Skip to main content
sharethis



เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 2 ธันวาคม 2550 ที่โรงแรมโกเดิ้ล คราวน์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เครือข่ายรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ ได้แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลาและสตูล หรือ SB-Polls (Southern Borders Polls) ครั้งที่ 1 นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะประธานเครือข่ายฯ ผู้ร่วมแถลงประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ คณบดี คณะวิทยาการจัดการ มอ. อาจารย์อนุ เจริญวงศ์ระยับ อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ มอ. ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา อ.ศิริลักษณ์ คัมภิรานนท์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา


 


การสำรวจประชามติการเลือกตั้งครั้งนี้ อาศัยวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์ด้วยการสุ่มตัวอย่างประชากรตัวอย่างจากประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งจากทั้ง 5 จังหวัด ทุกเขตเลือกตั้ง ลงไปถึงอำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน โดยเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 18 ปีขึ้นไป จังหวัดละ 600 คน รวมประมาณ 2,989 ตัวอย่าง


อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ทำให้การเก็บข้อมูลเป็นเรื่องอันตรายและยากลำบากเป็นพิเศษ SB Polls จึงดำเนินการเก็บข้อมูลภาคสนามในระดับชุมชนและหมู่บ้านเป้าหมายโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยที่มีภูมิลำเนาหรือบ้านเรือนตั้งอยู่ในพื้นที่โดยตรงได้แทบทุกจุด ถึง 2 ครั้ง คือ ระหว่างวันที่ 19-25 พฤศจิกายน 2550 และวันที่ 1-7 ธันวาคม 2550 รายงานผลในครั้งนี้เป็นผลการเก็บข้อมูลครั้งที่ 1


 


ผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 2,989 ชุด ประกอบด้วยเพศชายและเพศหญิงอย่างครึ่ง อายุระหว่าง 18 ถึง 93 ปี ส่วนมากมีอาชีพเกษตร ประมงและรับจ้าง ประมาณร้อยละ 42.2 อาชีพค้าขายหรือธุรกิจส่วนตัวร้อยละ 15.6 รับราชการ รัฐวิสาหกิจและพนักงานรวมกันประมาณร้อยละ 9.9 นักเรียนและนักศึกษาร้อยละ 12.8 โดยเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 38.8 อิสลามร้อยละ 60.6


 


ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งคือ กลุ่มตัวอย่างผู้ตอบบอกว่าตัดสินใจจะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ถึงร้อยละ 95.5 ที่ยังไม่แน่ใจว่าจะไปหรือไม่จำนวนร้อยละ 3.4 ที่บอกว่าไม่ไปเลือกตั้งจำนวนน้อยมากคือร้อยละ 0.9 เท่านั้น แสดงให้เห็นแนวโน้มการตื่นตัวทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้ค่อนข้างสูงมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


อยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี ?


คำถามที่น่าสนใจเป็นอย่างมากคือประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด ปรากฏว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้คะแนนนิยมในการเป็นนายกรัฐมนตรีสูงสุดถึงร้อยละ 65.5 รองลงมาคือนายชวน หลีกภัย ร้อยละ 11.1 ซึ่งห่างจากอันดับที่ 1 อย่างท่วมท้น


 


ที่น่าสนใจ คือ คะแนนนิยมอันดับสามคือ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน อดีตหัวหน้าคณะมนครความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้คะแนนนิยมร้อยละ 5.2 ขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้คะแนนนิยมตามมาร้อยละ 4.6 นายบรรหาร ศิลปอาชา ร้อยละ 3.2 ส่วนนายสมัคร สุนทรเวช น้อยที่สุดคือร้อยละ 2.4


 


ถ้านับคะแนนเฉพาะกลุ่มสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือปัตตานี ยะลาและนราธิวาส นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็ยังมีคะแนนนำสูงสุด แต่ต่างกันเล็กน้อย โดยนายอภิสิทธิ์ได้ร้อยละ 56.5 นายชวน หลีกภัย ได้ร้อยละ 7.7 พลเอกสนธิ บุณยรัตกลินได้ร้อยละ 6.9 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ร้อยละ 4.9 นายบรรหาร ศิลปอาชาได้ร้อยละ 4.2 นายสมัคร สุนทรเวช ได้ร้อยละ 3


 



 


ความนิยมในพรรคการเมือง


เมื่อถามว่า "ถ้าสมมุติว่าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง" ท่านจะเลือกพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้งแบบสัดส่วน ปรากฏว่าพรรคการเมืองที่ถูกเลือกมากที่สุด คือ พรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนนร้อยละ 58.08 อันดับที่สอง พรรคพลังประชาชนได้ร้อยละ 6.52 อันดับแรกกับอันดับที่สองมีความห่างกันเป็นอย่างมาก


อันดับที่สาม คือ พรรคเพื่อแผ่นดินได้ร้อยละ 3.35 ส่วนพรรคชาติไทยได้คะแนนร้อยละ 2.41 มาเป็นอันดับที่สี่ ที่เหลือคือพรรครวมใจไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย และอื่นๆได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 1


เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อดูเฉพาะในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้คือปัตตานี ยะลาและนราธิวาส คะแนนจะต่างกันอยู่บ้าง แต่ยังคงมีลักษณะเดียวกัน คือพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนในสามจังหวัดร้อยละ 48.42 ซึ่งต่ำกว่าทั้งพื้นที่ห้าจังหวัด แต่ยังคงมาเป็นที่หนึ่ง


 


พรรคพลังประชาชนได้ร้อยละ 7.71 มาเป็นอันดับสองเช่นกัน พรรคเพื่อแผ่นดินได้อันดับสามคะแนนร้อยละ 5.03 ส่วนพรรคชาติไทยได้ร้อยละ 3.61 เป็นอันดับที่สี่ ส่วนพรรคที่เหลือได้ต่ำกว่าร้อยละ 1


ควรสนใจด้วยว่า คะแนนนิยมที่วิเคราะห์ข้างต้น อยู่บนสมมุติฐานทางวิชาการทำโพลส์ว่า "ถ้าเป็นการเลือกตั้งในวันนี้ ...."  แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ปัจจัยหรือตัวแปรอื่นจะเข้ามาแทรกและเกิดความเปลี่ยนแปลงได้


 


นอกจากนี้ สิ่งที่พึงระวังสำหรับนักเลือกตั้งคือ ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ตอบว่า "ยังไม่ได้ตัดสินใจ" โดยทั้งห้าจังหวัดชายแดนใต้มีผู้ตอบว่า ยังไม่ตัดสินใจในวันนี้ร้อยละ 27.67 ในส่วนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ผู้ที่ตอบว่ายังไม่ตัดสินใจค่อนข้างสูง คือ ร้อยละ 32.31


ดังนั้นในส่วนนี้อาจจะยังเป็นคะแนนเสียงแบบลอยที่สามารถจะแปรเปลี่ยนสถานการณ์ที่เป็นจริงได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับกลไกการหาเสียงในระยะสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง


 


ใครจะได้คะแนนในแบบแบ่งเขต


เมื่อถามประชาชนกลุ่มตัวอย่างว่า สมมุติว่าการเลือกตั้งเป็นวันนี้ในระบบ "แบ่งเขตเลือกตั้ง" ท่านคิดว่าจะเลือกผู้สมัครอย่างไร โดยให้เลือกระหว่างการเลือกทั้งพรรคการเมืองแบบเทเข่งหรือเทกระจาด หรือว่าจะเลือกแบบแยกย่อยเสียงแตกเป็นหลายพรรค


 


คำตอบคือ ทั้งห้าจังหวัดร้อยละ 64.5 บอกว่าจะเลือกทั้งหมดจากพรรคการเมืองเดียว ในขณะที่อีกร้อยละ 9.5 บอกว่าเลือกแบบแบ่งเขตโดยเลือกจากหลายพรรคการเมือง แต่ก็ยังมีผู้ไม่ตัดสินใจอยู่อีกประมาณร้อยละ 23 - 25


 


ในพื้นที่สามจังหวัดคือปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ผู้ที่บอกว่าจะเลือกทั้งหมดจากพรรคการเมืองเดียวมีอยู่ร้อยละ 57.7 จะเลือกจากหลายพรรคมีอยู่ร้อยละ 11.4 ผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจมีอยู่ประมาณร้อยละ 28 - 30


แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มการเลือกในแบบแบ่งเขตนั้นส่วนมากคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนมากน่าจะเลือกทั้งพรรค แต่ก็ยังคงมีตัวแปรอยู่เช่นกัน เพราะผู้ที่บอกว่าจะเลือกจากหลายพรรคและผู้ยังไม่ตัดสินใจในวันนี้มีอยู่ในจำนวนไม่น้อยเช่นกัน


 


ในส่วนของผู้ที่เลือกแบ่งเขตแบบเหมาพรรคเดียวนั้น ในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 52.6 บอกว่าจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนอีกร้อยละ 5.7 เป็นคะแนนของพรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อแผ่นดินได้ร้อยละ 2.4 พรรคชาติไทยได้ร้อยละ 1.2


 


ในสามจังหวัดภาคใต้พรรคประชาธิปัตย์ได้จากแบ่งเขตร้อยละ 42.2 พรรคพลังประชาชนได้ร้อยละ 6.8 และพรรคเพื่อแผ่นดินร้อยละ 3.7


 


ภายใต้ข้อสมมุติฐานว่า ถ้าการเลือกตั้งเป็นวันนี้และคะแนนที่ยังไม่ตัดสินใจมีอยู่จำนวนหนึ่ง การคาดการณ์ขั้นต้นน่าจะเป็นไปได้ว่า ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์อาจจะได้ที่นั่ง สส. แบบแบ่งเขตทั้งหมดในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


แยกเป็นตาราง ดังนี้       


จังหวัดสงขลา  
















































เขตที่ 1


หมายเลข


พรรคการเมือง


คะแนนที่คาดว่าจะได้(ร้อยละ)


15


ประชาธิปัตย์


67.2


13


ประชาธิปัตย์


66.8


14


ประชาธิปัตย์


65.6


เขตที่ 2


 


 


1


ประชาธิปัตย์


73.3


2


ประชาธิปัตย์


72.2


3


ประชาธิปัตย์


71.7


เขตที่ 3


 


 


3


ประชาธิปัตย์


82.7


4


ประชาธิปัตย์


79.3


จังหวัดสตูล
















เขตที่ 1


 


 


4


ประชาธิปัตย์


69.3


3


ประชาธิปัตย์


69.3


จังหวัดปัตตานี




























เขตที่ 1


 


 


5


ประชาธิปัตย์


60.0


6


ประชาธิปัตย์


55.1


เขตที่ 2


 


 


4


ประชาธิปัตย์


43.4


3


ประชาธิปัตย์


39.8


จังหวัดยะลา




















เขตที่ 1


 


 


5


ประชาธิปัตย์


48.5


4


ประชาธิปัตย์


46.7


6


ประชาธิปัตย์


45.4


จังหวัดนราธิวาส
































เขตที่ 1


 


 


19


ประชาธิปัตย์


48.4


20


ประชาธิปัตย์


45.3


21


ประชาธิปัตย์


39.0


เขตที่ 2


 


 


7


ประชาธิปัตย์


35.7


8


ประชาธิปัตย์


34.3


 


 


คุณสมบัติที่พึงประสงค์ของนักการเมือง


คุณสมบัติส่วนตัวที่ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้คิดว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ประชาชนเลือกผู้แทนราษฏร โดยเฉพาะในระบบแบ่งเขต คือ อันดับแรก การพูดจริงและทำจริง (ร้อยละ 33.9) คุณสมบัติที่สองก็คือ ความซื่อสัตย์และคุณธรรม (ร้อยละ 31.7) การมีวิสัยทัศน์มองการณ์ไกลก็ถูกเลือกเป็นลำดับที่สาม (ร้อยละ 7.3)


 


ส่วนสิ่งที่ประชาชนไม่ชอบมากที่สุดในตัวนักการเมืองคือ อันดับแรก โกงกิน คอรัปชั่น (ร้อยละ 40.6) ส่วนอันดับที่สองก็คือ การซื้อเสียง (ร้อยละ 17.3) อันดับที่สามก็คือการไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน (ร้อยละ 16.0)


 


คุณสมบัติที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ที่ประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้มองนักการเมืองในเขตเลือกตั้งของตน อาจจะเป็นตัวช่วยให้นักการเมืองที่กำลังหาเสียงใช้ในการปรับปรุงตัวเองเพื่อให้สามารถเอาชนะจิตใจประชาชนและ "เปลี่ยนความนิยมหรือเสียงให้เป็นคะแนน" ในวันเลือกตั้งจริงๆได้ในที่สุด


 


การเลือกตั้งและประชาธิปไตยกับความไม่สงบในชายแดนใต้


ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ต่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ประชาชนมีความคาดหวังอย่างไรต่อการเลือกตั้งและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งว่า จะช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ได้หรือไม่ กล่าวในอีกแง่หนึ่งคือ ประชาชนเห็นว่าการเลือกตั้งและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงภาคใต้หรือไม่ ?


 


ผู้ตอบคำถามข้อนี้ที่มองว่า รัฐบาลประชาธิปไตยทำให้แก้ปัญหาได้ดีกว่าเดิมมีอยู่ร้อยละ 33.3 ที่มองว่าไม่ทำให้ปัญหาดีกว่ากว่าเดิมมีอยู่ร้อยละ 16.7 ส่วนที่บอกว่าแย่กว่าเดิมนั้น มีอยู่ร้อยละ 3.1


อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าคิดก็คือผู้ตอบร้อยละ 46.9 ผู้ตอบเป็นจำนวนมากยังบอกว่ายังไม่แน่ใจว่าจะดีขึ้นหรือแย่ลงไปกว่าเดิม


 


นอกจากนี้ สำหรับเหตุการณ์ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่รัฐบาล โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงได้ย้ำว่ามาตรการปิดล้อมและตรวจค้น จับกุมผู้ต้องสงสัยในกรณีการก่อความไม่สงบทำให้สถานการณ์ความรุนแรงและการก่อการร้ายลดลง ประชาชนในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เห็นด้วย (กับมาตรการปิดล้อม ตรวจค้นและจับกุม) มีอยู่ร้อยละ 37.6 ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยมีจำนวนร้อยละ 33.0


สิ่งที่น่าคิดคือ ผู้ที่ไม่แน่ใจหรือลังเลใจต่อความถูกต้องของมาตรการดังกล่าว ยังมีอยู่จำนวนไม่น้อย คือ มีจำนวนร้อยละ 29.5 ทำให้ต้องมีการทบทวนมาตรการทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากกว่านี้


ที่สำคัญยิ่งคือ เมื่อแยกดูเฉพาะกลุ่มผู้ตอบคำถามที่อยู่ในสามจังหวัด พบว่าผู้ที่เห็นด้วยลดลงเป็นเพียงแค่ร้อยละ 30.9 ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าวมีมากถึงร้อยละ 38.7 และผู้ที่ยังไม่แน่ใจเป็นจำนวนร้อยละ 30.5


 


การทบทวนนโยบายและประเมินผลกระทบของมาตรการดังกล่าว ต่อความรู้สึกของประชาชนทั่วไปในพื้นที่จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจอย่างมาก แม้ว่าในทางกายภาพมาตรการดังกล่าวอาจจะมีประโยชน์ในการลดความรุนแรงในบางช่วงของเหตุการณ์


 


...............................


คลิกเพื่อดาวน์โหลดรายงานพร้อมกราฟแสดงผลการสำรวจ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net