Skip to main content
sharethis


ชื่อบทความเดิม: ข้อสังเกตว่าด้วย "การเลือกตั้งระบบสัดส่วน" ปัญหาความชอบธรรมทางการเมืองของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี


นัฐพงษ์  เป็งใจยะ


 


ความแปลกประหลาดอย่างหนึ่งของรัฐธรรมนูญ 2550 คือการล้มเลิกระบบปาร์ตี้ลิสต์ที่ใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง แต่กลับบัญญัติให้ใช้การเลือกตั้งที่เรียกว่า "ระบบสัดส่วน" โดยให้กาเลือกพรรคการเมืองเช่นเดียวกับปาร์ตี้ลิสต์ แต่คราวนี้กลับแบ่งเขตเลือกตั้งออกเป็น 8 เขต หรือที่เรียกกันว่า 8 กลุ่มจังหวัด


 


ตอนแรกผู้เขียนคิดในใจว่าเหตุใดผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จึงมีความคิดพิสดารเช่นนี้ คำตอบที่พอจะอธิบายเรื่องดังกล่าวได้ (นอกจากเรื่องของการสกัดทักษิณและไทยรักไทย-การสกัดไม่ให้มีพรรคที่ได้เสียงข้างมากเด็ดขาด) คือ เรื่อง "ความชอบธรรมทางการเมืองของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี"


 


ระบบสัดส่วนจะก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าวได้อย่างไร?


 


หากเปรียบเทียบกับฉบับ 2540 จะเห็นได้ว่าการใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้งนั้น เท่ากับเป็นการเลือกตัวนายกรัฐมนตรีโดยตรง คนเชียงรายกับคนยะลาที่เลือกพรรคไทยรักไทยต่างรู้อยู่แก่ใจว่าทักษิณคือปาร์ตี้ลิสต์อันดับหนึ่ง ส.ส.ทั้งพรรคเองก็ทราบว่าทักษิณเป็นปาร์ตี้ลิสต์อันดับหนึ่ง เมื่อไทยรักไทยจัดตั้งรัฐบาล ทักษิณจึงมีความชอบธรรมกว่าสมาชิกพรรคคนอื่นในการเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะอ้างได้ว่าคนตั้งแต่เหนือจดใต้ที่กาให้ไทยรักไทยรู้อยู่แก่ใจว่าใครเป็นหัวหน้าพรรคหรืออยู่ในปาร์ตี้ลิสต์อันดับหนึ่ง ซึ่งมีอยู่คนเดียว 


 


แต่ในระบบสัดส่วนซึ่งมี 8 กลุ่มจังหวัด นั่นหมายความว่าแต่ละพรรคที่ส่งผู้สมัครในระบบนี้จะมีเบอร์ 1 อยู่ 8 คน สมมติว่าประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.รวมทั้งระบบสัดส่วนและแบ่งเขตมากที่สุด และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่บังเอิญว่า ส.ส.ระบบสัดส่วนในกลุ่ม 6 ที่หัวหน้าพรรคลงได้ ส.ส.มาเพียง 3 คน แต่ปรากฏว่าในเขต 8 ซึ่งเป็นพื้นที่ภาคใต้กลับได้ ส.ส.แบบยกทีมทั้ง 10 คน นั่นหมายความว่า คะแนนเสียงที่หัวหน้าพรรคได้รับย่อมน้อยกว่าลูกพรรคซึ่งเป็นแกนนำในภาคใต้ 


 


เรื่องดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหา "ความชอบธรรมตามหลักเสียงข้างมาก" ว่าใครสมควรจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี  เพราะคราวนี้ไม่ได้ใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ดังนั้นจึงมีความอิหลักอิเหลื่อหากตัดสินด้วยเกณฑ์ดังกล่าว  เพราะถึงแม้จะอ้างว่าคนกาพรรคประชาธิปัตย์รู้แก่ใจว่าหากได้เป็นรัฐบาลหัวหน้าพรรคย่อมเป็นนายก แต่ทางฝ่ายที่ชนะยกทีมก็จะอ้างเช่นกันว่าเกณฑ์ดังกล่าวใช้ได้ในระบบเดิมซึ่งมีเบอร์ 1 เพียงคนเดียว แต่นี่ปรากฏว่าในระบบนี้มีเบอร์ 1 ถึง 8 คน โดยนัยยะก็คือว่าทุกคนที่เป็นเบอร์ 1 อยู่ในฐานะเท่าเทียมกัน เนื่องจากกฎหมายก็ไม่ได้ระบุว่ากลุ่มจังหวัดใดที่หัวหน้าพรรคลงจะมีฐานะสูงส่งกว่ากลุ่มจังหวัดอื่น หนำซ้ำเบอร์ 1 ที่เป็นหัวหน้าพรรคยังได้คะแนนน้อยกว่ากลุ่มที่ลูกพรรคลงเสียอีก


 


แน่นอนว่าทางฝ่ายหัวหน้าพรรคก็จะอ้างว่า แน่จริงให้ลูกพรรคที่ลงในเขตภาคใต้มาลงในกลุ่ม  6 ก็ไม่แน่ว่าจะได้รับเลือกตั้งแบบยกทีม ทางฝ่ายลูกพรรคก็คงตอบกลับแบบเดียวกันว่าหากให้หัวหน้าพรรคไปลงในภาคใต้ก็ไม่รู้จะได้น้อยกว่าเดิมที่ลงในกลุ่ม 6 หรือเปล่า ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะเป็นปัญหาโลกแตกที่ไม่มีวันตัดสินได้ในระบบเลือกตั้งแบบนี้


 


ปัญหาดังกล่าวมาจากรูปแบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนโดยแท้ เพราะระบบนี้ แท้จริงคือการเลือกพรรค ไม่ใช่เลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากทำให้คะแนนเสียงกระจัดกระจาย พรรคที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่ว่าพรรคใดก็ตามจะต้องเผชิญปัญหาภายในดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ลำดับต่อไปก็จะมีการกดดันต่อรองและเกิดความปั่นป่วนในพรรคการเมืองที่เป็นแกนจัดตั้ง 


 


ถึงแม้พรรคที่ได้ ส.ส.เป็นอันดับสองจะจับขั้วกับพรรคอื่นเพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ตาม ปัญหาดังกล่าวก็จะติดตามมาว่า แล้วพรรคที่ได้อันดับสองหัวหน้าพรรคกับลูกพรรคที่อยู่ต่างกลุ่ม ใครได้เสียงมากกว่า? แล้วใครมีความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากกว่ากัน? หากตกลงไม่ได้ทางออกสุดท้ายในการยุติความขัดแย้งคงได้แก่การเชิญ "คนนอก" มาดำรงตำแหน่ง เรื่องดังกล่าวใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะบ้านนี้เมืองนี้เรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ (โปรดนึกกันเอาเองว่าเรื่องอะไรบ้าง) ก็เกิดขึ้นมาแล้วจนเป็นที่โจษขานกันไปทั่วโลก


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net