อานันท์ กาญจนพันธ์:18 ปี กม.ป่าชุมชน...สุดท้ายเข้าอีหรอบเดิม กม.จำกัดสิทธิ มากกว่าส่งเสริมประชาชน

โดย สำนักข่าวประชาธรรม

 

ในที่สุดเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา กฎหมายที่มีประวัติศาสตร์การต่อสู้มายาวนานกว่า 18 ปี เช่นกฎหมายป่าชุมชนก็คลอดออกจนได้ในรัฐบาล คมช.ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีข้าราชการเป็นเสียงส่วนใหญ่ แม้ว่าในข้อเท็จจริงกฎหมายฉบับนี้ภาคประชาชนจะเฝ้ารอด้วยใจจดจ่อก็ตาม แต่การผ่านกฎหมายด้วยหน้าตาที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ก่อให้เกิดคำถามกับประชาชนอย่างมากว่า สนช.มีความจริงใจมากน้อยเพียงไรที่จะเอื้อประโยชน์ให้ชุมชนดูแลจัดการป่าตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะในเนื้อหาสาระของกฎหมายเป็นการทำลายสิทธิชุมชนจำนวนมากที่ดูแลรักษาป่ามานาน ในมาตรา 25 และใน มาตรา 34 ยังมีเนื้อหาสาระไม่ต่างไปจากกฎหมายป่าไม้ที่อยู่เดิมทั้งหมด คือการจำกัดสิทธิชุมชนในการใช้สอยประโยชน์จากป่า เป็นต้น จนนำไปสู่การไม่ยอมรับกฎหมายดังกล่าวจนกว่าจะมีการแก้ไข

 

"สำนักข่าวประชาธรรม" ติดตามสัมภาษณ์ ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธ์ นักวิชาการคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะนักวิชาการที่มีส่วนผลักดันกฎหมายป่าชุมชนร่วมกับภาคประชาชนมาโดยตลอด และยังได้เข้าไปเป็นกรรมาธิการฝ่ายภาคประชาชนในการพิจารณากฎหมายป่าชุมชนด้วย ต่อความเห็นกรณีกฎหมายป่าชุมชนที่ออกใน สนช.ชุดนี้ รวมทั้งข้อเสนอแนะที่มีต่อภาคประชาชน

  

- กฎหมายป่าชุมชนที่ผ่าน สนช.ออกมา โดยภาพรวมแล้วคิดเห็นอย่างไร 

แน่นอนว่าการที่ พ.ร.บ.ป่าชุมชนผ่าน สนช.ออกมาเช่นนี้ทำให้ชุมชนไม่สามารถจัดการป่าชุมชนได้เต็มที่ แทนที่เราจะให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นเขาก็อาจจะติดขัดในเชิงกฎหมาย ซึ่งแต่เดิมนั้นเขาก็สามารถทำได้อยู่แล้ว การใช้ประโยชน์เขาก็ทำได้อยู่แล้ว และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็รองรับสิทธิของเขา แต่การออกกฎหมายมาเช่นนี้กลายเป็นการจำกัดสิ่งที่เขาสามารถและมีศักยภาพในการจัดการ ดังนั้นการที่ชุมชนจะใช้สิทธิตามหลักมาตรการกฎหมายนี้ก็จะเป็นการจำกัดสิทธิของเขา และจะเห็นว่ากฎหมายนี้ไปจำกัดสิทธิของเขามากกว่าสิทธิที่เขามีอยู่แล้วตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

 

- กรรมาธิการเสียงข้างน้อยวิตกว่าหากยึดตามเจตนารมณ์ชาวบ้านแล้วจะเกิดการบุกรุกป่าเพิ่มมากขึ้น

เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะเรื่องนี้ชุมชนเขามีเครื่องมือ ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะเข้าไปจัดการหรือดำเนินการใดๆ ได้เลย เรื่องนี้เขาไม่เข้าใจเพราะในกฎหมายเราได้สร้างเครื่องมือและกลไกต่างๆ ไว้แล้ว หากกลไกและเครื่องมือมีมากขนาดนี้แล้วยังไม่สามารถตรวจสอบคนได้มันก็ตายแล้ว เรื่องนี้มันมีกลไกตั้งหลายระดับ ตั้งแต่คณะกรรมการป่าชุมชน กฎระเบียบต่างๆ แล้วก็ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะมาจัดการป่าชุมชนได้เลย ต้องมีประสบการณ์การจัดการมาแล้วอย่างที่ภาคประชาชนเสนอไปคือ 5 ปี ดังนั้นจะเห็นว่ามันมีกลไกและเงื่อนไขขึ้นมาตรวจสอบซ้อนกันตั้งหลายชั้น

 

การที่ภาคประชาชนร่างกฎหมายนี้มาก็เพื่อเสริมกลไกและเงื่อนไขการตรวจสอบให้ละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้นและมีความเป็นไปได้ ในขณะที่ปัจจุบันไม่มีเลยเปิดโล่งไปหมด แล้วมาบอกว่าที่เปิดโล่งนั้นดีกว่าซึ่งมันเป็นไปได้อย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ เขาคิดแบบไม่เข้าใจความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

 

- เขาอาจไม่เชื่อมั่นในกลไกที่ว่ามา

แต่มันมีการตรวจสอบหลายชั้น มันไม่ได้มีฝ่ายเดียว เมื่อก่อนมันอาจมีฝ่ายเดียวคือเจ้าหน้าที่รัฐ แต่กลไกใหม่มันไม่ได้มีฝ่ายเดียว มันมีทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคชุมชน ซึ่งเป็นการตรวจสอบซึ่งกันและกัน เป็นการถ่วงดุลอำนาจหลายฝ่าย เมื่อก่อนมันมีอำนาจเดียวคืออำนาจรัฐซึ่งมีการเลือกปฏิบัติหรือเมินเฉยเมื่อเจออำนาจเงิน แต่ในระบบใหม่เงื่อนไขที่ใส่เข้าไปมันมีหลายฝ่าย มีทั้งฝ่ายวิชาการ ฝ่ายรัฐ ฝ่ายประชาสังคมเข้ามาร่วมซึ่งมันก็แน่นอนว่าหากคุณจะทำได้ก็ต้องไปซื้อทั้งสามฝ่ายซึ่งเป็นเรื่องที่ยากขึ้น

 

- กฎหมายป่าชุมชนออกมาเช่นนี้อาจเป็นเพราะสังคมยังไม่เชื่อมั่นและไม่ยอมรับสิทธิและอำนาจชุมชนในการจัดการทรัพยากร  

เขาคงเป็นห่วงมากกว่า ห่วงว่าจะมีคนภายนอกเข้าไปอาศัยกฎหมายนี้ ซึ่งมันจะสร้างความชอบธรรมให้คนภายนอก แต่มันเป็นความห่วงใยจากความรู้สึก ไม่ได้มาจากข้อเท็จจริง

 

การจัดการป่าหรือทรัพยากรอะไรต่างๆ ในเวลานี้เราใช้ความคิดมุมเดียวเชิงเดี่ยวคือความคิดอย่างเดียวที่จะใช้กลไกอะไรเป็นตัวนำ เช่นว่ารัฐเป็นผู้นำในการจัดการ หรือว่าจะใช้ตลาดเป็นตัวขับเคลื่อนในการจัดการคือว่าถ้าหากไม่ใช่รัฐก็เป็นตลาด คือมองการจัดการติดอยู่ในหน่วยใดหน่วยหนึ่งที่เป็นองค์กรทางสังคม องค์กรรัฐ ตลาดหรือว่าองค์กรภาคเอกชนมองหน่วยทางสังคมหน่วยใดหน่วยหนึ่งแยกออกจากกัน แต่พอเรามองเรื่องเชิงซ้อนก็หมายความว่าจริงๆ แล้วเราไม่ได้แยกย่อยว่าภายในหน่วยเหล่านี้มันมีระบบการจัดการหลายอย่างอย่างไรบ้าง คือในเรื่องการจัดการจะเกี่ยวกับเรื่องสิทธิ เราไปมองว่าที่เราติดอยู่กับหน่วยเราติดอยู่กับสิทธิความเป็นเจ้าของว่าจะให้ใครเป็นเจ้าของหรือใครเป็นเจ้าภาพที่เป็นตัวหลักในการจัดการ

 

แต่ทีนี้ในเรื่องสิทธิของการจัดการทรัพยากรเนื่องจากว่าทรัพยากรเป็นสิ่งที่กว้างขวางใหญ่โต ป่า ทะเล สิ่งแวดล้อม ซึ่งใหญ่มากถ้าเราไปคิดในลักษณะที่จะให้ใครเป็นเจ้าของหรือเป็นเจ้าภาพเพียงคนเดียวจะเสียค่าใช้จ่ายสูงมากเพราะว่าพื้นที่ใหญ่ ทรัพยากรขนาดมันกว้าง ดังนั้นที่เป็นปัญหาที่ผ่านมาก็เพราะว่าทรัพยากรมันใหญ่และคนทำไม่รู้จักศักยภาพตนเองมันก็เลยเกิดความล้มเหลวคือมันเปิดช่องว่างมันก็รั่วไหล ทีนี้ว่าถ้าเราเปลี่ยนความคิดจากการยึดตัวอะไรที่เป็นการจัดการเพียงหน่วยเดียวที่ตายตัวเป็นอันเดียวโดยเฉพาะหน่วยของความเป็นเจ้าของเราก็จะเห็นว่าสิทธิในการจัดการทรัพยากรจริงแล้วมีหลายสิทธิ เช่นสิทธิการใช้ การจัดการ สิทธิการตรวจสอบ ถ่วงดุล

 

ถ้าเราแยกว่ามันมีสิทธิหลายอย่างเราก็สามารถที่จะเอาสิทธิบางอย่างไปมอบให้กับคนบางกลุ่มที่แตกต่างกันได้ เช่นสิทธิความเป็นจ้าของอาจจะให้หน่วยงานของรัฐ สิทธิการดูแลการจัดการอาจจะให้เป็นสิทธิของชาวบ้าน สิทธิการตรวจสอบอาจจะให้กับอีกกลุ่มหนึ่งเพื่อไม่ให้เป็นกลุ่มเดียวกันทั้งหมด มันก็จะเป็นการถ่วงดุลไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งรวบยอดไปทั้งหมด ซึ่งตรงนั้นจะเป็นช่องโหว่ และเพื่อเป็นการปิดช่องว่างเหล่านั้นก็ต้องมอบสิ่งเหล่านั้นไปให้กับหน่วยงานที่มีความถนัดในเฉพาะเรื่องอย่างคนในชนบทนั้นใกล้ชิดกับทรัพยากร ก็น่าที่จะปล่อยให้เขาดูแลเรื่องเหล่านั้น ส่วนรัฐก็ไม่ได้หมายความว่าทิ้งไปเลยก็ต้องให้ความสนับสนุน หรือความรู้อย่างอื่นก็ทำในส่วนนั้นไป ส่วนพวกที่ตรวจสอบถ่วงดุลอาจจะเป็นพวกองค์กรอิสระ นักวิชา เอ็นจีโอก็อาจจะทำในอีกบทบาทหนึ่งคล้ายๆ เป็นการควบคุมจัดการ

 

ต้องมีหลายฝ่ายที่เข้ามาทำงานในลักษณะที่ถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ซึ่งตรงนี้มันไม่ได้รับการตรวจสอบถ่วงดุลจากหลายๆ ฝ่ายก็เลยเกิดความผิดพลาดขึ้นเป็นผลกระทบที่ไม่ได้ตั้งใจเป็นผลกระทบเชิงลบ มีการรั่วไหลของทรัพยากร เกิดวิกฤตต่างๆ ทุกอย่างมันเป็นเรื่องเดียวกันทั้งนั้นก็คือว่าการจัดการมีหลายระดับแต่ระดับเหล่านั้นมันถูกผูกขาดอยู่ที่คนกลุ่มเดียว ซึ่งตอนนี้ต้องผ่องถ่ายสิทธิการจัดการทั้งหลายเหล่านี้สู่องค์กรที่แตกต่างกันเพื่อให้เกิดการถ่วงดุล นี่ก็คือกลไกทางสังคมก็คือว่าต้องฝากกลไกทางสังคมหลายๆ กลไกไว้กับหลายองค์กร

 

- หากพิจารณาในรายละเอียดอย่างมาตรา 25 คิดว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน 

เงื่อนไขเรื่องเวลาที่เราให้แค่ 5 ปีแต่เขามาเปลี่ยนเป็น 10 ปีซึ่งอาจมีปัญหาเรื่องการพิสูจน์ เขาจะรู้ได้อย่างไรว่าชุมชนไหนอยู่มากี่ปีเพราะว่าชุมชนไหนเริ่มทำมาเมื่อไรเขาไม่ได้มีการลงทะเบียนเอาไว้

 

คือเขาเองไม่เข้าใจว่าสิทธิมันมีหลายระดับ คือยังไม่ได้ใช้หลักในเรื่องของการซ้อนในความสัมพันธ์ แต่ไปใช้ในเรื่องของพื้นที่ทางกายภาพ เอาพื้นที่ทางกายภาพมาเป็นเกณฑ์แบ่งว่าจะจัดการอย่างไร ที่จริงแล้วถ้าหากใช้ความสัมพันธ์นั้นไม่สนใจพื้นที่ว่าอยู่ตรงไหน ตรงไหนก็จัดการได้หมด เพราะความสัมพันธ์นั้นมันมีการตรวจสอบถ่วงดุลตนเองได้หมด แน่นอนว่าหากคุณจะไปขอจัดตั้งป่าชุมชนใหม่แล้วใครจะให้ เพราะว่ามันมีเกณฑ์มาก่อนว่าคุณจะต้องจัดการป่ามาก่อนแล้ว 5 ปี มัวมองแต่พื้นที่แต่ว่าไม่ได้ดูเรื่องหลักการมุมมองของเขา มันมาปิดหูปิดตาไม่ให้มองมุมอื่น พูดอย่างไรก็ไม่เข้าใจเพราะว่ามันปิดตาอยู่มันเหมือนกับใส่แว่นสีใดสีหนึ่งก็มองได้แต่เพียงสีนั้น

 

- แล้วอย่างมาตรา 34

 คิดว่าไม่เป็นไร เพราะแบบเดิมก็ใช้ประโยชน์ได้อยู่แล้วเพียงแต่ไม่มีกฎหมายรองรับมันก็อาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติได้อยู่ แต่ว่าความเป็นจริงหากชุมชนมีอำนาจจัดการเขาก็จะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น เจ้าหน้าที่ของรัฐจะเข้าไปแทรกแซงได้ยาก

 

- กฎหมายออกมาเช่นนี้จะเพิ่มการเผชิญหน้าระหว่างรัฐกับชุมชนให้แหลมคมขึ้นไหม

ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ เจ้าหน้าที่รัฐไม่ยอมถอนอำนาจออกไปง่ายๆ แน่

 

- ผลกระทบเชิงรูปธรรมเกิดขึ้นกว้างขวางแค่ไหน

คนพื้นราบที่ทำป่าชุมชนโดนทั้งหมด ส่วนคนบนดอยไม่เท่าไร เพราะกฎหมายที่ออกมาเขาให้เฉพาะคนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ส่วนคนที่อยู่นอกเขตป่าอนุรักษ์อย่างคนพื้นราบซึ่งต้องใช้น้ำจากบนดอย และเคยดูแลป่าชุมชนอยู่บนดอยแต่พื้นที่ที่เขาอยู่มันอยู่นอกเขตป่า ดังนั้นเขาจะจัดการป่าชุมชนไม่ได้ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ในภาคเหนือเยอะมาก เพราะชุมชนทางภาคเหนือเป็นชุมชนเหมืองฝาย อย่างชาวนาที่ต้องพึ่งพาน้ำจากพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งคนเหล่านี้แหละที่เขาจะตัดออก จะมาขอจัดตั้งป่าชุมชนไม่ได้

 

- เครือข่ายป่าชุมชนเคลื่อนไหวเรื่องนี้มาเป็นเวลา 18 ปี ถึงตอนนี้คิดว่าเขาได้อะไรบ้าง

คือเรื่องนี้มันเป็นกฎหมาย หลายคนคิดว่ากฎหมายมันเป็นเป้าหมายสุดท้าย เป็นคำตอบถ้าหากได้แล้วตรงนี้จะสำเร็จ แต่อันที่จริงแล้วมันเป็นแค่จุดเริ่มต้นมันยังไม่ใช่จุดสุดท้าย ที่จริงแล้วการเคลื่อนไหวเรื่องการผลักดันเรื่องกฎหมายป่าชุมชนมันทำให้เกิดกระบวนการเคลื่อนไหว มันทำให้เกิดการตื่นตัวทำให้คำว่าป่าชุมชนถูกระบุไว้ในพจนานุกรมของความเข้าใจของคนในสังคม แม้ว่าจะมีการเข้าใจสับสนไปบ้างก็ตาม แต่เวลานี้ใครจะบอกว่าไม่มีป่าชุมชนนั้นเป็นไปไม่ได้อีกแล้วเพราะมันกลายมาเป็นในเรื่องวาทกรรมของสังคมไทยไปแล้ว ป่าชุมชนก็เป็นป่าอีกชนิดหนึ่งที่ควรจะอยู่ในระบบการจัดการป่า เพียงแต่จะอยู่อย่างไรนั้นก็มีข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่ แต่มันต้องมีแน่

 

ดังนั้น ในจุดนี้เราไม่จำเป็นต้องเป็นห่วง อย่างที่ผมเคยพูดมาก็คือการที่ออกกฎหมายมานั้นเราต้องการแค่ชื่อ เพราะถ้าหากมีชื่อมันทำให้เกิดความชอบธรรมในการจัดการแบบนี้เกิดขึ้นแล้ว ส่วนจะเกิดแบบไหนมันก็ต้องมีการต่อรองกันต่อไป การต่อรองมันจะไม่มีการสิ้นสุด จะบอกว่าการจัดการป่าชุมชนจะจบสิ้นแล้วเมื่อมีการออกกฎหมายป่าชุมชนออกมา แต่มันจะออกหรือไม่ออก ออกมาอย่างไรก็จะต้องต่อรองกันต่อไป มันเป็นแค่บันไดขั้นที่หนึ่งเท่านั้นเองไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการจัดการป่า การจัดการหรือไม่มันอยู่ที่การเคลื่อนไหวภาคประชาชนว่าเราจะมีความเข้มแข็งขนาดไหน

 

- มีข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง

ต้องมีการผลักดันให้การจัดตั้งป่าชุมชนเป็นจริง เพราะการออกกฎหมายมาเขาอาจไม่ดำเนินการก็ได้ ปล่อยไปเรื่อยๆ ดังนั้นต้องมีการผลักดันให้มันเกิดขึ้นตามกฎหมาย และต่อไปหากเกิดข้อขัดแย้งขึ้นมาก็ต้องไปสู้กันในชั้นศาลซึ่งตรงนี้จะทำให้เห็นว่ากฎหมายที่ออกมาแล้วไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง มันปฏิบัติไม่ได้และยังนำไปสู่ความขัดแย้งมันจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข และที่สำคัญมันออกมาในช่วงรัฐบาลรักษาการ ซึ่งอาจต้องปรับแก้ในช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท