Skip to main content
sharethis

บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล [1]


 


สถานการณ์ความรุนแรงในพม่าที่เกิดขึ้นช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทำให้บทบาทของสื่อในโลกที่สามโดยเฉพาะประเทศที่เสรีภาพของสื่อมวลชนนั้นถูกลิดรอน ได้กลับมาเป็นที่สนใจและถกเถียงกันอย่างกว้างขวางอีกคำรบหนึ่ง สื่ออินเทอร์เน็ตได้รับความไว้วางใจและขอบคุณอย่างท่วมท้นจากประชาคมโลก ในฐานะผู้ทำหน้าที่เปิดโปงความรุนแรงที่รัฐบาลทหารพม่ากระทำการอย่างไร้ปรานีต่อพระสงฆ์และประชาชนที่ร่วมกันประท้วงต่อมาตรการและการปกครองที่ล้มเหลวของรัฐบาลภายใต้การนำของสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State for Peace and Development Council- SPDC) ที่มีเผด็จการทหารเป็นผู้นำพาประเทศ


 


เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่มาของความสนใจใคร่รู้ว่า ในขณะที่สื่อโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อสิ่งพิมพ์ และอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะที่ประจำการนอกประเทศพม่า และเทคโนโลยีของเครื่องมือสื่อสารไร้พรมแดนอย่างโทรศัพท์มือถือที่ประชาชนทั่วไปมีอำนาจและกำลังซื้อหาได้ไม่ยากนัก ตลอดจนจานดาวเทียมที่มีประสิทธิภาพทะลุทะลวงในการส่งสัญญาณ ได้กลายเป็นพระเอกในการต่อสู้กับอิทธิพลของผู้ร้ายอย่างรัฐบาลทหาร โดยการสะท้อนให้เห็นถึงการกระทำที่เหี้ยมโหด ทารุณ รุนแรงต่อประชาชนในประเทศ รวมทั้งชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีมาตลอด แล้วบทบาทของสื่อแบบฉบับดั้งเดิมอย่างทีวี วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์นั้น เผชิญชะตากรรมอย่างไรบ้างกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ที่นี้คงไม่ต้องพูดถึงสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างวิทยุ หรือโทรทัศน์ เพราะสื่อสองประเภทดังกล่าวนั้นถือว่ารัฐบาลมีอำนาจจัดการและควบคุมเด็ดขาด แต่สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์นั้นยังมีข้อยกเว้นในแง่ที่ว่ารัฐบาลยังเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตเอกชนเข้ามาดำเนินการได้บ้าง แต่การรายงานข่าวหรือผลิตสื่อที่ว่านั้นก็ใช่ว่าจะมีอิสรเสรีเต็มที่


 


สิ่งที่น่าติดตามคือภายใต้สถานการณ์ที่รัฐบาลไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของคนในประเทศตนเองเช่นนี้แล้ว การพูดถึงหรือให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพสื่อคงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน แล้วบรรดานักข่าวเหล่านั้นโดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ทำงานกันอย่างไร โดยเฉพาะกับคนที่มีอุดมการณ์การทำงานสื่อสารมวลชนด้วยแล้ว ยิ่งต้องอยู่ภายใต้การกดดันและทนกับแรงเสียดทานหลายอย่าง สิ่งที่เป็นคำถามคือชะตากรรมของนักข่าวในฐานะฐานันดรที่ 4 ของพม่าจะต่อสู้กับอำนาจเผด็จการนั้นอย่างไร รวมทั้งต้องอดทนและฝืนกับอุดมการณ์ของการทำหน้าที่กระจกส่องสังคมมากน้อยขนาดไหนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา


 


 


สื่อสิ่งพิมพ์-ไม้เบื่อไม้เมาของรัฐบาล


 


นักศึกษาชาวพม่าจากมหาวิทยาลัยทางภาคเหนือคนหนึ่ง ใช้ชีวิตนักข่าวในการดำรงชีพภายใต้รัฐบาลทหารอยู่เกือบ 10 ปี ก่อนที่เขาจะได้รับทุนการศึกษามาเรียนต่อที่ประเทศไทยแห่งนี้เมื่อปีที่แล้ว เล่าว่าในช่วงการประท้วงและจลาจลในพม่าช่วงปลายเดือนกันยายนยาวมาถึงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ปราบปรามและห้ามไม่ให้สื่อในประเทศพม่าโดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ได้ทำหน้าที่รายงานข่าวที่เกิดขึ้น สื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับถูกปิดจากอำนาจรัฐบาลโดยตรง รวมทั้งวารสารข่าวที่เขาเคยทำงานก่อนมาเรียนหนังสือที่ประเทศไทยด้วย ผลที่ตามมาคือนักข่าวหลายคนต้องตกงาน การหาข้อมูลหรือส่งข่าวทางอินเทอร์เน็ตก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย เรียกได้ว่าทำอะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น เพราะรัฐบาลบล็อกสัญญาณและเครือข่ายต่างๆ เหล่านี้หมด สุดท้ายนักข่าวเหล่านี้ก็ไม่มีเงินดำรงชีพต่อไป นี่เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้นว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับชะตากรรมของเพื่อนร่วมอาชีพในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเขาเองก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากเหลือเกินกับการที่จะติดตามข่าวคราวเพื่อนฝูงหรือคนรู้จักในแวดวงน้ำหมึกในยามนี้


 


อย่าว่าแต่ห้วงยามบ้านเมืองลุกเป็นไฟอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้เลย ในช่วงที่สถานการณ์ที่สงบราบเรียบ ประชาชนใช้ชีวิตกันอย่างสงบ สื่อมวลชนภายใต้รัฐบาลท็อปบูตอย่างพม่ายังถูกมองว่าเป็นภัยร้ายแรงที่คุกคามประเทศเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ เนื่องจากสื่อประเภทนี้เป็นสื่อประเภทเดียวที่รัฐไม่ได้ดำเนินกิจการอย่างเด็ดขาดเหมือนสื่อสิ่งอิเล็กทรอนิกส์อย่างโทรทัศน์และวิทยุ ดังนั้น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ จึงค่อนข้างถูกเพ่งเล็งอย่างเข้มงวดกว่าสื่ออื่น


 


ในพม่านั้นมีการจัดแบ่งสื่อสิ่งพิมพ์ออกเป็น 3 ประเภท คือ ประเภทที่รัฐเป็นเจ้าของและดำเนินกิจการเอง (government sector) ประเภทที่รัฐเปิดโอกาสให้เอกชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ หรือดำเนินการผลิต (semi private sector) และประเภทที่กลุ่มอิสระเข้ามาดำเนินการเองโดยที่รัฐเองยังสามารถแทรกแซงนโยบายการนำเสนอข่าวสาร (private sector)


 


เขาบอกว่า การที่สื่อแต่ละประเภทจะขอเปิดหัวหนังสือ ผลิตและจัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการนั้น จะต้องมีใบอนุญาตที่ออกโดยกระทรวงข้อมูลข่าวสาร (Ministry of Information) ของพม่า ซึ่งก็ไม่ใช่คนทั่วๆ ไปที่จะเดินดุ่มๆ เข้าไปขออนุญาตได้เหมือนประเทศเสรีประชาธิปไตย คนที่มีโอกาสได้รับใบอนุญาตส่วนใหญ่จะเป็นนายทหารเก่า หรือมีญาติพี่น้องเป็นนายทหารโดยจะได้รับการพิจารณาและได้รับใบอนุญาตเป็นพิเศษ ซึ่งการพิจารณาเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตนั้นยังครอบคลุมไปถึงนักเขียนที่เขียนนิยาย เรื่องสั้นหรืองานเขียนประเภทอื่นด้วย พูดได้ว่างานเขียนอะไรก็ตามจะต้องได้รับการพิจารณาและได้รับใบอนุญาตก่อนทุกครั้ง ซึ่งการได้มาซึ่งใบอนุญาตจะเสียค่าธรรมเนียมเป็นเงินราวๆ 10,000-50,000 จัต หรือประมาณ 27-133 บาท


 


ในส่วนของการนำเสนอข่าวนั้น ในพม่าจะไม่เรียกสื่อสิ่งพิมพ์ที่เสนอข่าวรายวันว่า "หนังสือพิมพ์" (newspaper) อย่างที่เข้าใจกันโดยทั่วไป แต่จะเรียกรวมๆ ว่า "วารสารข่าว" (news journal) ขนาดแทบลอยด์หนาประมาณ 24 หน้า ที่ทำหน้าที่รายงานข่าว ให้ความรู้ข่าวสาร ตลอดจนเสนอเนื้อหาสาระในด้านอื่นๆ ด้วย โดยจะออกเป็นรายสัปดาห์ สิ่งพิมพ์ประเภทวารสารข่าวได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศพม่า เพราะเป็นสื่อที่ราคาถูกและเข้าถึงง่าย


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงประมาณปี 2002-2003 เป็นช่วงที่วารสารข่าวได้รับความนิยมอย่างสูง มีการผลิตสื่อประเภทนี้กันออกมามากมาย เนื่องจากเป็นช่วงที่ประเทศพม่าอยู่ในช่วงที่เปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศอย่างเต็มที่ อีกทั้งการเปิดการค้าเสรีในระดับภูมิภาคที่หลายๆ ความร่วมมือมีพม่าร่วมเป็นสมาชิก ตรงนี้จึงทำให้ประชาชนตื่นตัวในการรับรู้ข่าวสารด้านนี้ อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นและตายไปของวารสารข่าว ก็มีให้เห็นเป็นปกติเช่นกัน เดือนเดือนหนึ่งมีหัวหนังสือเกิดขึ้นมากมายพร้อมๆ กับการล้มหายตายจากไปบนแผงหนังสือ โดยทั่วไปแล้ว คนที่ต้องการทำหนังสือขึ้นมาก็มักจะไปซื้อหัวหนังสือเก่าที่เคยขออนุญาตไว้เสียมากกว่า เพราะนั่นหมายความว่าไม่ต้องไปดำเนินการกับทางการใหม่ให้ยุ่งยากและลดขั้นตอนให้น้อยลง


 


 


ไม่มีการเรียนการสอน "สื่อสารมวลชน" ในพม่า


 


นักศึกษาชาวพม่าคนเดิมอยากจะเป็นนักข่าวโดยที่ไม่เคยร่ำเรียนเขียนอ่านเกี่ยวกับศาสตร์ด้านนี้แม้แต่น้อย แต่ถึงจะมีใครอยากเรียนเพื่อฝึกปรือฝีมือด้านนี้ ในประเทศพม่าก็ไม่มีหลักสูตรการเรียนการสอนด้านสื่อสารมวลชนในมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาต่างๆ เขาเป็นตัวอย่างของนักข่าวอีกหลายๆ คนในประเทศพม่าที่มีใจรักอยากเป็นนักสื่อสารมวลชนด้วยการเรียนรู้ในสนามวิชาชีพจริง เขาเริ่มต้นวิชาชีพตั้งแต่ปี 2000 ด้วยการเป็นนักข่าวอิสระ ก่อนที่จะก้าวกระโดดไปเป็นบรรณาธิการข่าวให้กับนิตยสารชื่อ Knowledge Digest Magazine ซึ่งออกเป็นรายเดือน ควบกับการทำหน้าที่เดียวกันให้กับวารสารข่าวรายสัปดาห์ชื่อ International News Journal ซึ่งเป็นสื่อในเครือที่มีเจ้าของเป็นคนคนเดียวกัน


 


ถือว่าเส้นทางวิชาชีพการทำงานด้านสื่อของเขาค่อนข้างจะก้าวกระโดด เพราะการทำงานด้านสื่อสารมวลชนในประเทศพม่าก็คงเหมือนหลายๆ ประเทศที่ต้องเริ่มจากการเป็นนักข่าวในพื้นที่อยู่สักระยะหนึ่งก่อน แล้วก็ไต่เต้าไปตามลำดับขั้นจนไปถึงตำแหน่งสูงๆ อย่างระดับบรรณาธิการ แต่เนื่องจากเขาเป็นผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว อีกทั้งมีความรู้รอบตัวหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ตลอดจนเคยบวชเป็นพระอยู่เกือบ 2 ปี ตรงนี้จึงทำให้เขาได้ก้าวขึ้นมาเป็นบรรณาธิการอย่างรวดเร็ว


 


เมื่อไม่มีการเรียนการสอนด้านนี้ ดังนั้น ทุกคนจึงเริ่มต้นปีแรกของการเรียนด้วยการทำงานจริงเหมือนกันหมด โดยมีนักข่าวรุ่นพี่เป็นอาจารย์ที่คอยสอนด้านนี้แทน และในระยะหลังๆ อาชีพนักข่าวได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นอาชีพที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่นับถือของคนในสังคม รวมไปถึงมีอำนาจต่อรองหรือสร้างความสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะกระทรวงข้อมูลข่าวสารด้วย ประกอบกับการเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดของวารสารข่าว จึงยิ่งทำให้วงการวิชาชีพด้านนี้มีความคึกคักมากขึ้นในช่วงหลัง ถึงกระนั้น ค่าตอบแทนของนักข่าวไม่ได้สวยหรู ยังคงเผชิญกับค่าแรงที่ต่ำกว่ามาตรฐานเหมือนกับอาชีพอื่นๆ ในประเทศพม่านั่นเอง ดังนั้น นักข่าวส่วนใหญ่จึงมักทำงานสองที่หรือสองหัวหนังสืออย่างที่โฟน มินท์ อู ทำอยู่ จึงจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้บ้าง


 


นอกจากเขาจะเดินเข้าสู่สนามงานด้านสื่อด้วยความรู้ที่โดดเด่นแล้ว ในช่วงปี 2003 เขายังโชคดีไม่น้อยที่มีโอกาสได้เข้าร่วมการอบรมที่มีองค์กรต่างประเทศให้การสนับสนุนส่งให้เขามาเรียนรู้ด้านการทำข่าวที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่เมืองไทยอยู่ราวๆ สองสัปดาห์ แต่เมื่อกลับไปเขาก็ต้องพบกับสิ่งที่ขัดแย้งกับแนวคิดและอุดมคติที่มีในจิตใจอย่างรุนแรง และนำไปสู่การตัดสินใจลาออก เนื่องจากการที่เจ้าของนิตยสารและวารสารข่าวที่เขาประจำอยู่นั้นมีความใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงด้านสื่อสารมวลชนมากเกินไป ความใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์อันดีตรงนี้นำไปสู่การเสนอข่าวหรือความรู้แก่ประชาชนที่ไม่หนักแน่นเพียงพออย่างที่สื่อมวลชนที่ดีควรจะทำ


 


อันนี้ต้องทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่า การนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนในประเทศพม่านั้น เราจะไม่เห็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลหรือนโยบายตรงๆอยู่แล้ว ไม่เช่นนั้นสื่อดังกล่าวก็คงไม่สามารถดำรงอยู่ได้และอาจถูกบังคับหรือกดดันด้วยรูปแบบต่างๆ นานาเพื่อให้ปิดตัวไปในที่สุด นอกเหนือไปจากเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจซึ่งเป็นธรรมชาติของการทำธุรกิจทุกรูปแบบ ดังนั้น เนื้อหาของสื่อทั่วไปซึ่งไม่นับสื่อของรัฐบาลหรือสื่อที่รัฐบาลมีอิทธิพล หรือใช้อำนาจแทรกแซงเป็นทุนเดิมนั้น จะอยู่แบบสบายไม่มีปัญหา จึงต้องนำเสนอข่าวสารที่โปรรัฐบาลเป็นหลัก


 


กรณีเจ้าของสื่อที่เขาทำงานอยู่นี้ ถือว่าอยู่รอดปลอดภัยภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว เพราะเจ้าของสื่อได้ผลประโยชน์มากจากกระทรวงข้อมูลข่าวสาร เรียกได้ว่าอยากได้อะไรเป็นได้ตามที่เขาต้องการ เพื่อแลกกับการเสนอข่าวที่เหมือนเป็นโฆษณาชวนเชื่อให้กับรัฐบาล หรือเนื้อหาที่ไม่ต่างอะไรกับหนังสือกินเนสส์ บุ๊ค เช่น สถิติต่างๆ ของสิ่งของในโลก หรือนำเสนอข่าวเบาๆ หรือสีสันมากกว่าการนำเสนอความรู้จริงจังให้กับคนอ่าน เช่น เรื่องราวของต้นกล้วยแปลกๆ เป็นต้น สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนั้นทำให้วิญญาณนักข่าวอย่างเขาอึดอัดเป็นอย่างมากและยื่นเรื่องลาออกอย่างที่เอ่ยไป การลาออกครั้งนี้กลายเป็นกรณีพิพาทตามมา เมื่อเขาได้ทำสัญญากับเจ้าของสื่อที่เขาทำงานอยู่ในขณะนั้น การตัดสินใจทิ้งงานกลางคัน จึงทำให้เจ้าของสื่อเครือดังกล่าวฟ้องร้องเขา แต่ด้วยความที่เขามีเพื่อนนักข่าวมากมายที่ยืนอยู่เคียงข้างเขา ทำให้เขาผ่านประสบการณ์ถูกฟ้องร้องนั้นมาได้


 


 


ต้องใช้นามแฝงและไม่มีชื่อจริงในกองบรรณาธิการ


 


หลังจากที่เขาลาออกจากการเป็นบรรณาธิการข่าวให้กับเครือสิ่งพิมพ์ดังกล่าว เขาหันไปเอาดีทางนิตยสารเกี่ยวกับกีฬา ซึ่งเป็นนิตยสารอีกประเภทหนึ่งที่มีมากมายในประเทศพม่า โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับฟุตบอล เพราะมีการพนันขันต่อกันสูงของคนดูในประเทศพม่าเช่นเดียวกัน ในขณะเดียวกันถือว่าสื่อประเภทนี้ก็มีความเสี่ยงน้อยที่จะถูกตรวจสอบโดยรัฐบาล เขาทำหน้าที่แปลข่าวภาษาอังกฤษเป็นภาษาพม่าเป็นคอลัมน์ประจำ ซึ่งช่วงที่เขาทำงานอยู่นั้นได้แปลชีวประวัติของเวย์น รูนีย์ นักฟุตบอลชื่อดังชาวอังกฤษที่เล่นในนามสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด จนกระทั่งกลุ่มที่ทำงานด้านสื่ออิสระนาม Living Color ได้เข้ามาชักชวนให้เขาเข้าร่วมเป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการของวารสารข่าว Khit Myanmar และ The Voice ในฐานะคนเขียนคอลัมน์ และบรรณาธิการข่าวไปพร้อมๆ กัน


 


แม้ว่าจะเป็นคอลัมน์ที่ไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโดยตรง แต่นักข่าวและคนทำข่าวส่วนใหญ่ในพม่าแทบจะไม่ใช้ชื่อจริงในการเขียนบทความ รายงาน หรือคอลัมน์ประจำ เนื่องจากนั่นจะนำไปสู่การตรวจสอบและเช็คประวัติ รวมไปถึงข้อมูลด้านอื่นๆ ได้ง่ายของรัฐบาลพม่า รวมถึงไม่สามารถปรากฏรายชื่อในกองบรรณาธิการด้วย ซึ่งแตกต่างจากหนังสือพิมพ์ทั่วไปในโลกนี้ที่ต้องระบุชื่อจริงของบรรณาธิการบริหาร บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา บรรณาธิการข่าว หรือตำแหน่งอื่นๆ ที่ควรจะใส่ไว้ เขาอธิบายว่า ในรายชื่อของกองบรรณาธิการวารสารข่าวที่เขาทำอยู่นั้น ระบุเพียงชื่อของคนที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงข้อมูลข่าวสาร หรือนักข่าวหน้าใหม่หรือมีอาวุโสน้อย ที่แน่ๆ คือไม่สามารถใส่รายชื่อบุคคลหลักๆ ของหนังสือพิมพ์ได้ หรือแม้แต่รายชื่อบางคนที่ใส่ไปก็เป็นรายชื่อของนายทหารที่เสียชีวิตไปแล้วด้วยซ้ำ ซึ่งแน่นอนว่าทางรัฐบาลไม่สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปได้


 


 


หลากหลายยุทธวิธีของการ "แหกตา"


 


แม้จะไม่สามารถเสนอข่าวในแง่ของการทำงานของรัฐบาลได้โดยตรง เพราะส่วนใหญ่วารสารข่าวทุกฉบับถูกบังคับให้เสนอข่าวที่เป็นการโฆษณาผลงานของรัฐบาลเป็นพื้นฐาน แต่วารสารข่าวที่เขาพยายามทำคือสะท้อนความล้มเหลวของการบริหารประเทศของสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เช่น การนำเรื่องราวการใช้อินเทอร์เน็ตของประเทศเอธิโอเปีย ซึ่งจัดว่าเป็นประเทศในทวีปแอฟริกาที่ยากจน ประชาชนมีความแร้นแค้น แต่อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกลับสูงถึงร้อยละ 80 ซึ่งเป็นสารคดีข่าวจากต่างประเทศที่วารสารของเขาต้องการปลุกจิตสำนึกของคนพม่าให้รับรู้ว่า ขนาดประเทศที่ยากจนขนาดนั้นยังมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกหรือการสื่อสาร แต่ประเทศพม่าซึ่งไม่ได้ยากจนหรือไม่มีจะกินเทียบเท่าเอธิโอเปียกลับถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยรัฐบาลอย่างร้ายกาจ เป็นต้น


 


หรือบางครั้งในบางคอลัมน์ที่วารสารข่าวพยายามที่จะสอดแทรกในสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องที่จั่วหัวหรือตั้งชื่อเรื่องไว้ ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวถูกแทรกระหว่างบรรทัดเพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจสอบเนื้อหาสื่อที่ค่อนข้างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์ อย่างวารสารข่าว นิตยสาร หนังสือนวนิยาย ตลอดจนสื่อประเภทอื่นๆ จะต้องถูกตรวจสอบก่อนเสมอก่อนที่จะพิมพ์เป็นรูปเล่มเพื่อขาย หรือแจกจ่ายให้กับประชาชนในประเทศได้อ่าน


 


นักศึกษาพม่าคนนี้ เสริมว่า การตรวจสอบของรัฐนั้นถึงพริกถึงขิงมาก ถ้าเห็นว่าคอลัมน์ไหนหรือข่าวใดมีการรายงานที่ส่อไปทางเป็นอันตรายต่อรัฐบาลแล้วละก็ ผู้ที่เขียนบทความนั้นหรือรายงานข่าวชิ้นนั้นจะถูกเรียก "ตักเตือน" ทันที (warning) ความจริงแม้ว่าจะเรียกไป "ตักเตือน" แต่วิธีการทั้งคำพูดและท่าทางส่อไปในทางการ "ข่มขู่" เสียมากกว่า เพราะใช้น้ำเสียงที่ตะคอกและท่าทางที่กรรโชกเหมือนเป็นนักโทษถูกผู้คุมขังสมัยสงครามยังไงยังงั้น


 


ครั้งหนึ่งวารสารข่าวของเขาพยายามที่จะเสนอข่าวเกี่ยวกับการย้ายเมืองหลวงของพม่าจากย่างกุ้งไปยังเมืองเนปิดอ (หรือปินมะนา) ในช่วงเกือบๆ สองปีที่ผ่านมา ซึ่งเขาไม่ได้เขียนถึงการตั้งหน่วยงานราชการของรัฐบาลตรงๆ เพราะเป็นที่ทราบกันว่ารัฐบาลพม่าเองพยายามทำเรื่องนี้แบบปกปิด งุบงิบ หลังจากเห็นว่าย่างกุ้งได้กลายสภาพเป็นเมืองหลวงที่ใครเข้าออกง่ายขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นับวันก็ยิ่งเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในประเทศด้วยจำนวนที่มากขึ้นเช่นกัน


 


นักศึกษาปริญญาโทชาวพม่าคนนี้ สร้างแผนที่เมืองหลวงใหม่โดยการเสแสร้งว่าเป็นแผนที่ของโรงแรมแห่งหนึ่ง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้จากแหล่งข่าวที่เอาข้อมูลมาบอกนักข่าวภายนอก แต่แท้ที่จริงแล้วการสร้างแผนที่โรงแรมที่ว่าเป็นการตบตารัฐบาลและสื่อสารให้สาธารณชนรับรู้แบบอ้อมๆ ซึ่งตอนแรกเจ้าหน้าที่ของกระทรวงข้อมูลข่าวสารเองก็จับไต๋ตรงนี้ไม่ได้ แต่ท้ายที่สุดเมื่อเวลาผ่านไป เจ้าหน้าที่รัฐบาลเกิดรู้ตัวขึ้นมา เขาจึงถูกเรียกไปสอบสวนอย่างกรรโชกถึงที่มาที่ไปของรายงานดังกล่าว และบีบบังคับให้สารภาพพร้อมทั้งขู่ว่ารายงานฉบับนี้จะต้องไม่ไปถึงมือของสื่อตะวันตกอย่าง BBC (British Broadcasting Corporation) หรือ VOA (Voice of America) เป็นต้น เพราะเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าสื่อตะวันตกจากประเทศเสรีนิยมนั้นถือว่าเป็นของแสลงของรัฐบาลทหารพม่ายิ่งนัก


 


ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ ถ้านักข่าวคนใดได้รับคำเตือนครบ 3 ครั้ง ถือว่าอยู่ในสถานการณ์วิกฤติ และนั่นอาจนำไปสู่การจองจำในห้องขัง พม่าเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ขึ้นชื่อว่ามีนักข่าวถูกจับติดคุกเป็นว่าเล่น และนับวันจำนวนดังกล่าวก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่แตกต่างอย่างมากกับจำนวนนักข่าวที่ถูกปล่อยตัวออกมา


 


นี่เป็นเพียงตัวอย่างชีวิตของนักข่าวคนหนึ่งในประเทศที่เรียกได้ว่า "ไม่เป็นประชาธิปไตย" ที่สุดของโลกใบนี้ น้ำเสียงและท่าทีของเขาบอกอย่างชัดเจนว่าเขารักอาชีพสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก แม้ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่สื่อมวลชนทำได้แค่เพียงเป็นกระบอกเสียงให้รัฐ แต่อุดมการณ์ที่แน่วแน่เด็ดเดี่ยวของเขาก็พยายามดิ้นรนและแสวงหาหนทางที่จะสื่อ "สาร" ไปยังประชาชนในประเทศและนานาชาติอย่างพยายามให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้


 


ระหว่างที่เขาเป็นนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยทางเหนือของไทย เขากับเพื่อนยังรวมตัวกันรณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตยให้กับประเทศบ้านเกิดของเขาไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้เขายังสร้างบล็อกเป็นภาษาพม่า และก็อีกเช่นกัน การสร้างบล็อกขึ้นมาก็เป็นเรื่องที่จะให้รัฐบาลรู้ไม่ได้อย่างเด็ดขาด แต่สำหรับเขาแล้วไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรือมีข้อจำกัดเพียงใดก็ตาม เขาก็ยังพยายามอย่างเต็มที่ที่จะเป็นสื่อมวลชนที่เผยแพร่ความจริงและเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับพม่าอย่างไม่มีวันยอมแพ้


 


 


สถานการณ์สื่อสิ่งพิมพ์ในพม่า


 


จากรายงานเรื่อง "Activities of Mass Media Functioning in Myanmar" ของสถาบัน Yangon Institute of Economics, Centre of Human Resource Development เสนอว่าในบรรดาสื่อสิ่งพิมพ์ของประเทศพม่านั้น สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ 1. ประเภทที่รัฐเป็นเจ้าของและดำเนินกิจการเองทั้งหมด 2. ประเภทที่เปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมผลิตด้วย และ 3. ประเภทที่เอกชนดำเนินการผลิตเองทั้งหมด


 


ประเภทที่รัฐเป็นเจ้าของและดำเนินกิจการเองทั้งหมดนั้น มีหนังสือพิมพ์ทั้งรายวันและรายสัปดาห์ 6 ฉบับหลักๆ คือ 1. และ 2. The New Light of Myanmar เวอร์ชั่นภาษาพม่าและภาษาอังกฤษ โดยมีกระทรวงข้อมูลข่าวสารเป็นเจ้าของ 3. The Mirror เป็นอีกสื่อที่กระทรวงข้อมูลข่าวสารเป็นเจ้าของอีกเช่นกัน 4. วารสารข่าวรายสัปดาห์ City News ซึ่งพิมพ์เป็นภาษาพม่าโดยมีคณะกรรมการพัฒนาเมืองย่างกุ้ง (Yangon City Development Committee) เป็นผู้ดำเนินการผลิต 5. หนังสือพิมพ์รายวัน The Yadanabon พิมพ์เป็นภาษาพม่า มีสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งหน่วยงานมัณฑะเลย์เป็นเจ้าของ และ 6. Mandalay Daily พิมพ์เป็นภาษาพม่าเช่นกัน มีคณะกรรมการพัฒนาเมืองมัณฑะเลย์เป็นเจ้าของ


 


สำหรับวารสารข่าวที่มีเอกชนเป็นผู้ดำเนินการกึ่งหนึ่งนั้น จากการสำรวจพบว่ามี 2 ฉบับหลักๆ คือ The Myanmar Times ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษและพม่า และ Weekly Eleven News Journal สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทนี้หน่วยงานรัฐโดยเฉพาะกระทรวงข้อมูลข่าวสารสามารถเข้ามาแทรกแซงการทำงานได้ระดับหนึ่ง ในขณะที่ฉบับหลังมีคนระดับรัฐบาลร่วมเป็นเจ้าของและกำหนดนโยบายการเสนอข่าวด้วย สื่อสิ่งพิมพ์ทั้งสองฉบับนี้โดยปกติแล้วจะเป็นคู่แข่งกันทางการตลาด


 


ประเภทสุดท้ายนั้นถือว่ามีจำนวนมากที่สุด ซึ่งรวมทั้งวารสารข่าวกว่า 80 ฉบับและนิตยสารประมาณ 100 ฉบับและสามารถแบ่งได้หลายประเภท เช่น นิตยสารข่าวกีฬา วารสารด้านสุขภาพ หรือนิตยสารเกี่ยวกับเรื่องราวลึกลับพิศวง เป็นต้น โดยหัวหนังสือที่มีอิทธิพลและได้รับความนิยมต่อผู้อ่าน เช่น The Voice Weekly, 7 Days News, Kumudra, Flowers News และ Khit Myanmar Weekly สื่อประเภทนี้ แม้ว่ารัฐจะไม่ได้ร่วมเป็นเจ้าของหรือกำหนดนโยบายการผลิต แต่เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องมีอำนาจเต็มที่ในการตรวจสอบสื่อสิ่งพิมพ์ทุกชนิดก่อนการตีพิมพ์และจัดจำหน่าย


 


หมายเหตุ


[1] กิจกรรม Newsline โครงการวิจัยไทย มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี นำข้อมูลเรื่องนี้มาเผยแพร่ โดยนำมาจาก http://www.tja.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=549&Itemid=81


 


Newsline เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการวิจัยไทย (Thai Research) มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Peaceway Foundation) เป็นการรวบรวมข่าว/บทความภาษาไทยที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศพม่า และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย เพื่อให้ผู้คนในสังคมไทยได้รับรู้ ตระหนักถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพม่า และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและรณรงค์ให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงในประเทศพม่าต่อไป


 


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการวิจัยไทย และโครงการอื่นๆติดตามได้ที่ www.burmaissues.org/En/Index.html หรือ http://www.oknation.net/blog/burmaissues

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net