โยนเผือกร้อนใส่มือ กกต. ตัดสิน "เอกสารลับ" มัด คมช. ไม่เป็นกลางหรือไม่

นายสุพล ยุติธาดา ประธานคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนกรณีเอกสารลับแผนปฏิบัติการข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ทำขึ้นซึ่งนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน(พปช.) ระบุว่า เป็นการวางแผนเพื่อสกัดมิให้พรรคพลังประชาชนชนะเลือกตั้ง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนัดสุดท้าย เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนว่า แม้สื่อมวลชนจะเสนอข่าวว่าคณะกรรมการมีมติออกมาไม่เป็นเอกฉันท์ 4 ต่อ 3 ว่า กองทัพไม่มีความเป็นกลางทางการเมืองก็ตาม จะไม่ขอยืนยันว่าข้อมูลนั้นถูกหรือผิด จะไม่ขยายความเพิ่มเติมอีก เพราะกรรมการได้ตกลงกันแล้วว่าจะไม่เปิดเผยมติของที่ประชุม สำหรับการประชุมนัดสุดท้าย คณะกรรมการเข้าประชุมครบ 7 คน และจะลงนามส่งผลให้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ภายในวันนี้ รายงานมีเพียง 17-18 หน้าเท่านั้น

 

นายสุพลกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการไม่ได้มุ่งเน้นสอบสวนเอกสารจากทั้งฝ่ายกองทัพและพรรคพลังประชาชนเป็นเอกสารจริงหรือปลอม แต่มองว่า เนื้อความในเอกสารส่งผลต่อการเลือกตั้ง ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมตามที่สมาพันธ์ประชาธิปไตยร้องเรียนหรือไม่ จากนั้นหยิบยก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนรษฎร( ส.ส.)และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา( ส.ว.)พ.ศ. 2550 โดยเฉพาะมาตรา 57 เรื่องความเป็นกลางทางการเมืองของข้าราชการเป็นหลัก เพราะต้องวินิจฉัยว่าฝ่าย คมช.ทำผิดมาตรานี้หรือไม่

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากผลการรายงานของสื่อมวลชนเป็นจริง นั่นหมายความว่า กองทัพไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง นายสุพลกล่าวว่า ถือเป็นประเด็นที่วินิจฉัยและได้เสนอในรายงานการสอบสวนว่ามีความเป็นกลางหรือไม่อย่างไร แต่ไม่มีอำนาจไปชี้ถูกชี้ผิด ไม่ได้มีอำนาจหาผู้รับผิดชอบกับการกระทำที่เกิดขึ้น ไม่ได้เสนอเห็นควรแจ้งข้อกล่าวหากับใคร ในรายงานบอกเพียงว่า เป็นเรื่องสำคัญ กรรมการมีความเห็นไม่เป็นเอกฉันท์ แล้วให้ กกต.ไปพิจารณาผู้เปิดเผยผลสอบเอง กกต.มีสิทธิไม่เห็นด้วยก็ได้

 

เมื่อถามว่า หากผลการสอบสวนระบุว่ากองทัพไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง บุคคลที่มีความผิดก็มีเพียงผู้ลงลายเซ็นในเอกสารเท่านั้น นายสุพลกล่าวว่า หลักกฎหมายแล้วองค์กรไม่สามารถทำความผิดได้ การกระทำความผิดต้องเป็นตัวบุคคลเป็นหลัก ถ้านิติบุคคลใดกระทำความผิด ผู้แทนของนิติบุคคลนั้นก็จะต้องเป็นผู้ร่วมทำความผิดด้วย

 

แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการสืบสวนเอกสารลับเปิดเผยว่า คณะกรรมการวินิจฉัยเพียงว่าเอกสารดังกล่าวส่อว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจโดยมิชอบ และเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายจนสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ร้อง ส่วนเรื่องเอกสารจริงหรือปลอม ควรเป็นหน้าที่ศาล ทั้งนี้รายงานผลการสืบสวนจึงอธิบายความเห็นของกรรมการแต่ละคนทั้งเสียงข้างมาก 4 เสียงที่เห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐผู้จัดทำเอกสารลับวางตัวไม่เป็นกลางฝ่าฝืนมาตรา 57 วรรคหนึ่ง  และเสียงข้างน้อย 3  เสียง ที่เห็นว่า แม้มีการปฏิบัติที่ไม่เป็นกลาง แต่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 57 วรรคสอง ที่เห็นว่า คมช.และกองทัพบกมีหน้าที่ในการรักษาความมั่นคง จึงถือว่า เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ตามปกติที่พึงปฏิบัติในตำแหน่งของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น รวมทั้งชี้ชัดว่า การกระทำเป็นความผิดอย่างไร เกิดขึ้นด้วยเหตุใด

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรรมการชุดนายสุพลหลีกเลี่ยงที่จะปฏิบัติตามคำสั่ง กกต. กล่าวคือไม่แจ้งข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ กกต. มีคำสั่งที่ 288/2550 แต่งตั้งคณะกรรมการ และระบุอำนาจให้วินิจฉัยหรือเกี่ยวกับประเด็นในเรื่องที่สืบสวนสอบสวนดังกล่าวให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนขยายผลจนสิ้นกระแสความและมีอำนาจแจ้งข้อกล่าวหาและอธิบายข้อเท็จจริง หรือแสดงหลักฐานแทน กกต.เสร็จแล้วให้รายงานต่อ กกต.

