ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ : เพศสภาพของความรุนแรง (ซ่อน - หา)

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ โครงการเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) จัดสัมมนาเรื่อง "สันติวิธี ความรุนแรง และสังคมไทย"(Nonviolence, Violence and Thai Society) โครงการปีที่ 2 ความรุนแรง : "ซ่อน-หา" สังคมไทย ณ ห้อง ร.103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2550

 

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของการเสวนา รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ ได้พูดถึงงานวิจัยเรื่อง "เพศสภาพของความรุนแรง" โดยกล่าวว่า ประเด็นหลักใจกลางของงานวิจัยชิ้นนี้อยู่ที่เรื่อง "การข่มขืน" ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งของความรุนแรง และแบ่งเนื้อหา ออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกพูดถึง แนวคิดว่าด้วยการข่มขืนหรือข้อเสนอว่าด้วยการตีความการข่มขืนของนักคิดสตรีนิยม (Feminism) และส่วนที่สองพูดถึงการทำงานหาความรู้เรื่องการข่มขืนในสังคมไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2539-2549 ว่าเป็นอย่างไรบ้าง

 

แนวคิดว่าด้วยการข่มขืน

นักคิดสตรีนิยม ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเข้าใจเรื่องการข่มขืนว่า การข่มขืนสามารถมองได้ 3 ลักษณะหรือ3 แนวทาง กล่าวคือ พวกแรกเสนอว่าการข่มขืน (rape) คือการการกระทำความรุนแรง (violence act)

พวกที่สองเสนอว่าการข่มขืนคือเรื่อง Sex และ Sex คือการข่มขืน และพวกที่สามเสนอว่า การข่มขืนเป็นทั้งการกระทำความรุนแรงและเรื่องเพศและการผสมผสานของความรุนแรงและเรื่องเพศนี้เองที่ทำให้การข่มขืนมีความหมายเฉพาะ

 

พวกแรก

Susan Brownmiller พยายามจะชี้ว่าการข่มขืนไม่ใช่เรื่องเพศ เพราะความเข้าใจในหลายๆสังคมมองว่าการข่มขืนเป็นเรื่องเพศที่เบี่ยงเบน ซึ่งก็มีมายาคติรองรับอยู่ เช่นว่า ผู้ชายมีความต้องการทางเพศอยู่มากที่ต้องระบายออก และการระบายออกของผู้ชายนี้ก็ทำผ่านการข่มขืน และการซื้อบริการทางเพศ ดังนั้น มายาคติแบบนี้จึงนำไปสู่ความคิดที่ว่า ผู้หญิงจึงต้องระมัดระวัง ผู้หญิงต้องไม่ไปเร้าอารมณ์ผู้ชาย เป็นต้น

 

Brownmiller เสนอว่าสิ่งเหล่านี้เป็นมายาคติที่โยนความผิดให้ผู้หญิง การข่มขืนเป็น violence act ที่เกิดขึ้นในโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เชิดชูความเป็นชาย การข่มขืนจึงเป็นการสื่อสารความเหนือกว่าที่ผู้ชายกระทำกับร่างกายของผู้หญิง

 

พวกต่อมา

การข่มขืนคือ Sexual act และ Sex ทั้งหมดในระบบสองเพศสภาพคือการข่มขืน แนวคิดแบบนี้พบได้ในนักคิด เช่น Catherine MacKinnon ซึ่งให้คำอธิบายว่าในระบบเพศสภาพแบบแยกขาดอย่างเคร่งครัดและเชิดชูความเป็นชายมากกว่านั้นบังคับให้คนต้องมีวิถีปฏิบัติทางเพศในแบบรักต่างเพศ (Compulsory heterosexuality) ดังนั้นการบังคับให้เป็น heterosexual ก็ไม่ต่างกับการข่มขืนเพราะข่มขืนก็คือการถูกบังคับเช่นกัน

 

และ MacKinnon ยังบอกว่า Sex ที่เป็นกระแสหลักนั้นทำให้การครอบงำของผู้ชายและการสยบยอมของผู้หญิงเป็นเรื่องเชิงสังวาส เป็นเรื่อง Sexy เพราะฉะนั้น Normal Sex จึงเป็นการสื่อสารอำนาจที่ไม่ต่างกับการข่มขืน..

 

พวกที่สาม

การข่มขืนเป็นทั้งสองอย่างคือ เป็นความรุนแรงที่มีองค์ประกอบของ Sex เราจะไม่สามารถทำความเข้าใจการข่มขืนได้ถ้าไม่ลงไปดูความเชื่อความหมายเฉพาะของสังคมนั้นๆว่านิยามร่างกายมนุษย์อย่างไร นิยามเรื่องเพศอย่างไร ดังนั้น ถ้าเราไม่เข้าไปดูความเชื่อความหมายเหล่านี้ก็จะไม่เข้าใจเรื่องการข่มขืนกระทำชำเราได้

 

ข้อถกเถียงต่างๆก็นำไปสู่ความคิดที่ว่าการข่มขืนเป็นเรื่องที่หาแบบแผนไม่ได้ เป็นเรื่องของประสบการณ์เฉพาะ ตามความเชื่อความหมายเฉพาะของแต่ละสังคม เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่สลับซับซ้อน ซึ่งจะเข้าใจได้ก็ตามแต่บริบทและความเฉพาะเจาะจงในแต่ละสังคม

 

ข้อค้นพบจากการศึกษางานวิจัยเรื่องการข่มขืนในสังคมไทย

รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ พบว่างานศึกษาวิจัยเรื่องการข่มขืนของสังคมไทยมีลักษณะต่อไปนี้

 

ประการแรก การศึกษาการข่มขืนกระทำชำเราในสังคมไทยส่วนใหญ่เป็นการศึกษาตัวผู้ข่มขืน (rapist) โดยมีความเชื่อว่า คนกลุ่มนี้เป็น "พวกเบี่ยงเบน" หรือ "ผิดปกติ" ซึ่งในที่นี้ก็ศึกษาจากผู้ต้องขัง ต่อประเด็นนี้ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ มีข้อสังเกตว่า ผู้ข่มขืนที่ถูกจับได้กับผู้ข่มขืนที่ไม่ถูกจับน่าจะได้ผลที่ต่างกัน แต่ในงานวิจัยแต่ละชิ้นก็ไม่ได้หยิบยกข้อสังเกตตรงนี้ขึ้นมาแต่อย่างใด

 

ประการที่สอง แนวคิดทฤษฎีที่ใช้ในงานวิจัยนั้นไม่พบข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องการข่มขืนที่ได้เสนอไว้ในส่วนก่อนหน้านี้เลย ซึ่ง รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ มีข้อสังเกตว่าทุกคนอ่านหนังสือเหมือนกัน คืออ่านหนังสือที่ผลิตในช่วงเวลาเดียวกัน และไม่อ่านวารสาร

 

ประการที่สาม งานวิจัยมีทั้งที่ผลการวิจัยสนับสนุนมายาคติเรื่องการข่มขืนและมีทั้งที่ไม่สนับสนุนมายาคติ  ดังนั้นจึงพบว่าเรื่องการข่มขืนนั้นไม่มี pattern บอกไม่ได้ว่าผู้กระทำคือใคร เหยื่อคือใคร รูปแบบเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตามงานหลายๆชิ้นก็ไม่ได้พยายามจะตั้งคำถามกับมายาคติว่าด้วยการข่มขืน แต่กลับรับเอามายาคตินั้นมา

 

ประการที่สี่ เมื่ออ่านงานวิจัยเรียงๆกันจะพบ plot ที่ว่าผู้ข่มขืน เมา, ใช้สารเสพติด และผู้หญิงยั่ว ซึ่งเป็นเช่นนี้เกือบทั้งหมด

 

ประการถัดมา คือเรื่อง "ข้อเสนอแนะ" ของงานวิจัยต่างๆ เช่นว่า ผู้หญิงต้องระวังตัว อย่าเชื่อผู้ชายง่าย ผู้หญิงต้องเรียนศิลปะป้องกันตัว ฯลฯ ซึ่งก็มักจะพบว่าผลวิจัยมาอย่างหนึ่งและข้อเสนอแนะมาอีกทางหนึ่ง

 

ประการสุดท้าย คือมีหนังสือสองเล่มที่ทำให้สังคมไทยได้มองเห็น "การข่มขืน" ในฐานะที่เป็นอาวุธสงคราม คือในงานแปลโดยคุณสุพัตรา ภูมิประภาส แต่ประเด็นแบบนี้คนไทยก็มักจะคิดว่า "ไม่เกี่ยวกับเรา" หรือ "ไม่ใช่เรื่องของเรา" ทำให้เรามองไม่เห็นเรื่องราวเหล่านี้

 

นอกจากนี้ รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ เสนอเพิ่มเติมในสิ่งที่มองไม่เห็นในสังคมไทยอีกประการหนึ่งคือ male rape หรือการข่มขืนที่ผู้ชายเป็นผู้ถูกกระทำ แต่ไม่ใช่เป็นกรณีที่ผู้หญิงข่มขืนผู้ชายแต่เป็นการข่มขืนที่ผู้ชายกระทำกับผู้ชาย ซึ่งกรณีนี้ในสังคมไทยไม่ปรากฏทั้งในส่วนของข้อมูลและการวิจัย

 

"การข่มขืนหรือการกระทำความรุนแรงมันไม่มี pattern ความหมายก็เฉพาะเจาะจง ขึ้นอยู่กับบริบทเฉพาะ ขึ้นอยู่กับรายละเอียดเฉพาะของแต่ละกรณี แต่ทั้งหมดนี้จะทำความเข้าใจได้เมื่อเชื่อมโยงการกระทำเหล่านั้นเข้ากับโครงสร้างของสังคม และโครงสร้างหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือคือ gender" รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ กล่าวส่งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท