Skip to main content
sharethis

"สัณห์ชัย โชติรสเศรณี" ฝ่ายประสานงานของมูลนิธิหนังไทย ท่ามกลางประเด็นร้อน "ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ..." ถูกเสนอเข้าวาระแรกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 50 โดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ซึ่ง "สัณห์ชัย โชติรสเศรณี" ได้ถ่ายทอดความคิดเห็นต่อประเด็น พ.ร.บ. ภาพยนตร์ ในเวทีการประชุมวิชาการด้านภาพยนตร์ไทยครั้งที่ 1 และมุมมองเกี่ยวกับภาพยนตร์ไทย อย่างน่าสนใจ

 สัมภาษณ์/ถ่ายภาพโดย อรรคพล สาตุ้ม

 
สัณห์ชัย โชติรสเศรณี
 
 
บรรยากาศงาน ดูหนังมุมมองใหม่ การประชุมวิชาการด้านภาพยนตร์ไทยครั้งที่ 1
 
เมื่อวันที่ 17-18 พฤศจิกายน ณ แกลเลอรี่ 2 บางกอกโค้ด (ศูนย์ชุมชนน่าอยู่กรุงเทพ) มีเวทีเสวนา เรื่อง "ดูหนังมุมมองใหม่ กับ การประชุมวิชาการด้านภาพยนตร์ไทยครั้งที่ 1" โดย มูลนิธิหนังไทย ในพระอุปถัมป์พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี จัดงานประชุมวิชาการด้านภาพยนตร์ไทยครั้งแรกในประเทศไทย
 
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะช่วยพัฒนาวงการศึกษาภาพยนตร์ในประเทศไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และเป็นเสมือนเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนระหว่างนิสิตนักศึกษา นักวิชาการ และบุคคลทั่วไป ที่มีความสนใจภาพยนตร์ไทยในแง่เชิงวิชาการ ภายในงานจะมีการนำเสนองานวิจัยและบทความเชิงวิชาการเกี่ยวกับภาพยนตร์ 13 เรื่อง ครอบคลุมประเด็นตั้งแต่ กระบวนการศึกษาภาพยนตร์ ประวัติศาสตร์ ชาตินิยม ความเป็นไทย อัตลักษณ์ ลัทธิหลังสมัยใหม่ และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดฉายภาพยนตร์ชาติพันธุ์ และการสัมมนาเรื่อง"การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์: การคุกคามเสรีภาพทางปัญญา เป็นต้น"
 
ประชาไทมีโอกาสสัมภาษณ์ คุณสัณห์ชัย โชติรสเศรณี ผู้ประสานงานของมูลนิธิหนังไทยเกี่ยวกับมุมมองในด้านประเด็น พ.ร.บ.ภาพยนตร์ในการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ไทยและมุมมองเกี่ยวกับภาพยนตร์ไทย ดังกล่าว
 
000
 
เมืองไทยกับการศึกษาภาพยนตร์
 
เรียนให้ทราบนิดนึงครับว่า โดยปกติแล้ว คอร์สวิชาภาพยนตร์ในเมืองไทยทุกวันนี้ มีอยู่ไม่ถึง 10 มหาวิทยาลัย ที่เปิดวิชาเอกภาพยนตร์จริงๆ แต่ว่าทุกคณะ มีจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกัน คือ การผลิตนักศึกษามุ่งเน้นไปที่โปรดักชั่นเป็นหลักโดยเฉพาะ เขาสอนว่าจับกล้องอย่างไร เขียนบทอย่างไร อะไรอย่างนี้ ผลผลิตออกมา คือ เด็กปริญญาตรีทำหนังสั้นส่งหรือฝึกงานในกองถ่าย แต่วิชาที่ มันเป็น Film studies การวิจารณ์ทฤษฎี มีสัดส่วนที่น้อย ถ้าเทียบกับวิชาที่เป็นโปรดักชั่น โดยส่วนใหญ่แล้ว ก็จะมีสัก 1-2 วิชา จะมีบางมหาวิทยาลัย ที่จะเป็นทางเลือก มีหลายวิชา แต่ก็ส่วนใหญ่ แล้วเน้นโปรดักชั่นเป็นหลัก
 
เคยได้คุยกับทางมหาวิทยาลัยหลายมหาวิทยาลัย เขามุ่งเน้นที่ตอบสนองอุตสาหกรรมภาพยนตร์พอสมควร โดยเฉพาะบางมหาวิทยาลัยจะวัดเกณฑ์ว่ามหาวิทยาลัยดีหรือไม่ดี โดยดูว่าเด็กที่จบไปได้หรือไม่ได้งาน และเขามองว่า การเรียน การสอนโปรดักชั่นนั้น เด็กได้โปรดักชั่นแน่ๆ ไปทำงานโปรดักชั่น แต่ว่าทางด้าน Film studies มันไม่ค่อยมีโอกาสตรงนี้ ความจริงต้องมองว่าวิชาทาง Film Studies เป็นวิชาพัฒนาสมอง มันไม่ได้ออกมาเป็นตัวงาน หรือทำหนังให้เป็นแบบนี้ มันจึงไม่เห็นเป็นรูปธรรม
 
ขณะเดียวกัน เด็กที่สนใจเรียนภาพยนตร์ส่วนใหญ่ก็มองภาพยนตร์เป็นเชิงโปรดักชั่นเป็นหลัก คืออยากทำภาพยนตร์ แต่ไม่มีใครคิดว่าอยากเป็นนักวิชาการภาพยนตร์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์เมืองไทย ก็อาจจะมีบ้าง แต่งานวิจารณ์ภาพยนตร์เมืองไทยเองก็เหมือนเป็นเชิงโปรดักชั่น เช่น มุมกล้องเป็นอย่างไร สีอย่างไร แสงอย่างไร ต้องบอกเลยว่าการศึกษาภาพยนตร์ไทย ยังไม่ข้ามผ่านความเป็นโปรดักชั่น (Film Production) ถ้าไปศึกษาทฤษฎี ก็จะเป็นทฤษฎีรูปแบบนิยม (Formalist Film Theory) และ สัจนิยม (Realist Film Theory) ที่จะดูรูปแบบของการสร้างภาพยนตร์เป็นหลัก
 
ส่วนนี้มันก็อาจจะสะท้อนมายังภาพยนตร์ไทยได้ คือมันจะมีลักษณะแบบไม่ได้ลึกซึ้งอะไรมากนัก เพราะเขามองว่า ภาพยนตร์ไม่ได้ลึกอะไรเลย ในท้ายที่สุด คุณใช้กล้องเป็น คุณจับกล้องเป็น คุณวางกล้องได้ คุณก็สร้างภาพยนตร์ได้แล้ว แต่เขาไม่ได้คิดถึงว่าภาพยนตร์แท้จริง มันลึกกว่านั้น
 
คนที่มาเสนอบทความ ในงานประชุมวิชาการด้านภาพยนตร์ไทยครั้งนี้ ไม่ได้จบสายภาพยนตร์กันมาเลย แต่มาจากหลายสายๆ นั่นแสดงว่า มันมีการพยายามอีกฟากหนึ่งที่จะใช้ทฤษฎีวรรณกรรม ทฤษฎีสังคม ทฤษฎีอื่นๆ มาใช้กับภาพยนตร์ มาเจาะภาพยนตร์ เพราะต้องยอมรับว่า ภาพยนตร์เป็นสื่อที่แพร่หลาย ทุนนิยม เป็นสื่อประชานิยมของสังคมไทยด้วย มันเลยกลายเป็นว่า มันมีอีกด้านหนึ่ง อีกขั้วหนึ่งที่ไม่ใช่ขั้วของการศึกษาภาพยนตร์เลย แต่เป็นขั้วของการศึกษาวรรณคดีเปรียบเทียบ การศึกษามนุษย์ สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา ที่ใช้ภาพยนตร์มาเล่นเป็นตัวถูกศึกษาเพื่อจะอธิบายสภาพสังคม อะไรอย่างนี้…ถ้าอยากฟังบทความ หรืองานวิจัยเหล่านี้ ก็ต้องไปตามงานที่คณะอักษรศาสตร์ และคณะสังคมวิทยา คณะรัฐศาสตร์ เราต้องไปคณะเหล่านี้ ถึงจะรู้ว่าภาพยนตร์แท้จริงมีมากกว่าที่เห็น
 
 
อยากให้บอกเล่าจากประสบการณ์ที่ไปดูวงวิชาการประชุมด้านภาพยนตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือประเทศเพื่อนบ้าน
 
2-3 ปีที่ผ่านมา เรามีงานประชุมวิชาการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะ จัดโดยกลุ่มของนักวิชาการด้านภาพยนตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเวียนจัดตามประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเมื่อ 2 ปีที่แล้ว จัดที่ธรรมศาสตร์ โดยมูลนิธิหนังไทยฯ รับเป็นเจ้าภาพจัดงาน คนที่มานำเสนองานในงานประชุมนี้มีนักวิชาการอยู่ 2 ประเภท นักวิชาการประเภทหนึ่งเป็นคนต่างประเทศหรือคนไทยหรือคนท้องถิ่นที่ไปโตใน ต่างประเทศ เขาพวกนี้จะเป็นอาจารย์สอนที่อเมริกา อังกฤษ หรืออื่นๆ แล้วศึกษา วิจัย รากเหง้าของตนเอง อย่างคนไทยมี คุณอาดาดล อิงคะวณิช เรียนมัธยมที่อังกฤษจนจบปริญญาเอกที่อังกฤษ ก็เป็นอาจารย์สอนที่อังกฤษเลย แต่สนใจศึกษาภาพยนตร์ไทย
 
อีกประเภทหนึ่งเป็นนักวิชาการของแต่ละประเทศ คือเป็นคนชาตินั้นๆ โอเคบางคนอาจได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ แต่เรียนจบแล้วกลับมาทำงานที่ประเทศของตัวเอง และศึกษาภาพยนตร์ของประเทศของเขา โดยสัดส่วนแล้ว จำนวนของสองประเภทนี้ก้ำกึ่งกัน
 
แต่สำหรับประเทศไทย นักวิชาการประเภทหลังจะมีสัดส่วนที่น้อยมาก แทบจะไม่มีนักวิชาการคนไทยที่ไม่ได้โตหรือทำงานต่างประเทศมานำเสนองานวิจัย หรือบทความเกี่ยวกับภาพยนตร์ไทย อุปสรรคอันหนึ่ง อาจจะเกิดจากการนักวิชาการที่เป็นคนไทยที่เป็นคนไทยแท้ๆ ไม่ได้รับการศึกษาต่างประเทศ หรืออาจไปเรียนต่างประเทศ สัก 1 ปี หรือ 2 ปี จะมีอุปสรรคด้านภาษา เพราะเวลาพรีเซ็นต์งานต้องเป็นภาษาอังกฤษ ด้วยข้ออ้างนี้เราจึงอาจจะเห็นว่านักวิชาการที่เยอะ คือ ประเทศมาเลเซีย สิงค์โปร์ ฟิลิปปินส์ ที่พูดภาษาอังกฤษค่อนข้างคล่อง
 
