นศ.มช.ตั้งเวทีอภิปราย ถาม-ตอบ พ.ร.บ. ม.นอกระบบ ผู้บริหารยันไม่เกี่ยวขึ้นค่าเทอม

 

 

 

ตามที่เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. วานนี้ (23 พ.ย.) นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสโมสรนักศึกษาแต่ละคณะได้รวมตัวกันหน้าหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถ.นิมมานเหมินทร์ รอพบ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และ ศ.ดร.พงษ์ศักดิ์ อังกสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เดินทางมาเข้าร่วมพิธีเปิด วันวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2550 "วิถีวิจัย สู่สังคมร่มรื่นและเป็นสุข" เพื่อยื่นแถลงการณ์ "การนำร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. … เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติอย่างไม่เหมาะสม" แต่ทั้งสองเลี่ยงที่จะพบนักศึกษา และส่งตัวแทนมารับแถลงการณ์นั้น

 

ต่อมาในเวลา 18.00 น. นักศึกษากลุ่มดังกล่าวได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่สนามวอลเลย์บอล ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีนักศึกษาประมาณ 400 คนร่วมรับฟัง และได้เชิญผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้ตอบคำถามที่นักศึกษาอภิปรายด้วย โดยผู้บริหารที่ร่วมตอบคำถามนักศึกษาได้แก่ รศ.นพ.วัชระ รุจิเวชพงศธร รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร รศ.นพ.อำนาจ อยู่สุข รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษา รศ.สดศรี เผ่าอินจันทร์ คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน และ รศ.ไพรัช ตระการศิรินนท์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์

 

โดยหลังจากที่นักศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์รายหนึ่งได้อภิปรายแสดงกังวลว่าหากมหาวิทยาลัยออกนอกระบบจะทำให้ค่าเล่าเรียนแพงขึ้น และทำให้นักศึกษาขาดจิตสำนึกรับใช้สังคมนั้น รศ.นพ.วัชระ รุจิเวชพงศธร รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ได้ยืนยันว่าหากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ย่อมไม่มีสถานะเหมือนมหาวิทยาลัยเอกชน โดยรัฐบาลยังคงสนับสนุนงบประมาณ และการขึ้นค่าเทอมไม่เกี่ยวข้องกับการออกหรือไม่ออกนอกระบบ อยู่ที่สภาวะที่เกิดขึ้น ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องขึ้น

 

รศ.นพ.อำนาจ อยู่สุข รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษา กล่าวว่า เรื่องค่าเทอมที่นักศึกษากังวลนั้น ยืนยันว่าจะหาทุนการศึกษาให้รองรับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้อย่างทั่วถึง และหากเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับแล้วค่าเทอมแพงขึ้น เขาเองคงไม่เอาด้วย แต่ยืนยันว่าการเปลี่ยนสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับจะเป็นการเปิดกว้างทางการศึกษาให้กับทุกคน

 

ผศ.พีรพล คดบัว อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ มช. และอดีตกรรมการสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวอภิปรายว่า กรณีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะออกนอกระบบหรือไม่นั้น มหาวิทยาลัยต้องให้โอกาสรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษาเสียก่อน นอกจากนี้ ผศ.พีรพล ยังวิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ.... ที่กำลังเข้าสู่วาระที่ 2 การพิจารณาของ สนช. ว่ามีการตัดเนื้อหาคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการออกไป ซึ่งเขาเห็นว่าถ้าไม่มีเสรีภาพทางวิชาการแล้ว มหาวิทยาลัยจะเป็นมหาวิทยาลัยได้อย่างไร โดย รศ.นพ.อำนาจ ตอบว่า อยากให้ทุกฝ่ายพิจารณาทีละมาตราและหากไม่เห็นด้วยขอให้ช่วยแสดงความคิดเห็น

 

รศ.สดศรี เผ่าอินจันทร์ คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน ซึ่งมีสถานะเป็นคณะในกำกับของมหาวิทยาลัย โดยแยกตัวออกมาจากภาควิชาในคณะมนุษยศาสตร์ อภิปรายว่า เป็นเวลากว่า 10 ปีที่มีความพยายามให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งเริ่มแรกเธอเป็นผู้คัดค้านโดยตลอด และเป็นห่วงว่าถ้าออกนอกระบบแล้วนักศึกษาจะได้รับผลกระทบจากค่าเล่าเรียนที่แพงขึ้น นอกจากนี้ ข้าราชการก็เป็นห่วงเรื่องความมั่นคงในชีวิตหากมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เกรงว่าจะไม่ได้รับสวัสดิการที่เคยได้รับ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร บำเหน็จ บำนาญหลังเกษียณอายุราชการ สายสะพายของเครื่องราชอิสริยาภรณ์

 

แต่อีกด้านหนึ่ง ระบบราชการที่เป็นอยู่ก็ไม่สามารถบริหารไปได้อย่างเต็มที่ เช่น ภาควิชาการสื่อสารมวลชนที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2507 ขออัตราใหม่ให้กับบุคลากรไม่ได้ ภาควิชามีรายได้ก็ถูกหัก สถานีวิทยุของภาควิชามีรายได้ก็ถูกหัก ไม่มีเงินเลี้ยงองค์กร ทำให้จ้างมืออาชีพมาสอนไม่ได้ ผิดกับคณะด้านวารสารศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่ง ที่ทุ่มงบประมาณกว่า 80 ล้านบาท ดังนั้นแล้วหากการสื่อสารมวลชนยังคงมีสถานะเป็นภาควิชาย่อมไม่สามารถแข่งขันได้ ทุกวันนี้คนไม่นิยมเป็นข้าราชการ ไม่มีใครอยากเป็นอาจารย์ เพราะตำแหน่งอาจารย์กินเงินเดือนหมื่นเศษ เราต้องเอาความจริงมาพูด ต้องมีการหาวิธีจูงใจ

 

ปัจจุบันภาควิชาการสื่อสารมวลชน ก็ได้ยกสถานะเป็นคณะ แต่เพราะมีมติคณะรัฐมนตรีห้ามแบ่งส่วนราชการใหม่ การสื่อสารมวลชนจึงมีสถานะเพียงเป็นคณะในกำกับ โดยรัฐก็ยังคงอุดหนุนงบประมาณ สามารถสร้างอาคารเพื่อจัดการเรียนการสอนมูลค่ากว่า 132 ล้านบาทได้ มีแผนที่จะปรับปรุงสถานีวิทยุให้ทันสมัย และมีมืออาชีพมาสอนให้กับนักศึกษาในคณะด้วย

 

นอกจากนี้ รศ.สดศรี เสนอให้มหาวิทยาลัยทำประชาพิจารณ์ก่อนที่ สนช.จะแปรญัตติ พ.ร.บ.ดังกล่าว ทางอินเตอร์เน็ต แทนการพิมพ์ลงกระดาษ เพื่อลดปัจจัยทีทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งระยะเวลาทำประชาพิจารณ์น่าจะทันภายใน 7 วัน

 

รศ.ไพรัช ตระการศิรินนท์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ กล่าวว่า แม้ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ฉบับใหม่ยังไม่ออก แต่หลายภาควิชาการได้รับการยกสถานะเป็นคณะในกำกับ แต่ถือว่าความถูกต้องในระบบยังไม่มี กรณีของคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ที่กลายเป็นคณะในกำกับมาปีกว่า ยังไม่ถือเป็นส่วนราชการตามกฎหมาย จึงยังไม่มีแถบสีครุยเป็นของตัวเอง รุ่นพี่ที่จะรับปริญญาก็จะตั้งคำถามว่าทำไมยังคงใช้สีครุยของคณะสังคมศาสตร์ ทั้งที่เป็นคณะแล้ว

 

โดย รศ.ไพรัช ยังขอให้นักศึกษาช่วยกันแสดงความคิดเห็นต่อ พ.ร.บ. ดังกล่าวภายใน 7 วันนี้ และหาก พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ก็ขอให้ช่วยกันตรวจสอบด้วย

 

น.ส.เนตรชนก แดงชาติ นักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ ในฐานะผู้ดำเนินรายการถามว่า หากนักศึกษาไม่พร้อมแสดงความเห็นภายใน 7 วันนี้ ทำไมจึงไม่ถอนร่าง พ.ร.บ.แบบ มหาวิทยาลัยนเรศวร จะได้ทำให้ร่าง พ.ร.บ.กลับมาสู่การพิจารณาของประชาชนจะดีกว่าหรือไม่ ขณะที่ น.ส.ปัทมาพร บัวแดง นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ สมาชิกสภานักศึกษา มช. ถามนักศึกษาที่ร่วมแสดงความเห็นว่าทราบข้อดีข้อเสียของการออกนอกระบบแล้วหรือไม่ และมีเสียงตอบกลับมาว่า "ยังไม่ทราบ" น.ส.ปัทมาพร จึงถามผู้บริหารว่ายุติธรรมแล้วหรือที่เราจะออกนอกระบบทั้งที่นักศึกษายังไม่ทราบข้อดีข้อเสียของ พ.ร.บ.ดังกล่าวเลย

 

ขณะที่ตัวแทนของสภานักศึกษา มช. ได้อ่านใจความสำคัญของแถลงการณ์ที่ยื่นให้กับนายกรัฐมนตรีเมื่อช่วงเช้าที่ต้องการให้ ระงับการพิจารณา "ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. ...." เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทุกคนได้แสดงสิทธิอันชอบธรรมในการรับรู้ข้อมูลและเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว

 

ด้านนักศึกษาคณะการสื่อสารมวลชนชั้นปีที่ 2 ผู้หนึ่ง กล่าวว่า สนช. มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ไม่ได้มาจากประชาชน ตามหลักการจึงไม่ถูกต้องที่จะผลักดันให้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่าน ทำไมไม่ชะลอกฎหมายนี้ไปพิจารณาหลังเลือกตั้ง ให้สภาผู้แทนราษฎรชุดหน้าพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นสมัคร สุนทรเวช หรืออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่จะมาเป็นรัฐบาลก็ตาม

 

รศ.นพ.อำนาจ กล่าวว่า ถ้านักศึกษามีมติมาแล้วขอให้เสนอเรื่องมา ตัวเขาจะได้ทำตามขั้นตอน โดยภายใน 7 วันนี้ ต้องเสนอเรื่องไปที่ ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อให้ท่านถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกมา เพราะมาถึงตอนนี้แล้วจะให้เขาตัดสินใจถอนร่าง พ.ร.บ. เองไม่ได้ เพราะคนเสนอร่าง พ.ร.บ. คือนายกสภามหาวิทยาลัย

 

รศ.นพ.อำนาจยังยืนยันว่า ไม่ว่ามหาวิทยาลัยจะออกหรือไม่ออกนอกระบบ มหาวิทยาลัยก็ยังคงอุดหนุนงบประมาณให้กับนักศึกษาร้อยละ 80 ของค่าใช้จ่ายจริง การขึ้นหรือไม่ขึ้นค่าใช้จ่ายไม่เกี่ยวกับการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย

 

โดยเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว ยุติลงเมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. โดยคาดว่าจะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งในวันพุธที่ 28 พ.ย. หนึ่งวันก่อนการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 พ.ย. ขณะที่ฝ่ายนักศึกษาได้มีการล่ารายชื่อเรียกร้องให้มีการชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวด้วย

 

...............................................

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สนช.ผ่านวาระแรกดัน "ลาดกระบัง-มช." ออกนอกระบบ, ประชาไท, 22 พ.ย. 2550

สุรยุทธ์เมินพบนศ.มช.ยื่นหนังสือระงับ พ.ร.บ.ม.นอกระบบ, ประชาไท, 23 พ.ย. 2550

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท