Skip to main content
sharethis


สื่อพม่าเผยพบไข้หวัดนกระบาดในเชียงตุง

 


สำนักข่าวเอพีรายงานเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า สื่อท้องถิ่นของพม่าได้รายงานการเกิดการระบาดไข้หวัดนกสายพันธุ์เอ็ช 5เอ็น1 ในฟาร์มแห่งหนึ่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ


 


รายงานระบุว่ามีไก่ล้มตายเป็นจำนวนมากตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมาในฟาร์มแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเชียงตุง  เขตรัฐฉาน หลังตรวจสอบพบเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์เ อ็ช 5เอ็น1 รัฐบาลพม่าได้รายงานต่อองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงปารีสว่า ไก่2, 058 ตัวในจำนวน 2,591 ในฟาร์มดังกล่าว ตายจากการระบาดของโรคไข้หวัดนก ส่วนที่ไก่ที่เหลือจำนวน 533 ตัวถูกฆ่าทิ้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค


 


ขณะที่รัฐบาลพม่าได้กำหนดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดนก โดยการประกาศพื้นที่ควบคุมไข้หวัดนก ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกในพื้นที่ รวมถึงการฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ที่พบการระบาดของโรค


 


ทั้งนี้ ไข้หวัดนกสายพันธุ์เอ็ช 5เอ็น1 ได้แพร่ระบาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปลายปี 2546 โดยมีสัตว์เลี้ยงที่เป็นสัตว์ปีกล้มตายนับล้าน ขณะที่มีรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตจำนวน 206 คนทั่วโลก อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ดังกล่าวในพม่าแต่อย่างใด


 


ด้านผู้เชี่ยวชาญระบุ เชื้อไข้หวัดนกอาจติดต่อโดยการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยเป็นโรคโดยตรงแม้จะมีความเป็นไปได้น้อยที่คนจะได้รับเชื้อไข้หวัดนก แต่ผู้เชี่ยวชาญรู้สึกกังวลว่า โรคไข้หวัดนกอาจกลายพันธุ์และแพร่เชื้ออย่างรวดเร็วในคน


 


ทั้งนี้ มีการรายงานการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในพม่าครั้งล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในฟาร์มแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวักออกเฉียงเหนือของเมืองพะโค ซึ่งห่างจากกรุงย่างกุ้งไป 80 กิโลเมตร โดยก่อนหน้านี้พบเชื้อไข้หวัดนกในฟาร์มสัตว์ปีกในกรุงย่างกุ้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และพบในรัฐมอญ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา


 


 


รายงานล่าสุดเผย แรงงานเด็กเพิ่มขึ้นในรัฐมอญ


 


สำนักข่าว Independent Mon News Agency รายงานเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า โครงการเพื่อสิทธิเด็กและสตรี (WCRP) ได้ออกรายงานฉบับล่าสุดโดยระบุว่า ปัจจุบัน แรงงานเด็กในพื้นที่ทางตอนใต้ของรัฐมอญเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยมีสาเหตุมาจากความยากจนที่ส่งผลกระทบต่อโอกาสทางการศึกษาซึ่งรวมถึงสุขภาพทั้งด้านทางกายและจิตใจ


 


รายงานฉบับดังกล่าวมีชื่อว่า "Minor's Labour: Comprehensive report on the worst forms of child labour" จากการศึกษาจากกรณีตัวอย่างเด็ก 44 ราย พบว่าเด็กเหล่านั้นทำงานรับจ้างในสวนยาง สวนผลไม้ นาข้าว โรงงานเผาถ่าน โรงงานทำอิฐ ร้านน้ำชากาแฟ รวมถึงซ่องและสถานที่อื่นๆ


 


มิ จาราย นัน   ผู้ประสานงานโครงการเพื่อสตรีและเด็กกล่าวว่า แรงงานเด็กส่วนมากได้ให้สัมภาษณ์ว่า ครอบครัวมีฐานะยากจน จึงไม่สามารถประกอบธุรกิจเล็ก ๆ ได้ทำให้เด็กจำนวนมากต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ขณะที่เด็กได้รับค่าจ้างสุงสุดว

ันละ 1, 000 - 2,000 จั๊ต (27 บาท -54 บาท)


 


มิ จาราย นัน   กล่าวอีกว่า พ่อแม่ของเด็กส่วนมากถูกทหารพม่าบังคับให้ไปเฝ้ายามบริเวณท่อส่งก๊าซ ทำให้ไม่สามารถทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้ ซึ่งการใช้แรงงานเด็กเกี่ยวข้องกับการหาประโยชน์ทางธุรกิจของนายจ้าง ซึ่งนายจ้างส่วนใหญ่มักจะจ่ายค่าแรงให้เด็กน้อยกว่าผู้ใหญ่ ทั้ง ๆ ที่ทำงานเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้นายจ้างนิยมจ้างแรงงานเด็กเป็นจำนวนมาก  


 


ขณะที่พ่อแม่ของเด็กต้องการส่งลูกให้เรียนสูงๆ แต่กลับพบว่าครอบครัวไม่สามารถจ่ายค่าธรรมเนียมที่ทางโรงเรียนมัธยมปลายเรียกเก็บได้  ถึงแม้ว่ารัฐบาลพม่าจะออกมาประกาศว่า นักเรียนในโรงเรียนชั้นประถมศึกษาทั่วประเทศสามารถเข้าเรียนฟรี แต่รัฐบาลพม่าไม่ได้จัดสรรงบประมาณให้แก่โรงเรียนเหล่านั้น ทำให้โรงเรียนต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ปกครองเอง เพราะไม่งบที่จะนำมาซื้ออุปกรณ์ในการเรียน


 


รายงานดังกล่าวระบุอีกว่า มีเด็กจำนวนนับล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของรัฐบาลพม่า ทำให้เด็กจำนวนมากต้องเผชิญกับความยากลำบาก ขณะที่งบประมาณส่วนมากของประเทศ ถูกนำไปใช้ในการพัฒนาและการขยายกองทัพ ซึ่งโครงการเพื่อสิทธิเด็กและสตรีได้เรียกร้องไปยังรัฐบาลทหารพม่าให้ดูสิทธิของเด็กมากขึ้น รวมถึงแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กอย่างจริงจัง  


 


ทั้งนี้ ผู้จัดทำรายงานฉบับดังกล่าวหวังที่จะให้นานาชาติเข้าใจถึงชะตกรรมของเด็กในหลายพื้นที่ของพม่า ถึงแม้ทางรัฐบาลพม่าจะร่วมลงนามในอนุสัญญาสิทธิเด็ก แต่กลับพบปัญหาแรงงานเด็กเพิ่มขึ้น


 


โครงการเพื่อสิทธิเด็กและสตรีได้ก่อตั้งเมื่อปี 2543 โดยกลุ่มมูลนิธิสิทธิมนุษยชนแห่งแผ่นดินมอญ(Human Rights Foundation of Monland) ขณะที่องค์กรดังกล่าวได้ออกรายงานเผยแพร่ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิ เด็กและสตรีลายฉบับในช่วงที่ผ่านมา


 


 


องค์กรสงฆ์เรียกร้องภิกษุทั่วประเทศไม่เข้าสอบภาคประจำปีประท้วงรัฐบาลพม่า


สำนักข่าว Irrawaddy รายงานเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า กลุ่มพันธมิตรพระสงฆ์พม่า (The Alliance of All Burmese Buddhist Monks) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องพระสงฆ์ทั่วประเทศประท้วงรัฐบาลพม่าด้วยการไม่เข้าร่วมสอบภาคประจำปี เพื่อตอบโต้รัฐบาลพม่าที่ปราบปรามพระสงฆ์อย่างหนักเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา


 


ในแถลงการณ์ได้เรียกร้องให้พระสงฆ์ในพม่าแสดงความเคารพต่อความเสียสละของพระสงฆ์ที่ถูกจับและหายสาบสูญ และมรณภาพในเหตุการณ์ประท้วงใหญ่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ด้วยการไม่เข้าสอบประจำปีที่รัฐบาลเป็นผู้ดูแลหลังจากศึกษาพระธรรมที่มีการเรียนการสอนตามวัดต่าง ๆ   นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้พระสงฆ์เดินหน้าไม่รับการบิณฑบาตจากรัฐบาลพม่าและคณะต่อไป


 


ขณะที่ในแถลงการณ์อีกฉบับหนึ่งได้เรียกร้องให้คณะกรรมการปกครองสงฆ์ของพม่า  หาจำนวนที่แท้จริงของพระสงฆ์ที่มรณภาพ ถูกจับ และสูญหายในระหว่างที่รัฐบาลปราบปราบกลุ่มผู้ประท้วงอย่างหนัก มาเปิดเผยต่อสาธารณชน


 


โดยในแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวยังระบุอีกว่า การเดินประท้วงและสวดมนต์แผ่เมตาของพระสงฆ์ตามท้องถนนในกรุงย่างกุ้งและเมืองอื่นๆ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ไม่ผิดต่อกฎหมาย แต่รัฐบาลพม่ากลับสั่งการให้ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นตามวัดกว่า 60 แห่งในประเทศ โดยมีพระสงฆ์หลายรูปถูกบังคับให้สึก รวมถึงมีการทำร้ายร่างกายพระสงฆ์อีกเป็นจำนวนมาก


 


ขณะที่รัฐบาลพม่าออกมาประกาศเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ได้คุมขังพระสงฆ์ทั้งหมดเพียง 533 รูป และได้ทยอยปล่อยตัวพระสงฆ์ไปแล้ว 398 รูป ขณะที่พระสงฆ์และประชาชนหลายคนเชื่อว่า ยังมีพระสงฆ์อีกจำนวนมากที่สูญหายและยังถูกกักขัง


 


พระ Ashin Kawvida ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำพระสงฆ์ที่นำประท้วงเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่าน กล่าวว่า "รู้สึกเป็นห่วงความปลอดภัยของพระสงฆ์ที่เข้าร่วมประท้วง และพระสงฆ์บางส่วนที่ยังหลบหนีการจับกุมจากทหารพม่า เพราะถ้าหากเป็นประชาชนธรรมดา เมื่อถูกทางการจับกุมตัว สมาชิกในครอบก็สามารถรับรู้ข่าวการถูกจับ แต่ในกรณีของพระสงฆ์ที่ถูกจับ อาจเป็นเรื่องที่ยาก เพราะส่วนมากเดินทางมาจากชนบทเพื่อเข้ามาศึกษาตามวัดในตัวเมือง"


 


ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า มีพระสงฆ์แม่ชีและนักศึกษาจำนวนกว่า 1, 000 คน เข้าร่วมชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาลพม่าในเมืองพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย โดยในการชุมนุมได้เรียกร้องให้ชาวพุทธทั่วโลกรวมตัวกันเป็นปึกแผ่นและต่อต้านรัฐบาลพม่า โดยได้ทำการชุมนุมกันที่วัดพุทธคยา สถานที่มีชื่อเสียงเนื่องจากเป็นเชื่อว่าเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้


 


 


----------------------------------------------- 


CHUEM NEWS โดย ศูนย์ข่าวสาละวิน


 ติดตามสถานการณ์ในพม่าและบทความต่าง ๆ ที่น่าสนใจได้ที่ www.salweennews.org




 


 


 


 



Newsline ประจำวันที่ 10 - 28 พฤศจิกายน 2550


 


 


สรุปข่าวที่เกี่ยวข้องกับประเทศพม่าประจำวันเสาร์ที่ 10-วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน 2550


 


 



  1. สถานการณ์ในประเทศพม่า

1.1            รัฐบาลทหารพม่าเดินหน้าจัดการประมูลอัญมณีต่ออีกครั้ง


1.2            พม่าเปิดเผยต่างประเทศลงทุนภาคพลังงานมูลค่ากว่า 471 ล้านดอลลาร์


1.3            กะเหรี่ยงเคเอ็นยูปฏิเสธรายงานของสหประชาชาติ


1.4            พม่ายืนยันว่าเหตุการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ไม่ได้เป็นภัยคุกคามสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค


 



  1. การค้าชายแดน

2.1            ราชบุรีเร่งศึกษาชายแดน เปิดจุดผ่อนปรนกระตุ้นเศรษฐกิจ


2.2            ชาวบ้านหนุนสร้างเส้นทางรถไฟตาก-แม่สอด


 



  1. แรงงานข้ามชาติ

3.1            ผู้แทน 6 ชาติลุ่มน้ำโขงถกผลกระทบการอพยพย้ายถิ่นข้ามแดน


3.2            หนุนระนองโมเดลต้นแบบจัดระเบียบพื้นที่ชายแดน แก้ปัญหาวิกฤติแรงงานข้ามชาติ


3.3            สนธิ" ระบุ ที่ประชุมกบร.เตรียมเสนอครม.เปลี่ยนระบบต่ออายุแรงงานข้ามชาติจากปีต่อปี เป็น 2 ปีครั้ง มีผลก.พ.51


 



  1. ผู้ลี้ภัย

4.1            ผวจ.ราชบุรีเร่งแก้ "ผู้ลี้ภัย"บ้านถ้ำหิน


 



  1. ต่างประเทศ

5.1            การคว่ำบาตรพม่าของอียู จะไม่เป็นอุปสรรคในการทำข้อตกลงการค้ากับชาติอาเซียน


5.2            ว่าที่เลขาฯอาเซียน ระบุปัญหาพม่าต้องดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป 


5.3            พระ ชี และนักศึกษาในอินเดียรวมกลุ่มประท้วงรัฐบาลพม่า


5.4            เครือข่ายสันติภาพเพื่อพม่าประท้วงหน้าตลาดหุ้น


5.5            แถลงการณ์ประธานอาเซียนว่าด้วยเรื่องพม่า


5.6            ผู้แทนด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติตรวจเยี่ยมเรือนจำอินเซนในพม่า



 


 



  1. สถานการณ์ในประเทศพม่า

 


1.1            รัฐบาลทหารพม่าเดินหน้าจัดการประมูลอัญมณีต่ออีกครั้ง


 


เอเอฟพีรายงานว่า เมื่อ 27 พ.ย. รัฐบาลทหารพม่าเดินหน้าจัดการประมูลอัญมณีต่ออีกครั้งในปีนี้ เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า ในช่วง 13 วันที่ผ่านมา ทำเงินไปแล้ว 150 ล้านดอลลาร์ ดึงดูดพ่อค้าชาวต่างชาติได้มากกว่า 2,000 คน หลังมีเหตุการณ์ทหารปราบกลุ่มผู้เดินขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาลเมื่อเดือนกันยายน และถูกประชาคมโลกคว่ำบาตรกับการใช้ความรุนแรง ผลกระทบดังกล่าวค่อนข้างส่งผลต่อเป้าหมายที่รัฐบาลทหารพม่าคาดว่าจะทำเงินจากช่วงประมูลอัญมณีครั้งนี้ไว้ 300 ล้านดอลลาร์เท่าปีที่แล้ว ซึ่งปรากฏว่าทำได้เพียงครึ่งเดียว แต่เจ้าหน้าที่ทหารพม่ากล่าวว่าประสบความสำเร็จแล้ว


การประมูลจัดขึ้นที่กรุงย่างกุ้งเป็นเวลา 13 วัน ตั้งแต่วันที่ 14-26 พ.ย. โดยปิดฉากลงไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา มีพ่อค้าอัญมณีเข้าร่วมงานกว่า 3,600 คน ในจำนวนนี้มีพ่อค้าต่างชาติ 2,285 คน มียอดประมูลอัญมณีกว่า 3,500 เม็ด


 (ข่าวสด วันที่ 28/11/2550)


 


1.2            พม่าเปิดเผยต่างประเทศลงทุนภาคพลังงานมูลค่ากว่า 471 ล้านดอลลาร์


 


กระทรวงวางแผนและพัฒนาแห่งชาติพม่าเผยแพร่รายงานการลงทุนจากต่างประเทศในปีงบประมาณ 2549-2550 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2549-30 มีนาคม 2550 ระบุว่าพม่ามียอดการลงทุนในภาคการพลังงานสูงถึงกว่าร้อยละ 98


การลงทุนจากต่างประเทศในหมวดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมีมูลค่ารวมสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 471 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 16,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ในหมวดการพลังงาน โดยสหราชอาณาจักรเข้ามาลงทุนมากที่สุด 240 ล้านดอลลาร์ อันดับ 2 เป็นสิงคโปร์ 160 ล้านดอลลาร์


ส่วนการลงทุนในหมวดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเหมืองแร่ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม การขนส่งและภาคอุตสาหกรรมไม่มีการลงทุนเพิ่ม มีเพียงการลงทุนจากต่างประเทศในภาคการประมงเท่านั้นที่มูลค่า 12 ล้านดอลลาร์ หรือเพียงสัดส่วนต่ำกว่าร้อยละ 1.6 ของการลงทุนต่างประเทศ


(สำนักข่าวไทย วันที่ 27/11/2550)


 


1.3            กะเหรี่ยงเคเอ็นยูปฏิเสธรายงานของสหประชาชาติ


      


เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 พ.ย.50 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือเคเอ็นยู กบฏชนกลุ่มน้อยที่ต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่ามาเป็นเวลาหลายสิบปี ปฏิเสธรายงานของสหประชาชาติ หรือยูเอ็นที่บอกว่า เคเอ็นยูได้เกณฑ์เด็กไปเป็นทหาร โดยเคเอ็นยู ซึ่งต่อสู้กับพม่ามา 57 ปีแล้ว ระบุว่า ทางเคเอ็นยูห้ามนำเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปีมาเป็นทหารในกองทัพตั้งแต่ปี 2546 เพราะฉะนั้น รายงานของยูเอ็น ซึ่งเก็บข้อมูลในปี 2548 จึงไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ เคเอ็นยูและกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือเคเอ็นแอลเอ ไม่ได้ใช้เด็กเป็นทหารนานแล้ว และไม่ได้ละเมิดสิทธิเด็กด้วย


 (เดลินิวส์ วันที่ 27/11/2550)


 


1.4            พม่ายืนยันว่าเหตุการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ไม่ได้เป็นภัยคุกคามสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค


 


พลโทเต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีของพม่าให้คำมั่นกับบรรดาผู้นำประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนระหว่างการประชุมสุดยอดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เหตุการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ไม่ได้เป็นภัยคุกคามในสันติภาพและเสถียรภาพของโลก พร้อมกับระบุว่า สื่อมวลชนของต่างชาติรายงานข่าวโดยละเลยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น


หนังสือพิมพ์นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ รายงานดังกล่าวพร้อมกับแจ้งว่า รัฐบาลพม่ากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศต่างๆ ทั้งในภูมิภาคและทั่วโลก นอกจากนี้ยังร่วมกับสหประชาชาติ แต่รัฐบาลพม่าไม่พอใจที่นายอิบราฮิม กัมบารี ผู้แทนของสหประชาชาติเปิดเผยรายละเอียดของแถลงการณ์ของนางออง ซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านโดยไม่ได้หารือกับรัฐบาลพม่าล่วงหน้าแต่อย่างใด


 (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 24/11/2550)



 


 



  1. การค้าชายแดน

 


2.1            ราชบุรีเร่งศึกษาชายแดน เปิดจุดผ่อนปรนกระตุ้นเศรษฐกิจ


 


นายวรการ ยกยิ่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า ตามที่จังหวัดราชบุรีได้ว่าจ้างบริษัท ที พี ซี เน็ตเวอร์ค จำกัด ศึกษาความเหมาะสมในการเปิดจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนช่องตะโกปิดทอง และการเปิดจุดผ่านแดนห้วยคอกหมู อ.สวนผึ้ง ซึ่งล่าสุดทางบริษัทได้จัดทำโครงการศึกษาเพื่อศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม ประชากร และสิ่งแวดล้อม จัดทำระบบข้อมูลข่าวสารสนเทศ เพื่อการวางและจัดทำแผนผังพื้นที่ชายแดน เพื่อให้ได้แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน แผนปฏิบัติการ เพื่อเป็นกรอบการจัดทำงบประมาณบูรณาการ ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบให้ จ.ราชบุรี ดำเนินการใน 2 โครงการ คือ การเปิดจุดผ่อนปรนการค้าชายแดนไทย-พม่า บริเวณช่องตะโกปิดทอง และโครงการเส้นทางเศรษฐกิจราชบุรีสู่อันดามัน


จากข้อสรุปการศึกษาจะมีการนำเสนอคณะกรรมการระดับจังหวัดพิจารณา เบื้องต้นได้วางแนวทางการพัฒนาและจัดทำผังพัฒนาพื้นที่ ร่างวิสัยทัศน์การพัฒนาชุมชนชายแดน บริเวณช่องตะโกปิดทอง จุดผ่อนปรนการค้าชายแดน เป็นการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ พัฒนาการค้าและแหล่งท่องเที่ยวชายแดน ส่งเสริมชุมชนเชิงนิเวศ และร่างวิสัยทัศน์การพัฒนาบริเวณช่องห้วยคอกหมู จุดผ่านแดน เป็นจุดเชื่อมโยงการค้า พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ ส่งเสริมชุมชนการเกษตร


(สยามรัฐ วันที่ 25/11/2550)


 


2.2            ชาวบ้านหนุนสร้างเส้นทางรถไฟตาก-แม่สอด


 


เมื่อวันที่ 21 พ.ย.50 นายชุมพร พลรักษ์ ผวจ.ตาก  เป็นประธานการประชุมโครงการสำรวจความเป็นไปได้และกำหนดแนวเส้นทางการสร้างเส้นทางรถไฟ-ตาก-แม่สอด รวมทั้งมูลค่าการลงทุนเบื้องต้นและผลประโยชน์ที่จังหวัดตากจะได้รับจากโครงการ "เส้นทางรถไฟเชื่อม จ.ตาก- อ.แม่สอด" ตามแผน "ยุทธศาสตร์เปิดฟ้าเมืองตาก" ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจและการสร้างรายได้ของชาวจังหวัดตาก-การใช้เป็นเส้นทางคมนาคมสัญจรระหว่างประชาชน และการขนส่งสินค้า รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยว


เบื้องต้นได้ทำการสำรวจเส้นทางการวางรางรถไฟไปแล้ว แบ่งเป็น 3 แนวทางของการวางราง โดยมีสถานีต้นทางบริเวณเขตอำเภอเมืองตากและปลายทางที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ชายแดนไทย-พม่า ริมแม่น้ำเมย โดยเบื้องต้นคาดว่าจะต้องใช้งบการลงทุนก่อสร้างรางประมาณ 13,900 - 17,000 ล้านบาท หรือ 20,000 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้ได้มีการศึกษาสำรวจและวิจัย จากบริษัทอินทิเกรเทคเอนจิเนียริ่ง คอนซัลแทนด์ จำกัด ร่วมกับบริษัท พี วี บี เทคโนโลยี จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาการสำรวจและออกแบบ โดยที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยอย่างยิ่งในการสนับสนุนนโยบายและแผนยุทธศาตร์ดังกล่าวของ ผวจ.ตาก



(สยามรัฐ วันที่ 21/11/2550)


 


 



  1. แรงงานข้ามชาติ

 


3.1            ผู้แทน 6 ชาติลุ่มน้ำโขงถกผลกระทบการอพยพย้ายถิ่นข้ามแดน


 


ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2550 ที่ห้องประชุมสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง ทางสถาบันฯได้จัดการประชุมติดตามผลการกำหนดนโยบายภูมิภาคว่าด้วยเรื่องการกำหนดนโยบาย การโยกย้าย อพยพย้ายถิ่นฐานข้ามชายแดน และเฝ้าระวังสังเกตการณ์ เกี่ยวกับผลกระทบและช่องว่างระหว่างนโยบายปัจจุบันในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมราว 60 คน ซึ่งเป็นระดับผู้บริหารนโยบายและเป็นผู้ตัดสินใจจากกลุ่มประเทศอนุภาคลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ รวมถึงผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอระหว่างประเทศเข้าร่วมประชุมสังเกตุการณ์ด้วย


การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการและแนวทางการแก้ไขปัญหาการย้ายถิ่นฐานในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้งยังเป็นการติดตามผลการกำหนดนโยบายจากการประชุมครั้งก่อน


ประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นหารือ ประกอบด้วย


1.กฎหมายระหว่างประเทศและภูมิภาคที่ทันสมัย รวมถึงการวิเคราะห์ช่องว่างการอพยพย้ายถิ่นข้ามชายแดน


2.นโยบายการอพยพย้ายถิ่นระดับชาติ การดำเนินนโยบายและระบบกลไกการเฝ้าระวังติดตาม


3. การปรึกษาหารือด้านนโยบายทางด้านเกี่ยวกับสุขภาพของผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน และผลกระทบด้านสตรีและเด็ก 


4.ช่องทางของการอพยพย้ายถิ่นที่ไม่เป็นทางการ การค้าและบทบาทของสถาบันของรัฐ เอ็นจีโอ และประชาสังคม


ผลสรุปจากการประชุม ทางสถาบันฯจะนำเสนอในที่ประชุม จีเอ็มเอส ซัมมิต ซึ่งจะจัดขึ้นที่นครหลวงเวียงจันทน์ราวเดือนมีนาคม 2551 ทั้งนี้เพื่อให้ผู้นำแต่ละประเทศในลุ่มน้ำโขง นำไปพิจารณากำหนดเป็นแนวนโยบาย เพื่อร่วมกันจัดการปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการอพยพย้ายถิ่นข้ามพรมแดนต่อไป


 (ผู้จัดการ วันที่ 16/11/2550)


 


3.2            หนุนระนองโมเดลต้นแบบจัดระเบียบพื้นที่ชายแดน แก้ปัญหาวิกฤติแรงงานข้ามชาติ


 


นายวีระ บุญราศรี เจ้าของกิจกิจการแพปลาขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดระนอง ชื่อแพโกตา และอดีตประธานกรรมการหอการค้า และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะให้จังหวัดระนองเป็นจังหวัดนำร่องต้นแบบในการจัดระเบียบพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะการแก้ไขวิกฤติปัญหาแรงงานข้ามชาติ ที่ปัจจุบันนี้ถือเป็นปัญหาสำคัญที่หลายฝ่ายเริ่มหวั่นวิตกและให้ความสำคัญ นโยบายดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดี เพราะจังหวัดระนองเป็นจังหวัดที่มีคนต่างด้าวอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเป็นเมืองหน้าด่านที่แรงงานข้ามชาติใช้ในการเดินทางผ่านไปยังจังหวัดหัวเมืองชั้นใน และประเทศที่สาม


ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาจะเป็นการกำหนดนโยบายจากส่วนกลางเป็นหลัก ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดที่แท้จริง ดังนั้นการเข้ามาตั้งศูนย์การแก้ปัญหาขึ้นในเขตพื้นที่ที่มีปัญหา จึงน่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องที่สุด สำหรับในส่วนของผู้ประกอบการไม่มีใครที่ต้องการกระทำผิดกฎหมาย แต่ที่มีการใช้แรงงานไม่ถูกต้องเป็นเพราะความจำเป็น และกฎระเบียบที่ไม่สอดรับกับข้อเท็จจริง และปัญหาที่เกิดขึ้น


พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะประธานอนุกรรมการประสานการจัดระบบป้องกันเพื่อจัดระเบียบพื้นที่ชายแดน เปิดเผยในระหว่างการเดินทางลงพื้นที่จังหวัดระนองเพื่อตรวจติดตามและรับทราบแนวทางการดำเนินงานโครงการนำร่องในการจัดระบบป้องกันจัดระเบียบพื้นที่ชายแดน ชายฝั่งทะเล และตามเกาะแก่งของจังหวัดระนอง หรือระนองโมเดลว่า คณะอนุกรรมการได้พิจารณาเลือกจังหวัดระนอง ให้เป็นจังหวัดนำร่องในโครงการนี้เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบในการดำเนินการภายใต้ชื่อ ระนองโมเดล เพื่อรักษาผลประโยชน์ทั้งทางบกและทางทะเลให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ


โดยขณะนี้ทางอนุกรรมการฯได้จัดทำแผนงานและเสนองบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการจำนวน 48 ล้านบาท สำหรับใช้สำหรับการดำเนินการ ส่วนรายละเอียดและแผนงานในการดำเนินการกำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำ คาดว่าจะเริ่มโครงการได้ในต้นปี 2551 นี้


(ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2269 11 - 14 พ.ย. 2550)


 


3.3            สนธิ" ระบุ ที่ประชุมกบร.เตรียมเสนอครม.เปลี่ยนระบบต่ออายุแรงงานข้ามชาติจากปีต่อปี เป็น 2 ปีครั้ง มีผลก.พ.51


 


พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมกบร. ครั้งที่ 6/2550 ว่า ที่ประชุมกบร.ได้พิจารณาเห็นชอบจัดระบบการทำงานของแรงงานข้ามชาติในปี 2551 โดยให้เปลี่ยนระบบการต่ออายุการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติสัญชาติ พม่า ลาว กัมพูชา จากปีต่อปีเป็น 2 ปีครั้ง รวมถึงเปิดโอกาสให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่มีใบทร.38/1 แต่ไม่มีใบอนุญาตการทำงานมาขึ้นทะเบียน ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 1,000,000 คน ทั้งนี้เพื่อจัดระบบแรงงานข้ามชาติ และแก้ปัญหาขาดแคลน อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมกบร.จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีภายใน 1-2 เดือนนี้ และให้มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551


แรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ราชอาณาจักรขณะนี้มีอยู่จำนวน 500,000 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่จะหมดอายุเดือนกุมภาพันธ์ กลุ่มที่จะหมดอายุภายในเดือนมีนาคม และกลุ่มในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  


นายสมพงศ์ นครศรี ประธานกิตติมศักดิ์และสมาชิกสภาองค์กรนายจ้าง ผู้ประกอบการการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นแนวทางที่ดี เพราะจะง่ายต่อการจัดระบบ ไม่ต้องกังวลต่ออายุแบบปีต่อปี นายจ้างใช้แรงงานได้ต่อเนื่อง และส่งผลการเพิ่มผลผลิต พร้อมกันนี้ ขอให้พรรคการเมืองและผู้บริหารใส่ใจปัญหาแรงงานข้ามชาติด้วย เพราะมีส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตและความมั่นคงในราชอาณาจักรด้วย


นายอดิศร เกิดมงคล คณะทำงานแรงงานข้ามชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน เห็นด้วยกับการจัดระบบการจ้างแรงงานข้ามชาติรูปแบบดังกล่าว เพราะส่งผลประสิทธิภาพการทำงาน พร้อมเสนอให้ กบร.แก้ไข เรื่องการย้ายถิ่น การคุ้มครองสิทธิให้มีมากขึ้น การพิสูจน์สัญชาติ



(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 12/11/2550)


 


 



  1. ผู้ลี้ภัย

 


4.1            ผวจ.ราชบุรีเร่งแก้ "ผู้ลี้ภัย"บ้านถ้ำหิน


 


นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ ผู้ว่าฯราชบุรี กล่าวว่า ทางจังหวัดวางมาตรการเข้มเพื่อแก้ไขปัญหาผู้ลักลอบอาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงบ้านถ้ำหิน จำนวน 1,740 คน ซึ่งจำนวนยอดผู้หนีภัยการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านถ้ำหิน ณ วันที่ 31 ต.ค. 2550 มีทั้งสิ้น 6,194 คน จำนวน 1,203 ครอบครัว และมีบางส่วนที่เดินทางไปประเทศที่ 3 แล้ว 3,359 คน


สำหรับยอดผู้ลักลอบเข้ามาอาศัยในบ้านถ้ำหิน ไม่ผ่านพื้นที่แรกรับของฝ่ายทหาร สภาพปัญหาโดยทั่วไปจะมีการลักลอบเข้าอาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิง และได้รับการลงทะเบียนและรับการแจกจ่ายอาหารจากคณะกรรมการศูนย์หรือเจ้าหน้าที่ขององค์กรระหว่างประเทศ คนกลุ่มนี้มักแอบแฝงอาศัยอยู่กับญาติพี่น้องในพื้นที่พักพิง ทำให้ยากต่อการตรวจสอบ ผลักดัน และการผลักดันส่งกลับไม่มีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบและบางครั้งได้รับการปกป้องจากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ขององค์กรระหว่างประเทศ


เน้นย้ำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมีมาตรการควบคุมดูแลบุคคลที่ลักลอบอย่างใกล้ชิดและตรวจสอบการเข้าออกอย่างเข้มงวด ส่วนขั้นตอนการดำเนินการเกี่ยวกับบุคคลสัญชาติพม่าที่หลบหนีเข้ามาในประเทศไทยให้มีการสอบสวนแยกประเภท จัดทำประวัติเป็นไปตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นเอชซีอาร์ และมติต่างๆ ของสหประชาชาติ



(ข่าวสด วันที่ 26/11/2550)


 


 


5. ต่างประเทศ


 


5.1            การคว่ำบาตรพม่าของอียู จะไม่เป็นอุปสรรคในการทำข้อตกลงการค้ากับชาติอาเซียน


 


นายฟิลิปเป เมเยอร์ หัวหน้าคณะเจรจาสหภาพยุโรป หรือ อียู เปิดเผยก่อนการเข้าร่วมประชุมกับชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนว่า มาตรการคว่ำบาตรพม่าของอียูจะไม่มีผลกระทบต่อการทำข้อตกลงเสรีการค้ากับชาติอาเซียน โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงร่วมกันในช่วงที่ผ่านมาว่าจะเปิดการเจรจา เพื่อจัดตั้งข้อตกลงเสรีการค้าต่อกัน ซึ่งประชากรของอียูและอาเซียน รวมกันแล้ว มีจำนวนกว่า 1 พันล้านคน ใน 37 ประเทศ


อย่างไรก็ดีอียูและอาเซียนยังไม่กำหนดวันเวลาที่แน่ชัดในการหารือเรื่องดังกล่าว ซึ่งนายเมเยอร์หวังว่า น่าจะเริ่มต้นได้ในปีหน้า และจะบรรลุผลสำเร็จข้อตกลงเสรีการค้าในเวลา 3 ปี ซึ่งอียูจะนำประเด็นพม่าขึ้นหารือในที่ประชุมด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เข้าใจต่างๆ ให้หมดสิ้น เพราะหากยังมีปัญหาอยู่ ก็อาจทำให้การเจรจาล้มเหลวลงได้


(ทีมข่าว INN News วันที่ 28/11/50)


 


5.2            ว่าที่เลขาฯอาเซียน ระบุปัญหาพม่าต้องดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป 


 


นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ว่าที่เลขาธิการอาเซียน กล่าวถึงแนวนโยบายการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า หลังเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 มกราคม 2551 ว่า ในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 13 ที่ประเทศสิงคโปร์ที่ผ่านมา ผู้นำประเทศอาเซียนเห็นว่าจะสนับสนุนกระบวนการของสหประชาชาติ ตามกระบวนการของนายอิมราฮิม กัมบารี ทูตพิเศษสหประชาชาติ ส่วนรายละเอียดอาเซียนจะดำเนินการสนับสนุนอย่างไร ขึ้นอยู่กับการพิจารณาร่วมกันกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เนื่องจากตนเองคงจะทำหน้าที่นี้เพียงคนเดียวไม่ได้ รวมถึงต้องคำนึงถึงองค์กรระหว่างประเทศว่าต้องการให้ประเทศเพื่อนบ้านเข้าช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงกระบวนการปรองดองแห่งชาติของรัฐบาลทหารพม่าด้วย ซึ่งจะต้องค่อยเป็นค่อยไป


อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นประชาคมโลกทุกประเทศต้องให้ความสำคัญกับเรื่องค่านิยมของโลกด้วย เช่น เรื่อง ประชาธิปไตย สันติภาพ เคารพในสิทธิมนุษยชน เป็นต้น


(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 26/11/2550)


 


5.3            พระ ชี และนักศึกษาในอินเดียรวมกลุ่มประท้วงรัฐบาลพม่า


 


พระ ชี และนักศึกษานับพันในอินเดียเดินขบวนประท้วงในวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้ชาวพุทธทั่วโลกรวมพลังต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า


พระสงฆ์และชีนับพันรูปเดินขบวนผ่านใจกลางเมืองพุทธคยาในรัฐพิหาร ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ขณะที่ นายจ่อ ตาน แห่งสมาคมนักศึกษาพม่าในอินเดีย กล่าวว่า รัฐบาลทหารทั้งเข่นฆ่าและทรมานพระสงฆ์ รวมทั้งทำลายพระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพุทธ ทั้งนี้ อินเดียเป็นที่ปักหลักของชาวพม่าหลายร้อยคน ส่วนใหญ่เป็นนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งจัดการชุมนุมประท้วงที่กรุงนิวเดลี เมืองพุทธคยา และเมืองอื่น ๆ มาตั้งแต่เดือนก.ย.ที่รัฐบาลทหารปราบปรามผู้ประท้วงในพม่า จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 ราย


(สำนักข่าวไทย วันที่ 27/11/2550)


 


5.4            เครือข่ายสันติภาพเพื่อพม่าประท้วงหน้าตลาดหุ้น


 


20 พ.ย. เวลา 10.00 น. กลุ่มเครือข่ายสันติภาพเพื่อพม่า(peace for burma) กว่า 40 คน ได้เดินทางมาหน้าอาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. รวมถึง บริษัท เอ็มดีเอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) หยุดและยกเลิกการลงทุนในประเทศพม่า


ทั้งนี้การชุมนุมดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 20 นาที ก่อนที่ นางลดาวัลย์ กันทวงศ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะเป็นตัวแทนของทางตลาดหลักทรัพย์ลงมารับหนังสือร้องเรียนจากกลุ่มเครือข่ายสันติภาพเพื่อพม่าในครั้งนี้


นายพิภพ อุดมอิทธิพงศ์ แกนนำเครือข่ายสันติภาพเพื่อพม่า กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของการเดินทางมาชุมนุนหน้าอาคารตลาดหลักทรัพย์ในครั้งนี้ เนื่องจากต้องการให้ เอ็มดีเอ็กซ์ และ ปตท.สผ. ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนขนาดใหญ่ในประเทศพม่า หยุดและยกเลิกการลงทุนดังกล่าว เนื่องจากเงินที่นำไปลงทุนนั้นจะเป็นการฆ่าประชาชนชาวพม่า มากกว่าเป็นการช่วยคน


สาเหตุที่มุ่งเป้าไป ปตท.สผ และ เอ็มดีเอ็กซ์ ก่อน เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทนี้มีมูลค่าการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น กรณีของ เอ็มดีเอ็กซ์ ได้เซ็นข้อตกลงกับพม่าเพื่อลงทุนในโครงการเขื่อนท่าซาง ทางตอนใต้ของรัฐฉาน ซึ่งมีกำลังการผลิต 7,110 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 2.4 แสนล้านบาท ขณะที่ ปตท.สผ. ก็มีมูลค่าการลงทุนในพม่าคิดเป็นหลักพันล้านเหรียญสหรัฐ


 (กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 20/11/50)


 


5.5            แถลงการณ์ประธานอาเซียนว่าด้วยเรื่องพม่า


 


1.ผู้นำอาเซียนได้หารือกันอย่างกว้างขวางและเปิดเผยเรื่องพม่าในระหว่างการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างรับประทานอาหารค่ำ


2.นายกรัฐมนตรีเทียน เส่ง ของพม่า พูดอย่างชัดเจนว่าสถานการณ์ในพม่าเป็นกิจการภายในของพม่าเอง และขณะนี้พม่าก็มีความสามารถที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้ด้วยตนเอง


3.นายกรัฐมนตรีเทียน เส่ง อธิบายว่า ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ นายอิบราฮิม กัมบารี เยือนพม่ามาแล้ว 4 ครั้ง และที่ผ่านมาทางพม่าได้ดำเนินการตามที่นายกัมบารีได้ให้ข้อเสนอแนะ นายกรัฐมนตรีพม่าเน้นว่านายกัมบารีควรจะนำเสนอรายงานต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเท่านั้น ไม่ควรรายงานต่อผู้นำอาเซียนหรือผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก พม่ามีความเชื่อมั่นในการทำงานของนายกัมบารีและสำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติ


4.ภายใต้มุมมองและข้อคิดเห็นของนายกรัฐมนตรีพม่า นายกัมบารีจะไม่บรรยายสรุปให้ผู้นำอาเซียนหรือผู้นำอีเอเอส อย่างไรก็ดี สิงคโปร์ในฐานะประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกและจัดการพบปะระหว่างนายกัมบารีกับทุกฝ่ายที่สนใจ


5.ผู้นำอาเซียนตกลงว่าอาเซียนจะเคารพในความปรารถนาของพม่า ยินยอมให้พม่าดำเนินการโดยตรงต่อสหประชาชาติและประชาคมโลกด้วยตนเอง แต่อาเซียนยังพร้อมที่จะเข้ามามีบทบาทเมื่อใดก็ตามที่พม่าต้องการให้อาเซียนมีส่วนร่วม


6.ผู้นำอาเซียนมีข้อสังเกตว่าการเยือนพม่าของนายกัมบารีครั้งล่าสุด มีผลที่ถือเป็นความก้าวหน้าในทิศทางที่ถูกต้องหลายประการ


7.ผู้นำอาเซียนส่วนใหญ่แสดงความเห็นว่าพม่าคงจะไม่สามารถที่จะย้อนกลับไปสู่แนวทางเดิมหรือหยุดอยู่กับที่ได้ กระบวนการปรองดองแห่งชาติจะต้องเดินหน้าต่อไป และสหประชาชาติจะมีบทบาทอย่างสำคัญที่จะทำให้กระบวนการนี้ก้าวหน้าต่อไป


8.ตามที่ระบุในแถลงการณ์ของประธานอาเซียนในนครนิวยอร์กเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผู้นำอาเซียนย้ำว่ารัฐบาลพม่าจะต้องทำงานและร่วมมือกับสหประชาชาติต่อไปเพื่อ


ก.เปิดการเจรจาที่มีความหมายกับนางออง ซาน ซูจี และพรรคสันนิบาติชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี)


ข.ต้องอาศัยสำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติ และนายกัมบารีในกระบวนการดังกล่าวอย่างเต็มที่


ค.ต้องยกเลิกข้อจำกัดที่กำหนดต่อนางออง ซาน ซูจี และปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง


ง.ต้องทำงานเพื่อมุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสันติสุขในอันที่จะบรรลุแนวทางประชาธิปไตย


จ.ต้องคำนึงถึงความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่ประชาชนชาวพม่าทั้งหลายประสบอยู่ในปัจจุบัน


9.ผู้นำอาเซียนเน้นย้ำว่าจะพยายามป้องกันไม่ให้ประเด็นพม่ากลายเป็นอุปสรรคต่อความพยายามที่จะรวมตัวกันของอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของกฎบัตรอาเซียน และความพยายามที่จะจัดตั้งประชาคมอาเซียนในอนาคต


(มติชน วันที่ 21/11/2550)


 


5.6            ผู้แทนด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติตรวจเยี่ยมเรือนจำอินเซนในพม่า


 


นายเปาโล เซอร์จิโอ ปินเฮโร่ ผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเดินทางเยือนเรือนจำอินเซนที่มีชื่อเสียงในทางที่ไม่ดีในกรุงย่างกุ้งของพม่าเป็นเวลา 1 ชั่วโมงในวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้พบปะกับนายมิน โค เนง และนายโค โค จี สองแกนนำการประท้วงต่อต้านการขึ้นราคาน้ำมันเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และได้สัมภาษณ์นักโทษหลายคน รวมถึงนางซูซู เวย์ นักเคลื่อนไหวแรงงาน และนักข่าววัย 77 ปีที่ถูกคุมขังตั้งแต่ปี 1989 ก่อนเสร็จสิ้นกำหนดการเยือนพม่านาน 5 วัน


นายปินเฮโร่ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายชาวบราซิลได้เดินทางออกจากพม่าเมื่อปี 2546 หลังทราบว่าการพบปะระหว่างเขากับนักโทษการเมืองในเรือนจำอินเซนถูกเจ้าหน้าที่พม่าดักฟัง


ส่วนการเยือนครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี เพื่อพิสูจน์ว่าทางการพม่าละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่และมีผู้เสียชีวิตจำนวนเท่าใดในช่วงที่พม่าปราบปรามการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย


นอกจากนี้นายปินเฮโร่ ยังได้เดินทางไปยังวัดแห่งหนึ่งในกรุงย่างกุ้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายวัดที่ถูกทหารจู่โจมเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาด้วย


แต่เขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบนางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยพม่าหรือเอ็นแอลดี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านตามที่ร้องขอไว้แต่อย่างใด


(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 12/11/2550)


 


 



 


 


Newsline เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการวิจัยไทย (Thai Research) มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Peaceway Foundation) เป็นการรวบรวมข่าวภาษาไทยที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศพม่า และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย เพื่อให้ผู้คนในสังคมไทยได้รับรู้ ตระหนักถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพม่า และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและรณรงค์ให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงในประเทศพม่าต่อไป


 


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการวิจัยไทย และโครงการอื่นๆติดตามได้ที่ www.burmaissues.org/En/Index.html หรือ http://www.oknation.net/blog/burmaissues


 


 


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net