ม็อบต้านถ่านหินสงขลาสลาย ชี้แนวโน้มโรงงานในพื้นที่หันใช้เป็นเชื้อเพลิงเพิ่ม

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2550 ผู้สื่อข่าวรายงานความคือหน้ากรณีกลุ่มชาวบ้านตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ชุมนุมประท้วงกว่า 50 คน ปิดประตูทางเข้าโรงงานผลิตถุงมือยาง ของบริษัทเซฟสกิน เมดดิคอล แอนด์ ไซเอนทิฟิก (ประเทศไทย) จำกัด ริมถนนกาญจนวนิช หมู่ที่ 8 ตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 27 พฤศจิกายน 2550 ที่มีแผนจะใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตว่า ได้สลายตัวแล้ว หลังจากได้นายอำเภอสะเดาได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ได้ข้อสรุปว่าทางโรงงานยังไม่ได้รับอนุญาตใช้ถ่านหินจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และหากจะดำเนินการต้องทำประชาพิจารณ์

 

นายชลอศักดิ์ วาณิชย์เจริญ นายอำเภอสะเดา เปิดเผยว่า  ผู้ชุมนุมได้สลายตัวไปเรียบร้อยแล้ว โดยให้ทางโรงงานปฏิบัติตามข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเริ่มจากการทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านในพื้นที่ก่อน หากชาวบ้านยินยอมก็สามารถใช้ถ่านหินได้ และเป็นหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องมาดูแลด้วย

"ในการรับฟังความคิดเห็นนั้น เมื่อชาวบ้านเห็นด้วยก็ต้องส่งเรื่องขอความเห็นชอบจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แต่ตอนนี้ทางโรงงานไม่ได้มีการ ดำเนินการใดๆ เลย และยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ถ่านหิน เพียงแต่แจ้งให้ชาวบ้านทราบ ว่าจะนำมาใช้เท่านั้น แต่ชาวบ้านระแวงไปก่อนแล้ว" นายชะลอศักดิ์ กล่าว

นายชลอศักดิ์  กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องให้ความรู้กับชาวบ้าน เพราะเขาไม่มีความรู้ จึงอยากให้สถาบันการศึกษาเข้ามาในพื้นที่เพื่อให้ความรู้เรื่องถ่านหินแก่ชาวบ้านด้วย เพราะถ้ามีนักวิชาการมายืนยันถึงผลดีผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจะทำให้ชาวบ้านเข้าใจมากขึ้น เพราะการที่ชาวบ้านประท้วงขณะนี้อาจมาจากความเข้าใจผิด หรือไม่ได้รับความรู้ที่ถูกต้อง ตอนนี้ยังไม่มีการนำมาใช้ก็จริง แต่ในอนาคต หากนำมาใช้จริงในขณะที่ชาวบ้านยังไม่มีความเข้าใจมาก ก็จะเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก

 

รองศาสตราจารย์ ดร.เริงชัย ตันสกุล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากพูดถึงข้อดีข้อเสียของถ่านหิน จะพบว่าส่วนมากมีซัลเฟอร์ ซึ่งเป็นสารพิษปะปนอยู่ แต่สำหรับจังหวัดสงขลา ถือว่าเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่ ดังนั้นนักวิชาการต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ชาวบ้านด้วย

ผู้มีอำนาจต้องควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมาย เพราะการใช้ถ่านหินก่อผลกระทบมากมาย เช่น ฝนกรด เขม่า แต่ถ่านหินที่ดี บีทูมินัท เพราะมีคุณภาพดีกว่าลิกไนต์ ถึงจะปล่อยของเสียออกมาแม้น้อยกว่า แต่ก็ถือว่ามีอยู่มลพิษบ้าง ดังนั้นโรงงานจะมีมาตรการอย่างไรในการป้องกัน จึงอยากให้มีการจัดเวทีหาข้อสรุปร่วมกันกับชาวบ้านด้วย

 

นายสมดี สุภามาลา อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ทางบริษัท เซฟสกินฯ ได้แจ้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางด้านการผลิตมาแล้ว โดยเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร คือ หม้อน้ำ ส่วนการใช้ถ่านหินนั้นทางโรงงานยังไม่มีใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม

 

นายสมดี กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ ราคาน้ำมันแพงขึ้น และภาวะเงินบาทแข็ง ทำให้ผู้ประกอบการต้องลดต้นทุนลง โดยการต้นทุนด้านพลังงาน ซึ่งเห็นด้วย โดยการขอใช้ถ่านหินนั้น ทางโรงงานได้เสนอมาตรการควบคุมมาด้วย แต่ชาวบ้านคงระแวงหรือเข้าใจผิดเรื่องถ่านหิน เพราะถ่านหินที่โรงงานจะใช้ คือ บีทูมีนัท ซึ่งไม่มีมลพิษเหมือนลิกไนท์ที่เป็นถ่านหินเกรดต่ำ

 

นายสมดี กล่าวอีกว่า ถ่านหินในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นเรื่องใหม่สำหรับังหวัดสงขลา แต่ในที่อื่นๆ เช่น สมุทรสาคร มีการใช้ถ่านหินกันหมดแล้ว ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมที่หลายฝ่ายเป็นห่วงนั้น แต่ต้องช่วยกันทำความเข้าใจ อย่าระแวง เพราะเขาส่งเสริมการลงทุนจริง แต่เขาก็ต้องรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.เริงชัย กล่าวต่อว่า ทางโรงงานมีสิทธิ์ใช้ถ่านหิน แต่ถามว่ามีการขออนุญาตแล้วหรือยัง ซึ่งต้องถามทางอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา ส่วนชาวบ้านคิดว่าจะมีอันตรายหรือไม่ ก็ต้องถามทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด หากชาวบ้านประท้วงแล้ว วิธีที่นุ่มนวลที่สุด คือ ให้หน่วยราชการเข้ามาควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด ขณะเดียวกัน อบต.ปริก เองก็มีสิทธิ์ในการจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตนเอง

 

หากบริษัทใหญ่ๆ อย่างเซฟสกินฯ จะใช้เชื่อว่าจะมีมาตรการป้องกันได้ แต่ต้องใช้ต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งช่วงแรกๆ อาจบอกว่าป้องกันได้ เพราะมีมาตรการต่างๆ ควบคุมดูแลอยู่ แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ เมื่อไม่มีการเข้มงวด ประกอบกับมีต้นทุนสูงขึ้น จึงกลายเป็นการละเลย

 

สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดสงขลา มีแนวโน้มจะใช้ถ่านหินมากขึ้น โดยจะมีการสั่งนำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย เพราะปริมาณไม้ฟืนที่นำมาใช้มีแนวโน้มลดลง แต่ปริมาณการผลิตกับเพิ่มขึ้น

"ทุกฝ่ายต้องช่วยกันศึกษาหาทางออก เพราะโรงงานต้องลดต้นทุนลง มิฉะนั้นจะขาดทุน ดำเนินการต่อไม่ได้ แต่ก็ต้องดูว่า วิธีการลดต้นทุนนั้นส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง และต้องมีการป้องกันผลกระทบที่แน่นหนามรกขึ้นด้วย" รศ.ดร.เริงชัย กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท