงไฟสว่างเป็นช่วงๆ พนักงานคนอื่นเดินไปมาเหมือนหุ่นยนต์      แม่ถามว่าจะทำไหวไหม บอกแม่ว่าทำไหว เพราะรู้ว่าแม่ต้องยืมเงินคนอื่นมาเป็นค่าชุดพนักงานให้  สงสารแม่ที่หวังให้เธอเป็นลูกคนแรกที่มีรายได้เลี้ยงครอบครัว เมื่อเริ่มทำงานในแผนกปั่นด้ายไม่เคยหยุดงานเลย เป็นคนขยันและอดทน

 

3  ปีก็ได้เป็นพนักงานอะไหล่ที่สามารถทำงานแทนคนอื่นได้ พนักงานอะไหล่เป็นคนงานส่วนกลาง ที่ต้องทำงานทุกหน้าที่ เมื่อมีคนงานขาด งานที่ทำมักอยู่กับฝุ่นละอองที่มาจากฝ้าย เมื่อสูดเข้าไปนานจาก 1 ปี 2 ปี เป็น 10 ปี จนกลายเป็นโรคที่เกิดจากการทำงาน 

 

สมบุญ เริ่มรู้ตัวว่าป่วย มีอาการเป็นไข้หวัด ปวดหัว อ่อนเพลีย บวม เจ็บคอ จาม ไอ เหนื่อย เจ็บหน้าอก หายใจติดขัดไม่สะดวก อาการเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็ตระเวนหาหมอที่บริษัทตามคลีนิคและโรงพยาบาลรัฐหลายแห่งในระยะแรก ส่วนใหญ่หมอบอกว่าเป็นโรคไข้หวัดธรรมดา แล้วให้ยามากินแต่ไม่หาย เพื่อนๆ คนงานที่ทำงานนานๆ มักมีอาการเดียวกันคือ ในช่วงเข้าห้องน้ำ หลายคนต่างพากันอาเจียน  ซึ่งก็รู้กันว่าเป็นเหมือนๆ กัน แต่ไม่มีใครกล้าเรียกร้องอะไร เพราะไม่รู้ว่าโรคที่เป็นมันร้ายแรงแค่ไหน คนทั่วไปคิดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา 

 

ครั้งหนึ่งไปตรวจที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  หมอบอกว่าสงสัยแพ้ฝุ่นในโรงงาน ถ้าอยากหายก็ควรลาออก ไปอีกแห่งหนึ่งเอ็กซเรย์แล้วบอกว่าปอดเป็นผังผืด ทนทุกข์ทรมานด้วยโรคแบบนี้มา 8 ปี เริ่มมีความหวัง เพราะเพื่อนคนหนึ่งที่มีปัญหาเรื่องปอดเหมือนกัน แนะนำให้ไปหาหมอที่โรงพยาบาลราชวิถี  ชื่อหมออรพรรณ์ เมธาดิลกกุล เป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ

 

หมอบอกว่าเธอเป็นโรคบิสซิโนซีส ( byssinosis ) ซึ่งเกิดจากการหายใจเอาฝุ่นฝ้ายเข้าไปในปอด  จนปอดอักเสบและเสื่อมสมรรถภาพอย่างถาวร  หมอบอกว่าเธอได้สูญเสียปอดไป 60%  ในการรักษาระยะแรกหมอมีคำสั่งให้พักงาน 15 วัน แต่อาการไม่ดีขึ้นจึงสั่งให้พักต่ออีก 1 เดือน เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นฝ้ายอย่างเคร่งครัดตามคำสั่งของแพทย์ ในระหว่างนั้นได้รับค่าจ้างเพียงเดือนเดียว จึงไปยื่นคำร้องต่อกองทุนเงินทดแทน เพื่อขอรับเงินทดแทน เนื่องจากเจ็บป่วยจากการทำงาน บังเอิญขณะที่ทำงานในโรงงานได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการบริหารสหภาพมาตั้งแต่ปี 2526 ทำงานในสหภาพแรงงานมาทุกตำแหน่งเคยไปอบรมสัมมนาหลายเรื่อง มีทั้งเรื่องแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน  สวัสดิการ การนำคดีสู่ศาล ทำให้รู้เรื่องสิทธิของผู้ทำงาน บทบาทหน้าที่ของนายจ้าง ของหน่วยงานของรัฐบาลที่รับผิดชอบ 

 

หลังจากรักษาตัวอยู่ 5 เดือน ตั้งใจว่าจะลาออกจากงาน เพราะไม่อยากกลับไปทุกข์ทรมานด้วยโรคเดิมอีก ขณะนั้นก็ได้งานเป็นเสมียนพิมพ์ดีดที่ศาลอาญาสนามหลวงแล้ว แต่ด้วยความเป็นห่วงเพื่อนๆ ในโรงงานที่ประสบกับชะตากรรมเดียวกัน จึงเลือกกลับไปทำงานตามเดิม และเผยแพร่ความรู้เรื่องโรคให้ทุกคนเข้าใจ พร้อมตัดสินใจต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเองและเพื่อเพื่อนคนอื่นๆ

 

เหตุจูงใจที่ก้าวเข้ามาทำงานนี้  และผลงาน

สมบุญ สีคำดอกแค กล่าวว่า เส้นทางของเธอตั้งแต่การเผชิญปัญหาของตัวเอง นำไปสู่        ความห่วงใยต่อปัญหาของคนอื่นๆ  สมบุญได้ร่วมตั้งกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโรคบิสซิโนซีส (Byssinosis) ขึ้น รวมกลุ่มผู้ป่วยในโรงงานมานั่งพูดคุยกันถึงปัญหาและร่วมคิดแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือตนเอง  สมบุญได้รับเลือกเป็นประธานสหภาพแรงงาน จึงได้เริ่มใช้เวทีสหภาพยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน สามารถเจรจากับบริษัทให้คนป่วยนำใบรับรองแพทย์ที่วินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคจากการทำงาน ไปติดต่อขอค่ารักษาพยาบาลจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทนได้โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาจากนายจ้างก่อน เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของผู้ป่วยได้ทางหนึ่ง

           

ขณะเดียวกันที่โรงพยาบาลราชวิถีผู้ป่วยกลุ่มโรคบิสซิโนซิส (Byssinosis) จากหลายโรงงานและ   ผู้ป่วยจากหลายๆโรคในโรงงานต่างๆ ได้ตั้งเป็น สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจาการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย  โดยสมบุญ สีคำดอกแค ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วย เพื่อรวมรวมช่วยเหลือแก้ไขปัญหาผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม มีเวทีแลกเปลี่ยนปัญหาสร้างขวัญและกำลังใจซึ่งกันและกัน ช่วยกันเพื่อเผยแพร่ป้องกันปัญหาสุขภาพความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน การเข้าถึงสิทธิ์ตามกฎหมาย และเชื่อมประสานเครือข่ายต่างๆในการรณรงค์ผลักดันในระดับนโยบายต่อไป โดยช่วงแรกเริ่มสมาชิกผู้ป่วยร่วมกันลงขันบริจาคเงินคนละเล็กละน้อย ขณะที่สมาชิกเพิ่มมากขึ้น มีคดีความที่ต้องต่อสู้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเธอและสามีพร้อมผู้ป่วยคนอื่นๆ ก็ถูกปลดออกจากงาน

 

ในปี พ.ศ.2540 หลังจากถูกปลดออกจากงาน สมบุญได้รับรางวัลอโชกา (Ashoka) เป็นรางวัลจากองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ของประเทศสหรัฐอเมริกาให้เป็นค่าครองชีพเป็นระยะเวลา 3 ปี ให้แก่ผู้ทำผลงานแปลกใหม่ออกไป เป็นงานชั้นแรกชิ้นเดียวในโลกที่ไม่มีใครเหมือน เงินตรงนั้นสมบุญได้แบ่งมาใช้ในการดำเนินงานเคลื่อนไหวต่อ และออกทำงานเพื่อสังคมอย่างเต็มตัว

 

ข้อเรียกร้องหลักๆ ของกลุ่มที่ผลักดันมาโดยตลอด คือ ให้มีการยอมรับความเจ็บป่วยด้วย      โรคจากการทำงาน ให้มีสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงาน ให้มีการจัดตั้งหน่วยงานอาชีวเวชศาสตร์ขึ้นมา โดยให้ทุกโรงพยาบาลที่อยู่ในเขตที่มีโรงงานมีแพทย์เฉพาะทางในเรื่องนี้ และให้มีกองทุนสำหรับผู้ที่ ได้รับผลกระทบ รวมทั้งควรมีมาตรการที่ชัดเจนจากรัฐบาลให้มีการตรวจสอบปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานภายในโรงงาน

 

สมบุญกล่าวว่า การทำงานเคลื่อนไหวที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือ การเสนอข้อเรียกร้องผ่านสมัชชาคนจน ให้ก่อตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการโดยเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นภาพของคนในเมืองว่า อุตสาหกรรมที่ไปตั้งใกล้บ้านไม่ได้สร้างความยั่งยืน หลายโรงงานไปอยู่เพียงชั่วคราว ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อคนในชุมชน และทิ้งปัญหาไว้เมื่อเลิกกิจการ หรือไม่ชุมชนอาจต้องเป็นฝ่ายหนีไปเอง และไม่อาจกลับไปสู่สภาพชนบทแบบเดิมๆ สังคมและวัฒนธรรมของคนชนบทล่มสลายไปกับความเจริญ

 

เกี่ยวกับการทำงาน พยายามชี้ให้เห็นว่าปัญหาสำคัญของแรงงานไม่ใช่ปัญหาสวัสดิการหรือเงินเพียงเท่านั้น แต่เป็นปัญหาเรื่องสุขภาพความปลอดภัย ให้เขาเข้าใจว่าเรื่องสุขภาพอนามัยเป็นเรื่องที่มีค่ามากกว่าเงิน เป็นเรื่องของคุณภาพชีวิต อนาคต สังคมภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหาทางป้องกัน  ทั้งผู้ประกอบการและพนักงาน สร้างความตระหนักให้ทุกคนได้รู้ปัญหาของตัวเอง และร่วมกันเป็นเครือข่ายออกมาเรียกร้องเพื่อตัวเองอย่างมีพลังในระดับโรงงานจนถึงภาครัฐบาล  การร่วมกันผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

 

ผู้ป่วยจากการทำงานทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นคนงานในระบบนอกระบบ และผู้ที่ได้รับผลกระทบในชุมชนต่างๆมีจำนวนอีกมากมายนับไม่ถ้วน ที่รอการเข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ทำอย่างไรจึงจะได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างต่อเนื่อง เพราะทุกวันนี้หมอด้านนี้มีไม่เพียงพอ ทั้งประเทศมีผู้ชำนาญจริงๆ 10 กว่าคนเท่านั้น เคยไปร้องเรียนที่กระทรวงสาธารณสุขรก็ตอบมามาทุกครั้งว่าหมอไม่เพียงพอ ที่เสียใจที่สุดก็คือให้ไปรักษาโรงพยาบาลทั่วไปก็ได้ แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจถ่องแท้ของหน่วยงานรัฐ แท้จริงแล้วโรคจากการทำงานหรือสารเคมีและมลพิษต่างๆนั้นจำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญพิเศษทางด้านนี้ เพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียดหลายขั้นตอน

 

ผลของการทำงานในนามสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ จากที่มีกลุ่มเล็กๆ เพียง 8 คน ปัจจุบันมีเพื่อนที่ได้รับผลกระทบเหมือนกัน ปรากฏตัวออกมาเกือบ 3,000  กว่าคน ทั้งที่อยู่ในชุมชนและโรงงาน  จากที่ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวก็เริ่มได้การยอมรับจากสังคม และมีพันธมิตรจากผู้ใช้แรงงานกลุ่มต่างๆ เข้ามาช่วยมากขึ้น  "การที่เราจะเข้มแข็งได้ก็ต่อเมื่อสังคมเข้าใจเรา โดยลำพังตัวเราคงไม่เข้มแข็งหรอก เราต้องมีพันธมิตรที่เข้าใจเรามากขึ้น ทุกวันนี้เราไปพูดที่ไหนแล้วสังคมเข้าใจเรา นั่นคือความเข้มแข็ง คือความสำเร็จของการทำงาน

 

เมื่อก่อนที่เราไปพูดที่ไหนเขาก็จะมองว่าเราอยากได้เงิน ป่วยไม่จริง แต่ถามว่าคนป่วยเข้มแข็งหรือไม่ คนป่วยก็ไม่เข้มแข็งหรอก เพราะมีทุกข์ทั้งสุขภาพ ทุกข์ใจกับภาระที่ต้องรับอยู่ทุกวัน แต่ก็มีกำลังใจให้กัน เราได้เช็ดน้ำตาให้เพื่อนเรา ได้ยิ้ม ได้หัวเราะ ได้ให้กำลังใจกัน

 

ทุกวันนี้สมบุญยังคงเดินหน้าด้วยพละกำลังที่เธอมี กล่าวคือ

 

                        1. เป็นวิทยากร ให้ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อเผยแพร่งาน ในเรื่องสุขภาพความปลอดภัย การเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย  การแก้ไขปัญหาสุขภาพ

                       

2. ติดต่อประสานงาน  รวบรวมช่วยเหลือ  ให้คำปรึกษาแก่ผู้เจ็บป่วยจากการทำงานและมลพิษสิ่งแวดล้อม ทั้งแรงงานและชุมชนโดยตรง และผ่านไปยังผู้นำสหภาพแรงงาน เพื่อ ให้ผู้ป่วยผู้ถูกผลกระทบได้รับการคุ้มครองเข้าถึงสิทธิตามกฎหมาย  ทั้งด้านการรักษาทางการแพทย์ รวมไปถึงการช่วยดำเนินคดีทางกฎหมาย

           

3. สร้างเครือข่ายสุขภาพจากทุกภาคส่วน เพื่อขยายความร่วมมือในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาสุขภาพความปลอดภัย ในระยะสั้นระยะยาว และในระดับนโยบาย ร่วมกันต่อไป เช่น

                        - การผลักดันให้มีแพทย์และหน่วยงานด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มีเกณฑ์วินิจฉัยโรคที่ได้มาตรฐาน มีคณะแพทย์คนกลางที่มาจากการคัดสรรแบบมีส่วนร่วม

                        - ผลักดัน พรบ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน    เพื่อให้เกิดองค์กรอิสระ มีระบบการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม มาบริหารงานด้านสุขภาพความปลอดภัย

- ผลักดันให้มีศูนย์อาชีวเวชศาสตร์ในทุกพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม  โดยเฉพาะที่  โรงพยาบาลจังหวัดลำปาง  โดยมีคณะกรรมการมาจากทุกฝ่ายหลากหลายในสัดส่วนที่เท่ากัน

 

ปัญหา/อุปสรรค จากการทำงาน

แม้การทำงานที่ผ่านมามีทั้งประสบผลสำเร็จ แต่ภายใต้ความสำเร็จก็มีมีปัญหาอุปสรรคเฉพาะหน้ามากมายที่ต้องฝ่าฟันต่อสู้อยู่ตลอดเวลา ความจำเป็นที่ต้องรวมจิตใจพี่น้องผู้ป่วยให้มีความเข้มแข็งให้ได้ เพราะผู้ป่วยเป็นผู้ที่สูญเสียทั้งสุขภาพกาย สูญเสียสภาพจิตใจ มีปัญหาปากท้อง ขาดยาที่จะมาประทังชีวิต ภาระค่าใช้จ่าย แต่ละครอบครัวขาดอาชีพรายได้จึงเป็นกลุ่มคนที่อ่อนแอที่สุด จะทำอย่างไรให้สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างพร้อมเพียงกันต่อไปได้ เพื่อการแก้ไขปัญหาทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการร้องเรียนในนามกลุ่ม เข้าร่วมชุมนุมในนามสมัชชาคนจน เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หรือจำเป็นต้องอาศัยการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งก็ยังเป็นความหวังและเป็นความเจ็บปวดทุกข์ทรมานกับการรอรับความเป็นธรรมที่ยาวนานที่สุดในเมืองไทย ถึง 12 ปี  ความทุกข์ท้อทรมานกับการเป็นคนป่วยด้วยกันจึงสามารถร้อยรัด รวมใจพี่น้องคนป่วยได้อย่างต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้ เพื่อที่จะเป็นต้นแบบของผู้ถูกผลกระทบคนอื่นๆให้ลุกขึ้นมาทวงสิทธิ์ในฐานะที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ และความไม่ใส่ใจของสถานประกอบการเองบางแห่งที่มุ่งเน้นแต่ผลกำไร รีบเร่งในการผลิตเพียงอย่างเดียว และการทำงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐบางคนที่ไม่ใส่ใจขาดความรับผิดชอบ

 

   การต่อสู้ที่ยาวนาน สมาชิกในกลุ่มทั้งที่เป็นคนงานและคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษมีมากขึ้น สุขภาพและสังขารของคนในกลุ่ม ก็เริ่มร่วงโรยไปตามกาลเวลาและตามวัย โรคภัยรุมล้อมเพราะขาดการดูแลรักษาฟื้นฟูอย่างดีพอ ทำอย่างไรหน่วยงานภาครัฐจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือทันท่วงที  ความจำเป็นจะต้องมีคนทำงาน มีทีมที่ปรึกษาจากหลากหลาย ที่มีความเข้าใจ ทุ่มเทเสียสละอย่างจริงจัง  รวมถึงงบประมาณ ก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง การสร้างเครือข่ายผู้นำด้านสุขภาพความปลอดภัยจากขบวนการแรงงาน และ ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สถานประกอบการที่เข้าใจ เพื่อร่วมกันในการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพความปลอดภัยแบบมีส่วนร่วมการตั้งองค์กรอิสระคุ้มครองสุขภาพของคนงานโดยผลักดันกฎหมาย  พรบ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ  บุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญและหน่วยงานด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม เกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคจากมลพิษที่ได้มาตรฐาน ผู้วินิจฉัยที่เป็นกลางไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้ที่มีอำนาจ ขบวนการทางกฎหมายที่รวดเร็วและเป็นธรรม

 

ผลงานที่ประทับใจ

คืองานที่ได้ช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยให้มีกำลังใจต่อสู้ชีวิต ได้ใช้สิทธิของตนเอง และกลับไปมีชีวิตที่มีความสุขในสังคม

ความเห็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน

สิทธิของคนจนที่เป็นรากฐานของสังคม  คนงานยังไม่ได้รับสิทธิในเรื่องการจ้างงาน สุขภาพอนามัยฯลฯ มีผลให้ไม่ได้รับสิทธิ ต้องทำให้ประชาชนได้รับรู้เรื่องสิทธิของตนเองขั้นพื้นฐาน คือ ปัจจัย 4  ในการดำเนินชีวิต เป็นหน้าที่ของรัฐต้องดูแล และให้ความเสมอภาคอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน

 

 





องค์กรภาคเอกชนที่มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น

 

 

สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย

(The  Association of  the  Physically  Handicapped of Thailaind)

 

สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย คำย่อ "..." เริ่มดำเนินการเมื่อปี  2525 โดยกลุ่มคนพิการทางด้านแขนขา-ลำตัว ที่พอจะช่วยเหลือตนเองได้ และระลึกถึงเพื่อนร่วมชะตากรรมอื่นๆที่ยังอ่อนแออีกมาก อีกทั้งปัญหาต่างๆ ของคนพิการ ที่ยังไม่มีใครสามารถแก้ไขหรือแม้แต่จะมองเห็นความไม่สำคัญ  เช่น ทัศนคติที่ไม่ดีของสังคมที่มีต่อความพิการ การขาดโอกาสในด้านต่างๆ ของคนพิการ การกระตุ้นเตือนคนพิการให้พัฒนาตนเองเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสังคม

 

สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย เริ่มก่อตั้งและจดทะเบียนเป็นองค์กรนิติบุคคล เมื่อวันที่ 6  กันยายน 2525 โดยอาจารย์ณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ และผู้พิการอีก 10 กว่าคน ปัจจุบันมีสมาชิกเกือบ 9,000  กว่าคน สมาคมได้จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2526 นับเป็นการเริ่มต้นอย่างสมบูรณ์ขององค์กรที่ดำเนินการโดยคนพิการ เพื่อประโยชน์ของคนพิการอย่างแท้จริง จากการดำเนินงานมานับเป็นเวลากว่า  25  ปี แม้ว่าสมาคมฯ จะยังไม่เติบโตเท่าที่ควรจากปัญหาและอุปสรรคมากมาย แต่ทุกคนก็ยังไม่ละทิ้งซึ่งความหวัง ที่จะเห็นสมาคมฯ ได้พัฒนาให้ความก้าวหน้าและเข้มแข็ง  เพื่อที่จะเป็นส่วนช่วยพัฒนาชีวิตของคนพิการให้ดีขึ้น ในสังคมที่ยอมรับว่า  "คนพิการเป็นสมาชิกที่สมบูรณ์ของสังคมนี้เช่นกัน" โดยได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งร่วมกัน ดังนี้

 


  1. เป็นตัวแทนคนพิการในกิจการเกี่ยวกับสิทธิและผลประโยชน์ของคนพิการ เป็นส่วนร่วมและมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับคนพิการ

  2. เผยแพร่ข่าวสาร ความรู้ ข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อคนพิการ

  3. ส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็ง การพัฒนาศักยภาพของคนพิการ และการสร้างผู้นำคนพิการ

  4. ส่งเสริมการก่อตั้งองค์กรของคนพิการในระดับท้องถิ่นและความสัมพันธ์อันดีในคนพิการด้วยกัน

  5. เพื่อส่งเสริม ร่วมมือ และประสานงานกับองค์กรหรือสมาคมอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ หรือมีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกัน

  6. ติดต่อสัมพันธ์กับองค์กร ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์คล้ายกันหรือเกี่ยวข้องกัน

  7. ส่งเสริมฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านอาชีพ โดยจัดการฝึกอาชีพ ฝึกหัดการทำงาน เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพอิสระ หรือสามารถทำงานกับคนปกติได้

  8. ให้การช่วยเหลือด้านกายอุปกรณ์และเครื่องช่วยคนพิการ

  9. รณรงค์เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ และเอกชนก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนพิการ

 

เมื่อเริ่มตั้งสมาคมมีสมาชิกที่เสียสละเวลามาร่วมทำงานที่สมาคม บ้างรับทำหน้าที่เป็นเหรัญญิก         อุปนายก ประชาสัมพันธ์ กรรมการ เลขานุการ โดยมีนายกสมาคมคนแรกคือ นายณรงค์ ปฏิบัติสรกิจ และมีการเลือกตั้งนายกสมาคมทุกๆ 4 ปี นายกสมาคมคนปัจจุบัน คือนายศุภชีพ ดิษเทศ

     

การส่งเสริมและสนับสนุนสมาคมคนพิการได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากทั้งหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชนทั้งในและนอกประเทศ

      หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนสมาคมโดยตรง ได้แก่ กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ สำนักส่งเสริมและพิทักษ์คนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานอื่นๆ ตามสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ  เช่น กระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงมหาดไทย  กระทรวงศึกษาธิการ  ฯลฯ

     

หน่วยงานภาคเอกชนประกอบด้วย ห้างร้าน บริษัท องค์กร เอกชนทั้งในและนอกประเทศที่ให้การสนับสนุนแก่สมาคมฯในด้านต่างๆ ทั้งทุนทรัพย์และอุปกรณ์ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ วิทยากร ฯลฯ

กิจกรรมของสมาคม

สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือคนพิการในทุกๆ ด้าน  และไม่แสวงหาผลตอบแทนจากคนพิการ  นอกจากการช่วยเหลือทางด้านต่างๆ  แล้วองค์กรของเรายังจัดกิจกรรมต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องกับคนพิการในด้านการแพทย์ การศึกษา อาชีพ สังคม กีฬา ที่สามารถทำให้คนพิการอยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี  รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้คนพิการเข้าใจเรื่องสิทธิ หน้าที่ และโอกาสของคนพิการ

            ผลงานที่ผ่านมา

- จัดทำจุลสารสายสัมพันธ์  เพื่อเผยแพร่ข่าวสารด้านคนพิการและความรู้ที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพแก่สมาชิก รวมทั้งเผยแพร่สู่องค์กร หน่วยงานทั้งในและนอกประเทศ

 

            - ส่งเสริมสนับสนุนการเล่นกีฬาของคนพิการเพื่อสุขภาพและความเป็นเลิศ  รวมทั้งเป็นกรรมการและคณะทำงาน  ในการจัดการแข่งขันกีฬาภาคพื้นเอเซียตะวันออกไกลและแปซิฟิคตอนใต้

 

- การเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติ (ในสมัยนั้น) ผ่านพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ           พ.ศ.2535

 

- ด้านการต่างประเทศ มีการประสานงานการร่วมมือกับมูลนิธิอาซาฮีซิมบุน ประเทศญี่ปุ่นและกรมประชาสงเคราะห์ จัดทำโครงการอบรมผู้พิการและโรงงานประกอบสร้างรถวิลแชร์และกาย อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับคนพิการ ที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และประสานงานให้คนพิการญี่ปุ่นมอบรถวิลแชร์ใช้แล้วจากประเทศญี่ปุ่นให้แก่คนพิการไทยจำนวน 300 คัน

 

- โครงการบางกอกซิตี้ แฮนดิ มาราธอน ที่จัดขึ้นเพื่อให้คนพิการ ได้มีการทำกิจกรรมร่วมกัน  เช่น แข่งขันรถวิลแชร์ รถสามล้อโยก วอร์คแรลลี่ และอื่นๆ เพื่อเป็นการนำคนพิการออกมาสู่สาธารณะให้สังคมทราบถึงการมีส่วนร่วมของคนพิการในสังคม และเผยแพร่ข้อมูลของคนพิการให้คนทั่วไป ได้เข้าใจคนพิการอย่างถูกต้อง และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง วันคนพิการสากล (3 ธันวาคม)

 

- โครงการจัดงานวันคนพิการสากล (3 ธันวาคม) ซึ่งเป็นการร่วมมือจัดระหว่างสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย กับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน

 

- การฝึกอาชีพ สมาคมฯได้จัดโครงการฝึกอาชีพต่างๆเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น โครงการจัดทำโรงงานผลิตรถวีลแชร์และสามล้อโยกสำหรับคนพิการ ในปี พ.ศ.2541 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2542  โครงการฝึกอบรมผู้ประกาศข่าว โครงการถักผ้าเช็ดเท้าด้วยมือ และอื่นๆ อีกมากมาย โดยได้รับการเอื้อเฟื้อวิทยากร จากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน หน่วยงานจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์

 

- โครงการสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อต่างๆ ตามประเด็นที่คณะทำงานกำหนด เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของคนพิการในระดับรากหญ้า อันเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญในการที่จะพัฒนาให้มีศักยภาพที่สามารถพึ่งตนเองได้

 

-    โครงการสวัสดิการของผู้พิการ ได้แก่ โครงการจัดทำประกันชีวิตหมู่ให้กับสมาชิกของสมาคมฯ  เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับครอบครัวสมาชิกของสมาคมฯ เมื่อเวลาที่ผู้พิการเสียชีวิต โครงการแจกกายอุปกรณ์ โครงการจัดสรรการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลและโครงการอื่นๆ ที่เอื้ออำนวยความอยู่ดีมีสุขแก่คนพิการ

               งานเด่นของสมาคมฯ

               สมาคมได้ดำเนินโครงการต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการส่งเสริมสนับสนุนให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดี งานหนึ่งที่ถือว่าเป็นงานที่ทางสมาคมได้พยายามและมุ่งมั่นทำตลอดมา คือ เรื่องการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของสมาชิกให้รู้เข้าใจเรื่องสิทธิอันพึงมีพึงได้ พร้อมให้รู้จักเข้ารับบริการในหน่วยงานที่ให้บริการได้ถูกต้องเหมาะสม อีกประการคือ เรื่องรณรงค์สิ่งอำนวยความสะดวกของคนพิการ เช่น ระบบขนส่งของรัฐ ห้องน้ำสาธารณะ ทางขึ้นลงอาคาร

 

               อุดมการณ์ของสมาคมฯ

               เป็นผู้แทนคนพิการให้รู้จักใช้สิทธิ เสรีภาพ ที่ตนมีให้มีประสิทธิภาพ ให้คนพิการช่วยเหลือตนเองได้ มีงานทำมีเงินใช้

               ข้อคิดในเรื่องสิทธิมนุษยชน

               ประชาชนทั่วไปยังมีความรู้และความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย คนที่มีความรู้ถือกฎหมายมักใช้ช่องโหว่ของกฎหมายเอาเปรียบกับประชาชน เกิดความไม่เสมอภาค ในเรื่องสิทธินั้นต้องใช้เวลา

               ปัญหาและอุปสรรค

               ในการทำงานของสมาคมฯ ปัญหาที่พบมากคือ ผู้ปกครองของเด็กพิการและสังคมยังมีความเข้าใจแบบเดิมๆ ไม่เปิดโอกาสให้มีการพัฒนาคนพิการ เรื่องดังกล่าวต้องมีการเผยแพร่ความรู้ให้กว้างขวางมากกว่าเดิม ทั้งเรื่องสิทธิ หน้าที่ ความเสมอภาค ตามที่กฎหมายกำหนด สร้างโอกาสและความเท่าเทียมในการเข้ารับบริการของรัฐ เรื่องการศึกษา สาธารณสุข ที่อยู่อาศัย อาชีพฯลฯ ให้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

 

               คำขวัญคนพิการประจำปี 2551

               "กฎหมายใหม่คนพิการ  มีงานทำ  สมศักดิ์ศรี"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท