Skip to main content
sharethis


 


วันนี้ (23 .. 50) ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดเวทีเสวนาวิชาการ เนื่องในวันวิชาการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ "วิถีวิจัย: สู่สังคมร่มรื่นและเป็นสุข" โดยมีการนำเสนอผลการวิจัยของนักวิจัยและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ด้านสภาวะแวดล้อมและปรากฏการณ์โลกร้อน เพื่อให้เกิดการตื่นตัวในการศึกษาวิจัยและหาแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงจากปรากฏการณ์โลกร้อน อีกทั้งยังเป็นการสร้างบรรยากาศทางวิชาการในมหาวิทยาลัย สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่และกลุ่มนักวิจัยที่มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดการทำวิจัยร่วมกันระหว่างสาขาวิชาและการวิจัยแบบบูรณาการ ตลอดจนเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยสู่สาธารณะ และนำไปสู่การพัฒนาในเชิงพาณิชย์ต่อไป


ในหัวข้อ "ภาวะโลกร้อน : จากธรรมชาติหรือมนุษย์กระทำ"  มีวิทยากรนำเสนอคือ ศ.ดร.เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต จากราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์, Mr. Martin Krause UNDP-Regional Centre in Bangkok และนางสาวปองทิพย์ ภูวเจริญ Carbon Finance Analyst, The World Bank Office, Bangkok


 


โดย ศ.ดร.เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต ได้กล่าวถึงสาเหตุจากภาวะโลกร้อนและสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกต้องเผชิญ คือเรื่องการพัฒนาแหล่งผลิตพลังงานและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นควบคู่กัน ไม่ว่าจะเป็นการเสียพื้นที่ป่าในการสร้างเขื่อน และมลพิษที่เกิดจากโรงไฟฟ้า รวมถึงอุตสาหกรรมที่ได้สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ


 


ซึ่งจากการศึกษาพบว่าตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา อุณหภูมิของโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว เนื่องจากการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์


 


โดยผลกระทบที่น่ากลัวอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนก็คือ การละลายของน้ำแข็งบริเวณขั้วโลก โดยน้ำแข็งที่ละลายนี้จะไปเพิ่มปริมาณน้ำในมหาสมุทร  เมื่อประกอบกับอุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำสูงขึ้น น้ำก็จะมีการขยายตัวร่วมด้วย ทำให้ปริมาณน้ำในมหาสมุทรทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ  ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นมากส่งผลซึ่งอาจจะมีผลต่อพื้นที่ชายฝั่งทั่วโลก


 


สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น ศ.ดร.เปี่ยมศักดิ์ ได้เสนอแนะให้มีการใช้พลังงานทางเลือกทดแทนพลังงานกระแสหลักในปัจจุบันที่เป็นสาเหตุหลักในการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกต่างๆ รวมถึงการเพิ่มพื้นที่ป่าและปะการัง โดยต้องบูรณาการการใช้การบริหารที่มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยี และการออกแบบระเบียบข้อกฎหมายต่างๆ เข้าช่วย


 


ทางด้าน นางสาวปองทิพย์ ภูวเจริญ นักวิชาการจากธนาคารโลก ได้กล่าวถึงประเด็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของแต่ละประเทศ โดยประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ กำลังมีแนวโน้มในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในปัจจุบัน ก็ยังคงเป็นประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน


 


โดยปองทิพย์ได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนวันฝนตกและจำนวนวันที่มีอากาศร้อน ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้เป็นปัญหาที่ทำให้การจัดการบริหารทรัพยากรน้ำในภูมิภาคต่างๆ ของโลกมีปัญหา


 


สำหรับประเด็นผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งทั่วโลกเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ปองทิพย์ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญที่กระทบต่อประเทศไทย นั่นก็คือผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยหากน้ำทะเลสูงขึ้น จะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงถึง 13 ล้านคน รวมถึงทรัพยากรทางทะเลที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมประมง ซึ่งมีคนที่ทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมนี้กว่าหนึ่งล้านคน รวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยว


 


ทั้งนี้จากการประเมิน พบว่าหากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น มูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจะลดลงอย่างมหาศาล กล่าวคือถ้าหากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 1 เมตร จีดีพีของประเทศไทยจะลดลงถึง 1.5 %


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net