(เก็บตก.. 2) ความเห็น นักวิชาการ นักกฏหมาย NGOs: เสวนาการแก้ไขปัญหาที่ทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างเป็น

วันที่ 18  พฤศจิกายน พ.ศ.2550 ที่ผ่านมา ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร กลุ่มองค์กรประชาชนในนามเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย   ได้จัดการชุมนุมเพื่อเสนอ นโยบายปฏิรูปที่ดินที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนยากจน ที่ประสบปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ให้กับพรรคการเมืองซึ่งกำลังหาเสียงเลือกตั้งและเป็นการรณรงค์ให้คนในวงกว้างได้รับรู้  โดยมีตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ทำกินจากทั่วประเทศไทยเข้าร่วมจำนวนประมาณ 800 คน มีกิจกรรม เสวนา แนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างเป็นธรรมในสังคมไทย  ขึ้นในเวลา 13.30น.-15.30น. มีเนื้อหาดังต่อไปนี้ 

อ.กนกศักดิ์ แก้วเทพ นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  อภิปรายถึงพัฒนาการการต่อสู้จากสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยและสมัชชาคนจนถึง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยว่า ในอดีตสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 33 ปีแล้ว มีสมาชิกถึง หนึ่งล้านหกแสนครอบครัว มีการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนนับหมื่นแทบทุกเดือน มีผู้นำชาวนาชีวิตในการต่อสู้เรียกร้องถึง 35 คน สิ่งที่ได้มาคือการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างทางสังคมที่เป็นรูปธรรมอยู่สองอย่างได้แก่ การออก พรบ.ควบคุมค่าเช่านา พ.ศ.2517 และ พรบ.ปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2518 

กฏหมายปฏิรูปที่ดินที่เกิดจากการผลักดันของสหพันธ์ฯ ไม่ได้ถูกนำมาใช้ตามเจตนารมณ์ของการต่อสู้  ที่ดินที่รัฐนำมาปฏิรูปเป็นที่ดินของรัฐ  รัฐไม่กล้าแตะต้องกลุ่มนายทุนเจ้าที่ดิน แม้แต่สังคมเองก็พยายามที่จะหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงการนำที่ดินของเอกชนมาปฏิรูป เพราะมีผลกระทบถึงกลุ่มคนที่มีอำนาจในสังคมที่ถือครองที่ดินไว้เป็นจำนวนมาก

หลังปี พ.ศ.2535 มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกรคนยากคนจนได้พัฒนามาเป็นสมัชชาคนจนในที่สุด พัฒนาการที่มีผลสืบเนื่องมาก็คือประเด็นในการต่อสู้เรียกร้องเพิ่มจากในประเด็นเรื่องสิทธิในที่ทำกินมาเป็นสิทธิในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นของประชาชน การต่อสู้โดยการชุมนุมก็ยาวนานขึ้นถึง 99 วัน ถึงแม้ว่าประเด็นการต่อสู้ของสมัชชาคนจนจะมีความหลากหลายขึ้น แต่ระดับความรุนแรงของปัญหา ปัญหาเรื่องที่ทำกินก็ยังคงมาเป็นลำดับแรก

ในช่วงรัฐบาลไทยรักไทย ประเด็นปัญหาเรื่องที่ทำกินถูกเบี่ยงเบนไปไม่เป็นที่สนใจของสังคมหรือแม้แต่ผู้ประสบปัญหาเอง นโยบายประชานิยม เช่นกองทุนหมู่บ้าน 1ตำบล1ผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ดึงดูดความสนใจของทุกภาคส่วนไปจากปัญหาเรื่องที่ทำกิน ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดของเกษตรกร เนื่องจากที่ดินเป็นหลักประกันในด้านความมั่นคงและความเป็นอิสระของเกษตรกร

ประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี เป็นประเทศในโลกทุนนิยม  และเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจสูงก็ยังนำมาตรการ การปฏิรูปที่ดินมาใช้ในการพัฒนาประเทศนี่ก็เป็นข้อเสนอฝากไว้ให้ผู้สนใจได้ศึกษากันต่อไป

การต่อสู้เรื่องที่ทำกินจะมีความรุนแรงขึ้นในอนาคตอันใกล้ หากรัฐไม่ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปที่ดินอย่างเป็นธรรมขึ้นในสังคมไทย  ภายในเวลาไม่เกิน 5 ปีจะเกิดการชุมนุมต่อสู้ของประชาชนที่ยิ่งใหญ่กว่าการต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่และสมัชชาคนจนที่ผ่านมา นักวิชาการที่ทำงานเรื่องขบวนการต่อสู้ของเกษตรกรมา 30 กว่าปีกล่าวทิ้งท้าย

ศยามล ไกรยูรวงศ์ อนุกรรมการแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดิน  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อดูจากปัญหาที่ดินที่ร้องเรียนเข้ามาที่ คณะกรรมการสิทธิฯ หรือจากงานวิจัยต่างๆ ปัญหาที่ทำกินในเขตป่าอาจจะดูว่ามีความรุนแรงที่สุด และประเด็นที่ทำกินทับซ้อนกับที่สาธารณะมีความรุนแรงรองลงมา แต่โดยส่วนตัวแล้วปัญหาที่ดินที่รุนแรงที่สุดก็คือปัญหาที่ดินเอกชนที่มีทั้งในลักษณะกว้านซื้อเพื่อเก็งกำไรและเพื่อการลงทุนในโครงการใหญ่ระดับ เมกะโพรเจ็ค

ประเด็นปัญหาที่ทำกินในเขตป่าที่ถูกมองว่ามีความรุนแรงก็เนื่องมาจากกลุ่มผู้ประสบปัญหามีการรวมตัวเรียกร้อง ติดตาม มาโดยตลอด ทำให้ปัญหายังอยู่ในกระแสความสนใจจากภายนอก แต่ในระยะหลังที่การแก้ไขปัญหาไม่ค่อยมีความคืบหน้า มีสาเหตุมาจาก ประชาชนมีลักษณะฝากความหวังไว้กับองค์กรต่างๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชน ว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาให้ได้  โดยที่ความเข้มแข็งขององค์กรหรือเครือข่ายที่ใช้ในการต่อสู้แก้ไขปัญหาอ่อนแอลง ซึ่งโดยความจริงแล้ว  หลายๆองค์กรก็ไม่ได้มีความเข้าใจหรือจริงใจในการแก้ไขปัญหา คณะกรรมการสิทธิฯเองก็ไม่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด

ในกรณีปัญหาที่สาธารณะประโยชน์  ซึ่งในอดีตส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ทำเลเลี้ยงสัตว์ จะเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น,หน่วยงานราชการ,มหาวิทยาลัย ฯลฯ ผู้นำชุมชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเช่น อบต. ไม่เคยมีความคิดที่จะนำเอาที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งบางแห่งมีอยู่มาก มาให้ชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกินได้ใช้ประโยชน์   แต่กลับสนับสนุนให้นำที่สาธาณประโยชน์ไปทำโครงการหรือหน่วยงานราชการใหญ่ๆมากกว่า

ที่ดินเอกชนที่ดูว่าจะไม่ค่อยมีความขัดแย้ง แต่โดยความจริงแล้วเป็นการเริ่มก่อตัวอย่างเงียบๆ  และจะเป็นปัญหาที่รุนแรงมากที่สุดในอนาคต กลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้ามากว้านซื้อที่ดินในบริเวณที่จะเป็นที่ตั้งโครงการขนาดใหญ่  กลุ่มนายประชัย เข้ามาซื้อที่บริเวณที่จะขุดคอคอดกระไว้เกือบหมดแล้ว  กลุ่มพลังประชาชนกว้านซื้อที่บริเวณจังหวัดสงขลา,สตูลซึ่งเป็นพื้นที่ ที่จะพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมปิโตรเคมี กลุ่มทุนประชาธิปัตย์ กว้านซื้อที่บริเวณภาคใต้ตอนบน จังหวัดชุมพรและระยอง ที่จะเป็นเขตอุตสาหกรรมเหล็ก  ส่วนภาคอีสานกลุ่มทุนใหญ่ที่มากว้านซื้อก็คือกลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ 

การต่อสู้ที่ยากลำบากของขบวนการประชาชนเพื่อให้ได้สิทธิในที่ทำกินมาตอนนี้เป็นปัญหาที่จะต้องแก้ไขให้ได้ว่าทำอย่างไรจะไม่ให้ที่ดินหลุดมือจากเกษตรกรไปให้กับกลุ่มทุน

สุทิน บรมเจตน์ สภาทนายความแห่งประเทศไทย พูดถึงแนวทางการต่อสู้ทางกฏหมายในกรณีปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินว่า ในข้อบัญญัติกฏหมายต่างๆในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่เอื้อประโยชน์ให้กับประชาชน บางส่วนมีลักษณะขัดแย้งกัน เช่น รัฐธรรมนูญระบุว่าต้องคุ้มครองสิทธิมนุษชน  ประชาชนย่อมมีสิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน แต่ในเรื่องที่อยู่อาศัยแยกไปเขียนไว้ให้อยู่ในแนวนโยบายแห่งรัฐ และเรื่องที่ทำกินไปอยู่ในเรื่องการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรโดยชุมชนท้องถิ่น  ซึ่งปัญหามีอยู่ว่าเมื่อเกิดความเดือร้อนประชาชนต้องไปฟ้องร้องเอาเอง

ในสังคมไทยย้งมีกฏหมายอีกตัวที่ไม่ค่อยจะถูกนำมาพิจารณาซึ่งก็คือ จารีตประเพณีในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งมีอยู่ก่อนการเกิดขึ้นของกฏหมายจากส่วนกลางเสียอีก แต่ไม่ค่อยถูกนำเอามาใช้ ในกฏหมายที่ถูกกำหนดจากรัฐส่วนกลางเองก็ถูกกำหนดไว้อย่างกว้างมาก เช่น กฏหมายป่าไม้ ระบุว่าป่าก็คือที่ดินที่ประชาชนไม่ได้ถือครองตามกฏหมายแห่งรัฐ ซึ่งหมายความว่าที่อยู่อาศัยแลที่ดินต่างๆที่ประชาชนไม่มีเอกสารสิทธิอาจถูกถือว่าเป็นพื้นที่ป่า ซึ่งอาจถูกดำเนินคดีในข้อหา บุกรุก ก่นสร้าง  แผ้วถาง ครอบครอง ฯลฯ ได้ทั้งหมด  กฏหมายอื่นๆที่ออกตามมา เช่น พรบ.อุทยานฯ  พรบ.คุ้มครองสัตว์ป่าฯ ก็มีสาระอย่างเดียวกัน

รูปธรรมปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ประชาชนเข้าไปถางหญ้า หรือใส่ปุ๋ยในที่ดินของตนเอง ซึ่งเป็นที่ทำกินมา 2-3 ชั่วอายุคนแล้ว ก็ยังมีการจับกุมดำเนินคดีได้ ทำให้เห็นว่า ประชาชนไม่ได้ละเมิด กฏหมาย แต่กฏหมายละเมิดสิทธิของประชาชน จริงอยู่ว่ากฏหมายบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ประชาชนคนไทยจะต้องรู้กฏหมาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในปัจจุบันมีกฏหมายออกมาเป็นร้อยฉบับ แม้แต่ในบรรดานักกฏหมายเองก็ยังไม่มีใครที่จะรู้กฏหมายได้ทั้งหมดเลยแล้วจะให้ประชาชนไปรู้ได้อย่างไร

ข้อเสนอเฉพาะหน้าที่วิทยากรเสนอในวงเสวนาได้แก่  ประชาชนต้องยืนยันในสิทธิที่ทำกินของตัวเอง ต้องเข้าทำกินโดยต่อเนื่องแต่ต้องไม่บุกเบิกเพิ่มเติม ในขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญกับการวมกลุ่มและเชื่อมประสานให้เกิดเครือข่าย เมื่อเกิดการจับกุม ให้เคลื่อนไหวกดดันด้วยเหตุผล เพื่อไม่ให้เกิดการดำเนินคดีกับประชาชน

ไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน  กล่าวว่า การต่อสู้ในเรื่องการปฏิรูปที่ดินเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมไทยในครั้งนี้ถือว่าเป็นรอบที่ 3 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ครั้งแรกได้แก่การผลักดันโดยนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งล้มเหลวเนื่องจากฝ่ายเจ้าไม่เอาด้วย  ในครั้งที่ 2 เกิดจากการต่อสู้ของสหพันธ์ชาวชาวไร่ ซึ่งก็ล้มเหลวอีกเพราะอำนาจในการปฏิรูปอยู่ในมือของรัฐ ในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 การปฏิรูปที่ดินการกระจายการถือครองที่ดินจะต้องทำโดยประชาชน

ปัจจุบันการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ทำกินและที่อยู่อาศัยมีอยู่ 2 แนวทาง แนวทางแรกเป็นนโยบายที่เสนอโดยพรรคการเมืองทุกพรรคก็คือการออกเอกสารสิทธิในรูปแบบโฉนดที่ดินเอกชน ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยเพราะว่าสามารถนำมาจำนองหรือว่าขายถ่ายโอนให้ใครก็ได้ ซึ่งจะมีปัญหาในอนาคตว่าที่ดินจะหลุดมือจากคนยากจนไปอยู่กับกลุ่มนักธุรกิจนายทุน ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นคนต่างชาติที่เข้ามาถือหุ้นส่วนใหญ่ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ จะเกิดวิกฤติปัญหาที่ดินที่รุนแรงเพิ่มขึ้นอีก  ซึ่งไม่มีใครพยายามที่จะคิดหรือพูดถึง

สำหรับในแนวทางที่ สอง  เป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ของ สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย ที่มีเป้าหมายว่าจะต้องกระจายสิทธิการถือครองที่ดินจากรัฐและเอกชนให้กับเกษตรกร คนยากจน ซึ่งที่ผ่านมารัฐซึ่งทำหน้าที่ในการปฏิรูปไม่มีความกล้าหรือสามารถพอที่จะนำที่ดินของเอกชนมาปฏิรูปได้ มาตรการในการต่อสู้เคลื่อนไหวมีอยู่ 3 มาตรการได้แก่

1.โฉนดชุมชน ก็คือต้องให้กรรมสิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเป็นของชุมชน เพือเป็นการสร้างหลักประกันว่าประชาชนจะไม่เสียสิทธิที่ทำกินไปให้กับกลุ่มนายทุนธุรกิจเอกชน แต่มีเงื่อนไขที่อนข้างยากว่า จะต้องเป็นการเห็นพ้องร่วมกันของคนในชุมชน

2.ธนาคารที่ดิน จะต้องผลักดันให้รัฐจัดตั้งธนาคารที่ดินซึ่งอาจจะหาทุนโดยการออกพันธบัตร นำเงินมาซื้อที่ดินเพื่อจัดสรรให้กับประชาชนที่ยากจน

3.การเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า เพื่อให้กระจายการถือครองที่ดินจากคนที่ถือครองที่ดินเพื่อเป็นการออมและหวังเก็งกำไรและไม่ทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว

การแก้ไขปัญหาที่ดินจะต้องเป็นการแก้ไขทั้งระบบไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหารายกรณี นักสิทธิมนุษยชนกล่าวทิ้งท้าย

ปราโมทย์   ผลภิญโญ  ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย  ได้กล่าวว่า โดยเนื้อหาเรื่องความเดือดร้อนของคนยากคนจนจนมาถึงความจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้เกิดการปฏิรูปที่ดินอย่างเป็นธรรมโดยประชาชน วิทยากรข้างต้น ได้นำเสนอไว้อย่างกว้างขวางและครอบคลุมหมดแล้ว ในฐานะที่เป็นคนทำงานในพื้นที่อยากพูดถึงรูปธรรมการต่อสู้ในระดับพื้นที่ว่า ในภาคอีสาน หลังจากการต่อสู้กับ โครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรผู้ยากไร้ได้ยุติลง ก็ได้มีการก่อรูปการต่อสู้ในนามสมัชชาชาวนาชาวไร่ โดยมีเป้าหมายในการต่อสู้ 3 ประการ ได้แก่ การต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิที่ทำกิน การต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิในการจัดการทรัพยากร และการจัดการที่อยู่อาศัยแลที่ทำกินโดยชุมชน จนถึงปัจจุบันมีความคืบหน้าในเรื่องพื้นที่รูปธรรม แต่ยังไม่สามารถขยายผลในวงกว้างได้

ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบรุนแรงในขบวนการต่อสู้ปัญหาที่ดินทำกินที่เกษตรกรจะต้องเผชิญก็คือ การที่เกษตรกรไม่ได้เป็นผู้ควบคุมหรือกำหนดปัจจัยการผลิตและกลไกการตลาดของสินค้าทางการเกษตร ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงมากที่จะตกไปสู่วังวนแห่งหนี้สิน ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ก็อยู่ในภาวะเช่นนี้ จึงเป็นข้อจำกัดของขบวน เกษตรกรตกอยู่ในสภาพหนีเสือปะจรเข้

แต่ความจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้เกิดการปฏิรูปที่ดินอย่างเป็นธรรมในสังคม ก็มีสิ่งที่พอจะเป็นมาตรวัดบอกได้ก็คือ กฏหมายปฏิรูปที่ดินที่มีผลบังคับใช้มา 32 ปีแล้ว แต่ในขณะเดียวกันตัวเลขของเกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกินหรือมีที่ทำกินไม่เพียงพอถึง 3,700,000 ครอบครัวในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นชัดสำหรับผู้ที่มีปัญญาว่ามีความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท