Skip to main content
sharethis

 



รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย


ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย


 


 


 


เมื่อวันที่ 23-25 .ย.ที่ผ่านมา ที่หอประชุม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีเวทีในวันวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่ 3 : สู่สังคมร่มรื่นและเป็นสุข โดยในวันที่สองของงาน มีการอภิปรายในหัวข้อ  "ภัยธรรมชาติ : ภัยพิบัติ"


 


รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว และเป็นหัวหน้าคณะวิจัยในโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวของประเทศไทย (ระยะที่ 1) ได้พูดถึง "ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว" ซึ่งอาจเกิดความรุนแรงเสียหายในหลายส่วนพื้นที่ของไทย หากไม่มีการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือ


 


รศ.ดร.เป็นหนึ่ง กล่าวถึงการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวของประเทศไทยว่า คนไทยทั่วไปอาจเคยได้รับทราบถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงในต่างประเทศ ซึ่งทำให้อาคารบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างเป็นจำนวนมากถูกทำลาย และมีผู้คนเป็นจำนวนมากได้รับบาดเจ็บล้มตาย แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็มักคิดว่าเหตุการณ์เช่นนี้คงไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเชื่อว่าแผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก็เป็นเพียงแผ่นดินไหวขนาดเล็กๆ ที่ไม่เป็นอันตราย ดังนั้น จึงมองว่าการเตรียมพร้อมป้องกันภัยแผ่นดินไหวจึงดูเหมือนเป็นเรื่องไม่จำเป็นและเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ


 


ซึ่ง รศ.ดร.เป็นหนึ่ง ได้บอกย้ำว่า ความเชื่อดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวที่รุนแรงอาจเกิดขึ้นได้จริงในพื้นที่บางส่วนของประเทศไทย และยังได้ย้ำด้วยว่า การเตรียมการป้องกันภัยรับมือกับแผ่นดินไหวนั้นสามารถทำได้ โดยเฉพาะในเรื่องการออกแบบและก่อสร้างอาคารในพื้นที่เสี่ยงภัยให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวที่รุนแรงได้นั้น ถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวด


 


 


เพียงแค่ "แผ่นดินไหวขนาดกลาง" ก็อันตราย สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงได้


จากสถิติข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย ของสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ประเทศไทยเกิดแผ่นดินไหวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งแผ่นดินไหวขนาดเล็กจนถึงขนาดกลาง (ความรุนแรงที่ได้ตั้งแต่ 3 ริคเตอร์ ถึง 5 ริคเตอร์ขึ้นไป) ซึ่งแผ่นดินไหวครั้งสำคัญที่ตรวจพบในช่วงเวลานั้น คือ แผ่นดินไหวที่ จ.น่าน เมื่อปี พ.ศ.2478 มีขนาดถึง 6.5 ริคเตอร์


 


รศ.ดร.เป็นหนึ่ง บอกว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงก็คือ นับตั้งแต่เราเริ่มมีความสามารถในการตรวจวัดแผ่นดินไหวที่ดีขึ้น ตั้งแต่ปีพ.ศ.2506 จนถึงปัจจุบัน (หลังจากที่พัฒนาขีดความสามารถของการตรวจแผ่นดินไหว ทางสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวของไทย ได้มีการนำเครื่องวัดรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพและความไวสูง) เราได้ตรวจพบแผ่นดินไหวขนาดกลาง ประมาณ 5 ริคเตอร์ เป็นจำนวนถึง 8 ครั้ง ซึ่งแผ่นดินไหวขนาดกลางเหล่านี้ จัดได้ว่าเป็นแผ่นดินไหวที่อันตราย ทั้งนี้เพราะในบริเวณรัศมีประมาณ 10 ถึง 16 กม.จากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว จะมีระดับการสั่นสะเทือนของพื้นดินที่รุนแรง จนอาจถึงขั้นที่สามารถทำลายอาคารบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างทั่วๆ ไปได้


 


ในขณะที่บริเวณรอบนอกที่ห่างออกมาจากศูนย์กลาง จะมีระดับการสั่นสะเทือนที่ลดทอนความรุนแรงลงมา จนอาจเหลือเพียงแค่ระดับที่ทำให้อาคารสั่นไหวเล็กน้อย หรืออาจทำให้ผู้คนรู้สึกได้เท่านั้น


 


"ล่าสุด ก็เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.2 ริกเตอร์ ที่ประเทศลาว ใกล้กับ จ.เชียงราย ของไทย ประเทศไทยเราโชคดีที่ตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหว ยังไม่เคยตรงกับตำแหน่งเมือง แล้วถ้าสมมติว่า บริเวณศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงนี้ ไปเกิดตรงกับบริเวณเมืองใหญ่ที่มีประชากรหน้าแน่นและมีอาคารบ้านเรือนเป็นจำนวนมากที่มิได้ออกแบบก่อสร้างให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหวล่ะ มันก็อาจจะก่อให้เกิดภัยพิบัติที่รุนแรงได้"


 


รศ.ดร.เป็นหนึ่ง บอกว่า ในกรณีประเทศไทย เกิดแผ่นดินไหวขนาดกลางที่มีอันตรายเกือบทุกครั้งจะเกิดขึ้นห่างไกลออกไปจากชุมชน ศูนย์กลางอยู่ตามเทือกเขา จึงไม่ได้ก่ออันตรายรุนแรงแต่อย่างใด ซึ่งทำให้ประชาชนทั่วไปจึงมักเข้าใจผิด ว่า แผ่นดินไหวขนาดกลางนั้นไม่เป็นอันตราย อย่างไรก็ดี เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อปี 2537 ก็ได้แสดงให้เห็นความรุนแรงที่แท้จริงของแผ่นดินไหวขนาดกลางเป็นครั้งแรกแล้วว่า มันได้ก่อให้เกิดความเสียหายค่อนข้างรุนแรงต่ออาคารคอนกรีต 2 ชั้น ของโรงพยาบาลพาน รวมทั้งได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โรงเรียนมากกว่า 20 หลัง และวัดอีกมากกว่า 30 แห่ง


 


นอกจากนั้น รศ.ดร.เป็นหนึ่ง ยังได้ฉายภาพยกตัวอย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวในแต่ละประเทศให้ดูว่า เหตุการณ์ภัยพิบัติรุนแรงที่เกิดจากแผ่นดินไหวขนาดกลาง สร้างความเสียหายทั้งอาคารบ้านเรือนและทำให้มีผู้คนเสียชีวิตกันเป็นจำนวนมาก หากศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาดกลาง อยู่ในจุดกลางเมืองหรือใกล้เมืองใหญ่ เช่น ในปี 2503 ที่เมือง Agadir ประเทศเม็กซิโก เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 5.7 ริกเตอร์ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 12,000 คน บาดเจ็บอีก 12,000 คน และทำให้อาคารบ้านเรือนจำนวนมากในเมืองพังทลาย


 


หรือในปี 2529 เกิดแผ่นดินไหวขนาดกลาง ขนาด 5.4 ริกเตอร์ ที่เมือง El Salvador ประเทศ San  Salvador ซึ่งส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิต 2,800 คน หมู่บ้านประมาณ 300 แห่ง ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง เป็นต้น


 


 


ตารางภัยพิบัติรุนแรงที่เกิดจากแผ่นดินไหวขนาดกลาง


 






 


 


สถานที่เกิดแผ่นดินไหว               ขนาด                ปีที่เกิด              ความเสียหาย


                                                (ริคเตอร์)          (พ.ศ.)


 


ตรงกับตำแหน่งเมือง                      5.7                    2503                 มีผู้เสียชีวิต 12,000, บาดเจ็บ 12,000 คน,


Agadir, ประเทศ Morocco                                                              อาคารจำนวนมากในเมืองพังทลาย


 


Northern Yemen                         5.8                    2525                 มีผู้เสียชีวิต 2,800 คน, หมู่บ้านประมาณ 30


แห่ง ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง


 


เมือง El Salvador,                        5.4                    2529                 มีผู้เสียชีวิต 1,000 คน, บาดเจ็บ 1,000 คน


ประเทศ San Salvador                                                                  ไร้ที่ยู่อาศัย 200,000 คน


 


เมือง Dushanbe รัฐ Tadzhik          5.5                    2532                 มีผู้เสียชีวิต 1,000 คน


สหภาพโซเวียตรัสเซีย


 


ใกล้เมือง Timisoara                     5.5                    2534                 มีผู้เสียชีวิต 1 คน, บาดเจ็บ 28 คน, ไร้ที่อยู่


ในประเทศโรมาเนีย                                                                       อาศัย 3,700 คน, บ้านเรือนพังเสียหาย 2,800


หลัง


 


ห่างจากกรุง Cairo ประเทศ 5.2                    2535                 มีผู้เสียชีวิต 593 คน, บาดเจ็บมากกว่า 600 คน


Egypt เพียง 20 กม.                                                                      อาคารเสียหายรุนแรงถึง 14,000 หลัง


 


เมือง Yongheng มณฑล Gansu      5.8                    2539                 มีผู้เสียชีวิต 13 คน, บาดเจ็บ 52 คน


สาธารณรัฐประชาชนจีน                                                                  บ้านเรือนพังเสียหาย 4,500 หลัง


 


 


 


แผ่นดินไหวขนาดกลางที่เป็นอันตรายเหล่านี้ คงจะเคยเกิดขึ้นมาแล้วเป็นจำนวนมากในอดีตก่อนหน้าที่เราจะเริ่มตรวจวัดได้ และก็คงจะเกิดต่อไปอีกเรื่อยๆ ในอนาคตในบริเวณภาคเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของไทย เพราะพื้นที่ในบริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวที่ต่อเนื่องมาจากบริเวณรอยต่อของเปลือกโลกซึ่งพาดผ่านทะเลอันดามัน ประเทศพม่า และประเทศจีนตอนใต้


 


"ประเด็นสำคัญ ก็คือ จำนวนประชากรและขนาดของเมืองใหญ่ในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว ดังนั้น โอกาสที่จะเกิดภัยพิบัติที่รุนแรงจึงเพิ่มขึ้นในอัตราที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างมาก"


 


 


แผ่นดินไหวขนาดใหญ่มีโอกาสเกิดขึ้นในไทยหรือไม่?


รศ.ดร.เป็นหนึ่ง บอกอีกว่า นอกเหนือจากความเสี่ยงเนื่องจากแผ่นดินไหวขนาดกลางซึ่งมีรัศมีการทำลายสั้นแล้ว ความเสี่ยงในอีกรูปแบบหนึ่งนั้น มาจาก "แผ่นดินไหวขนาดใหญ่" ที่มีขนาดตั้งแต่ประมาณ 6.5 ริกเตอร์ขึ้นไป


 


"แผ่นดินไหวขนาดใหญ่นั้นมีศักยภาพในการทำลายอาคารบ้านเรือนสูงกว่าแผ่นดินไหวขนาดกลางมาก ทั้งนี้ เพราะบริเวณศูนย์กลางของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่นั้นมีระดับการสั่นสะเทือนที่รุนแรงกว่า แผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่กว้างกว่า และสั่นสะเทือนเป็นระยะเวลาที่นานกว่าแผ่นดินไหวขนาดกลางมาก"


 


ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว ได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงภัยจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่ชัดเจน ได้แก่ เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.2 ริกเตอร์ ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2538 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่บริเวณศูนย์กลางแผ่นดินไหวเกิดขึ้นตรงกับตำแหน่งของเมืองโกเบ ซึ่งมีจำนวนประชากรหนาแน่น จนส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 53,000 คน บาดเจ็บมากกว่า 26,000 คน และทำให้ไร้ที่อยู่อาศัยประมาณ 300,000 คน


 


ส่วนอาคารบ้านเรือนนั้นได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงมากกว่า 75,000 หลัง ทางด่วนและทางรถไฟยกระดับหลายส่วนได้พังทลายลงมา และท่าเทียบเรือเกือบทั้งหมดเสียหายจนใช้การไม่ได้ พูดได้ว่า อานุภาพของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ขนาด 7.2 ริกเตอร์ ทำให้ทำลายเมืองทั้งเมืองได้


 


นอกจากนั้น เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ยังเคยเกิดขึ้นที่ ประเทศตุรกี เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2542 ซึ่งวัดได้ 7.4 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิตถึง 15,000 คน และทำให้อาคารบ้านเรือนพังเสียหายรุนแรงมากกว่า 40,000 หลัง ด้วย


 


"...คำถามที่สำคัญ คือ แผ่นดินไหวขนาดใหญ่มีโอกาสเกิดขึ้นในประเทศไทยหรือไม่ ? ข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดแผ่นดินไหวที่มีอยู่ในขณะนี้อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะตอบคำถามนี้ เพราะความถี่ของการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มักมีค่าที่ต่ำกว่าของแผ่นดินไหวขนาดกลางมาก...แต่ถ้าเราคำนวณคร่าวๆ จะพบว่า แผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ ถ้าเกิดขึ้นจริง ก็น่าจะเกิดด้วยความถี่ประมาณ 200 ปี ถึง 300 ปี ต่อครั้ง ดังนั้น การที่เราไม่เคยตรวจพบแผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ในประเทศไทยเลยในช่วงเวลา 90 ปีที่ผ่านมานี้ แต่ก็มิได้เป็นข้อพิสูจน์ว่าประเทศไทยเราจะปลอดภัยจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่...ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นในช่วงไหน เมื่อไหร่..."


 


 


ย้ำรอยเลื่อนพื้นที่ภาคเหนือ-กาญจนบุรี เสี่ยงแผ่นดินไหวขนาดรุนแรง


ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว บอกว่า เมื่อย้อนกลับไปดุเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงในประวัติศาสตร์ไทย พอสรุปได้ว่า บริเวณภาคเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของไทยมีโอกาสที่จะเกิดภัยพิบัติรุนแรงจากแผ่นดินไหวอยู่จริง โดยดูได้จากเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ.2088 เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่ นครเชียงใหม่ ทำให้ส่วนยอดของพระเจดีย์หลวง รวมทั้งเจดีย์วัดพระสิงห์ และวัดอื่นๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงหักโค่นลงมา


 


นอกจากนั้น ในปี พ.ศ.2258 ก็ได้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่ นครเชียงแสน(อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ในปัจจุบัน) ทำให้วัดวาอารามและพระเจดีย์ในบริเวณ 4 ตำบลถูกทำลาย ภายหลังเหตุการณ์นี้ แผ่นดินยังสั่นสะเทือนอีกหลายครั้งเป็นระยะๆ ตลอดทั้งเดือน ก่อนที่จะสงบลงไป (เชื่อกันว่า นั่นเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า After Shocks ซึ่งมักเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่


 


และเมื่อมีการตรวจวัดและสำรวจรอยเลื่อนต่างๆ ในประเทศไทย พอสรุปได้ว่า บริเวณภาคเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของไทยมีโอกาสที่จะเกิดภัยพิบัติรุนแรงจากแผ่นดินไหวอยู่จริง เพราะพื้นที่ภาคเหนือและ จ.กาญจนบุรีมีแผ่นดินไหวขนาดกลางเกิดขึ้นบ่อยๆ มีขนาดประมาณ 5.0 -5.9 ริคเตอร์ ซึ่งแผ่นดินไหวขนาดกลางเหล่านี้ จัดเป็นแผ่นดินไหวที่อันตราย เพราะในบริเวณใกล้จุดศูนย์กลางจะมีระดับการสั่นสะเทือนของพื้นดินที่รุนแรงมากจนอาคารบ้านเรือนที่ไม่ได้ออกแบบเผื่อแรงแผ่นดินไหวไว้ อาจเสียหายอย่างรุนแรงมากจนถึงขึ้นพังทลายได้


 


มีรายงานว่า ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เราได้มีการสำรวจค้นพบรอยเลื่อนที่มีพลัง หลายรอยในบริเวณภาคเหนือ และ จ.กาญจนบุรี พบว่า รอยเลื่อนบางรอยสามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ประมาณ 7 ริกเตอร์ได้


 


ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีแผนรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่เลย


 


 


ชี้กรุงเทพฯ เสี่ยงตึกสูงทรุด หากไม่เตรียมรับมือ อาจเจอภัยพิบัติรุนแรงสุดในประวัติศาสตร์ไทย


รศ.ดร.เป็นหนึ่ง ยังได้แสดงความเป็นห่วงอีกว่า นอกเหนือจากบริเวณภาคเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือของไทยแล้ว กรุงเทพฯ เป็นอีกบริเวณหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อภัยแผ่นดินไหว นั่นหมายรวมถึงบริเวณที่ราบภาคกลางตอนล่างทั้งหมด ทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เนื่องจากว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความเสี่ยงในลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากบริเวณอื่น เพราะตั้งอยู่นอกพื้นที่แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว ซึ่งความเสี่ยงมิได้เกิดจากแผ่นดินไหวในระยะใกล้ แต่เป็นผลมาจากแผ่นดินไหวในระยะไกล เช่น แผ่นดินไหวในประเทศพม่า ในทะเลอันดามัน หรือใน จ.กาญจนบุรี แต่จะส่งผลสะเทือนมาถึงพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 


การที่แผ่นดินไหวระยะไกลสามารถส่งผลกระทบต่ออาคารบ้านเรือนในบริเวณกรุงเทพฯ ได้นั้น เป็นเพราะในอดีตหลายพันปีก่อน พื้นที่กรุงเทพฯ เคยเป็นทะเลมาก่อน เรียกว่าแอ่งกรุงเทพฯ ซึ่งเพิ่งจะกลายเป็นพื้นดินเมื่อราวๆ 3-4 พันปีที่ผ่านมา ทำให้ดินมีสภาพเป็นดินอ่อนในบริเวณนี้ ก่อให้เกิดการขยายความรุนแรงของการสั่นสะเทือนของพื้นดินได้ถึงประมาณ 3 ถึง 4 เท่าของระดับปกติ นอกจากนี้ การสั่นสะเทือนที่ถูกขยายความรุนแรงจะมีลักษณะแตกต่างจากแผ่นดินไหวทั่วๆ ไป คือ จะเป็นการสั่นสะเทือนในแนวราบที่ค่อนข้างเป็นจังหวะ ประมาณ 1 รอบต่อวินาที การสั่นสะเทือนลักษณะนี้จะมีผลต่ออาคารสูงมากกว่าอาคารเตี้ยหรืออาคารขนาดเล็ก


 


รศ.ดร.เป็นหนึ่ง ได้ยกตัวอย่างผลกระทบของแผ่นดินไหวระยะไกลที่มีต่ออาคารสูงในกรุงเทพฯ โดยดูได้จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว 2 ครั้งเมื่อไม่นานมานี้ เหตุการณ์ครั้งแรกเป็นแผ่นดินไหวขนาด 6.6 ริกเตอร์ เกิดเมื่อวันที่ 22 ม.ค.46 มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่เกาะสุมาตรา ห่างจากกรุงเทพฯมากกว่า 1,000 กม.แต่ได้ส่งผลให้อาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพฯ โยกไหวตัวรุนแรงจนสร้างความตกใจอลหม่านทำให้พนักงานออฟฟิศและผู้คนเป็นจำนวนมากที่อยู่บนอาคารเหล่านั้น เหตุการณ์ที่ 2 เป็นแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ริกเตอร์ เกิดเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 46 มีจุดศูนย์กลางอยู่ในประเทศพม่า ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 850 กม.แต่ได้ส่งผลกระทบต่ออาคารสูงในกรุงเทพฯ ที่รุนแรงกว่าครั้งแรก จนทำให้อาคารสูงบางอาคารเกิดความเสียหาย เช่น กำแพงอิฐก่อบางตำแหน่งแตกร้าว


 


จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวทั้ง 2 ครั้ง เป็นเพียง "สัญญาณเตือนภัย" เพราะเรามีโอกาสที่จะเผชิญกับผลกระทบที่รุนแรงกว่านี้ ถ้าเกิดมีแผ่นดินไหวที่ใหญ่กว่า 6.6 ริคเตอร์ ในระยะใกล้กว่า 850 กม.


 


ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดแผ่นดินไหวขนาดประมาณ 7 ริกเตอร์ ในทะเลอันดามัน บนแนวที่มีแผ่นดินไหวชุกชุม ซึ่งห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 400 กม.ผลกระทบต่ออาคารสูงในกรุงเทพฯ จะรุนแรงกว่าที่เคยเกิดในเหตุการณ์ 2 ครั้ง ถึงประมาณ 4 ถึง 6 เท่าตัว


 


และถ้าเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ ในบริเวณ จ.กาญจนบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 200 กิโลเมตร ผลกระทบอาจจะรุนแรงกว่าที่เคยเกิดมาแล้วถึง 10 เท่าตัวหรือมากกว่านั้น ซึ่งอาจส่งผลให้อาคารสูงและสิ่งปลูกสร้างเป็นจำนวนมากเสียหายจนพังทลายลงมาได้


 


"...ภัยพิบัติเช่นนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ประมาณ 200 ปีของกรุงเทพฯ แต่ถ้าเกิดขึ้นโดยที่เรามิได้เตรียมพร้อมรับมือ เราอาจได้เห็นภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย!"


 


 


 


ข้อมูลประกอบ


วิศวกรรมสาร,ปีที่ 59 ฉบับที่4  เดือน ก.ค.- ส.ค. 2549

เอกสารประกอบงานวิจัย "ภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย,รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net