Skip to main content
sharethis

สนั่น ชูสกุล นักพัฒนาเอกชน ผู้มีประสบการณ์ในการทำงานพัฒนาร่วมกับชุมชนในภาคอีสานมากว่า 25 ปี นำเสนอบทความ จาก "เศรษฐกิจพอเพียง" สู่การคิดค้นสังคมอนาคต ในการประชุมเชิงวิชาการ เรื่องเหลียวหลังแลหน้าการเปลี่ยนแปลงสังคมชนบทอีสานช่วงทศวรรษ 2540-2550 กรณี "เศรษฐกิจพอเพียง: ความรู้และความไม่รู้" ที่จัดโดยคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2550 ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมี ผศ.ดร.นลินี ตันธุวนิตย์ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความเห็น "ประชาไท" ขอนำเสนอโดยสรุป เพื่อการถกเถียง ดังนี้


00000


เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง เมื่อปลายปี 2540 นั้น ได้ก่อให้เกิดการตื่นตัวในทุกภาคส่วน เกิดการขบคิด ขยายคำ นำไปใช้ สู่การคิดค้นนโยบาย วางแผน ปฏิบัติ ทั้งในหน่วยงานรัฐ องค์กรธุรกิจ วงวิชาการ องค์กรทางสังคม และองค์กรประชาชน แต่ด้วยจุดยืน ผลประโยชน์ ระดับความเข้าใจ และความคาดหวังที่แตกต่างกัน


ในสายตาของตนเองซึ่งทำงานองค์กรพัฒนาเอกชน เห็นว่า หลักเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการนำเสนอทางเลือกทางเศรษฐกิจสังคมอันเป็นอุดมการณ์ท้าทายสังคมปัจจุบัน ท่ามกลางแนวคิด/ทางเลือกใหม่ๆ ในการพัฒนา/เปลี่ยนแปลงสังคมที่ถูกนำเสนอเพื่อตอบโต้อุดมการณ์ทุนนิยม แนวคิดเหล่านี้ล้วนสอดคล้องกับหลักคุณค่าในชุมชนท้องถิ่นของเรา อันได้แก่วัฒนธรรมชุมชนและคุณธรรมทางศาสนา อย่างไรก็ตาม ตนเองมีข้อพิจารณาต่อหลักเศรษฐกิจพอเพียงและข้อเสนอต่อการคิดค้นสังคมอนาคต


ในเบื้องต้น ขอพิจารณาความหมายและฐานะของเศรษฐกิจพอเพียง หลังมีพระราชดำรัสฯ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในปี 2540 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ มาร่วมกันกลั่นกรองพระราชดำรัสฯ สรุปเป็นนิยาม ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนำมาเป็นแนวทางในการจัดทำแผนฯ 9 เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้าใจ และนำไปประกอบการดำเนินชีวิต ต่อมาจึงปรากฏนโยบาย แผนงาน โครงการต่างๆ ของหน่วยราชการทุกระดับ ป้าย "เศรษฐกิจพอเพียง" ถูกติดตั้งขึ้นทุกหนแห่ง รวมทั้งสองข้างถนน และในไร่นาของเกษตรกร วาทกรรม "เศรษฐกิจพอเพียง" จึงแพร่หลายไปในสังคมอย่างรวดเร็ว


การขยายความของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ใน สศช. กล่าวได้ว่า เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแบบจำลองทางความคิดที่มุ่งเสนอแนวทางการพัฒนาสังคมในมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และด้านอื่นๆ โดยเน้นการสร้างแบบจำลองทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน ไปพ้นจากวิกฤติอันเกินความพอเพียงของมนุษย์ หรือวิกฤติของระบบทุนนิยม อันเป็นบริบทของสังคมไทยในปี 2540


หากกล่าวถึงระบบทุนนิยม โดยหัวใจของระบบ คือ เชื่อว่าความต้องการที่จะบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ เป็นสิทธิส่วนบุคคล จึงต้องหาวิธีการผลิตให้ทันความต้องการของมนุษย์ซึ่งไม่มีขีดจำกัด ในขณะที่ ทรัพยากรในโลกมีจำกัด เกิดเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมที่มีเป้าหมายใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดผลิตให้มีประสิทธิภาพ เกิดกลไกการตลาดที่จะช่วยให้การแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวเป็นไปเพื่อผลักดันให้เกิดประสิทธิภาพการผลิต คือ มีแรงจูงใจให้เกิดการแข่งขัน ทำให้เกิดการผลิตให้เพียงพอความต้องการ มีการสะสมทุนเพื่อขยายการผลิต/การบริโภค เกิดลัทธิทุนนิยม บริโภคนิยม


สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ทุนเป็นใหญ่ เงินเป็นพระเจ้า ผลิตล้นเกิน บริโภคแหลกลาญ ผลาญทรัพยากร แย่งชิงไปจากชนบท ทำให้คนเห็นแก่ตัว เกิดช่องว่างระหว่างคนรวย/คนจน เมือง/ชนบท สังคมเสื่อม ศีลธรรมเสื่อม เกิดธุรกิจการเมือง เศรษฐกิจแบบยังชีพของชุมชนที่สามารถพึ่งตนเองได้ กลายเป็นเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพิงภายนอก


ท่ามกลางความเป็นไปนี้ ได้เกิดแนวคิด/อุดมการณ์ต่างๆ มากมายที่วิเคราะห์ความเป็นไปของทุนนิยม ตอบโต้ และเสนอทางออกแก่สังคม ได้แก่


1.อุดมการณ์สังคมนิยม วิเคราะห์ให้เห็นว่าทุนนิยมมีการขูดรีดส่วนเกินของแรงงานไปอย่างไร มีการทำนายว่าสังคมต้องเกิดความขัดแย้งทางชนชั้น และชนชั้นกรรมาชีพจะลุกขึ้นมาโค่นล้มชนชั้นนายทุน ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมนิยมในหลายประเทศทั่วโลก แต่ในที่สุดเราก็พบว่า ประเทศสังคมนิยม เช่น จีน ก็ต้องเปิดประเทศเพื่อใช้เศรษฐกิจแบบทุนนิยม เพราะแบบแผนการพัฒนาที่มีความเสมอภาค มีการปฏิวัติที่ดินมาเป็นของรัฐ กิจกรรมการผลิตใช้ระบบการวางแผนงานจากส่วนกลางจัด เป็นคอมมูน รัฐเป็นคนแบ่งปันผลผลิตนั้น ไม่มีแรงจูงใจในการผลิต เกิดการอดอยากขาดแคลน เต็มไปด้วยคอร์รัปชั่น


2.แนวคิดมนุษยนิยม วิพากษ์ทุนนิยมและสังคมนิยมว่าเน้นการพัฒนาเชิงวัตถุ ระบบ และโครงสร้าง โดยไม่เห็นความเป็นมนุษย์ แนวคิดนี้จึงเสนอว่า การพัฒนาที่แท้ควรที่จะพัฒนาเพื่อให้คนเกิดคุณภาพ โดยหันกลับไปสู่เรื่องจิตใจ


3.การพัฒนาแนวพุทธ ได้แก่ ขบวนการสรรโวทัยในศรีลังกา เสนอแนวทางการพัฒนาที่เน้นความเป็นมนุษย์ ความสามัคคี การมีส่วนร่วม และต้องปฏิวัติวัฒนธรรมเพื่อสร้างจิตสำนึกให้คนหลุดพ้นจากการครอบงำทุกชนิด เป็นการพัฒนาแบบพึ่งตนเอง โดยใช้ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น และต้องเป็นการพัฒนาแบบมีจริยธรรม


4.เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ เป็นการประยุกต์พุทธธรรมมาอธิบายหลักเศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์เชิงพุทธเสนอว่า การบริโภคต้องทำด้วยปัญญา มีความเข้าใจ รู้เท่าทัน และพอประมาณ ซึ่งจะนำไปสู่การผลิตที่พอประมาณ ไม่เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น และที่สำคัญ การบริโภคเป็นเพียงกระบวนการที่มีเป้าหมายไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี


5.ธัมมิกสังคมนิยม เป็นแนวคิดที่ท่านพุทธทาสได้เสนอเป็นทางเลือกของสังคม เป็นแนวคิดสังคมนิยมที่ อยู่บนฐานของธรรมะ มีหลักการใหญ่ๆ คือ คำนึงถึงผลประโยชน์ของมหาชน, ไม่มีใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ใดๆ อย่างเด็ดขาด, จัดสรรที่ดินอย่างเป็นธรรม, ใช้หลักสหกรณ์ คือ ร่วมมือกัน พึ่งพิงอาศัยกัน, ใช้ระบบคอมมูน เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาทั้งในระดับชุมชนและในเชิงประเด็นปัญหา, มีวินัย, และมีธรรมะ


6.แนวคิดนิเวศวิทยาการเมือง เป็นแนวคิด/อุดมการณ์ที่มีพลังและการเคลื่อนไหวที่กว้างขวางที่สุดในปัจจุบัน แนวคิดนี้ถือว่า ระบบนิเวศ และสังคมต้องพึ่งพากัน โดยมีหลักการ คือ รักษาระบบนิเวศ, มีความเป็นธรรมทางสังคม ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของสังคมนิยม, มีประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน คือ ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกระดับ, และใช้สันติวิธี


หากกลับมาดูความคลี่คลายขององค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรประชาชนในภาคอีสาน ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2520 ซึ่งด้านหนึ่งเป็นแรงกระเพื่อมจากสากล อีกด้านหนึ่งเป็นการคลี่คลายของการเมืองไทยเอง โดยเริ่มจากการที่คนเล็กๆ 3-5 คนลงไปอยู่กับชาวบ้าน ทำงานในเรื่องต่างๆ ตามความเชื่อและความถนัด คำหลักในขณะนั้นคือ "คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน", "การพึ่งตนเอง", "การมีส่วนร่วม" ฯลฯ เมื่อเวลาผ่านไป เราได้พบว่า ชาวบ้านส่วนหนึ่งได้สรุปบทเรียนความล้มเหลวของเกษตรแผนใหม่ และคิดค้น "ระบบเกษตรผสมผสาน"ที่สอดคล้องกับธรรมชาติ/วิถีชีวิต และพัฒนาเป็นระบบเกษตรที่เป็นทางเลือก ไม่ร่วมมือกับระบบทุนนิยม เกิดแนวความคิดเชิงระบบ โดยยืนอยู่บนขา 4 ขา คือ


(1) ในด้านอาชีพ คิดค้นการผลิตที่ผสมผสาน เกษตร หัตถกรรม ปศุสัตว์ และพัฒนาให้ครบวงจร ทั้งการผลิต แปรรูป การตลาด


(2) การรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง และอำนาจในการจัดการตนเอง


(3) ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ,


(4) ประสานความร่วมมือกับภายนอก


และในที่สุดองค์ความรู้ต่างๆ ก็ยกระดับเป็นแนวคิดที่เกี่ยวกับชุมชน เช่น วัฒนธรรมชุมชน, เศรษฐกิจชุมชน, สิทธิชุมชน, วิสาหกิจชุมชน, ป่าชุมชน ฯลฯ


ถ้าพิจารณาสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด จะพบว่า เศรษฐกิจพอเพียง มีความหมายเช่นเดียวกับเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ โดยเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการสถาปนาอำนาจนำ และมีการผลักดันแนวคิดนี้ไปทางระบบราชการ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเครื่องมือที่ใช้ค้ำจุนการดำรงอยู่ของระบบทุนนิยม ในแง่นี้จึงต้องพิจารณาว่า เศรษฐกิจพอเพียงวิเคราะห์สังคมที่เป็นอยู่อย่างไร มีสมมติฐานว่าปัญหาของสังคมเกิดเพราะอะไร หากเชื่อตามที่ท่านพุทธทาสกล่าว ก็คือ ปัญหาอยู่ที่โครงสร้างและระบบที่เป็นเงื่อนไขให้เกิดความสามานย์ในระบบทุนนิยม ดังนั้น เศรษฐกิจพอเพียง ก็ต้องหาวิธีการดำเนินการเพื่อให้เกิดการแก้ไขให้ตรงกับเหตุของปัญหา และต้องไม่มองอยู่ในปริมณฑลของเศรษฐกิจเท่านั้น ต้องเอาการเมือง สังคม วัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย


สุดท้าย ขอเสนอว่า ในการคิดค้นสังคมอนาคตต้องนำแนวคิด/ทฤษฎี/อุดมการณ์ที่ชี้นำการเปลี่ยนแปลงของสังคม มาผสมผสาน ใช้จุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละส่วน เพื่อให้เป็นพลังในการอธิบายปรากฏการณ์ และเป็นพลังในการต่อสู้ สร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น ก่อนที่โลกจะร้อนไปกว่านี้


00000


 


ในทางตรรกะ ด้านหนึ่ง เศรษฐกิจพอเพียงกล่าวโทษระบบทุนนิยมที่ไม่เป็นธรรม
อีกด้านหนึ่ง ยุยงให้คนจนปรับปรุงตัวเองโดยไม่ต้องแตะต้องระบบ
ในทางปฏิบัติการของรัฐ ด้านหนึ่งบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น
อีกด้านหนึ่ง บอกว่าเราต้องรณรงค์สิ่งนี้ในท้องถิ่น โดยคนที่ไปรณรงค์เป็นคนชั้นกลางรวมทั้งคนชั้นสูง


 


ผศ.ดร.นลินี ตันธุวนิตย์ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: เห็นด้วยในข้อที่ว่าเศรษฐกิจพอเพียงเท่ากับเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธ หมายถึงทั้งสองอย่างมีตรรกะที่เหมือนกัน คือบอกว่าความยากจนมีสาเหตุจากปัจเจก แนวทางแก้ไข คือ แก้ที่ปัจเจก แก้นิสัย ความโลภ บริโภคล้นเกิน แต่ไม่เหมือนธัมมิกสังคมนิยม ที่บอกว่าปัญหาเกิดจากระบบ/กลไก/โครงสร้างของทุนนิยมที่ทำให้ปัจเจกเป็นอย่างนั้น การแก้ไขจึงต้องแก้ที่กลไก/โครงสร้างของระบบทุนนิยมด้วย เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้คำนึงถึงการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง มองที่ปัจเจกเท่านั้น


คุณสนั่นมองเศรษฐกิจพอเพียงผ่านกระบวนการสร้างขั้วตรงข้ามอย่างเด็ดขาด หรือผ่านการสร้างเรื่องเล่าแบบเหมารวม 2 เรื่อง เรื่องที่หนึ่ง ว่าด้วยความชั่วร้ายของระบบทุนนิยม ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นปัญหาที่เกิดจากทุนนิยมทั้งสิ้น ยิ่งพัฒนายิ่งจน ทำลายทั้งคนและระบบนิเวศน์ เรื่องที่สอง ว่าด้วยคุณค่าที่ดีงามของท้องถิ่น มีความพอเพียง แบ่งปัน มีภูมิปัญญาในการอยู่ร่วมกันของคนกับธรรมชาติ


การเล่าเรื่องเล่าแบบเหมารวมแบบนี้ จูงใจให้เชื่อว่ามี 2 ขั้ว เปิดทางให้เศรษฐกิจพอเพียงมีที่ยืน คือยืนอยู่ฝ่ายธรรมะเพื่อต่อสู้กับอธรรม ไม่ต้องพูดถึงว่าตัวแทนของฝ่ายธรรมะคือพระมหากษัตริย์ ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงมีภาพเยอะแยะ มีชุมชนตั้งหลากหลาย ข้อมูลจากงานศึกษาหลายชิ้นอธิบายว่า พื้นที่ในชนบทไม่ว่าอีสานหรือภาคเหนือในอดีตไม่มีความพอเพียง และไม่สามารถที่จะผลิตและอยู่รอดได้ด้วยตนเอง เนื่องจากเงื่อนไขของระบบนิเวศน์และภูมิศาสตร์ที่ไม่เอื้ออำนวย แต่เราก็ทำประวัติศาสตร์ตรงนี้ให้เป็นชุดเดียวชิ้นเดียว เหมือนกันกับระบบทุนนิยม ซึ่งไม่ได้มีด้านชั่วร้ายเพียงด้านเดียว เราได้ใช้ประโยชน์ในการใช้เทคโนโลยี และระบบเครือข่ายข้ามชาติ


ประเด็นต่อมา คือ การสร้างเรื่องเล่าแบบเหมารวมแบบนี้ ทำให้เรามองไม่เห็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของระบบทุนนิยมและเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทั้งสองมีข้อเหมือนกัน และเอื้อซึ่งกันและกันใน 2 เรื่อง คือ 1) ทำให้คนจนยอมจำนนอยู่ภายใต้ระบบ ไม่ต่อสู้กับระบบ เพราะเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้พูดถึงเงื่อนไขเชิงโครงสร้างและกลไกของระบบที่ทำให้ชีวิตคนยากลำบาก แต่บอกว่าความยากจนยากลำบากเกิดจากความไม่พอเพียง 2) เศรษฐกิจพอเพียงประคับประคองให้ทุนนิยมอยู่ได้ ให้คนจนเป็นฐานการผลิตสินค้าราคาถูก อย่างน้อยก็หาเลี้ยงตัวเองได้ รัฐไม่ต้องช่วย ทุนไม่ต้องช่วย ทุนนิยมรังเกียจคนจน แต่ไม่รังเกียจความยากจน เพราะความยากจนทำให้ทุนนิยมอยู่รอด ทำให้คนยอมไปขายแรงงานราคาถูกให้ระบบอุตสาหกรรม ทำให้คนยอมขูดรีดแรงงานของตัวเองเพื่อผลิตสิ่งที่ขายได้ต่ำกว่าต้นทุน เช่น ข้าว


ถ้าเราไม่สร้างเรื่องเล่าแบบเหมารวม จะทำให้เราเห็นประเด็นเหล่านี้ชัดเจนขึ้น ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว อยากเห็นการเลื่อนไหล การขอยืม การปล้นนิยามของเศรษฐกิจพอเพียงจากฝ่ายธรรมะเพื่อเอาไปใช้ มากกว่าตรึงไว้กับภาพเรื่องเล่าเหมารวม


สุดท้าย สิ่งที่เห็นจากบทความคือ ความขัดกันของตรรกะและปฏิบัติการของเศรษฐกิจพอเพียง ในทางตรรกะ ด้านหนึ่ง เศรษฐกิจพอเพียงกล่าวโทษระบบทุนนิยมที่ไม่เป็นธรรม อีกด้านหนึ่ง ยุยงให้คนจนปรับปรุงตัวเองโดยไม่ต้องแตะต้องระบบ ในทางปฏิบัติการของรัฐ ด้านหนึ่งบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น อีกด้านหนึ่ง บอกว่าเราต้องรณรงค์สิ่งนี้ในท้องถิ่น โดยคนที่ไปรณรงค์เป็นคนชั้นกลางรวมทั้งคนชั้นสูง


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net