Skip to main content
sharethis

23 พฤศจิกายน 2550


 


รายงานโดยสุชาดา สายหยุด


มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี


 


เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2550 กลุ่มสันติภาพเพื่อพม่า (Peace for Burma) ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนาเรื่อง "พลังงาน: โศกนาฏกรรมในพม่า" ณ ห้องประชุมสมาคมศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ลัลธริมา หลงเจริญ   ผู้ประสานงานข้อมูล มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ, ภินันท์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์, ดร. ซาน อ่อง National Coalition Government of the Union of Burma (NCGUB), Sai Sai  ผู้ประสานงานสาละวินวอชท์ และคริส เกรียเซน ผู้อำนวยการองค์กรพลังไท


 


ภินันท์ โชติรสเศรณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ ซึ่งเป็นแกนนำชาวบ้านที่เคยประท้วงโครงการสร้างท่อก๊าซไทย-พม่า หรือยาดานา ได้บอกเล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียทรัพยากรป่าไม้ และน้ำ และวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ โดยตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมท่อก๊าซถึงอ้อมส่งเข้าทาง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี แทนที่จะตัดตรงไปเข้าที่จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้า เมื่อพิจารณาจากแผนที่แล้ว ก็พบว่าบริเวณที่ท่อก๊าซจะวางพาดผ่านนั้นเป็นที่ตั้งสำคัญของกองกำลังชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยงที่ต่อต้านกองทัพพม่า


 


นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการบังคับใช้แรงงานในการก่อสร้างท่อก๊าซในฝั่งพม่า ทั้งยังมีการยึดที่ดิน บังคับให้โยกย้าย การสู้รบระหว่างกองกำลังต่อต้านกับทหารพม่า ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากหนีภัยมายังประเทศไทย ขณะที่ชาวบ้านในฝั่งไทยต้องพบกับความไม่โปร่งใสของโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ท่อก๊าซผิดขนาด อุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐาน


 


ขณะที่บริษัท ปตท.ในขณะนั้นประชาสัมพันธ์ว่าการวางท่อก๊าซจะไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติ แต่ข้อเท็จจริง ป่าไม้และต้นไม้อายุเก่าแก่ถูกทำลาย และยังวางท่อก๊าซผ่านใต้น้ำในความลึกเพียงเล็กน้อย  อีกทั้งจะเคยมีเหตุการณ์ที่ก๊าซรั่วออกจากท่อ แม้ว่าทางกลุ่มผู้ประท้วงครั้งนั้นจะพยายามฟ้องร้องต่อหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง ขณะที่กลุ่มบริษัทร่วมทุน ไม่ว่าจะเป็นโทเทลของฝรั่งเศส และยูโนแคลของอเมริกา ได้ถูกประณามและฟ้องร้องดำเนินคดีในประเทศของตนต่อการลงทุนโดยไม่คำนึงถึงชีวิตของมนุษย์ในครั้งนั้น แต่บริษัท ปตท.กลับไม่ต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ครั้งนั้น


 


ทุกวันนี้รัฐบาลพม่ามีรายได้หลักจากการขายก๊าซกับประเทศไทยเป็นเงินกว่า 160 พันล้านบาทต่อเดือนโดยเฉลี่ย จากการบริษัทที่ ปตท.สผ.กำลังขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นในปีหน้า  ขณะเดียวกัน บริษัทเอ็มดีเอ็กซ์ ก็กำลังเตรียมสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำสาละวินกว่า 5 แห่ง โดยสร้างเม็ดเงินกว่า 7 พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐให้แก่รัฐบาลทหารพม่า ซึ่งเท่ากับเป็นการหนุนอำนาจของกองทัพพม่าให้เข้มแข็งเพื่อใช้กดขี่และกวาดล้างประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาล โดยพบว่า งบประมาณแผ่นดินที่ถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาการศึกษาและสุขภาพอนามัยของประชาชนมีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์


 


ลัลธริมา หลงเจริญ ผู้ประสานงานข้อมูล มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ได้ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำสาละวินว่า กฟผ.ได้ศึกษาและวางแผนการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินมาตั้งแต่ พ.ศ. 2524 และได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับการไฟฟ้าพม่าเมื่อปีพ.ศ.2548 เพื่อร่วมมือสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนท่าซาง เขื่อนเว่ยจี (เขื่อนสาละวินชายแดนตอนบน) เขื่อนดากวิน(เขื่อนสาละวินชายแดนตอนล่าง) และเขื่อนฮัตจี ซึ่งบริษัทเอ็มดีเอ็กซ์ได้ลงนามข้อตกลงกับพม่าเพื่อลงทุนในโครงการเขื่อนท่าซาง ทางตอนใต้ของรัฐฉาน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


 


นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตว่าทำไมถึงจงใจเลือกที่จะก่อสร้างเขื่อนฮัตจีในรัฐกะเหรี่ยงก่อน ก็พบว่าพื้นที่บริเวณนั้นเป็นที่ยังมีการสู้รบของกองกำลังฝ่ายต่อต้าน ซึ่งรัฐบาลพม่าใช้เขื่อนเป็นข้ออ้างในการทำลายที่อยู่ของชาวบ้าน มีการใช้กำลังทหารในพื้นที่ชนกลุ่มน้อย มีการบังคับชาวบ้านให้ย้ายออกจากพื้นที่ สร้างเขื่อน ทำให้มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก บางส่วนอพยพเข้ามาในประเทศไทย


 


ผู้บริหารของเอ็มดีเอ็กซ์ ใช้วิธีการเดียวกับ ปตท. คือ บอกกับประชาชนทั่วไปว่าโครงการจะไม่มีผลกระทบกับชาวบ้าน และชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ข้อเท็จจริงนั้นชาวบ้านทั้งฝั่งประเทศไทยและประเทศพม่า ที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อนยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบโครงการอย่างที่กล่าวอ้างเลย  นอกจากนี้การก่อสร้างเขื่อนดากวินทำให้น้ำต้องไหลเข้าท่วมพื้นที่ชายแดนไทย -พม่ากว่า 100 กิโลเมตรจะถูกน้ำท่วมเนื่องจากโครงการเขื่อนสาละวิน ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน ยังทำให้วิถีชีวิตของผู้คนตลอดสายน้ำต้องเปลี่ยนไป


 


รัฐบาลพม่าก็อ้างเช่นกันว่าการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินเพื่อให้ประเทศพัฒนาเศรษฐกิจดีขึ้น ชาวบ้านที่ยากจนก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้นเพราะการลงทุนดังกล่าว  ในส่วนของรัฐบาลและบริษัทเอกชนไทย ก็มักอ้างถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นทุกปี เพื่อรองรับเศรษฐกิจในอนาคต อีกทั้งเราจะได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก ซึ่งหากมองย้อนกลับไปดูนโยบายด้านพลังงานในปีผ่านๆ มา จะพบว่ามีการประเมินเกินจริงมาตลอด


 


Sai Sai ผู้ประสานงานสาละวินวอชท์ กล่าวเพิ่มเติมว่าเขื่อนท่าซางนั้นสร้างขึ้นในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างรัฐบาลทหารพม่าและกลุ่มชาติพันธ์ไทใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพม่าได้สร้างสาธารณูปโภค เช่น ถนนหนทาง ประกาศว่าชาวบ้านจะได้รับการรักษาสุขภาพ มีเศรษฐกิจดีขึ้น ขณะที่บริษัทเอ็มดีเอ็กซ์ก็ยืนยันว่าชาวบ้านให้ความร่วมมือกับบริษัทเป็นอย่างดี แต่มีการเพิ่มกำลังทหารมากขึ้น เพื่อคุ้มครองการก่อสร้างหรือการโจมตีจากฝ่ายต่อต้าน


 


โครงการเขื่อนท่าซางมีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 60,000 คน บางส่วนอพยพเข้ามายังชายแดนไทยและบางส่วนกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบเกือบสองพันคนร่วมลงชื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนดังกล่าว นอกจากนี้ยังพบการทำร้าย ข่มขืนชาวบ้านไทใหญ่ ตามรายงานใบอนุญาตข่มขืนเมื่อปี 2002 ก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้


 


ดร.ซาน อ่อง National Coalition Government of the Union of Burma (NCGUB) ได้อภิปรายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่าเมื่อเร็วๆ นี้ว่า รัฐบาลเผด็จการทหารพม่ายังคงใช้ความรุนแรงแบบต่างๆ ในการควบคุมประชาชน มีการจับกุมประชาชนไปกว่า 3,000 คน จากการประท้วงเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา แม้ว่าผู้แทนสหประชาชาติจะเข้าพบผู้นำรัฐบาล และเรียกร้องให้เกิดการสร้างความปรองดองในชาติ รวมทั้งปล่อยนักโทษการเมือง และอนุญาตให้องค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปทำงานได้มากขึ้น แต่ข้อเรียกร้องทั้งหมดก็ไม่ประสบผลสำเร็จ 


 


สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและสังคมในพม่านั้น UNDP พบว่าประชาชนประมาณร้อยละ 90 มีรายจ่ายต่อวันต่ำกว่า 1 ดอลล่าร์สหรัฐ เด็กเพียง 1 ใน 3 ที่จะเรียนถึงระดับมัธยม ทั้งยังมีการใช้ทหารเด็กมากที่สุดในโลก นอกจากนั้นรัฐบาลพม่าจัดสรรงบประมาณจำนวนมหาศาลในการเสริมศักยภาพของกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นการซื้ออาวุธยุโธปกรณ์ และโครงการนิวเคลียร์จากรัสเซีย จีน และอินเดีย รวมทั้งการสร้างเมืองหลวงใหม่ และการขึ้นเงินเดือนข้าราชการถึง 10 เท่า แต่กลับขึ้นราคาน้ำมันเพื่อไปช่วยค่าใช้จ่ายของรัฐ


 


หากดูการค้าและลงทุนจากต่างประเทศ ก็พอจะรู้ว่ารัฐบาลพม่าได้เงินจำนวนมหาศาลมากจากไหน ซึ่งพบว่ารายได้อันดับหนึ่งคือ การขายก๊าซธรรมชาติให้ประเทศคู่ค้า ซึ่งมีประเทศไทยเป็นรายใหญ่ที่ซื้อก๊าซถึง 2200 ล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปี รองลงมาคือ ป่าไม้ การค้าอัญมณี เสื้อผ้า และการประมง ตามลำดับ


 


คริส เกรียเซน ผู้อำนวยการองค์กรพลังไท พูดถึงการพิจารณาพลังงานทางเลือกอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการซื้อไฟฟ้าจากพม่า ว่าอันดับแรกต้องปรับความคิดที่ว่าประเทศไทยจะใช้พลังงานในอนาคตสูงซึ่งเกินจริงตลอดเวลา อีกทั้งข้ออ้างที่ว่าเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ที่ส่งออกให้ประเทศไทยนั้น มีแต่ชุมชนเมืองที่ได้ประโยชน์ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบกลับไม่ได้ใช้ ส่วนชาวพม่าต้องซื้อไฟฟ้าซึ่งเป็นทรัพยากรในประเทศตนเองกลับไปสูงกว่า ซ้ำประเทศไทยก็ต้องเสียงบประมาณโดยไม่จำเป็น เพราะถ้าทุกคนประหยัดพลังงานอย่างจริงจังจะถูกกว่าการไปลงทุนผลิตไฟฟ้าเพิ่ม


 


นอกจากนี้ยังมีพลังงานทางเลือกอื่นหรือพลังงานสะอาดที่รัฐบาลและคนไทยควรจะนึกถึงและมีการนำมาใช้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นพลังงานชีวภาพจากแกลบ เล้าหมู ถ่านไม้ แสงอาทิตย์ และระบบไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก ที่ใช้เทคโนโลยีไม่ซับซ้อน และเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม คนในท้องถิ่นเองเป็นคนสร้าง และใช้เอง ซึ่งทางองค์กรพลังไท ก็ได้ทดลองโครงการพลังงานทางเลือกแล้วในชนบทของประเทศไทย และในค่ายผู้อพยพตามชายแดนไทยพม่า


 


แม้ว่าในปี 2549 ทาง กฟผ.ได้ว่าจ้างให้สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษา EIA ถึงผลกระทบของการสร้างเขื่อนฮัตจี เป็นเวลา 15 เดือน แต่เมื่อกรกฎาคม 2550 คณะรัฐมนตรีกลับอนุมัติแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า 2550-2564 ซึ่งได้รวมเขื่อนท่าซางและเขื่อนฮัตจี ในนั้นด้วย โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด


 


คำถามถึงรัฐบาลไทยและบริษัทสัญชาติไทยว่านโยบายและแผนด้านพลังงานนั้นให้ประโยชน์กับประชาชนจริงๆ หรือนำเงินไปให้รัฐบาลพม่าเข่นฆ่าประชาชน และถามคนไทยทุกคนว่าเราจะทนใช้ไฟฟ้า และก๊าซที่แลกมาด้วยคราบเลือดและคราบน้ำตาของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้อย่างไร


 


 


Burma Peace Group : เพื่อสันติภาพของประชาชนในพม่า


 


burmapeacegroup@gmail.com


 


Burma Peace Group เป็น คณะทำงานเฉพาะกิจที่เกิดจากการรวมตัวของนักวิชาการ สื่อมวลชน นักพัฒนา ที่คลุกคลีกับประเด็นพม่ามาโดยตลอด พวกเรามีความคิดเห็นว่าท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมในประเทศพม่าที่เริ่มมา ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2550 เป็นต้นมา สามารถรุนแรงจนถึงขั้นวิกฤติได้ในอนาคต ทำให้มีความจำเป็นที่สังคมไทยจะต้องรับรู้ข้อมูลประเด็นพม่าในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน เพื่อช่วยให้เกิดการตัดสินใจที่จะรับมือกับสถานการณ์อย่างเท่าทัน


 


คณะทำงาน : พรพิมล ตรีโชติ งามศุกร์ รัตนเสถียร วสุ ศรียาภัย วันดี สันติวุฒิเมธี


                  อดิศร เกิดมงคล ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ สุชาดา สายหยุด


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net