แต่ถ้าถามว่าในแง่แวดวงการศึกษาของภาพยนตร์ของเขา ส่วนใหญ่เท่าที่คุยกันแต่ละที่ก็เน้นโปรดักชั่น ความจริงมันก็เป็นกระแสทั่วโลกอยู่แล้ว ผมไม่แน่ใจในยุโรป แต่ว่าที่อเมริกา มหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัย ถ้าเปิดภาพยนตร์ ส่วนใหญ่จะเปิดเพื่อโปรดักชั่น ส่วนสายทฤษฎี หรือ Film Studies ไม่ใช่ทุกมหาวิทยาลัยจะเปิดวิชาเอก Film Theory ส่วนในประเทศเพื่อนบ้าน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีลักษณะใกล้เคียงกันคือ ถ้ามหาวิทยาลัยเปิดด้านภาพยนตร์จะเปิดเน้นโปรดักชั่น เรื่อง Film Studies อาจ จะไปอยู่ในสาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา หรืออะไรอย่างนี้ไปแทน สถานการณ์ระหว่างบ้านเรากับประเทศอื่นๆไม่ต่างกัน เพียงแต่ว่าคนอื่นๆ เขามีการเริ่มต้น แล้วตัวของนักวิชาการของเขาเองก็แข็งแรง เขาพยายามนำเสนองานวิชาการที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ มันมีการเปิดพื้นที่นำเสนอได้ เขาจึงสามารถพัฒนาความรู้ไปได้ไกลกว่าที่เราเป็นอยู่
 
 
ถ้าเทียบกันในเชิงพื้นที่สื่อของไทย ระหว่างสื่อนิตยสารกับสื่อวิชาการ คิดว่าเป็นอย่างไรบ้าง
 
ความแพร่หลายของสื่อวิชาการของเรายังน้อยอยู่ เราอยู่ค่อนข้างจำกัด เราอยู่จำกัดวงเล็กๆมากๆ ยอดพิมพ์หนังสือบางที 500 เล่ม 1,000 เล่ม ยังขายกันไม่หมดเลย ใช่ไหม อาจารย์ของผมท่านหนึ่ง
 
พิมพ์หนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ 1,000 เล่ม ผ่านมาแล้ว 6 ปี ทุกวันนี้ ผมยังเห็นมันยังวางขายอยู่เลย… แสดงว่ามีคนไม่กี่คนได้อ่านเล่มนี้ คุณอาจจะคิดว่า เขาอาจจะยืมห้องสมุดมาอ่านก็ได้ แต่ถ้าพิมพ์ออกมา 1,000 เล่ม เรามีประชากร 60 ล้านคน แปลว่า เรามีคนอ่านหนังสือเล่มที่เป็นเนื้อหนังเกี่ยวกับภาพยนตร์อย่างจริงจังคิด เป็นสัดส่วนเท่าไร คนไทยดูหนังอย่างต่ำล้านคน เพราะเรามีหนังรายได้ 100 ล้าน แสดงว่าคน 1 ล้านคน ต้องดูหนังแล้ว นี่ไม่รวมคนดูหนังจากวีซีดี ดีวีดี หรือ เคเบิ้ลทีวี แต่คนอ่านประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ แค่ 1,000 คน หรือไม่ถึง 1,000 คนด้วยซ้ำ โดยสัดส่วนแล้ว 1 ต่อ 1,000  ถ้า เทียบกันแล้วสัดส่วนค่อนข้างน้อย ผมไม่อยากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะไม่รู้ว่าสถิติของเขาเป็นอย่างไร แต่ผมว่าความคิดในการดูหนังของเขากับเรา ก็คงใกล้ๆ กัน คือ การดูหนังเพื่อความบันเทิง แต่เรื่องงานวิชาการ ผมไม่รู้ว่า เขาตีพิมพ์มากน้อยแค่ไหน…
 
แต่ถ้าสมมติจะพูดในแง่นิตยสาร นิตยสารเกี่ยวกับหนังในเมืองไทยเอง เรามีหลายหัวอยู่ แต่ว่าในแต่ละหัว จะเน้นไปตรงข่าวคราวด้านโปรดักชั่นเป็นหลัก หรือบางทีก็ข่าวประชาสัมพันธ์หนังแต่ละเรื่อง หัวที่หนักๆ จริงจังก็ยังไม่มี… ซึ่งผมไม่แน่ใจในกรณีของประเทศเพื่อนบ้าน แต่ ในประเทศอังกฤษ จะมีSight and Sound ซึ่งเป็นนิตยสารหนังที่ดังมาก จะเป็นหนังสือรวบรวมบทวิจารณ์หนังทั้งเล่ม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการวิจารณ์หนังเชิงลึก มันมีตั้งหลายทฤษฎีที่เล่นกันในบทวิจารณ์หนังในเล่มหนึ่งๆ ซึ่งพอคนเสพบทวิจารณ์เหล่านี้มากๆ เข้า ความเข้าใจหนังในเชิงลึกก็จะเกิดขึ้น และพัฒนาเรื่อยๆ
 
อีกส่วนหนึ่ง ก็คือ มักจะมีคนถามว่า คุณจะไปซีเรียสอะไรกับหนัง หนังมันแค่สิ่งบันเทิง ดูสนุกก็ดีแล้ว ตัวผมเองสอนหนังสือ เคยถามเด็กสาขาสื่อว่า ภาพยนตร์ที่ดีของคุณ คืออะไร เด็กก็จะตอบประมาณว่าดูสนุก เขาจะคิดว่า ภาพยนตร์จ่ายตังค์ไปแล้วร้อยนึงขอให้ฉันได้สนุก คือได้สนุก ได้อิน ได้อารมณ์ ร้องไห้ ได้อารมณ์ ฉันคุ้ม เขาจะไม่คิดว่าได้อะไรมากกว่านั้น แล้วเวลาไปสอน คุณจะต้องอ่านนั่นอ่านนี่ เขาจะถามว่า ทำไมต้องอ่าน ภาพยนตร์… มันก็แค่นี้ไม่ใช่เหรอ ผมคิดมากไปเองหรือเปล่า ผมไม่อยากโทษว่าเป็นความผิดของเด็กนะ ที่เขาคิดแบบนี้ เพราะทัศนคติแบบนี้ถือเป็นวาทกรรมหลักที่ครอบงำสังคมไทยอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในแง่ของสังคมตลาดทุนนิยม ที่ทุกอย่างมันต้องขึ้นอยู่กับการตอบสนองเงิน กำไร ยอดพิมพ์ออกมาต้องขายได้ คนต้องอ่าน หนังออกมาต้องขายได้มากที่สุด มันก็ทำให้ความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาวงการที่ไม่ใช่กระแสหลัก หรือที่ไม่ทำเงิน มีโอกาสน้อยลง แล้วคนก็ไม่จะสนใจมุมอื่นๆ ของหนังอีก นอกจากความสนุก หรือถ้าเป็นหนังผีขอให้น่ากลัวก็พอ
 
ส่วนงานวิชาการภาพยนตร์ในประเทศไทย ก็ยิ่งอยู่สุดชายขอบของตลาดทุนนิยมเลยก็ว่าได้
 
 
เป้าหมายของการสัมมนาเรื่อง การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ : การคุกคามเสรีภาพทางปัญญา ในการจัดประชุมภาพยนตร์ไทยครั้งที่ 1 
 
พอดี การจัดงานประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในช่วงที่ ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.... กำลังอยู่ในคิวพิจารณาจากสภานิติบัญญัติเพื่อจะออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งตัวร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ทางมูลนิธิหนังไทยฯ ได้รวมกลุ่มกับพันธมิตรหลายๆ ฝ่าย เพื่อจะคัดค้านเนื้อหาของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ในเรื่องของความพยายามของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะมีอำนาจในการสั่งตัดหรือสั่ง ห้ามไม่ให้ฉายหนังได้ แม้ว่าจะมีการจัดเรตติ้งแล้วก็ตาม
 
ต้องเข้าใจก่อนว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ มันถูกเรียกร้องให้จัดทำขึ้นเพื่อแทน ตัว พ.ร.บ. ฉบับเก่า ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2473 ยุค สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งฉบับเก่าจะไม่มีการแบ่งเรตติ้งภาพยนตร์ แต่จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์ ตัด หรือแบน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ จึงถูกคาดหวังว่าเนื้อหาของมันจะสอดคล้องกับสังคมที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่เมื่อทางมูลนิธิหนังไทยฯ ได้เห็นเนื้อหาจริงๆ มันกลับไม่เป็นเช่นนั้นแต่อย่างไร มันกลับเป็นการเคลือบหน้าด้วยสิ่งที่สังคมเรียกร้องคือเรตติ้ง โดยซ่อนแนวคิดอำนาจนิยมอยู่ภายใต้นั้น
 
ก่อนหน้านี้ ทางมูลนิธิหนังไทยฯ เคยจัดเวทีสัมมนาเรื่องเซ็นเซอร์มาแล้วสองครั้ง โดยทุกครั้งจะเป็นการเชิญวิทยากรจากหลายๆ ฝ่าย มารวมพูดคุย ถกปัญหา ในแต่ละมุมมอง พอมาคราวนี้ มันจัดอยู่ในงานประชุมวิชาการ เราก็เลยอยากจะลองจัดอีกครั้ง แต่อยากได้มุมของนักวิชาการล้วนๆ แทน รวมทั้งเราคาดหวังว่าผู้ฟังของเราก็เป็นผู้ที่สนใจในงานวิชาการด้วย การถกเถียงต่างๆที่จะเกิดขึ้นจะช่วยขยายความให้ลึกซึ้งมากขึ้น และเราอยากให้นักวิชาการท่านอื่นๆ ได้ตระหนักถึงปัญหาเรื่องการเซ็นเซอร์ที่มีอยู่ในสังคมไทยด้วย
 
ประเด็นหลักอีกอันหนึ่งคือ เรามองว่า การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์จริงๆ แล้ว มันคุกคามเสรีภาพการเรียนรู้ของประชาชนนะ  เรามองว่า ภาพยนตร์มันก่อให้เกิดปัญญาต่อคนดูได้ การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ก็เท่ากับการเซ็นเซอร์สิ่งที่ก่อให้เกิดปัญญา ยกตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง The King and I (ไม่ ว่าจะฉบับไหนก็แล้วแต่) จะถูกแบนห้ามฉาย ห้ามเผยแพร่ ในประเทศไทย จะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ ผมก็มองว่า คำสั่งห้ามเผยแพร่ หรือห้ามฉาย นี้ไม่เหมาะสม เพราะ ประการแรก มันเท่ากับว่าเราปฏิเสธการมีอยู่ของหนังเรื่องนี้ เราปิดประเทศตัวเอง ไม่รับรู้โลกภายนอกเลย จริงๆ แล้ว เป็นไปไม่ได้ โลกในปัจจุบัน คุณไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย ยิ่งคุมมันก็จะมีช่องว่าง ช่องทางในการเล็ดรอดได้อยู่แล้ว เอาง่ายๆ ผมแค่บินไปสิงคโปร์ ผมก็สามารถหาซื้อแผ่นหนังเรื่องนี้ได้แล้ว จากประเด็นนี้ จะเห็นได้ว่า การเซ็นเซอร์ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาการเข้าถึงภาพยนตร์จริงๆได้เลย ตรงกันข้าม มันกลับสร้างความแตกต่างและความไม่เท่าเทียมระหว่างคนที่มีโอกาสกับคนด้อย โอกาส ในขณะที่คนที่มีโอกาสอาจจะฐานะดีกว่า อยู่ชนชั้นสูงกว่า ก็สามารถเข้าถึงหนังเรื่องนี้ได้ คนด้อยโอกาสในสังคมก็ยังคงถูกควบคุมต่อไป ไม่มีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้ต่อไป
 
ประการที่สอง ในส่วนของการก่อให้เกิดปัญญานั้น สมมติผมจะศึกษาเรื่องภาพลักษณ์ของสยามประเทศในสายตาชาวตะวันตกผ่านภาพยนตร์ เป็นไปไม่ได้เลยที่ผมจะไม่กล่าวถึงภาพยนตร์เรื่อง The King and I นี้ เพราะภายใต้ภาพยนตร์เรื่องนี้ คุณจะเห็นแนวคิดของชนชาติตะวันตกที่มองสังคมไทยว่าเป็นอย่างไร การสั่งห้ามเผยแพร่ หรือห้ามฉาย ภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงเท่ากับปฏิเสธหนทางที่ก่อให้เกิดปัญญาครับ สุดท้ายมันก็วนไปที่ที่พูดเมื่อกี้ว่า คนต่างแดนเท่านั้นที่จะมีสิทธิที่จะศึกษาประเด็นนี้ ส่วนคนไทยก็จะไม่ได้รับโอกาสนั้น แน่นอนเท่ากับว่างานวิชาการในสังคมไทยก็จะไม่โตเท่าที่ควรด้วย
 
 
 
คิดไงบ้างกับการจัดงานครั้งนี้
 
ต้องบอกว่าตัวเองค่อนข้างประหลาดใจกับยอดคนที่มาฟัง แม้จะไม่ได้เยอะมากมายนัก เพราะตอนแรกคิดว่า 20 คนต่อวันก็เยอะแล้ว สุดท้ายก็ประมาณ 40 คน ต่อวัน ได้กลุ่มคนที่หลากหลายจำนวนหนึ่ง เท่าที่ถามๆ ดู คนที่มาจะสนใจภาพยนตร์ หรือไม่ก็เห็นหัวข้อบทความแล้วสนใจอยากฟัง มีคนมาจากสายอุตสาหกรรมบ้าง และมีนักศึกษาภาพยนตร์บ้าง ส่วนใหญ่คงอยากจะทดลองอะไรบางอย่างกับชีวิต ถ้าดูในแง่คุณภาพ คนที่มาฟังผมโอเค มีการซักถาม มีการพูดคุยอะไรอย่างนี้น่ะครับ งานที่นำเสนอ ก็มีหลากหลาย มีลักษณะหลายหัวข้อ แต่ก็ไม่แน่ใจว่า สมมุติเปิดรอบต่อไป จะมีคนมาพรีเซ็นต์กันอีกหรือเปล่า เพราะว่าหมดมุกกันหมดแล้ว
 
ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในงานครั้งนี้ มันก็เป็นสิ่งดี เป็นสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้น เหมือนที่บอกในวันเปิดว่า วัตถุประสงค์ของงานคืออยากสร้างตัวตนของการศึกษาภาพยนตร์ไทยให้เกิดขึ้นใน สังคมไทยอย่างเป็นจริงจัง การจัดครั้งนี้เป็นลักษณะทดลองของเราด้วย คือ ทางมูลนิธิหนังไทยฯ อยากจัดมาตั้งนานแล้ว แต่ต้องหาเวลา หาอะไรหลายอย่างๆ ตอนนี้ คงต้องรอดูผลตอบรับออกมาจะเป็นอย่างไร ดูอะไรหลายๆอย่าง มันคุ้มกับที่เราเหนื่อยไหม หรือว่าเราต้องรอเวลาอีกนิดหนึ่งให้ทุกอย่างมันลงตัวมากกว่านี้ไหม
 
 
เกี่ยวกับสัณห์ชัย โชติรสเศรณี
สัณห์ชัย โชติรสเศรณี เรียนจบปริญญาตรีจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน แล้วเรียนจบปริญญาโท ทางด้าน Film Studies จาก University of East Anglia ในประเทศอังกฤษ และปัจจุบัน เขาเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิหนังไทยฯ และอาจารย์พิเศษที่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ส่วนประสบการณ์ด้านทำภาพยนตร์สั้นเรื่อง "จำเลยรัก" นั้น เป็นหนังสั้นแบบทดลองเป็นหนึ่งในโครงการหนัง Spoken Silence ของ มูลนิธิหนังไทยฯ ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 19 กันยา ซึ่งโครงการนี้ต้องการให้ผู้กำกับหนังสั้นแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมือง ผ่านหนังสั้น เป็นต้น
 
ข้อมูลเพิ่มเติม
ดูหนังมุมมองใหม่ กับ การประชุมวิชาการด้านภาพยนตร์ไทยครั้งที่ 1
คนรักหนังขอเปลี่ยนม้วน "พ.ร.บ.ภาพยนตร์" ฉบับ โลกแคบ-ใจแคบ
ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ พ.ศ. ...

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net