 

ด้านนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. กล่าวว่า จะนำรายงานของกรรมการเข้าสู่ที่ประชุม กกต.ภายในวันที่30 พ.ย. หากไม่ทันก็ไปเข้าวันอังคารที่ 4 ธันวาคม ส่วนจะยึดตามผลสอบของคณะกรรมการหรือไม่นั้น ยังบอกไม่ได้ ต้องให้ กกต.ทั้ง 5 คนวินิจฉัย ต้องดูให้ละเอียดว่าความเห็นของกรรมการสอบสวนแต่ละคนเป็นอย่างไร 

 

"ก่อนหน้านี้มีการหารือใน กกต. ผมเห็นว่า กกต.ควรจะชี้ให้ชัดว่า เอกสารจริงหรือปลอม แต่มี กกต.บางคนมองว่าควรเป็นหน้าที่ศาล ถ้าเป็นอย่างนั้น กกต.จะตั้งกรรมการขึ้นมาสอบเพื่ออะไร เรื่องนี้ กกต.น่าจะพิจารณาได้โดยไม่ต้องนำกลับไปสอบเพิ่มเติม" นายอภิชาตกล่าว

 

นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวว่า กกต.วินิจฉัยเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องมีทิศทางเดียวกันกับคณะกรรมการก็ได้ แต่จะนำผลการรายงานมาประกอบดุลพินิจและประกอบข้อกฎหมายต่างๆ รวมถึงต้องดูรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดด้วย หากผลการประชุมระบุว่า กองทัพกระทำที่ผิดกฎหมาย คงไม่มีผลให้ยุบกองทัพ แต่จะเป็นความผิดส่วนบุคคล

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ คมช.วางตัวไม่เป็นกลาง กกต.จะดำเนินการอย่างไร นายประพันธ์กล่าวว่า จะยึดระเบียบและกฎหมายเป็นหลัก และจะให้คำตอบได้ในการประชุมวันที่ 4 ธันวาคมนี้

 

นายกฯ จ่อขยับเก้าอี้ 'สนธิ' ถ้าผิดจริง

ขณะที่พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงมติของคณะกรรมการสอบสวนกรณีเอกสารลับสรุปการทำหน้าที่ของ คมช.ไม่เป็นกลางว่า คงต้องรอการตรวจสอบของ กกต.

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรี อดีตประธาน คมช. เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการตามวาระแห่งชาติว่าด้วยการรณรงค์แก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง (ครส.) จะทำให้ภาพการเลือกตั้งไม่เป็นกลางหรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า กกต.จะเป็นผู้ชี้ เมื่อ กกต.ชี้แล้ว จึงค่อยปฏิบัติ ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องดำเนินการอะไร

 

เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าหาก กกต.ชี้มูลก็จะเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของ พล.อ.สนธิใช่หรือไม่ พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า "ครับ อันนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการ เมื่อ กกต.ได้ชี้ออกมาแล้ว"

 

เมื่อถามว่า รัฐบาลยืนยันได้ใช่หรือไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นกลาง และไม่ให้มีความลำเอียงเกิดขึ้นในการเลือกตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ตอบว่า แน่นอน ส่วนนี้รัฐบาลสามารถยืนยันได้ เพราะรัฐบาลเองพยายามดำเนินการเรื่องความเป็นกลางอย่างเต็มที่

 

 

พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ต้องเคารพการตัดสิน เมื่อ กกต.ตกลงใจ หรือมีคำสั่งอะไรออกมากองทัพก็ต้องปฏิบัติตาม

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า กองทัพจะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร พล.อ.บุญรอดกล่าวว่า ต้องถามกองทัพบกและ คมช. คิดว่าน่าจะมีผลกระทบต่อกองทัพ เพราะกองทัพบก และ คมช.เป็นผู้ทำเอกสารนี้ขึ้นมา

 

ส่วนพล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ และรักษาการประธาน คมช. กล่าวว่า ไม่ทราบว่าเอกสารลับผิดกฎหมายประเด็นใด แต่เข้าใจว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารภายในกองทัพซึ่งออกก่อนที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯจะประกาศบังคับใช้ แต่ไม่ว่าจะผิดหรือถูกต้องว่ากันตามกฎหมาย เพราะสิ่งที่ทำไปแล้วไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ แต่ไม่น่าจะมีอะไรผิด

 

"เราต้องไปดูว่าคำสั่งนั้นออกหลังจากมีกฎหมายแล้วหรือยัง ถ้าเอกสารทำก่อนจะไปผิดได้อย่างไร ไม่ผิดเพราะเอกสารออกก่อน กฎหมายจะย้อนหลังได้อย่างไร และเอกสารดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของกองทัพ เพราะเนื้อหาเป็นการพูดในเรื่องทั่วไป คือการส่งเสริมให้คนเข้าใจทำในสิ่งที่ดีให้กับประเทศชาติ อะไรที่ไม่ดีก็ไม่ควรทำ เอกสารพูดแค่นั้น เอกสารไม่ได้พูดว่าจะต้องทำลายล้าง คำสั่งที่ออกมายังคงมีอยู่ และไม่ยกเลิก ไม่ได้สั่งให้สกัดกั้น แต่เป็นการเสนอแนะ" รักษาการประธาน คมช.กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า เกรงหรือไม่ว่าพรรคการเมืองจะฟ้องร้อง คมช. พล.อ.อ.ชลิตกล่าวว่า ไม่สนใจ ส่วนการเลือกตั้งเป็นเรื่องของรัฐบาลและ กกต. โดย กกต. และรัฐบาลทำเรื่องขอความร่วมมือจากทหาร หากทหารไม่ส่งกำลังไปช่วยเหลือเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ก็ไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ทหารไม่ได้เข้าไปทำอะไร แต่เข้าไปอำนวยความสะดวก และไม่ได้สกัดกั้นพรรคการเมือง เพราะผิดกฎหมาย

 

เรียบเรียงจาก มติชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท