Skip to main content
sharethis

ภาคประชาชนชายแดนใต้รุกทางการเมือง กำหนดประเด็นเองจี้ให้ ส.ส.ทำ ชูปรับโครงสร้างปกครองชายแดนใต้มุ่งสู่จัดตั้งเขตปกครองพิเศษ เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด กำหนดสเป็กผู้บริหารพื้นที่เอง วาน ส.ส.เลิกช่วย พรก.ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก พรบ.ความมั่นคง วิตกคุณภาพการศึกษายิ่งดิ่งเหว นักศึกษาโครงการผลิตแพทย์สอบตกระนาว


 


เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 25 พฤศจิกายน 2550 ที่ห้องประชุมอิบนู คอลดูน วิทยาลัยอิสลามศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เครือข่ายการเมืองภาคพลเมืองชายแดนใต้ นำโดยนายแพทย์อนันต์ชัย ไทยประทาน ได้จัดประชุมเพื่อจัดทำข้อเสนอให้กับว่าที่ผู้สมาชิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดชายแดนภาคใต้นำไปดำเนินหรือผลักดันต่อไป โดยมีนายวรวิทย์ บารู ผู้อำนวยการสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นประธานเปิดการประชุม มีตัวแทนองค์กรภาคประชาชนต่างๆ ข้าราชการในพื้นที่เข้าร่วม กว่า 40 คน


 


ทั้งนี้ในการประชุมได้แบ่งออกเป็นสามกลุ่มย่อยเพื่อกำหนดประเด็นและเนื้อหาต่างประกอบด้วย ประเด็นด้านการเมืองการปกครอง ประเด็นด้านเศรษฐกิจและทรัพยากร และประเด็นด้านสังคม การศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม โดยในประเด็นการเมืองการปกครองซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยข้าราชการ อดีตข้าราชการ องค์กรชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชนได้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างเข้มข้นในเรื่องรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งยังได้อภิปรายถึงความคาดหวัง ความเป็นจริงและความเป็นไปได้สำหรับข้อเสนอทั้งหมด เช่นเดียวกับการหารือในประเด็นทางด้านการศึกษา


 


จากนั้นแต่ละกลุ่มได้นำเสนอสรุปผลการหารือของแต่ละกลุ่ม โดยประเด็นการเมืองการปกครองได้อภิปรายรูปแบบการปกครองพิเศษสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยในสามรูปแบบด้วยกัน ประกอบด้วย รูปแบบการปกครองพิเศษตามข้อเสนอของพล.อ ชวลิต ยงใจยุทยธ อดีตรองนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งก็คือการเป็นเขตปกครองตนเอง โดยให้เหตุผลว่า ต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน มาเลเซีย ต่างก็มีรัฐหรือเขตปกครองตนเองที่อิสระ


 


นอกจากนั้นยังมีรูปแบบการปกครองพิเศษ โดยให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด การปกครองพิเศษแบบจ้างผู้บริหารจังหวัด โดยต้องวางคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนคณะกรรมการนั้น ให้ใช้วิธีการสรรหา และการปกครองในรูปแบบที่มีอยู่แล้ว แต่แก้ไขเพิ่มเติมให้ดีขึ้น


 


ตัวแทนกลุ่มยังได้นำเสนอด้วยว่า ภายในกลุ่มได้สรุปประเด็นการเมืองการปกครองในระยะระยะต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลได้ดำเนินการหรือกำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่ การรื้อฟื้นและพัฒนาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ เช่น มีการกระจายอำนาจสู่ส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้น คนในพื้นที่มีส่วนในการกำหนดนโยบาย เป็นต้น รวมทั้งการจัดตั้งเป็นเขตการศึกษาพิเศษ เขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจ และขณะนี้มีบางฝ่ายกำลังคิดจัดตั้งทบวงการปกครองชายแดนซึ่งรวมถึง จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย


 


ส่วนในระยะกลางนั้น ได้เสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่รัฐคิดจะทำอยู่ด้วย ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การเป็นเขตปกครองพิเศษหรือเขตปกครองตนเองในระยะยาวต่อไป


 


กลุ่มนี้ยังได้เสนอแนวคิดหรือข้อเสนอแนะว่าในเรื่องการเมืองการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ [Full Autonomy] มี 2 รูปแบบ คือ ให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยประชาชน และรูปแบบการสรรหา อาจใช้ระบบสภาซูรอ (สภาที่ปรึกษาในรูปแบบอิสลาม) หรือสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น นอกจากนี้ ต้องมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นที่แท้จริง เช่น มีตำรวจท้องถิ่น หลักสูตรการศึกษาท้องถิ่น การคลัง การคัดสรรบุคลากร รวมทั้งภาษี รายได้ของท้องถิ่น


 


ในเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างการบริหาร 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ได้เสนอให้ยกระดับ ผู้อำนวยการ.ศอ.บต. เทียบเท่าปลัดกระทรวง และควรเป็นคนในพื้นที่ มีระบบตรวจสอบ ศอ.บต. โดย สภาประชาชนชายแดนใต้ที่มาจากการเลือกตั้งหรือสรรหาจากคนท้องถิ่น (สภา ศอ.บต.)


 


กลุ่มนี้ยังเสนอผู้ที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผลักดันให้มีการยกเลิก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 การประกาศใช้กฎอัยการศึกษาในพื้นที่ และร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรที่กำลังมีการผลักดันอยู่ด้วย


 


ส่วนเรื่องการปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมชุมชน เสนอให้ทุกตำบลมีคณะกรรมการยุติธรรมชุมชน ปรับปรุงกระบวนการสืบสวนสอบสวนของตำรวจ โดยแยกการสืบสวนกับการจับกุม


 


เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนเสนอให้พรรคการเมือง นำรัฐธรรมนูญ มาตรา 87 วรรค 4   ว่าด้วยการเมืองภาคพลเมืองผลักดันให้เป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับข้อเสนอของเครือข่ายปฏิรูปสังคมและการเมืองในภาคอีสาน และเมื่อมีการประชุมหรือมีเวทีภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเข้าร่วมด้วย


 


ส่วนกลุ่มที่นำเสนอประเด็นทางด้านเศรษฐกิจและทรัพยากรนั้น มีข้อเสนอที่หลากหลาย เช่น ต้องการให้ชุมชนสามารถจัดการการศึกษาเอง หรือ มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ส่งเสริมสนับสนุนสถานบันปอเนาะ  ตาดีกา  และ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในมัสยิด พัฒนาการศึกษาตามอัธยาศัย ปรับโครงสร้างการบริหารโดยให้ชุมชนมีบทบาทในการกำหนดรูปแบบการศึกษามากขึ้น


 


เร่งพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา เพื่อให้เยาวชนสามารถศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น และในสาขาที่มีความจำเป็นของชุมชนสอดคล้องกับการพัฒนาในพื้นที่  เช่น สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  บุคลากรทางการสาธารณสุขและการแพทย์


 


อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่มีการแสดงความคิดเห็นต่อการนำเสนอ โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งมีคุณภาพที่ตำกว่าเกณฑ์มาก โดยนายสุกรี หะยีสาแม อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ยกตัวอย่างกรณีโครงการผลิตแพทย์สำหรับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รุ่นแรก ที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้ดำเนินการนั้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในปีการศึกษาที่สอง ปรากฏว่ามีนักศึกษาสอบผ่านในปีแรกเพียง 20 คน จากทั้งหมด 30 คน และในจำนวนที่สอบผ่านนั้น ต้องลดมาตรฐานการวัดผลลงมา เพราะหากใช้เกณฑ์ปกติจำทำให้นักศึกษาสอบไม่ผ่าน แสดงให้เห็นว่าคุณภาพการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่ต่ำมาก


 


นายสุกรี ยังระบุด้วยว่า ในปีการศึกษาหน้า จะมีการเปิดสอนหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ด้วย  นอกจากนี้จะได้รับผลกระทบจากคุณภาพการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่แล้ว ยังจะได้รับผลกระทบในด้านอาจารย์ผู้สอนด้วย เนื่องจากในพื้นที่ไม่มีผู้สอนที่มีความสามารถมาสอนได้ ขณะที่ผู้สอนจากนอกพื้นที่ก็ไม่กล้ามาสอนเช่นกัน ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับที่อีกหลายสาขาวิชาภายในคณะ เช่น สาขาเทคโนโลยีพอลิเมอร์ เทคโนโลยีการยาง ที่ไม่คนในพื้นที่ที่จบการศึกษาสาขานี้ และไม่อาจารย์จากที่อื่นกล้ามาสอนที่นี่ ดังนั้น หากจะแก้ปัญหานี้ได้ อาจต้องใช้เวลาถึง 10 ปี เพื่อผลิตผู้ที่มีความรู้ในสาขาดังกล่าว


 


ผู้เข้าร่วมประชุมยังได้แสดงความเห็นว่า การจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยรัฐ ซึ่งไม่เข้าใจรูปแบบการศึกษาที่เป็นที่พึงประสงค์ของคนในพื้นที่ได้อย่างลึกซึ้ง ทำให้การจัดการศึกษาไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนรวมทั้งสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ ส่งผลให้เยาวชนมีคุณภาพการศึกษาที่ต่ำลง


 


ส่วนประเด็นเศรษฐกิจและทรัพยากรนั้น มีข้อเสนอที่หลากหลายเช่นกัน เช่น ขอให้แก้ปัญหาอุทยานแห่งชาติบูโด - สุไหงปาดี ทับที่ทำกินของชาวบ้านในพื้นที่ 24 ตำบล 8 อำเภอ กรณีนิคมสร้างตนเองอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ที่ประชาชนต้องรับสภาพหนี้ต่อจากเจ้าของเดิมที่อพยพออกไปซึ่งมีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยเสนอให้หยุดการคิดดอกเบี้ยในอนาคตและยกเลิกดอกเบี้ยในอดีต


 


ขอให้ออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินสำหรับอยู่อาศัยบริเวณพื้นที่ชุมชนประมงชายฝั่ง เนื่องจากร้อยละ 90 ของหมู่บ้านริมชายฝั่งไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ขอให้มีการอนุรักษ์พื้นที่การทำนาเกลือและส่งเสริมการประกอบอาชีพการทำนาเกลือปัตตานี จัดตั้งสหกรณ์การเกษตรของชุมชน เครือข่ายการเงินการธนาคารเพื่อการลงทุนตามหลักการอิสลาม เป็นต้น


 


สำหรับการจัดเวทีเพื่อนำเสนอต่อผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะมีขึ้นในวันที่ 9 ธันวาคม 2550 เวลา 10.00 น. ที่วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยจะเชิญผู้สมัครทุกพรรคการเมืองที่ส่งคนลงสมัครในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งระบบสัดส่วนและระบบเขตเลือกตั้งเข้าร่วม รวมทั้งรับฟังข้อเสนอจากองค์กรภาคประชาชนต่างๆ ในพื้นที่ที่จะเข้าร่วมเสนอประเด็นปัญหาเฉพาะกลุ่มในวันดังกล่าวด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net