ไบโอไทยชี้ กท.เกษตร - บริษัทข้ามชาติ ปั้นข้อมูล หวังดันครม. ปลูกมะละกอและพืชจีเอ็มโอ

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 50 นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีหรือไบโอไทย (BioThai) องค์กรอนุรักษ์และรณรงค์เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ของการปลูกมะละกอในประเทศไทยว่า ไม่ได้อยู่ในขั้นวิกฤติจนถึงกับต้องนำเข้ามะละกอแต่ประการใด

 

"ตามที่มีข่าวเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า พื้นที่ปลูกมะละกอในประเทศไทย และผลผลิตของมะละกอกำลังลดลงถึงขั้นวิกฤติจนถึงขั้นต้องนำเข้ามะละกอจากต่างประเทศนั้น เป็นการปั้นข้อมูลของกระทรวงเกษตรฯ และสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุนให้มีการปลูกมะละกอจีเอ็มโอ ทั้งนี้เพื่อโน้มน้าวให้คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และการประชุมของคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุญาตให้มีการทดลองปลูกมะละกอจีเอ็มโอและพืชจีเอ็มโออื่นในระดับไร่นา"

 

นายวิฑูรย์ ได้แถลงว่าจากสถิติขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งได้ใช้ข้อมูลจากสถิติของราชการและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและได้ประมวลอย่างเป็นระบบมานับตั้งแต่ปี 2503 และต่อเนื่องมาจนถึงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 2548 พบว่า พื้นที่ปลูกมะละกอ และผลผลิตมะละกอในประเทศไทยยังเพิ่มขึ้นโดยต่อเนื่อง เช่นในปี 2537 มีพื้นที่ปลูกมะละกอ 60,125 ไร่ และพื้นที่ปลูกมะละกอได้เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ เป็น 68,750 ล้านไร่เมื่อปี 2548

 

 

ตารางแสดงพื้นที่ปลูกมะละกอของประเทศไทย พ.ศ. 2537-2548 (หน่วย: ไร่)

 






2537


2538


2539


2540


2541


2542


2543


2544


2545


2546


2547


2548


60,125


60,125


59,375


59,375


60,625


61,250


61,250


62,500


62,500


65,625


65,625


68,750

 

 

 

ผลผลิตมะละกอของประเทศไทยก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยผลผลิตมะละกอเพิ่มขึ้นจาก 120,000 ตันในปี 2537 เพิ่มเป็น 131,000 ตันในปี 2548

 

ผลผลิตมะละกอของประเทศไทย พ.ศ. 2537-2548 (หน่วย: พันตัน)

 






2537


2538


2539


2540


2541


2542


2543


2544


2545


2546


2547


2548


120


120


115


115


118


119


119


120


120


125


125


131

 

 

ปัญหาสำคัญของเรื่องมะละกอจึงมิได้อยู่ที่ไวรัสใบด่างจุดวงแหวนแต่ประการใด เพราะประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ของโลก เช่น เม็กซิโก บราซิล รวมทั้งมาเลเซีย นั้น เป็นประเทศที่ส่งออกมะละกอรายใหญ่ของโลกได้โดยไม่ต้องใช้มะละกอจีเอ็มโอเลย แต่ก็สามารถส่งออกมะละกอคิดเป็นมูลค่า 2,052 ล้านบาท 980 ล้านบาท และ 496 ล้านบาทตามลำดับ

 

"หากกระทรวงเกษตรฯ ต้องการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่เอาเรื่องนี้บังหน้าเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทข้ามชาติ ควรจะหาวิธีการแก้ปัญหาเรื่องไวรัสใบด่างจุดวงแหวนด้วยวิธีอื่น หรือไม่ก็ส่งคนไปดูงานประเทศเหล่านี้แทนว่าเขาแก้ปัญหาอย่างไรมากกว่า" นายวิฑูรย์กล่าว

 

การอนุญาตให้ปลูกทดลองจีเอ็มโอในระดับไร่นากลับสร้างปัญหาให้กับประเทศมากกว่า เพราะนับตั้งแต่มีการพบว่ามะละกอจีเอ็มโอที่ปลูกระหว่างอนุญาตให้มีการปลูกในแปลงทดลองหลุดลอดออกไปปลูกในแปลงเกษตรกรเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2547 มูลค่าการส่งออกมะละกอของไทยก็ลดลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากผู้ซื้อรายใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้าในยุโรปต่างหันไปซื้อมะละกอจากประเทศอื่นแทน ห้างสรรพสินค้าบางห้าง เช่น เทสโก้ หยุดสั่งซื้อมะละกอจากประเทศไทยไปเลยนับตั้งแต่บัดนั้น ตัวเลขการส่งออกเมื่อปี 2545 ซึ่งก่อนเหตุการณ์ระบาดของมะละกอจีเอ็มโอนั้นมีการส่งออกมะละกอประมาณ 30 ล้านบาท แต่ก็ลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นในปี 2548 เพราะปัญหาดังกล่าว

 

 

มูลค่าการส่งออกมะละกอของไทย พ.ศ.2539-2548 (หน่วย: ล้านบาท)

 
















2539


2540


2541


2542


2543


2544


2545


2546


2547


2548


0.256


 1.248


 0.96


 2.588


 6.208


 11.936


 29.909


 26.976


 19.379


 14.400


 

 

"เบื้องหลังการผลักดันและปั้นตัวเลขนั้น เกิดขึ้นจากกระแสการผลักดันของบรรษัทข้ามชาติทรงอิทธิพลซึ่งมีผลประโยชน์มหาศาลที่จะได้ประโยชน์จากพืชจีเอ็มโอ ทั้งกรณีมะละกอ ข้าวโพด และฝ้าย ซึ่งคนที่ติดตามเรื่องเหล่านี้ทราบดีว่า กลุ่มผู้ผลักดันให้มีการทดลองจีเอ็มโอในไร่นาและผลักดันให้มีการปลูกในเชิงพาณิชย์นั้นล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดบริษัทข้ามชาติบริษัทดังกล่าว กลุ่มเหล่านี้รีบเร่งที่จะให้มีการอนุมัติเรื่องจีเอ็มโอโดยเร็วเพราะไม่มั่นใจว่ารัฐบาลใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นจะมีนโยบายเรื่องจีเอ็มโออย่างไร เพราะที่ผ่านมานั้น พรรคประชาธิปัตย์ ชาติไทย และเพื่อแผ่นดิน มีแนวโน้มที่จะไม่ยอมรับเรื่องจีเอ็มโอ และมีความพยายามที่จะล็อบบี้พรรคการเมืองดังกล่าวให้เปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อผลประโยชน์ของตน" นายวิฑูรย์กล่าว

 

ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาสังคม จะยื่นหนังสือต่อนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอครม. เพื่อให้คงมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2544 ห้ามปลูกทดลองพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นา ณ ประตู 4 หน้าทำเนียบรัฐบาล ในวันพุธที่ 28 พ.ย. นี้ เวลา 8.30 น.

 

 

กรีนพีซยื่นหนึ่งหมื่นรายชื่อ "คนไทยไม่เอาจีเอ็มโอ"

ในวันเดียวกัน ด้านของอาสาสมัครกรีนพีซ ได้ชูป้ายและธงข้อความ "ไม่เอาจีเอ็มโอ" เดินขบวนไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นรายชื่อคนไทยที่ไม่เอาจีเอ็มโอรวมกว่าหนึ่งหมื่นรายชื่อแก่ ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เรียกร้องให้รัฐบาลคงมติ ครม. 3 เมษายน 2544 ที่ห้ามทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอทุกชนิดในพื้นที่เปิด

 

"รายชื่อทั้งหมดเป็นเสียงจากประชาชนที่ไม่ต้องการจีเอ็มโอ ถ้าหากครม.อนุมัติให้มีการยกเลิกมตินี้ นั่นก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ใส่ใจที่จะปกป้องผลประโยชน์ของคนไทย เนื่องจากจีเอ็มโอจะส่งผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งผู้ที่ต้องรับผลกระทบอย่างแสนสาหัสจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของรัฐบาลก็คือประชาชน" นางสาวณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพันธุวิศวกรรม (จีเอ็มโอ) กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว

 

กรีนพีซได้รณรงค์เรื่องพืชจีเอ็มโออย่างต่อเนื่อง เพื่อเรียกร้องให้ประเทศไทยปลอดจากจีเอ็มโอ โดยชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงของพืชจีเอ็มโอในหลายประเด็น ได้แก่ 1) ความเสี่ยงทางด้านสุขภาพของผู้บริโภค เนื่องจากยังไม่มีการยืนยันความปลอดภัยในระยะยาว 2) เป็นมลพิษทางพันธุกรรมหากพบว่าเกิดการปนเปื้อนออกสู่สิ่งแวดล้อม จะไม่สามารถเรียกสิ่งแวดล้อมเดิมกลับคืนมาได้ 3) เป็นภัยคุกคามระบบเกษตรกรรมไทย หากไทยรับเอาจีเอ็มโอเข้ามาในประเทศ เกษตรกรไทยต้องแบกรับภาระความเสี่ยง ต้องตกอยู่ภายใต้การครอบงำของบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ และภาวะผู้บริโภคทั่วโลกปฏิเสธจีเอ็มโอ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท