Skip to main content
sharethis

ในการประชุมนานาชาติเรื่อง "การใช้ตามสิทธิบัตร นวัตกรรม และการเข้าถึงยาอย่างถ้วนหน้า" เมื่อวันที่ 20-22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข เภสัชกรรม ด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา นักกิจกรรมทางสังคม เครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายผู้บริโภค และข้าราชการ จาก 4 ทวีปทั่วโลก กว่า 200 คน ได้ร่วมออกคำประกาศกรุงเทพว่าด้วยการบังคับใช้สิทธิ นวัตกรรม และการเข้าถึงอย่างถ้วนหน้า โดยได้แสดงความชื่นชมต่อประเทศไทยในการแสดงบทบาทนำอย่างสำคัญในดำเนินการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (ซีแอล:CL) รวมถึงประสบการณ์การต่อสู้กับการผูกขาดยา โดยระบบสิทธิบัตร เพื่อผลักดันการเข้าถึงยาในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นบราซิล อินโดนีเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ และกลุ่มประเทศอัฟริกา  


 


นอกจากนี้ ยังยืนยันว่าการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร เป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค และปกป้องประโยชน์สาธารณะ ดังนั้นทุกประเทศจึงมีสิทธิในการใช้ซีแอล รวมถึงมาตรการยืดหยุ่นในข้อตกลงทริปส์ อย่างเป็นระบบ และเป็นกิจวัตร ดังเช่นที่ประเทศร่ำรวยทั้งหลายทำมาโดยตลอด


 


คำประกาศฯ ยังเรียกร้องให้บรรษัทข้ามชาติ หยุดคัดค้านการใช้ซีแอลของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมักตั้งอยู่บนพื้นฐานการโกหกหลอกลวง บิดเบือน หรือตีความกฎหมายและข้อเท็จจริงโดยใช้ข้ออ้างที่คลุมเครือไม่มีใครตรวจสอบได้ และมีอคติต่อประเทศกำลังพัฒนา


 


"มีความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือกันพัฒนาตลาดยาชื่อสามัญ ซึ่งจะทำให้เพิ่มการเข้าถึงยาได้อย่างมหาศาล ควบคู่กับพัฒนาระบบการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการวิจัยที่ตอบสนองความจำเป็นด้านสาธารณสุข  เราต้องปฏิเสธการบังคับให้เราต้องเลือกในระหว่างการเข้าถึงยาของทุกคน กับนวัตกรรม ทั้งที่เราสามารถทำไปพร้อมๆ กันได้ และเราต้องไม่ยอมรับการกีดกันคนมีรายได้น้อย หรือคนที่ไม่ได้มีประกันสุขภาพชนิดใดๆ" คำประกาศฯ ระบุ


 


ทั้งนี้ คำประกาศฯ ยังได้แสดงความชื่นชมต่อมติสมัชชาองค์การอนามัยโลก (WHA 60.30) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2550 ที่เรียกร้องให้องค์การอนามัยโลกพิจารณอย่างจริงจัง ถึงกลไกใหม่ที่ตัดความเชื่อมโยงระหว่างแรงจูงใจและการสนับสนุนเงินทุนในการวิจัยและพัฒนา กับการกำหนดราคายาด้วย


 


"เราสนับสนุนให้มีอนุสัญญานานาชาติว่าด้วยการวิจัยและพัฒนาด้านยา ที่จะทำหน้าที่เร่งรัดให้เกิดการวิจัยและพัฒนาที่ตอบสนองต่อความความจำเป็น และงานวิจัยที่จะตอบสนองเป็นการเฉพาะต่อปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศกำลังพัฒนา"


 


 


0000


 


 


คำประกาศกรุงเทพว่าด้วยการบังคับใช้สิทธิ นวัตกรรม และการเข้าถึงอย่างถ้วนหน้า


 


               ตั้งแต่วันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2550 ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข เภสัชกรรม ด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา นักกิจกรรมทางสังคม เครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายผู้บริโภค และข้าราชการ จาก 4 ทวีปทั่วโลก กว่า 200 คน มาร่วมการประชุมนานาชาติเรื่อง "การใช้ตามสิทธิบัตร นวัตกรรม และการเข้าถึงยาอย่างถ้วนหน้า"


             พวกเราขอประกาศร่วมกัน ณ ที่นี้ว่า


1.       พวกเราขอแสดงความชื่นชมต่อประเทศไทยในการแสดงบทบาทนำอย่างสำคัญในดำเนินการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (ซีแอล:CL) ทั้งยาต้านไวรัสเอชไอวี และยาโรคไม่ติดต่อเช่น โรคหัวใจ เช่นเดียวกันกับประสบการณ์การต่อสู้กับการผูกขาดยา โดยระบบสิทธิบัตร เพื่อผลักดันการเข้าถึงยาในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นบราซิล อินโดนีเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ และกลุ่มประเทศอัฟริกา  ประสบการณ์การเรียนรู้เหล่านี้บอกกับเราว่าเมื่อเรารวมตัวกัน เราไม่โดดเดี่ยวในการต่อสู้ และเกิดเป็นพลังมุ่งมั่นผลักดันการเข้าถึงยาแก่ทุกคนบนโลกใบนี้


 


2.       พวกเราได้ร่วมผนึกกำลังกันเป็น "เครือข่ายซีแอลทั่วโลก-นวัตกรรมและการเข้าถึงยาอย่างถ้วนหน้า"  เครือข่ายประกอบด้วย เครือข่ายผู้ป่วย นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข ด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ข้าราชการ และอุตสาหกรรมยาท้องถิ่นในแต่ละประเทศ เชื่อมโยงทำงานร่วมกัน ในหาหนทางทุกวิถีทางในการบรรลุเป้าหมาย "ทุกคนสามารถการเข้าถึงยาที่มีคุณภาพในราคาที่เหมาะสม"


 


3.       เรายืนยันว่าการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร เป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค และปกป้องประโยชน์สาธารณะ ดังนั้นทุกประเทศจึงมีสิทธิในการใช้ซีแอล รวมถึงมาตรการยืดหยุ่นในข้อตกลงทริปส์ อย่างเป็นระบบ และเป็นกิจวัตร ดังเช่นที่ประเทศร่ำรวยทั้งหลายทำมาโดยตลอด


 


4.       การคัดค้าน การใช้ซีแอลของประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสร้างเสริมการเข้าถึงยาของประชาชน โดยบรรษัทยาข้ามชาตินั้น มักตั้งอยู่บนพื้นฐานการโกหกหลอกลวง บิดเบือน หรือตีความกฎหมายและข้อเท็จจริงโดยใช้ข้ออ้างที่คลุมเครือไม่มีใครตรวจสอบได้ และมีอคติต่อประเทศกำลังพัฒนา  หลักประกันที่ได้รับการคุ้มครองตามข้อตกลงทริปส์ด้านการสาธารณสุข และคำประกาศโดฮา ได้ถูกบ่อนเซาะอย่างเป็นระบบโดยความเห็นแก่ตัว และการกดดันทางการค้าแบบไม่เปิดเผย  หยุดเสียทีกับการกระทำเช่นนี้


 


5.       มีความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือกันพัฒนาตลาดยาชื่อสามัญ ซึ่งจะทำให้เพิ่มการเข้าถึงยาได้อย่างมหาศาล ควบคู่กับพัฒนาระบบการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการวิจัยที่ตอบสนองความจำเป็นด้านสาธารณสุข  เราต้องปฏิเสธการบังคับให้เราต้องเลือกในระหว่างการเข้าถึงยาของทุกคน กับนวัตกรรม ทั้งที่เราสามารถทำไปพร้อมๆ กันได้ และเราต้องไม่ยอมรับการกีดกันคนมีรายได้น้อย หรือคนที่ไม่ได้มีประกันสุขภาพชนิดใดๆ


 


เราขอแสดงความชื่นชมต่อมติสมัชชาองค์การอนามัยโลก (WHA 60.30) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2550 ที่เรียกร้องให้องค์การอนามัยโลกพิจารณอย่างจริงจังถึง กลไกใหม่ที่ตัดความเชื่อมโยงระหว่างแรงจูงใจและการสนับสนุนเงินทุนในการวิจัยและพัฒนา กับการกำหนดราคายา เราสนับสนุนให้มีอนุสัญญานานาชาติว่าด้วยการวิจัยและพัฒนาด้านยา ที่จะทำหน้าที่เร่งรัดให้เกิดการวิจัยและพัฒนาที่ตอบสนองต่อความความจำเป็น และงานวิจัยที่จะตอบสนองเป็นการเฉพาะต่อปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศกำลังพัฒนา


 


               กติกาและหลักการที่เราดำเนินการในการประชุมนี้เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นของมนุษย์ทุกคนในโลกใบนี้ ภารกิจในการต่อสู้เพื่อสิทธิในการเข้าถึงยาเป็นหน้าที่ของเราทุกคน เป้าหมายที่เราตั้งไว้เป็นจริงได้ โดยเราจะร่วมมือกันในระดับสากล ระดับประเทศ และระดับเครือข่ายผู้ป่วย ดำเนินการเพื่อบรรลุผลในการเข้าถึงยาของทุกคน


 


กรุงเทพ ฯ


23 พฤศจิกายน 2550


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net