อ่านเอกสารที่ ศธ 0515(1) 9658 อ่านความคิดผลักดัน มช.ออกนอกระบบของ นายกสภา มช.และคณะ

ผู้สื่อข่าวเฉพาะกิจ รายงาน

 

อย่าได้แปลกใจที่ "ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. …" เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระหว่างการประชุมเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และใช้เวลาไม่นานก็ผ่านวาระรับหลักการด้วยคะแนน 36 คะแนน

 

อย่าได้แปลกใจถึงความรีบร้อนในการพิจารณากฎหมายของ สนช. เพราะเป็นวาระสุดท้ายของ สนช. แล้ว ก่อนที่จะมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม นี้ และอย่าได้แปลกใจที่จู่ๆ 3 พ.ร.บ.มหาวิทยาลัย ที่ถูกรัฐบาลชะลอไปแล้วอย่าง ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร และร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จะกลับมาพิจารณาอีก

 

โปรดอ่านเอกสาร "ที่ ศธ 0515(1) 9658 วันที่ 17 ตุลาคม 2550 เรื่อง สรุปมติการประชุมสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่ 8/2550" ซึ่งประชุมไปเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2550 ที่ผ่านมา เพื่อทำความเข้าใจว่าเหตุใด พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งถูกรัฐบาลชะลอไปแล้วจึงถูกนำกลับมาพิจารณาอีก (ดาวน์โหลดเอกสารทั้งหมดได้ที่นี่ [1] หรือ [2])

 

 

000

 

 

 

เอกสาร "ที่ ศธ 0515(1) 9658" ดังกล่าว ผศ.ดร.พงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม รองอธิการบดี ในฐานะเลขานุการสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เสนอมาเพื่อแจ้งสรุปมติการประชุมมายังอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ ซึ่งอธิการบดีผู้นี้ยังดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วย

 

โดยเนื้อหาในเอกสาร "ที่ ศธ 0515(1) 9658" ดังกล่าว สะท้อนความปรารถนาอันแรงกล้าของผู้บริหารมหาวิทยาลัยและสมาชิกสภามหาวิทยาลัย ในการที่จะผลักดันให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปลี่ยนผ่านเป็น "มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ" ซึ่งความปรารถนานี้สะท้อนออกมาอย่างมีนัยยะสำคัญในเอกสารดังกล่าว

 

โดยในวาระที่ 2 เรื่องพิจารณา หน้า 4 ข้อ 2.3 ความคืบหน้าในการพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

 

อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ขอหารือที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยในเรื่องการพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

 

อธิการบดีให้เหตุผลในการหารือว่า

 

"เนื่องจากในขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อปรับเปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับแล้ว 3 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยทักษิณ และร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ยังมีร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับที่ยังรอบรรจุระเบียบวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลได้ขอชะลอไว้ 3 มหาวิทยาลัย คือ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร และร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งน่าจะนำร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อจะพิจารณาดำเนินการตามขึ้นตอนต่อไปในสมัยรัฐบาลชุดนี้ได้ ใคร่ขอเรียนหารือสภามหาวิทยาลัยว่าจะมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งหากสภามหาวิทยาลัยมีความเห็นว่าควรจะผลักดันให้มีการนำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็จำเป็นต้องเชิญประชุมคณะทำงานรับฟังข้อคิดเห็นฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาอาจารย์ สภาข้าราชการและลูกจ้าง สภานักศึกษา จึงขอเสนอสภามหาวิทยาลัยเพื่อรับฟังข้อคิดเห็น"

 

คือรัฐบาลขอชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัย 3 ฉบับ รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอหารือสภามหาวิทยาลัยว่าควรผลักดันเข้าสู่ สนช. หรือไม่

 

โดยที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยพิจารณาแล้วมีความเห็นและข้อเสนอแนะ 7 ข้อ โดยเนื้อหาเป็นการอธิบายความจำเป็นของฝ่ายที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยในการเปลี่ยนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐคือ

 

"(1) การพิจารณากฎหมายโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งเป็นสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ส่วนใหญ่จะไม่มีปัญหาในขั้นตอนการพิจารณา ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า มหาวิทยาลัยมีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐหรือไม่ หากเห็นว่าจำเป็นก็ต้องเร่งผลักดันให้มีการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

(2) ปัญหาการปรับเปลี่ยนสถานภาพของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ยังไม่เรียบร้อยจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ มีสาเหตุมาจากความไม่ชัดเจนและไม่แน่นอนของรัฐบาลแต่ละยุคสมัย และปัจจุบันก็มีความเห็นคัดค้านการปรับเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ทั้งจากคณาจารย์และนักศึกษาบางกลุ่ม ซึ่งได้เคยมีการเสนอความเห็นว่า ถ้าจะให้มหาวิทยาลัยคงสภาพเป็นมหาวิทยาลัยในระบบราชการแต่ให้มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารการเงินและการบริหารงานบุคคลให้มหาวิทยาลัยสามารถออกระเบียบและหลักเกณฑ์ได้เองโดยไม่ต้องใช้ระเบียบหรือหลักเกณฑ์กลางของทางราชการ น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสม

(3) ปัญหาอุปสรรคในการบริหารการเงินในปัจจุบันรัฐได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ที่เป็นปัญหาและอุปสรรคในการบริหารงานไปแล้วค่อนข้างมาก ส่วนการกำกับดูแลก็อยู่ที่หน่วยปฏิบัติมากพอสมควร ประเด็นปัญหาน่าจะอยู่ที่การบริหารจัดการเพื่อนำพาไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย

(4) ขณะนี้มีประเด็นที่น่าสนใจและควรจะได้ติดตามศึกษา คือ กรณีของมหาวิทยาลัยมหิดลและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดลได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว และจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาในไม่ช้านี้ ส่วนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังเป็นมหาวิทยาลัยในระบบราชการ แต่ได้วางแผนการเงินเพื่อหารายได้จากทรัพย์สินให้ได้ประมาณ 7,000 ล้านบาท ในระยะ 10 ปี ซึ่งการบริหารการเงิน และการดำเนินงานของทั้งสองมหาวิทยาลัยควรเป็นกรณีตัวอย่างที่ศึกษาต่อไปในอนาคต

(5) ประสบการณ์จากมหาวิทยาลัยในระบบราชการที่ปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ปรากฏว่า การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐจะมีความคล่องตัวในการดำเนินงานมากกว่าการเป็นมหาวิทยาลัยในระบบราชการ โดยได้รับงบประมาณจากรัฐไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่เดิม มีประเด็นที่สำคัญคือ เรื่องการจัดสรรงบประมาณในรูปของเงินอุดหนุน (Block Grant) และจะมีปัญหาในการบริหารอีกประการหนึ่งคือ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยยังยึดติดกับระบบราชการ เนื่องจากอยู่ในระบบราชการมานาน มหาวิทยาลัยอาจจะต้องส่งอาจารย์ที่สนใจในการบริหารแบบใหม่ไปฝึกอบรมเกี่ยวกับการบริหารจัดการสมัยใหม่ในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยต้องมีสำนักงานตรวจสอบและคณะกรรมการการตรวจสอบที่เข้มแข็ง

(6) เมื่อเกิดสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อ พ.ศ. 2540 รัฐบาลได้มีมาตรการห้ามมหาวิทยาลัยตั้งส่วนราชการใหม่ และห้ามบรรจุข้าราชการใหม่ สำหรับมหาวิทยาลัยที่มีความจำเป็นจึงได้ปรับเปลี่ยนมาตั้งคณะในกำกับและหน่วยงานในกำกับ ในเรื่องการบริหารงานบุคคลก็เปลี่ยนการบรรจุพนักงานมหาวิทยาลัยแทนการบรรจุข้าราชการ ซึ่งปัจจุบันสถานภาพของพนักงานเหล่านี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับ การที่รัฐบาลใช้มาตรการเหล่านี้กับมหาวิทยาลัยก็เสมือนการบีบบังคับให้มหาวิทยาลัยต้องปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับโดยปริยาย ขณะนี้มหาวิทยาลัยมีความยากลำบากในการบริหาร เพราะต้องสร้างระบบบริหารสำหรับหน่วยงานที่ไม่เป็นส่วนราชการและพนักงานมหาวิทยาลัย แต่ถ้าปรับเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับแล้วระบบการบริหารก็จะใช้ระบบเดียว

(7) สำหรับเรื่องการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนในมหาวิทยาลัยในกำกับที่เคยเป็นมหาวิทยาลัยในระบบราชการมาก่อนนั้น มีขั้นตอนที่จะต้องพิจารณา คือ

(7.1) เมื่อมหาวิทยาลัยปรับเปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับแล้วจะมีผลกระทบด้านงบประมาณ ซึ่งจะต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้ได้อีกจำนวนหนึ่งสำหรับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่ปรับเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย

(7.2) มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะต้องกำหนดกรอบเงินเดือนสำหรับพนักงานและลูกจ้างของตนเองขึ้นมา ซึ่งต้องใช้เงินนอกงบประมาณมาสมทบด้วย และจัดทำบัญชีเงินเดือนสำหรับบุคลากรประเภทต่างๆ เพื่อใช้ในการจัดสรรงบประมาณสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของมหาวิทยาลัย

(7.3) สำนักงบประมาณและหน่วยานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกับมหาวิทยาลัยจัดทำบัญชีเงินเดือนที่เป็นมาตรฐานที่เป็นธรรม และสอดคล้องกับเกณฑ์ค่าใช้จ่ายต่อหัวในการผลิตบัณฑิต

 

ท้ายที่สุดนายกสภามหาวิทยาลัยจึงสรุปว่า

 

เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปแล้ว การสอบถามในครั้งนี้เพื่อว่าจะเร่งให้มีการดำเนินการนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือจะให้เป็นกลไกปกติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งจากการที่ได้รับฟังความเห็นของกรรมการสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้วเห็นว่า ควรเร่งดำเนินการให้นำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป สำหรับในส่วนของมหาวิทยาลัยก็ต้องเตรียมการในการวางระบบเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนสถานภาพต่อไป

 

 

000

 

สรุปได้ว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย ชงให้ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยพิจารณานำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับที่รัฐบาลขอชะลอเอาไว้ กลับเข้าสู่กระบวนการเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อ "พิจารณาดำเนินการตามขึ้นตอนต่อไปในสมัยรัฐบาลชุดนี้ให้ได้"

 

โดยที่มีความเห็นของ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรีในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับลูกต่อจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่กล่าวว่า "ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปแล้ว" ดังนั้นจึง "ควรเร่งดำเนินการให้นำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป"

 

สะท้อนว่าทัศนะของนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เอาความเห็นชอบของ "สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่" เป็นที่ตั้ง โดยที่พวกท่านไม่ทราบหรืออย่างไรว่ามีการเห็นคัดค้านการปรับเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ทั้งจากคณาจารย์และนักศึกษา ที่ดำรงมาอย่างยาวนานในสถาบันแห่งนี้

 

ดังนั้นอย่าได้แปลกใจ เมื่อ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านขั้นตอนรับหลักการของ สนช. ไปแล้ว เมื่อเกิดแรงต้านของนักศึกษา มีคนไปยื่นหนังสือประท้วง ให้ถอน พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีเมื่อครั้งเยือนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้บริหารจึงยอมจัดเวทีแบบลูบหน้าปะจมูกเพื่อชี้แจงเรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบกับนักศึกษา จนถูก นศ.สะท้อนกลับไปแรงๆ ว่าลักไก่ส่งเรื่องเข้า สนช. ไปแล้ว กลับมารับฟังความคิดเห็นพอเป็นพิธีเพื่ออะไร

 

ที่แย่กว่านั้น สะท้อนว่าทัศนะของที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังยอมรับความชอบธรรมของ สนช. ในการพิจารณากฎหมาย ทั้งที่ สนช. เป็นสภาที่มาจากแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ที่แย่กว่านั้นคือหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เมื่อ 24 ส.ค.2550 และบัดนี้เหลือเวลาเพียงไม่ถึง 30 วันที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 23 ธ.ค. 2550 สนช. ซึ่งการประชุมแต่ละครั้งเหลือสมาชิกร่อยหรอ  กลับเร่งรัดพิจารณาออกกฎหมายที่สำคัญอย่างเร่งรีบ โดยปราศจากความรับผิดชอบต่อประชาชนและต่อรัฐธรรมนูญ ดังจะเห็นการนัดประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 21-22 พ.ย. ที่ผ่านมาโดยมีวาระการพิจารณากฎหมายถึง 42 ฉบับ แบ่งเป็นกฎหมายเร่งด่วน 19 ฉบับ และกฎหมายทั่วไป 23 ฉบับ

 

โดยที่ทั้งสภาเหลือผู้ประชุมไม่ถึง 100 คนจากทั้งหมด 241 คน แม้แต่ประธาน สนช. อย่างนายมีชัย ฤชุพันธ์ ก็ไม่อยู่ เพราะเดินทางไปราชการที่ประเทศอิตาลี ส่วน น.ส.พจนีย์ ธนวรานิช รองประธานคนที่ 2 ก็เดินทางไปราชการที่ประเทศจีน มีเพียง พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ รองประธานคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม

 

และ 1 ในกฎหมาย 42 ฉบับที่มีการพิจารณาใน 2 วันรวดดังกล่าวก็คือ การรับหลักการพิจารณา "พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ..." ด้วยคะแนน 36 เสียง!!

 

สะท้อนความรีบร้อนของทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ความรีบร้อนของที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสะท้อนความรีบร้อนของ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรีในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่รีบผลักกฎหมายเข้าไปพิจารณาใน สนช. ซึ่งขณะนี้ สนช.กำลังทำสถิติสภาที่ผ่านกฎหมายจำนวนมาก ด้วยความเร็วที่สุดในโลก โดยไม่คำนึงว่าประชาชนจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง จากการรีบร้อนผ่านกฎหมายด้วยคนจำพวกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และผ่านกฎหมายด้วยสปีดแบบนี้

 

ชนิดที่แม้แต่นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. ยังบอกว่า "ไม่ไหวจริงๆ กฎหมายมาส่งที่บ้านเป็นลังๆ เกิดมาไม่เคยเห็นมาก่อน"

 

 

000

 

นอกจาก เรื่องพิจารณา ผลักดันร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติของสภามหาวิทยาลัยแล้ว ในเอกสาร "ที่ ศธ 0515(1) 9658" ยังมีหลายเรื่องที่สะท้อนว่านี่เป็นทิศทาง เป็นแนวโน้มของการบริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นแนวโน้มของการ "ออกนอกระบบ" เช่น

 

ใน เรื่องที่แจ้งให้ทราบ ข้อ 1.5 สรุปผลการประชุมคณะที่ปรึกษาผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (กรุงเทพมหานคร) ครั้งที่ 1/2550 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2550

 

ซึ่งการประชุมดังกล่าว จัดขึ้นที่ ห้องประชุม 2 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กรุงเทพฯ โดยมี ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุม โดยมีคณะที่ปรึกษาเข้าร่วมประชุมหลายท่าน อาทิ สุเทพ เทือกสุบรรณ, สุภาพ คลี่ขจาย, รศ.ประเสริฐ ศิลพิพัฒน์, พงษ์ วิเศษไพฑูรย์, พีระพงศ์ สาคริก, นิสากร ทัดเทียมรมย์, ดร.สิงห์ ตั้งเจริญชัยชนะ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2550 [ที่มา: งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สิงหาคม 2550 หน้า 2 http://www.cr.chiangmai.ac.th/2550/255008/255008-002.html]

 

ซึ่งส่วนหนึ่งของข้อเสนอแนะต่อการบริหารงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คือ

 

ข้อ (1) (ด้านการผลิตบัณฑิต) 1.2 หลักสูตรการศึกษาควรเน้นในรูปสหกิจศึกษาให้มากขึ้น และหลักสูตรใดที่ล้าสมัยหรือไม่เป็นที่ต้องการของตลาดควรยุบเลิก เพื่อนำทรัพยากร/บุคลากรไปใช้ในสาขาอื่นให้เป็นประโยชน์มากที่สุด

 

ข้อ (2) (ด้านวิชาการและงานวิจัย) 2.2 มหาวิทยาลัยควรทำการวิจัยในเรื่องที่เป็นประโยชน์ ตรงตามความต้องการของตลาด หรือผู้บริโภค รวมทั้งทำการวิจัยเพื่อทดแทนการนำเข้า โดยอาจทำโครงการวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้ประโยชน์และตรงความต้องการจริงๆ

 

ข้อ (3) ด้านการบริหารจัดการ 3.2 ควรส่งเสริมสนับสนุนให้คณะ/องค์กรของมหาวิทยาลัยหารายได้เพิ่มเติม เช่น การนำผลงานวิจัยมาสนับสนุนหารายได้ให้คณะ/หน่วยงาน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระงบประมาณจากส่วนกลางของมหาวิทยาลัย

และ 3.3 มหาวิทยาลัยสามารถระดมทุนเพิ่มเติมจากศิษย์เก่า โดยเน้นศิษย์เก่าที่มีศักยภาพและไม่มีทายาท ที่ต้องการบริจาคทรัพย์สินให้กับสถาบันที่ตนเองศึกษา (เมื่อเสียชีวิต) โดยมหาวิทยาลัยต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับศิษย์เก่า รวมทั้งมีการให้เกียรติ เชิดชูเกียรติศิษย์เก่าที่มีผลงานดีเด่น และทำประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัย

 

ซึ่งข้อเสนอของ คณะที่ปรึกษาผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (กรุงเทพมหานคร) ในเรื่องการศึกษาตามความต้องการของตลาด การให้มหาวิทยาลัยหารายได้เพิ่มเติม ล้วนขานรับกันเป็นอย่างดี กับแนวทางของ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัยกับพวก ที่ต้องการผลักดันให้รีบพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในช่วงโค้งสุดท้ายของ สนช. โดยไม่ฟังเสียงต้านของนักศึกษาและคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย

 

หาก พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผ่าน นี่คงเป็นเกียรติประวัติอันยิ่งใหญ่ในชีวิตของ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัยกับพวก ในการผลักดันกฎหมาย ให้เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. สภาคุณธรรมที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ที่กำลังพิจารณากฎหมายเป็นลังๆ ด้วยสปีดอย่างเมามัน ในช่วงโค้งสุดท้ายนี้???!!!

 





รายชื่อกรรมการสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชุดปัจจุบัน

ที่มา: มติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย, http://intra.chiangmai.ac.th/~general/Preeda/CMUcouncil.pdf

 

นายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เกษม วัฒนชัย)

อุปนายกสภามหาวิทยาลัย (ศาสตราจารย์ นาวาอากาศเอกตะวัน กังวานพงศ์)

ประธานกรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (นายภาณุพงศ์ ศักดาทร)

อธิการบดี (ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์)

ประธานสภาอาจารย์ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปฐม ปฐมธนพงศ์)

ศาสตราจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช

นายดุสิต ศิริวรรณ

นายธีระชัย เชมนะสิริ

นายประวิทย์ อัครชิโนเรศ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปิยะวัติ บุญ-หลง

ดร.นิพนธ์ ตุวานนท์

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร

นายจรัญ ภักดีธนากุล

นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา

นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

ดร.สุชาติ เมืองแก้ว

นายอนันต์ ลี้ตระกูล

นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์

นายสันทัด โรจนสุนทร

 

กรรมการสภามหาวิทยาลัยจากผู้ดำรงตำแหน่งบริหาร

รศ.วัชระ รุจิเวชพงศธร รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร สำนักงานอธิการบดี

รศ.ดร.บุญเสริม ชีวะอิสระกุล คณบดีคณะเกษตรศาสตร์

รศ.ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์

นางอรวรรณ ทิตย์วรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์

รศ.ดร.เสริมเกียรติ จอมจันทร์ยอง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์

รศ.ดร.ทรงศักดิ์ ศรีบุญจิตต์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์

รศ.เศกสิน ศรีวัฒนานุกุลกิจ คณบดีคณะสังคมศาสตร์

ผศ.อรรณพ คุณพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักทะเบียนและประมวลผล

ดร.เจษฎา เกษมเศรษฐ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

กรรมการสภามหาวิทยาลัยจากคณาจารย์ประจำ

อ.นิตยา สุวรรณรัตน์ คณะเกษตรศาสตร์

ผศ.ชนินทร์ สิงห์รุ่งเรือง คณะบริหารธุรกิจ

รศ.ธนารักษ์ สุวรรณประพิศ คณะพยาบาลศาสตร์

รศ.วัฒนา นาวาเจริญ คณะแพทยศาสตร์

รศ.ดร.อรัญญา มโนสร้อย คณะเภสัชศาสตร์

รศ.ไกรศร จิตธรธรรม คณะวิทยาศาสตร์

รศ.กัญญา กุนทีกาญจน์ คณะเศรษฐศาสตร์

ศ.ดร.มนัส สุวรรณ คณะสังคมศาสตร์

รศ.นิวัฒน์ สินสุวงศ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์

เลขานุการสภามหาวิทยาลัย (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม) รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ

 

อ้างอิง

มติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่ 8/2550, http://intra.chiangmai.ac.th/~general/Preeda/cmu8_50.pdf

 

สนใจอ่านเพิ่มเติม

มติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทุกครั้ง, http://intra.chiangmai.ac.th/~general/Preeda/preeda7.htm

 

ข่าวประชาไทย้อนหลัง

สนช.ผ่านวาระแรกดัน "ลาดกระบัง-มช." ออกนอกระบบ, ประชาไท, 22 พ.ย. 2550

สุรยุทธ์เมินพบนศ.มช.ยื่นหนังสือระงับ พ.ร.บ.ม.นอกระบบ, ประชาไท, 23 พ.ย. 2550

นศ.มช.ตั้งเวทีอภิปราย ถาม-ตอบ พ.ร.บ. ม.นอกระบบ ผู้บริหารยันไม่เกี่ยวขึ้นค่าเทอม, ประชาไท, 24 พ.ย. 2550

สภา อ.จุฬาฯ พิพากษา ม.นอกระบบวันนี้ - ส่วนพุธนี้คิวผู้บริหาร มช.เปิดเวทีชี้แจง, ประชาไท, 27 พ.ย. 2550

นศ.มช.เดินสายตามหอพักกระตุ้นการรับรู้เรื่อง ม.นอกระบบ, ประชาไท, 28 พ.ย. 2550

นิสิต ม.นเรศวร ประท้วงมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเงียบกริบ ไม่มีประชาพิจารณ์, ประชาไท, 28 พ.ย. 2550

บทความ: สรุปบทเรียนการต่อสู้คัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบที่ผ่านมา, โดยเก่งกิจ กิติเรียงลาภ, ประชาไท, 29 พ.ย. 2550

"คุณตอบไม่ตรงคำถามเรา หรือเราถามไม่ตรงคำตอบคุณ" เสียง นศ. มช. ถึงเวทีผู้บริหาร เรื่อง ม.นอกระบบ, ประชาไท, 30 พ.ย. 2550

 

 

เอกสารประกอบ

เอกสาร ศธ 0515(1) 9658 สรุปมติการประชุมสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่ 8/2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท