Skip to main content
sharethis


โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม หรือ มีเดียมอนิเตอร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดแถลงผลการสัมมนาปฏิบัติการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อ รอบการศึกษาที่ 15 ในประเด็น "ความเป็นละครในข่าวการเมืองไทย" เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2550 ณ โรงแรมเวียงใต้ กรุงเทพฯ โดยมีอาจารย์ และนักศึกษาจาก 8 สถาบัน เข้าร่วมการสัมมนาซึ่งจัดมาตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา


 


จุดมุ่งหมายของการจัดสัมมนาครั้งนี้ เพื่อศึกษาภาพรวมของการรายงานข่าวการเมืองโดยเน้นศึกษาค้นหา "ความเป็นละคร" ในเนื้อหาและวิธีการนำเสนอข่าวการเมืองเกี่ยวกับการเลือกตั้งทางสื่อโทรทัศน์ฟรีทีวี ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของอาจารย์ และ นักศึกษา ด้านนิเทศศาสตร์ รัฐศาสตร์ เพื่อศึกษาภาพรวมของการรายงานข่าวการเมืองโดยเน้นศึกษาค้นหา "ความเป็นละคร" ในเนื้อหาและวิธีการนำเสนอข่าวการเมืองเกี่ยวกับการเลือกตั้งทางสื่อโทรทัศน์ฟรีทีวี โดยมุ่งหวังให้กิจกรรมนี้ตลอดจนข้อค้นพบจากการศึกษา ได้มีส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของคุณภาพการนำเสนอข่าวการเมืองเกี่ยวกับการเลือกตั้งของสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ให้เป็นไปเพื่อสร้างประโยชน์ต่อประชาชนที่ควรได้รับข้อมูลข่าวสารที่ให้ประโยชน์ต่อการตัดสินใจที่ดีในทางการเมืองเกี่ยวกับการเลือกตั้ง


 


ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาทั้ง 8 แห่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


ผลการสัมมนา นำเสนอเป็น 3 ส่วน คือ


ส่วนที่ 1 ข้อค้นพบจากหน่วยการวัด                   


1. รูปแบบรายการข่าว ส่วนมากเป็นรายการเล่าข่าว แม้จะมีบางรายการที่ใช้วิธีการอ่านข่าว แต่ก็จะมีการแทรกความคิดเห็นลงไปท้ายข่าวด้วย


 


2. ประเด็นเนื้อหาข่าว โดยมากเป็นการหยิบประเด็นความขัดแย้งของเหตุการณ์ แต่ไม่ได้บอกเล่าในรายละเอียด และหากประเด็นนั้นมีความรุนแรงมากเท่าใด ก็จะยิ่งสามารถจับพื้นที่ข่าวได้มากขึ้น โดยประเด็นเด่นของข่าวที่พบในแต่ละช่อง เช่น


·         ช่อง 3 : ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ ความขัดแย้งของกลุ่มอำนาจเก่าและใหม่


·         ช่อง 5 : มักเกี่ยวข้องกับการเมืองที่เกี่ยวข้องกับบุคลในรัฐบาล ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ ความขัดแย้ง กฎกติกาเลือกตั้ง นโยบายพรรคการเมือง


·         ช่อง 7: ความเคลื่อนไหวของสมาชิกพรรคการเมืองที่ไม่ลงตัว บรรยากาศของความขัดแย้ง นโยบายพรรคการเมือง


·         ช่อง 9 : ความเคลื่อนไหวในการวางตัวผู้สมัคร ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจเก่าและใหม่


·         ช่อง 11 : ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ การให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง


·         ช่อง TITV : ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ ความขัดแย้งของพรรคการเมือง มีการให้ความรู้ในการเลือกตั้ง นโยบายการเลือกตั้ง ในช่วงรอการสัมภาษณ์แหล่งข้อมูล


 


3. แหล่งข่าว พบว่าโดยภาพรวม สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง เน้นแหล่งข่าวที่เป็นนักการเมือง พรรคการเมืองขนาดใหญ่ รัฐบาล หน่วยงานรัฐ เช่น กกต. สมาชิก สนช. ทหาร ที่ขาดหายไปมากคือแหล่งข่าวที่เป็นนักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาสังคม และประชาชน โดยมีรายละเอียดของแหล่งข่าวที่พบในแต่ละช่อง ดังนี้


·         ช่อง  3: เน้นผู้สมัครพรรคใหญ่ แกนนำของพรรค หากไม่ใช่พรรคใหญ่ๆ ก็จะเน้นแหล่งข่าวที่มักสร้างสีสันให้กับข่าว


·         ช่อง  5 : มักเน้นแหล่งข่าวฝ่ายรัฐบาล (เปิดข่าวเช้า), อีก 2 รายการจะเน้นแหล่งข่าวที่เป็นนักการเมือง ทหาร และกกต.


·         ช่อง 7:  เป็นแกนนำพรรคการเมือง บุคลที่มีชื่อเสียง (ดารา) การกำหนดบทบาทให้ผู้ดำเนินรายการร่วมเป็นผู้วิเคราะห์ข่าวการเมือง


·         ช่อง 9 : นักการเมืองที่มีชื่อเสียง, รัฐบาล หรืออาจมีแหล่งข่าวที่ทำงานด้านองค์กรอิสระบ้าง


·         ช่อง 11 : เน้นแหล่งข่าวรัฐบาล นักการเมือง และอดีตนักการเมือง แต่มีแหล่งข่าวที่เป็นนักวิชาการและให้ความสำคัญกับความเห็นของประชาชนด้วย


·         ช่อง TITV: เน้นที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ ผู้มีตำแหน่งสำคัญ เป็นแกนนำในการเลือกตั้ง แหล่งข่าวที่ให้ความคิดเห็นที่รุนแรง


 


4. โครงเรื่อง พบว่า โดยภาพรวม สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง เน้น โครงเรื่อง ความขัดแย้ง ไสยศาสตร์ ความเชื่อของนักการเมือง โชคลาง เน้นการแข่งขันแบบกีฬา (ฟุตบอล หรือ มวย) ทว่า เรื่องราวที่นำเสนอจะไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีจุดจบ ไม่มีไคลแม็กซ์ที่ชัดเจน นอกจากนี้รายการส่วนใหญ่พยายามทำให้เหตุการณ์มีความเข้มข้น ตื่นเต้นมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในวิธีการรายงานและในเรื่องราว ที่เหตุการณ์นั้นๆ ดำเนินไป ไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีจุดคลี่คลาย ไม่มีจุดจบที่ชัดเจน วนเป็นวงกลม อาจมีการเปลี่ยนตัวละครบ้าง แต่ความขัดแย้งที่นำเสนอก็คือเรื่องเดิมๆ มีลักษณะการนำเสนอมุขเดิมๆ


 


5. ตัวละคร พบว่า การสร้างตัวละครมี 2 ลักษณะคือ สื่อสร้างให้ และ แหล่งข่าวสร้างตัวเอง โดยในกรณีที่แหล่งข่าวสร้างเอง พบว่ามักแสดงบทบาทผู้ถูกกล่าวหา ถูกกระทำ ถูกกลั่นแกล้ง ส่วนในกรณีที่สื่อสร้างให้ - มักเป็นบทบาทผู้ร้าย (เช่นกรณีเอกสารลับของ คมช.) ตัวป่วน หรือเฉพาะตัวละครด้านร้าย เด็กแว้นท์, ตัวโจ๊ก,  มีบทบาทพระเอกบ้าง,มีบทบ่างช่างยุ, หญิงสาวผู้ถูกกลั่นแกล้ง, ตัวอิจฉา, เพื่อนพระเอก, ลูกน้องหัวหน้าใหญ่, ตัวประกอบดาษๆ ท่านฤาษี โดยตัวละครเหล่านี้อาจมีนัยยะทางอารมณ์คล้ายมนุษย์ธรรมดา ที่มีอารมณ์ ซึ้ง โศก เศร้า บู๊ โกรธ ขำขัน


 


ทั้งนี้ ตัวละครที่สื่อสร้างจะมีลักษณะเป็น "รอบด้าน" (rounded) ในการแสดงอารมณ์ (รัก ขำ ดุ เข้ม สุขุม เศร้า ฯ) อีกทั้งมีการพยายามการจับคู่ตรงกันข้าม หรือคู่เอก ซึ่งทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าต้องเลือกรักตัวละครใดตัวละครหนึ่ง


 


6. ความเป็นวัตถุวิสัย พบว่า โดยมากมีการสอดแทรกความคิดเห็นลงไปในภาษาข่าว (โดยเฉพาะรายการคุยข่าว) มีอคติในการคัดเลือกประเด็นข่าวที่จะนำเสนอ หรือไม่นำเสนอ เช่น การคัดเลือกเนื้อหาที่เน้นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ หรือมีการแสดงความคิดเห็นต่อแหล่งข่าว ทั้งสองฝ่ายที่ไม่เป็นกลาง  ทั้งจากผู้ดำเนินรายการและจากการคัดเลือกภาพแหล่งข่าวที่ต้องการสนับสนุนความคิดใดความคิดหนึ่ง โดยวิธีที่ใช้คือ "วัจนภาษา" และ "อวัจนภาษา" เช่นคำพูดคุยกันระหว่างผู้ประกาศข่าว น้ำเสียง การเน้นคำ เน้นความ ท่าทาง หรือคำอุทาน การแสดงสีหน้า เสียงหัวเราะ (เยาะเย้ย) นอกจากนี้ยังมีลักษณะการชี้นำ เช่น "พรรคการเมือง….อาจจะได้ ส.ส. ระบบปาร์ตี้ลิสต์จำนวนมาก" หรือมีการแสดงความคิดเห็นต่อแหล่งข่าว


 


7. การสร้างบรรยากาศของข่าว พบว่า บรรยากาศส่วนใหญ่ที่พบเป็นการสร้างความตื่นเต้นเร้าใจด้วยวิธีการนำเสนอที่หลากหลาย เช่น การใช้คำที่กระตุ้น เร้าอารมณ์ผู้ชม การถ่ายทอดสด การใส่ดนตรีประกอบ การใช้มุมกล้องที่เน้นการแสดงอารมณ์ของแหล่งข่าว หรือนักข่าวแสดงกิริยาท่าทางที่ตื่นเต้น มีการเทคนิคภาพสโลว์โมชัน จนทำให้การรายงานข่าวการเมืองมีความใกล้เคียงกับการรายงานการแข่งขันเกมกีฬา


 


นอกจากนั้น ยังใช้วิธีการตัดต่อเลือกภาพที่เน้นการกระทำโอเวอร์ (over acting) การนำเสนอรายการแบบ "เรียลลิตี้" ที่นักข่าวจะชวนให้ผู้ชมติดตามไปชมการสัมภาษณ์แหล่งข่าว สร้างความรู้สึกสมจริง ตลอดจนการเพิ่มบรรยากาศแห่งความขัดแย้งของแหล่งข่าวที่เป็นฝ่ายตรงกันข้ามด้วยการนำคำพูดของทั้ง 2 ฝ่ายมานำเสนอสลับกัน


 


วิธีการสร้างบรรยากาศที่เห็นได้ชัด คือ การใช้มิวสิควิดีโอ ประกอบกับการบรรยายเนื้อหาเสียดสี "เช่นเพลง…..และมีเสียงบรรยายประกอบ" การใช้เทคนิคต่างๆ เช่น การตั้งคำถาม การใช้คำคุณศัพท์ คำสรรพนามต่างๆ ที่มีผลทำให้การแข่งขัน การเลือกตั้งมีความเข้มข้น หนักหน่วงมากขึ้น ขณะเดียวกัน มีการใช้คำที่มีความหมายไปในทางขบขัน ซึ่งอาจทำให้คนดูรู้สึกว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ การเลือกตั้งไม่มีนัยยะสำคัญอะไร


 


8. ประเภทของเนื้อหาข้อมูล พบว่า โดยส่วนใหญ่เน้นหนักที่ข้อมูลประเภทความคิดเห็นของแหล่งข่าวมากกว่าข้อเท็จจริง ในส่วนของการนำเสนอข้อเท็จจริง โดยมากเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎกติกาในการเลือกตั้ง และแนวนโยบายกว้างๆ ของพรรคการเมืองใหญ่ๆ


 


ข้อสังเกตที่ได้จากการศึกษา พบว่า กรณีเอกสารลับ ที่เห็นนักการเมืองแถลงข่าวโดยมีเอกสารชิ้นดังกล่าวอยู่ในมือ แต่กลับพบว่า ไม่มีนักข่าวคนใดขอดูเอกสาร ขอพิสูจน์เอกสาร  แต่ให้ความสนใจกับการนำเสนอโดยแหล่งข่าวมากกว่า


 


9. คุณค่าเนื้อหาข่าวทางการเมือง พบว่า เป็นการให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องของระบบการเลือกตั้งใหม่ (แต่ก็ยังไม่กระจ่างชัดนัก) และการกระตุ้นเชิญชวนให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบบประชาธิปไตยด้วยการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง


 


อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมรายการข่าวยังไม่สามารถทำให้ประชาชนมีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจทางการเมือง เนื่องจากมีการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ในปริมาณที่ยังน้อย และหากเปรียบเป็นละคร อาจกล่าวได้ว่า "เป็นละครที่ดูสนุก แต่อาจยังไม่มีสาระเท่าที่ควร" และแม้ว่าสาระทางด้านเนื้อหาจะมี แต่ยังไม่ได้หมายความว่าสาระที่พบนั้นจะเป็นสาระที่สร้างสรรค์ พอจะช่วยให้ประชาชนใช้ในการตัดสินใจทางการเมืองที่มีคุณค่า ความหมาย และมีเหตุผล


 


ส่วนที่ 2  การวิเคราะห์เหตุปัจจัยที่ทำให้ข่าวการเมืองเป็นละคร


พบว่า เกิดจากปัจจัยจากตัวรายการข่าว และปัจจัยจากภายนอก ดังนี้


ปัจจัยจากตัวรายการข่าว พบว่า เป็นผลจากรูปแบบการนำเสนอรายการในปัจจุบันที่พยายามทำให้การรายงานข่าวมีความบันเทิงมากขึ้น รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ดำเนินรายการแสดงความคิดเห็นต่อข่าวได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมาจากประเด็นข่าวและโครงเรื่องข่าวที่เน้นความขัดแย้งของนักการเมืองเป็นหลัก


 


ในส่วนของการสร้างบรรยากาศของข่าว มีการใช้เทคนิคการนำเสนอที่หลากหลายมาประกอบในรายการข่าวมากขึ้น อีกทั้งผู้ดำเนินรายการเองก็มีอคติในการรายงานข่าว ดังจะเห็นได้จากการแสดงท่าทีสนับสนุนแหล่งข่าวฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง


 


ปัจจัยภายนอก พบว่า เป็นผลจากแหล่งข่าวที่พยายามช่วงชิงพื้นที่ในสื่อด้วยการสร้างความน่าสนใจให้กับตัวเอง ขณะที่องค์กรสื่อที่ต้องคำนึงถึงผลกำไรทางธุรกิจและให้ความสำคัญกับเรตติ้งของผู้ชม


 


นอกจากนี้วัฒนธรรมทางการเมืองไทยที่เน้นกระพี้แต่ไม่เน้นแก่น เน้นสร้างสีสัน ความสนุก ดังเช่นการใช้คำว่า "เล่น" การเมือง ในส่วนของผู้ชมมองสื่อโทรทัศน์ว่าเป็นสื่อเพื่อความบันเทิง จะเปิดโทรทัศน์ก็ต่อเมื่อต้องการความบันเทิง


 


สภาพสังคมในปัจจุบันก็เน้นความรวดเร็ว ทำให้ประชาชนต้องการข่าวสารข้อมูลที่สำเร็จรูป การทำรายการข่าวในปัจจุบันแข่งกันที่ความรวดเร็วฉับไว ทำให้สื่อโทรทัศน์ละเลยการเสนอข่าวเชิงลึก โดยเน้นเพียงการรายงานปรากฏการณ์


 


อีกสาเหตุหนึ่งมาจากความสามารถของผู้สื่อข่าวในปัจจุบันที่ขาดความรู้ ความเข้าใจเรื่องราวเฉพาะทางด้านศาสตร์ต่างๆ จึงมักคิด พูด ถาม เขียน รายงานข่าวไม่ลึกเพียงพอ


 


ส่วนที่ 3 ข้อเสนอแนะจากการศึกษา


สื่อควรให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ให้มากขึ้น โดยเพิ่มการวิเคราะห์นโยบายของพรรคการเมืองและศึกษาถึงความเป็นไปได้ของการนำนโยบายดังกล่าวมาปรับใช้ สื่อควรให้พื้นที่กับภาคประชาชนให้มากขึ้น และสะท้อนความคิดเห็นและความต้องการของภาคประชาชน ตลอดจนเน้นเนื้อหาสาระของข่าวมากกว่าเน้นที่ตัวบุคคล


 


ทั้งนี้ ผลการศึกษาข้างต้นสอดคล้องกับความคิดเห็นของสื่อมวลชนและนักวิชาการที่ร่วมเป็นวิทยากรในการสัมมนาครั้งนี้  โดย ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เห็นว่า การนำเสนอข่าวการเลือกตั้งของสื่อมวลชนไทยมีลักษณะเด่น 2 ประการ คือ เน้นการรายงานข่าวแบบแข่งม้า และการนำเสนอความขัดแย้งระหว่างนักการเมือง


 


ขณะที่ เทพชัย หย่อง ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มองว่า หากการนำเสนอข่าว มุ่งเน้นการแข่งขัน และการสร้างความนิยมในผู้ชมเป็นสำคัญ เนื้อหาที่นำเสนอจึงต้องทำให้น่าสนใจ มีสีสัน จนทำให้การทำข่าวเน้นปรากฏการณ์รายวัน และนำเสนอสิ่งที่นักการเมืองพูดมากกว่าสิ่งที่นักการเมืองทำ  นอกจากนั้น ลักษณะการนำเสนอข่าวในปัจจุบันที่หลายรายการใช้วิธีการเล่าข่าว ทำให้การเมืองเป็นเรื่องของละครมากกว่า การเล่าเพื่อให้ผู้ชมเข้าใจในเรื่องราวได้ง่ายและชัดเจน


 


ด้าน รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ จากศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า อาจเป็นเพราะสังคมไทยชอบ "ความสนุก" และการมีสาระ คือ ความไม่สนุก การนำเสนอข่าวการเมืองจึงต้องทำให้สนุก จนละเลยส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระไป


 


ขณะที่ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าสาระสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ วิธีการเลือกตั้ง ที่สร้างความสับสนมาก ทั้งในเรื่องของการแบ่งเขต การกำหนดหมายเลขผู้รับสมัคร การหย่อนบัตรลงคะแนนการเลือกตั้ง จนทำให้คาดการณ์ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ เราอาจได้ผู้แทนที่ได้คะแนนเพราะประชาชนลงเลขผู้สมัครเพราะเข้าใจผิด พอๆ กับจำนวนบัตรผิด ก็ได้


 


พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอแนะว่าในช่วงก่อนที่กฎหมายการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 ต.ค. สื่อควรทำข่าวเกี่ยวกับนโยบายของแต่ละพรรคว่าแตกต่างกันอย่างไร อาจมีการถามความเห็นของนักวิชาการประกอบ รวมทั้งควรทำข่าวแนวสืบสวนสอบสวน บทบาทของอดีตคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คนในช่วงก่อนการเลือกตั้ง รวมถึงบทบาทของนักการเมืองคนสำคัญๆ ที่สมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้


 


ส่วนหลังจากประกาศใช้กฎหมายการเลือกตั้ง และนักการเมืองลงสู่การทำงานเต็มรูปในการสมัคร การหาเสียงนั้น สื่อมวลชนยิ่งต้องเสนอนโยบายแต่ละพรรค ทั้งพรรคใหญ่ พรรคเล็ก รวมทั้งสอบถามจุดยืนของพรรคที่มีต่อเรื่องสำคัญ เช่น สถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ด้าน เถกิง สมทรัพย์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผลการศึกษาว่า งานของมีเดีย มอนิเตอร์ออกมาถูกจังหวะถูกเวลา จึงควรนำเสนอต่อสื่อ และ สาธารณะ ทั้งสรุปผลการศึกษา และ ข้อเสนอแนะต่อการทำงานของสื่อในการนำเสนอข่าวการเลือกตั้ง


 


อย่างไรก็ดี ลีลาและวิธีการนำเสนอข่าวการเมืองของสื่อ อาจถูกหล่อหลอมจากวรรณกรรมที่สื่อมวลชนอ่าน เช่น สามก๊ก นิยายกำลังภายใน  นอกจากนั้น  สื่อก็มีวิธีการในการสร้างบรรยากาศในการเสนอข่าว รวมทั้งการจัดฉาก  และ การสร้างความน่าสนใจจากบุคลิกที่โดดเด่นของแหล่งข่าว  การเสนอข่าวที่ถูกชักนำโดยการตลาดของนักการเมือง เช่น พรรคไหนหัวหน้าพรรคศึกษาและรู้จริง ก็จะเป็นผู้นำเสนอนโยบายของพรรค และสื่อก็จะถามคำถามเรื่องนโยบายพรรค พรรคใดที่ลูกพรรคเสนอเรื่องนโยบายได้โดดเด่นกว่าหัวหน้าพรรคๆ ก็จะไปสร้างความโดดเด่นทางอื่น ซึ่งสื่อก็จะตามไปนำเสนอ เป็นต้น


 


นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนและสื่อรู้ว่า สื่อเป็นเพียงเครื่องมือในการมอมเมาประชาชนในการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่อยากจะโทษสื่อเสียทีเดียว เพราะมีแนวคิดที่อธิบายว่า "สังคมเป็นอย่างไร นักการเมืองและสื่อก็เป็นเช่นนั้น"


 


 "หากการนำเสนอข่าวการเมือง อย่างเป็นละคร เป็นเรื่องที่ขายได้ เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจ อยากเห็น สื่อวางบทบาทตัวละครให้นักการเมือง อย่างเป็นการสร้างบุคลิกทางการเมือง ที่สะท้อนตัวตนและอุดมการณ์ของนักการเมืองคนนั้น เช่น ภาพของคานธีที่แต่งกายด้วยผ้าทอมือ ภาพยัสเซอร์อาราฟัต ที่โพกศรีษะอย่างมุสลิม ภาพสาธุคุณเจสซีแจคสันที่สะท้อนความเป็นคนผิวสี ในการเมืองอเมริกัน เป็นต้น" เถกิง สมทรัพย์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวในที่สุด


 


 


…………………………………….


สำหรับผู้สนใจรายงานฉบับเต็ม โปรดติดต่อ


โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitor)


เลขที่ 31 อาคารพญาไท ชั้น 4 ห้อง 418 ถนนพญาไท เขตราชเทวี กทม. 10400


โทรศัพท์ 02-246-7440, โทรสาร 02-246-7441

website: www.mediamonitor.in.th e-mail: mediamonitorth@gmail.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net