Skip to main content
sharethis

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์
มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี


 


จาก 26 ตุลาคม ถึง 19 พฤศจิกายน 2550


            "พี่ครับ ปีนี้ผมต้องไปจัดงานผูกข้อมือเพื่อนกะเหรี่ยงที่หาดใหญ่นะครับ พี่จะไปกับผม ได้ไหม?" พี่ชายของฮาน ยุ้น เพื่อนสนิทคนหนึ่งของฉันที่ตอนนี้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ในฐานะ POC จากประเทศไทย ถามฉันในเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนกับสื่อหนังสือพิมพ์เรื่อง "แรงงานข้ามชาติ" ในมุมมองของคุณ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ฉันถามกลับไปว่า "ทำไมปีนี้ต้องไปจัดไกลถึงหาดใหญ่ด้วย" เขาบอกว่า "มีคำสั่งผู้ว่ามหาชัยออกมาครับ ถึงแม้ว่าเราไม่ได้จัดที่มหาชัย แต่เราก็กลัวครับ ทำให้ผมไม่กล้าจัดที่นี่แล้ว มหาชัยกับสามพรานมันติดกัน กลัวโดนจับ พี่จำได้ไหมครับ ครั้งหนึ่งเราจัดกันที่โรงเรียนนายร้อยสามพราน เพื่อนๆโดนจับกันไปตั้งเยอะ ทั้งๆ ที่พวกเรา บอกเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว บอกเจ้าหน้าที่ทหารแล้ว มีคนไทยมาช่วย แต่เราก็โดนจับ"


ทำไมฉันจะจำไม่ได้ เหตุการณ์ครั้งนั้นฝังแน่นอยู่ในความทรงจำฉันเสมอมา วันนั้นฉัน อดิศร เกิดมงคล สุรพงษ์ กองจันทึก และสมพงษ์ สระแก้ว พวกเราอยู่กันที่พังงา ในเวทีระดมสมองเรื่องรูปแบบที่เหมาะสมต่อการจัดศึกษาให้เด็กต่างชาติ บรรยากาศด้านหน้าที่ประชุม ท้องฟ้าสีคราม ทะเลนิ่งสงบ มีลมพัดโชยชวนให้นอนหลับ แต่พวกเขาทั้ง 3 ต่างโทรศัพท์กันมือระวิง คนหนึ่งคุยกับตำรวจ คนหนึ่งคุยกับกรรมการสิทธิฯ อีกคนหนึ่งคุยกับสันติบาล ไม่ได้หยุดหย่อน วางสายนี้อีกสายโทรเข้ามา ทั้งนายจ้าง ตัวแรงงาน คนจัดงาน เพื่อนนักข่าว แต่สุดท้ายงานนี้ก็ทำอะไรไม่ได้ พี่น้องแรงงานถูกส่งกลับทั้งหมด ภาพคนทั้งสามนั่งเหม่อมองไปด้านหน้าทะเล พร่ำบอกตนเองว่า "ถ้าอยู่กรุงเทพน่าจะทำอะไรได้ดีกว่านี้"  ไม่เคยเลือนหายไปจากชีวิตฉันเลย


26 ตุลาคม 2550 มีหนังสือสั่งการจากนายวีระยุทธ เอี่ยมอำภา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ถึงจัดหางานจังหวัดและสถานประกอบการทุกแห่งในจังหวัดสมุทรสาครว่า มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา เข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาและผลกระทบในเรื่องของชุมชนต่างด้าว โดยเฉพาะพวกสัญชาติพม่า ซึ่งพักอาศัยรวมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาด้านต่างๆ ได้แก่ ปัญหาด้านสาธารณสุข ผู้ติดตาม เด็กไร้สัญชาติ ปัญหาอาชญากรรมและการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกอบกับได้มีการเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีของต่างด้าวในเทศกาลและงานต่างๆที่จัดขึ้น ซึ่งเป็นการไม่เหมาะสม และไม่ควรให้การสนับสนุนเพราะจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของชุมชน อาจเกิดปัญหาในด้านความมั่นคงและเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของทางรัฐบาล


หลังจากนั้นก็มีจดหมายจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและองค์กรพันธมิตร [1] จดหมายจากองค์ บรรจุน [2] ชาวไทยเชื้อสายมอญจังหวัดสมุทรสาคร และประธานชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ จากสุกัญญา เบาเนิด [3] เลขาธิการชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ และนักโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม แถลงการณ์จากคณะทำงาน Burma Peace Group และเครือข่าย [4] และการแถลงข่าวของเครือข่ายองค์กรด้านแรงงานข้ามชาติ (Migrants Working Group) [5] เพื่อทวงถามถึงเหตุผล ความชอบธรรมในการออกจดหมาย ตั้งคำถามกับแนวทางดังกล่าว ชี้ให้เห็นผลกระทบที่จะติดตามมาในหลายๆ ด้าน และสุดท้ายขอให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวโดยทันที ทำให้ในที่สุดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2550 ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครมีจดหมายเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือในวันพุธที่ 21 พฤศจิกายน 2550 ณ ศาลากลางจังหวัด


20 พฤศจิกายน 2550


            เลยเที่ยงคืนมานานแล้ว แต่ฉันและเพื่อนชีวิตยังนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ นั่งอ่านงานวิจัยจำนวนมาก อ่านเรื่องราวจากเวทีเสวนาต่างๆ ที่ต่างยืนยันว่า "แรงงานข้ามชาติกับคนไทยยิ่งอยู่ร่วมกัน ใกล้ชิดกัน ทำกิจกรรมร่วมกันเท่าใด ยิ่งจะทำให้สังคมเกิดความเข้าใจกันมากขึ้นเท่านั้น" พรุ่งนี้แล้วซินะ ที่พวกเราจะเดินไปบอกผู้ว่าฯ ด้วยข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ข้อมูลจริงๆ ที่หยิบฉวยได้ ใช้ประโยชน์ได้ และมีอยู่ในพื้นที่นั้นเอง ไม่ต้องไปหาอื่นไกล


มิถุนายน 2548 รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ทำงานวิจัยเรื่องหนึ่งชื่อว่า การศึกษาเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมในการอยู่ร่วมกันกับแรงงานต่างด้าว: กรณีศึกษาจังหวัดสมุทรสาคร ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา งานวิจัยเรื่องนี้บอกเลยว่า โดยทั่วไปคนไทยในพื้นที่มหาชัยส่วนใหญ่เคยชินกับการมีแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมากในชุมชน มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่หวาดระแวงกลัวภัยจากแรงงานต่างด้าว


ทั้งนี้คนไทยในพื้นที่ส่วนใหญ่เคยมีปฏิสัมพันธ์กับแรงงานต่างด้าวในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง การสื่อสารระหว่างคนไทยในพื้นที่กับกลุ่มแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่จะสื่อสารกันด้วยภาษาไทย เนื่องจากแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่เข้ามาทำงานเป็นระยะเวลานาน จึงสามารถสื่อสารภาษาไทยได้เป็นอย่างดี ทำให้ข้อขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นจากการสื่อสารกันไม่เข้าใจมีน้อย การส่งเสริมให้เกิดการเรียนการสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมประเพณีของไทยให้กับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในพื้นที่จึงเป็นแนวทางหนึ่ง ที่จะช่วยสร้างความสมานฉันท์ระหว่างคนไทยในพื้นที่และคนต่างด้าวได้มากขึ้น


นอกจากนั้น งานวิจัยเรื่องนี้ยังให้ข้อมูลอีกว่า สิทธิทางด้านสังคมที่แรงงานต่างด้าวควรได้รับนั้น ร้อยละ 64.0 ของการสัมภาษณ์ประชาชนในพื้นที่สมุทรสาคร เห็นด้วยกับเรื่องสิทธิในการจัดงานประเพณีต่างๆ เป็นสิทธิที่คนไทยในพื้นที่คิดว่าแรงงานต่างด้าวควรได้รับ รองลงมาจากสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาล


เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานก็มีการรวมกลุ่มกันจัดงานประเพณีต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาอยู่แล้ว และในบางโอกาสก็มีการเชิญคนไทยที่สนิทสนมไปร่วมงานด้วยซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงาม ช่วยสร้างความปรองดองระหว่างแรงงานต่างด้าวด้วยกันเอง และระหว่างคนไทยและแรงงานต่างด้าว อีกทั้งยังช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเพราะแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะชาวมอญจะมีความผูกพันธ์กับพระพุทธศาสนาอย่างมาก เมื่อมีโอกาสทำบุญก็จะร่วมทำบุญอย่างเต็มกำลัง แต่ทั้งนี้ก็มีคนไทยกลุ่มตัวอย่างบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวจัดงานประเพณีต่างๆ ได้ เพราะมองว่าเมื่อมีการจัดงานประเพณีต่างๆ มักมีการรวมกลุ่มของแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก อย่างเช่นการจัดงานแต่งงานมักมีการรวมกลุ่มดื่มสุราและเป็นที่มาของการทะเลาะเบาะแว้งกัน ดังนั้นหากจะมีการรวมกลุ่มกันจัดงานก็ควรต้องให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาควบคุมดูแลด้วยตลอดจึงจะเหมาะสม


 


จาก 21 พฤศจิกายน ถึง 5 ธันวาคม 2550


".........ผมสนับสนุนให้มาทำมาหากิน ส่งเงินกลับบ้าน เพราะเป็นคนเหมือนกัน แต่ไม่ต้องการให้มาตั้งเป็นชุมชนรกรากอยู่กันตลอด ก็เลยเป็นที่มาของหนังสือฉบับนี้ เพราะเวลานี้ มีภาษาพม่าเต็มบ้านเต็มเมืองจนเว่อร์ไปหมด ต่างจากคนมอญในอดีตที่กลืนกับความเป็นไทยไปแล้ว เพราะพวกนี้ไม่ใช่พม่า แต่ปัจจุบันจะมาสร้างชาติมอญ มาจัดงานวันชาติ ก็ไปจัดในสถานทูต ไปเข้าวัดทำบุญ ผมไม่เคยว่า แต่ถ้ามาสร้างลักษณะนี้ ผมมีความเป็นห่วงเรื่องความมั่นคง มันคนละประเด็นกัน ผมยอมถึงขนาดไปตักบาตรเทโวที่วัดเจษ วัดเจ้าคณะจังหวัด แต่รับไม่ได้กับการที่มีคนใส่โสร่งสีแดงไปเดินเก็บของ มีคนถ่ายรูป ผู้ว่าบอกห้ามถ่าย เพราะไม่รู้ว่าไปตักบาตรที่ประเทศพม่าหรือเปล่า ผมบอกหลวงพ่อ ให้พวกนี้ไปใส่กางเกง ผมไม่ว่าเลย เพราะผู้ว่าสมุทรสาครไปตักบาตร แต่คนพม่าเดินเก็บตามเอาของออกจากบาตรพระ ผมดูแล้วมันไม่ใช่ แต่ถ้าไปใส่กางเกงเดินเก็บไม่มีปัญหา จึงเป็นที่มาของหนังสือฉบับนี้ที่ผมเขียนออกไป


หนังสือฉบับนี้เป็นหนังสือในเชิงความเห็น ไม่ใช่คำสั่ง ถ้าเป็นคำสั่งก็ต้องเป็นคำสั่งจังหวัดที่สั่งมาว่าอย่างไร เป็นหนังสือเชิงความเห็น เห็นว่าไม่สมควร ไม่สนับสนุน แต่ไม่ได้ห้าม ไม่มีคำว่าห้ามเลย ส่วนกรณีอย่างนี้เป็นความเห็นเชิงปรามเฉยๆ ผมดูรัฐธรรมนูญแล้ว ดูอะไรต่างๆ ไม่มีอะไรทั้งสิ้นเลย เพราะว่าผมใช้อำนาจ ผมใช้ห้ามก็ยังได้เลย แต่ผมไม่ใช้ เพราะในคำสั่งของท่านนายกรัฐมนตรีให้อำนาจผมในการจัดระเบียบสังคม แต่ผมไม่ได้ทำ แค่ห้ามปรามเฉยๆ ดังนั้นผมดูแล้วก็เลยเชิญพวกเรามา ทำความเข้าใจว่าผู้ว่าไม่ได้ห้าม ให้เลยเถิดไปในวันข้างหน้า ท่านมีวัฒนธรรมประเพณี ผู้ว่าไม่ได้ไปจับ จึงเป็นที่มาของหนังสือฉบับนี้......."


 เสียงของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครบอกเล่าให้พวกเรากว่า 20 คน จากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนนำโดยสมศรี หาญอนันทสุข สุรพงษ์ กองจันทึก ทัศนัย ขันตยาภรณ์ อดิศร เกิดมงคล ธนู เอกโชติ นัสเซอร์ อาจวาริน สมพงษ์ สระแก้ว องค์ บรรจุน นภาพร อุดมชัยพร ญาดา หัตถธรรมนูญ ถึงเหตุผลในการออกหนังสือดังกล่าว


ญาดา หัตถธรรมนูญ อธิบายให้ฉันเข้าใจเพิ่มขึ้นว่า "หนังสือดังกล่าวเป็นเพียงความเห็นของผู้ว่าซึ่งไม่มีผลบังคับในทางกฎหมายใดๆ เจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลใดก็ตามไม่สามารถอ้างหนังสือดังกล่าว เพื่อลิดรอนสิทธิในการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมของแรงงานข้ามชาติได้ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมของชนชาติใดก็ตาม และผู้ว่ามิได้มีเจตนาที่จะห้ามการเผยเเพร่วัฒนธรรมของเเรงงานข้ามชาติทั้งหมดทั้งสิ้น แต่มีความห่วงใยเพียงแต่ในกรณีของวัฒนธรรมที่สร้างความแตกเเยกและการเเพร่ขยายของกลุ่มอิทธิพลในหมู่เเรงงานข้ามชาติเท่านั้น"


เวลาล่วงเลยมาจะสองโมงครึ่งแล้ว พวกเราต่างถกเถียงและแสดงข้อมูลอีกด้านหนึ่งทั้งสิทธิสุขภาพ สิทธิทางวัฒนธรรม สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ อัตลักษณ์ของชนชาติมอญกับชนชาติพม่าที่แตกต่างกัน ข้อปฏิบัติจากรัฐธรรมนูญ การที่ในพื้นที่ยังมีการกดขี่ข่มเหงแรงงานข้ามชาติดำเนินอยู่ ในมุมมองภาครัฐก็มีข้อมูลหนึ่ง ในมุมมองคนทำงานก็มีอีกข้อมูลหนึ่ง แตกต่างกันหลายเรื่อง


พวกเราต่างมองหน้ากัน คำถามเกิดขึ้นในใจ


ทำอย่างไรข้อมูลทั้งสองฝ่ายจะถูกแบ่งปันร่วมกัน และกลายเป็นประสบการณ์สำคัญที่จะเกื้อกูลกันในการทำงานต่อไป


ในที่สุดพวกเราจึงมีข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด คือ ให้ตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดขึ้นมา เพื่อแสวงหาแนวทางดำเนินการร่วมกัน 4 ประการ คือ (1) ให้แรงงานข้ามชาติทั้งหมดเข้ามาอยู่ในระบบและทำงานอย่างถูกกฏหมาย (2) ปราบปรามธุรกิจและขบวนการลักลอบใช้แรงงานผิดกฎหมาย (3) ดูแลเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะการรณรงค์เรื่องคุมกำเนิดกับแรงงานข้ามชาติ (4) ไม่ห้ามในการจัดหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นการรักษาวัฒนธรรมประเพณีของแรงงานข้ามชาติ [6] โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการเพื่อตั้งคณะทำงานประมาณ 2 อาทิตย์ เพื่อยืนยันว่าผู้ว่ามีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว


ระหว่างนั้นเองที่พวกเราเสนอข้อเสนอจบลง ทางผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้รับเชิญมาร่วมงานครั้งนี้ประมาณ 3 ท่าน ได้นำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่ชวนให้ฉันตระหนกและไม่สบายใจจนบัดนี้ บางคำพูดที่พูดออกมาในเวที เช่น "ผมจ้างมาเป็นแรงงาน ไม่ได้จ้างมาให้ร่วมงาน จัดงาน จัดกิจกรรมวัฒนธรรม" "ถ้าทำหมันแรงงานต่างด้าวได้ ผมสนับสนุน ควรทำไปเลย" "ผู้ประกอบการทุกคนเป็นคนดี ไม่มีใครกดขี่ข่มเหงแรงงานหรอก เคส (หมายถึงคดีที่นายจ้างในสมุทรสาครบางท่านเอารัดเอาเปรียบแรงงาน จนกลายเป็นคดีความทางศาล )ที่เกิดขึ้นแค่พันเดียว เล็กน้อย ธรรมดา เมื่อเทียบกับคนสองแสนคน" "ทีหลัง LPN อย่าส่งข่าวไปต่างประเทศ พูดกันเองก็ได้ รอยเตอร์มาสัมภาษณ์ ดูซิ เสียหายกันไปหมด ทั้งเกษตรกร ทั้งการส่งออก" (เคสนี้หมายถึงเรื่องการใช้แรงงานเด็กในกิจการแกะกุ้ง) "ข้อ 4 ผู้ว่าต้องพิจารณาใหม่นะคะ เราอนุญาตไม่ได้ค่ะ" "เรื่องคดีประภาสนาวี [7] ก็เรือเขาไม่ได้มาจดทะเบียนกับเรานี่ ตอนเปิดให้จดทะเบียน เรือก็ยังอยู่นอกน่านน้ำ พอกลับมาก็หมดเวลาแล้ว เราถึงไม่ทราบ" และอื่นๆ อีก


เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครและทางคณะทำงานที่เข้าร่วมประชุมกำลังพยายามหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน แต่ผู้ประกอบการบางท่านในพื้นที่กลับแสดงท่าทีให้เห็นอย่างชัดเจนและสามารถตีความได้ว่า "แรงงานต่างด้าว = หุ่นยนต์ที่เป็นเพียงกลไกสำหรับการทำงานในโรงงาน ในสถานที่ทำงานต่างๆ ไม่มีชีวิต ไม่มีจิตใจ ห้ามอยากมีเพศสัมพันธ์ ห้ามท้อง ห้ามอยากสนุก ห้ามอยากไปไหน จะกดขี่อย่างไรก็ได้" อย่างนั้นฤา.....?


ทั้งๆ ที่จริงแล้วในแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองให้เข้าสู่ระบบที่ถูกต้องตามกฎหมายของกระทรวงแรงงาน ก็แสดงยุทธศาสตร์การทำงานให้เห็นชัดว่า ต้องมีการกำหนดมาตรฐานการจ้างแรงงานต่างด้าว คือ มีการคุ้มครอง ตรวจสอบ และควบคุมมาตรฐานแรงงานต่างด้าว เช่นเดียวกับแรงงานไทย (ยุทธศาสตร์ที่ 2) ต้องมีการปราบปรามจับกุมนายจ้างที่กระทำความผิดกฎหมาย (ยุทธศาสตร์ที่ 4) และต้องมีการประชาสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางของภาครัฐ เพื่อนำไปสู่การประสานความร่วมมือของทุกฝ่ายในการแก้ปัญหาร่วมกัน (ยุทธศาสตร์ที่ 6)


แต่โดยทั่วไปเรากลับพบเพียงการทำตามยุทธศาสตร์ที่ 1 เรื่อง การจัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าว เพื่อให้เป็นแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย ยุทธศาสตร์ที่ 3 เรื่อง การสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้ามาทำงาน โดยอาศัยกองกำลังป้องกันชายแดนและหน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ยุทธศาสตร์ที่ 4 บางส่วน เรื่อง การปราบปราม การจับกุมดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง และยุทธศาสตร์ที่ 5 เรื่อง การผลักดันและส่งกลับแรงงานต่างด้าว เพียงเท่านั้น


สมพงษ์ สระแก้ว ย้ำชัดต่อเรื่องนี้ว่า "ปัญหาที่ผ่านมาได้ถูกกลบไว้ ซึ่งมองได้จากบทสะท้อนความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ ซึ่งพยายามโต้แย้งเรื่องการแสดงพื้นที่ของตนเอง และการนำเสนอในมิติเชิงวัฒนธรรม เราต้องทำความเข้าใจต่อไปอีกหลายก้าว ลองดูว่าเราจะมียุทธศาสตร์เฝ้าระวังทางสังคม สร้างสังคมสันติธรรม แก่พี่น้องแรงงานข้ามชาติอย่างไรบ้าง แรงงานข้ามชาติ ครอบครัว บุตรและผู้ติดตามจะมีพื้นที่ยืนได้อย่างไร เราต้องต่อสู้วิธีคิดของผู้ประกอบการไปอีกระยะหนึ่ง เป็นโจทย์งานที่เราต้องสร้าง และหาคำตอบของเราเองกับพื้นที่ สมุทรสาครควรเป็นการบริหารจัดการแบบใหม่และสมบูรณ์ด้วยความหลายหลากในมิติต่างๆ"


สังคมไทยวันนี้ คือ สังคมที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างท้าทายสังคมโลกอย่างมีมนุษยธรรม นายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ กล่าวในเวทีประชุมสหประชาชาติเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 ว่ารับไม่ได้/ไม่พอใจกับการที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าใช้กำลังทหารทำร้ายและฆ่าประชาชนที่ออกมาประท้วงรัฐบาล อันเนื่องมาจากการขึ้นราคาน้ำมัน แต่ในประเทศไทยภาพความเป็นจริงที่วันนี้มีประชาชนจากพม่าจำนวนมากมาอยู่ที่นี่ นายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ ต้องกล้าหาญพอที่จะไม่ปล่อยให้รัฐและทุนและใครก็ตามละเมิดสิทธิกับประชาชนเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ในความเป็นมนุษย์ เราต่างคือมนุษย์เช่นเดียวกัน ถึงเราอยู่คนละแผ่นดิน แต่ในความเป็นคน ในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ไม่ได้สิ้นสุดลงที่พรมแดน


อีก 2 เดือนข้างหน้า นี้คือ ภารกิจที่ทายท้าความสามารถของนายกรัฐมนตรีไทย


อีก 2 อาทิตย์ข้างหน้า นี้คือ ภารกิจที่ทายท้าความสามารถของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร


            และเมื่อถึงวันนั้น เราจะกลับไปทวงถามตามสัญญา....................................


 


อ้างอิง


[1] ดูจดหมายได้ที่ ภาคประชาชนออกจม.ค้าน คำสั่งผู้ว่าสมุทรสาคร ห้ามแพร่วัฒนธรรมต่างด้าว, ประชาไท


[2] ดูจดหมายได้ที่ จดหมายเปิดผนึกจากคนมอญ เรื่อง " ผู้ว่าฯ และ ความสงบเรียบร้อยที่ถูกทำลาย" , ประชาไท


[3] ดูจดหมายได้ที่ จดหมายจากมอญมหาชัย, ประชาไท


[4] ดูแถลงการณ์ได้ที่ จี้ "สนธิ" เปลี่ยนท่าทีต่อแรงงานข้ามชาติ ให้สอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน, ประชาไท


[5] ดูข่าวได้ที่ เอ็นจีโอค้าน"สนธิ"ส่งกลับแรงงานพม่าท้องแก่, ผู้จัดการ


[6] ดูรายละเอียดการหารือเพิ่มเติมได้ที่ ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร หารือ "ไม่ห้ามการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม และไม่ส่งกลับหญิงต่างด้าวท้อง" , ประชาไท


[7] อ่านรายละเอียดคดีนี้ได้ที่ ฤาชีวิตคนแค่ผักปลา ... การเสียชีวิตของลูกเรือประมงนอกน่านน้ำทะเลไทย, ประชาไท


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net