Skip to main content
sharethis

ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเสนอให้มีการแก้มติ ครม.เมื่อวันที่ 3 เม.ย.44 ที่ห้ามปลูกพืชตัดแต่งทางพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ในแปลงทดลองแบบเปิดในระดับไร่นา ซึ่งจะมีการพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้ มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ (Earthsafe Foundation) สมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และเครือข่ายธุรกิจปลอดจีเอ็มโอ ร่วมแถลงข่าวกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. โดยก่อนการแถลงข่าว มีการบรรยายเรื่อง "ประสบการณ์จากสหรัฐอเมริกา : จีเอ็มโอกับความเสี่ยงทางสุขภาพ และหายนะทางเศรษฐกิจ" โดย เจฟฟรี สมิทธ์ ผู้อำนวยการของ Institute for Responsible Technology ซึ่งได้ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายของจีเอ็มโอต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (ติดตามได้ที่นี่เร็วๆ นี้)


 


 


 


 


วิฑูรย์ ปัญญากุล-ชยาภรณ์ วัฒนศิริ-วัลลภ พิชญ์พงศ์ศา


 


 


จี้ออกมาตรการป้องกันก่อน ค่อยอนุมัติทดลอง


วิฑูรย์ ปัญญากุล จากกรีนเน็ท กล่าวว่า เป็นห่วงปัญหาการปนเปื้อนในการทดลองระดับไร่นา โดยยกตัวอย่างประเทศอื่นๆ ที่มีการพัฒนาความรู้ทำการทดลองและป้องกันการปนเปื้อนมาก่อนหน้านี้ว่า ก็ยังพบปัญหาปนเปื้อน รวมทั้งที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปัญหาวัวหายแล้วล้อมคอกมาหลายครั้ง ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรมีการเตรียมพร้อมมากกว่านี้ หากจะอนุญาตให้มีการทดลอง โดยควรมีมาตรการป้องกันที่ชัดเจนและควรรับฟังข้อมูลและประสบการณ์จากประเทศอื่นๆ ด้วย


 


วิฑูรย์กล่าวว่า จีเอ็มโอต่างกับสารเคมีตรงที่ว่า สารเคมีเมื่อใช้มันจะค่อยๆ ย่อยสลายไป แต่จีเอ็มโอมันไม่หายไปเอง แต่กลับขยายตัวด้วย ถ้าพลาดหนึ่งครั้งไม่ใช่จบแค่ตรงนั้น แต่จะสืบเนื่องไปถึงลูกหลาน ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องความมั่นใจ เรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพ  


 


ทั้งนี้ วิฑูรย์ ยืนยันว่า ไม่เห็นเหตุผลเพียงพอที่จะรีบเร่งอนุมัติ เพราะหากรีบแล้วเกิดผลกระทบ ที่สำคัญ รัฐบาลชุดนี้ยังไม่มีความชอบธรรม เนื่องจากไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งอีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะมีการเลือกตั้งใหม่ จึงไม่ควรจะตัดสินใจในเรื่องที่จะกระทบกับประวัติศาสตร์การเกษตรของประเทศขนาดนี้


 


 


แค่ทดลองจีเอ็มโอ ก็กระทบภาคส่งออกแล้ว


ด้านวัลลภ พิชญ์พงศ์ศา นายกสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลมีมติให้มีการทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นา ภาคการส่งออกจะได้รับผลกระทบ โดยเมื่อข่าวไปถึงหูประเทศผู้นำเข้าสินค้า ประเทศไทยจะถูกจัดอยู่ในประเทศที่มีความเสี่ยงทันที


 


วัลลภ กล่าวว่า บางคนอาจมองว่าจีเอ็มโอขายให้สหรัฐฯ ได้ แต่ปัจจุบันมีข้อมูลว่า คนในสหรัฐอเมริกาก็เริ่มไม่รับอาหารที่มาจากจากพืชจีเอ็มโอมากขึ้น รวมทั้งมีการรณรงค์ไม่เอาจีเอ็มโอมากขึ้นด้วย  เศรษฐกิจสหรัฐฯ เองก็ไม่ดี ดอลลาร์อ่อน เงินบาทแข็งค่า การส่งออกไปสหรัฐฯ จึงยากขึ้น ขณะที่ตลาดยุโรปเป็นตลาดที่มีความหวังของการส่งออกไทย แต่ตลาดยุโรปนั้นไม่รับอาหารจีเอ็มโอ  ดังนั้น การที่จะมีมติให้มีการทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นา จะยิ่งซ้ำเติมการส่งออกของไทย ที่ไม่ดีอยู่แล้วให้แย่ลงอีก


 


โดยเขาได้ยกตัวอย่างว่า ที่ผ่านมา ข้าวจีเอ็มโอในสหรัฐอเมริกานั้นเสียตลาดในสหภาพยุโรป เพราะตลาดยุโรปไม่รับอาหารจีเอ็มโอ นี่จึงเป็นอานิสงส์ให้ผู้ส่งออกข้าวไทย ส่งออกข้าวไปทดแทนสินค้าของสหรัฐได้ เพราะฉะนั้น การที่เราไม่มีพืชจีเอ็มโอจึงเป็นจุดแข็งของประเทศ


 


เขากล่าวว่า กระทรวงเกษตรพยายามให้มีการทดลองวิจัย แต่ที่ผ่านมาการวิจัยถูกมองแบบแยกส่วน จะมองแค่มุมของการทดลองวิทยาศาสตร์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่าการตัดสินใจโดยไม่มีข้อมูลเพียงพอและรอบด้าน จะเกิดผลเสียให้ประเทศมากกว่าได้


 


 


ปนเปื้อนคราวก่อนยังไม่มีการตรวจสอบ


ชยาภรณ์ วัฒนศิริ ประธานกรรมการบริหารสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ กล่าวถึงกรณีการปนเปื้อนในมะละกอที่ผ่านมาว่า ยังไม่มีการสืบหาสาเหตุ แนวทางการป้องกันสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต หรือเสนอต่อสาธารณะว่าควรป้องกันอย่างไร


 


ที่ผ่านมา รัฐบาลทดลองในสถานีทดลองหรือแล็บแล้ว ยังไม่สามารถควบคุมดูแลได้รัดกุม แม้จะบอกว่าเป็นอุบัติเหตุก็ตาม แต่ถ้ายังไม่มีมาตรการรองรับให้คนเชื่อมั่นได้ว่า ดูแลได้อย่างจริงจังในระบบที่เล็กกว่า ก็คงยากจะเชื่อว่าดูแลได้ในระบบที่เปิดกว้างอย่างระบบไร่นา


 


ทั้งนี้ หากจะทดลอง มีคนกล่าวว่า ควรทำให้ชัดเจนมากขึ้น คนที่มีอำนาจตัดสินใจน่าจะรู้ด้วยตัวเอง โดยทดลองทานเองได้ ลูกหลานตัวเองทานแล้วปลอดภัย เพื่อจะมั่นใจว่าลูกหลานคนไทยทานแล้วจะปลอดภัยจริงๆ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net