Skip to main content
sharethis


วันนี้ (21 พ.ย.50) ที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นำโดย รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, ผศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์,ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล,อ.ไพสิฐ พานิชกุล,อ.ชำนาญ จันทร์เรือง ฯลฯ ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ "ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร : ความมั่นคงของกองทัพหรือของสังคมไทย?" โดยชี้ชัดว่า เป็นกฎหมายที่เสริม "รัฐทหารอำนาจนิยม" เป็นการให้อำนาจแบบล้นฟ้า ที่มุ่งสร้างความมั่นคงให้กับกองทัพ(โดยเฉพาะกองทัพบก) แต่ไม่ได้เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับสังคมแต่อย่างใด


แถลงการณ์ฉบับดังกล่าว ระบุว่า ท่ามกลางความคาดหวังว่าสังคมไทยกำลังจะเดินหน้ากลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กำลังจะเป็นร่างกฎหมายที่นำสังคมไทยกลับไปซุกอยู่ภายใต้อำนาจของกองทัพอีกครั้ง หากมีการประกาศใช้เป็นกฎหมายเกิดขึ้น ถึงแม้จะมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลโดยผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งก็ตาม โดยมีเหตุผลสำคัญ 3 ข้อด้วยกัน


ประการแรก เป็นการเขียนกฎหมายที่ให้อำนาจครอบจักรวาลแก่หน่วยงานด้านความมั่นคงในการปฏิบัติงาน


ร่างกฎหมายฉบับนี้ ให้ความหมายของคำว่าความมั่นคงไว้อย่างกว้างขวาง สามารถถูกตีความให้ครอบคลุมสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างครอบคลุมตามอำเภอใจ รวมทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ก็จะมีอำนาจล้นฟ้าในการที่ "ป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไข หรือบรรเทาสถานการณ์" ซึ่งรวมถึงมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเคอร์ฟิว การกำหนดห้ามเข้าพื้นที่ที่กำหนด ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นการกระทำที่มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน


ประการที่สอง ขณะที่เป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง แต่กลับปรากฏว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจ


เนื่องจากตามร่าง ได้กำหนดให้การกระทำตามร่างกฎหมายนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครอง และยังยกเว้นความรับผิดทางแพ่งทางอาญา หรือวินัยให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการตามร่างกฎหมายฉบับนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามร่างกฎหมายนี้ ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ในการดำเนินการหรือปฏิบัติหน้าที่ด้วยนับว่าเป็นร่างกฎหมายที่ทำลายหลักการประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างสิ้นเชิง


ประการที่สาม ร่างกฎหมายฉบับนี้คือการสร้างรัฐทหารอำนาจนิยมไว้ภายในระบอบประชาธิปไตย


หากมีการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้น แม้จะมีการเลือกตั้งและมีการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากพลเรือน แต่สังคมไทยก็ยังต้องอยู่ใต้ระบอบอำนาจนิยมที่ดำเนินการโดยกองทัพอีกต่อไป เนื่องจากได้รับอำนาจตามกฎหมายฉบับนี้ สังคมไทยหลังการเลือกตั้งจึงอาจไม่กลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยดังที่คาดหมายกันอยู่ในปัจจุบัน


คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มุ่งสร้างความมั่นคงให้กับกองทัพ(โดยเฉพาะกองทัพบก) แต่ไม่ได้เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับสังคมแต่ประการใด และยังจะเป็นการขัดขวางกระบวนการในการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยของสังคมไทย



หลังจากที่มีการอ่านแถลงการณ์เสร็จสิ้น นักวิชาการ ม.เที่ยงคืน ได้ร่วมกันนำ ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มาเผาไฟ ก่อนแสดงความเห็นเพิ่มเติม


โดย ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ในนามนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวว่า เรากำลังคาดหวังกันว่า หลังเลือกตั้งเสร็จ เราจะมีรัฐบาลพลเรือนผสม เพื่อนำไปสู่เสรีประชาธิปไตย แต่ว่าร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ฉบับนี้ รวมไปถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงฉบับอื่น ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก หรือพรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งระบอบประชาธิปไตยของไทย มันมีสิ่งที่เรียกว่า "รัฐทหารอำนาจนิยม" ขึ้นมาดำรงอยู่ ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ตาม ซึ่งตนคิดว่าภายหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 บอกว่าจะไม่สืบทอดอำนาจ แต่ร่างกฎหมายนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ เรากำลังจะมีรัฐทหารอำนาจนิยมแทรกอยู่ในระบอบประชาธิปไตยต่อไปเรื่อยๆ หากร่างกฎหมายตัวนี้ผ่าน


รศ.สมเกียรติ ตั้งนะโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวเสิรมว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯที่นิยามคำว่า ความมั่นคงเอาไว้อย่างกว้างขวาง ทำให้วิธีการปฏิบัติเต็มไปด้วยความคลุมเครือ ไม่ชัดเจนแล้วอาจจะกลายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามได้ง่าย นอกจากนี้ในรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้หากพิจารณาดูดีๆ แล้วจะเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเรื่องของการบริหารและการจัดวางอำนาจของหน่วยงานนี้กับหน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะในระดับภูมิภาคหรือจังหวัด ทั้งหมดเลยประมาณ 70-80 % อำนาจจะอยู่ที่ใครบ้าง? การบริหารงานจะเป็นแบบไหน? แล้วอำนาจของเจ้าหน้าที่นั้นได้รับการยกเว้นอย่างไร?


"ทั้งหมดนี้เป็นการใช้อำนาจแบบล้นฟ้า คลุมเครือในเรื่องความมั่นคง สรุปก็คือร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กลายเป็น พ.ร.บ.การจัดตั้งหน่วยงาน กอ.รมน.ให้ชัดเจนขึ้นหลังจากที่บทบาทของ กอ.รมน. จางหายไปสู่บทบาทหน้าที่ใหม่นั้น การสิ้นสุดของไทยคอมมิวนิสต์ ตอนนี้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับทหารการเมืองบางกลุ่ม ให้ใช้ประโยชน์จากร่มศาลาที่เรียกว่า กอ.รมน.นี้ต่อไป เพื่อกำจัดคู่แข่งทางการเมือง แถลงการณ์ของเรากล่าวไว้ชัดเจนแล้วว่า พ.ร.บ.นี้ไม่เป็นประโยชน์ใดๆ ต่อสังคมไทยเลย แล้วใช้วิธีการเขียน พ.ร.บ. แบบในสภาวะสงครามนำมาใช้กับสถานการณ์ปกติ ซึ่งผิดปกติมาก ในขณะที่ทั่วโลกกำลังเดินทางไปสู่เสรีประชาธิปไตย แต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ กลับทำให้ประเทศไทยถอยหลัง" รศ.สมเกียรติ กล่าว


เมื่อผู้สื่อข่าวถาม ถ้ามีการแปรญัติร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวให้มีความรัดกุมมากขึ้น จะยอมรับได้หรือไม่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นก็ไม่จำเป็นต้องมีเลยดีกว่า เพราะมันมีกฎหมายอื่นรองรับอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น พรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน และที่แรงกว่านั้นก็มีกฎอัยการศึก ซึ่งสามารถประกาศภาวะสงครามได้เลยทันที และการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2550 ที่ผ่านมา เมื่อดูภาพรวมในประเทศไทยแล้ว เป็นการใช้สถานการณ์ในภาวะสงครามมากำจัดคู่แข่งทางการเมืองอย่างชัดเจน ซึ่งการนำกฎหมายที่สำคัญมาใช้เพื่อผลประโยชน์ของตนเองแบบนี้ เป็นสิ่งที่น่าละอายอย่างยิ่ง


"ผมคิดว่าประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ประเทศไทยเคยเป็นประเทศที่ค่อนข้างมีประชาธิปไตยกว่าประเทศอื่นๆ แต่ปัจจุบันเราเดินอยู่เคียงข้างประเทศในเอเชียอาคเนย์ที่เป็นเผด็จการมากขึ้น สื่อมวลชนถูกจำกัดสิทธิ์มากน้อยแค่ไหนก็จะเห็นได้จาก พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับไอซีทีที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้จะเห็นว่ามันมาจากมดลูกเน่าๆ ฉะนั้นเราจึงได้ทารกปีศาจ" อธิการบดี ม.เที่ยงคืน กล่าว


อย่างไรก็ตาม อธิการบดี ม.เที่ยงคืน ได้เชิญชวนสื่อมวลชนได้ช่วยกันเป็นกระบอกเสียงนำเสนอข่าวปัญหาเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ความมั่นคง ฉบับนี้ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ เพื่อให้ประชาคมโลกได้รับรู้ ซึ่งตอนนี้หลายองค์กรทั่วโลกกำลังจับตามองดูอยู่


เมื่อผู้สื่อข่าวถามท่าทีของพรรคการเมืองมอง ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคง อย่างไรนั้น "ผศ.สมชาย ปรีชาศิลปะกุล" กล่าวว่าพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นมาในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งนี้ คำถามก็คือว่านักการเมืองต่างๆ เหล่านี้มีนโยบายอะไรเกี่ยวกับเรื่อง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ บ้าง เกี่ยวกับรัฐอำนาจนิยม ซึ่งตนคิดว่าไม่มี สังคมต้องถามก่อนที่จะมีการเลือกตั้งก็คือว่า พรรคการเมืองแต่ละพรรค มีนโยบายหรือมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการใช้อำนาจแบบอำนาจนิยมที่เห็นอยู่ในร่างกฎหมายนี้


"แต่เป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก ที่ไม่มีนักการเมืองคนไหนพูดถึงเรื่องนี้เลยสักแอะ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญกับสังคมมาก อย่างไรก็ตาม ถ้านักการเมืองไม่สนใจ แต่อยากให้สังคมไทยร่วมกันกดดันให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ความมั่นคง กันต่อไปหลังจากการเลือกตั้ง ภายใต้บรรยากาศที่มันเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้" ผศ.สมชาย กล่าว


ผศ.สมชาย กล่าวเสริมอีกว่า แม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นคนชี้ว่ากฎหมายนี้จะผ่านหรือไม่ผ่าน แต่เราคิดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการสร้างแรงกดดันให้เพิ่มมากขึ้น การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ต่อร่างกฎหมายนี้มีแรงกดดันมากพอสมควร อย่างน้อยก็ทำให้ สนช.เป็นจำนวนมากไม่ไปประชุม ซึ่งการประชุมหลายๆ ครั้งไม่เคยมี สนช.ขาดประชุมมากขนาดนี้


"ดังนั้น เราต้องให้ความหวังกับสังคม เข้าใจว่าสังคมไทยกำลังถูกกดดัน แต่ถึงที่สุดแล้วถ้าหากร่างกฎหมายนี้ผ่าน ภายหลังการเลือกตั้งมันก็มีกระบวนการที่เราสามารถจะแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายนี้ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทั้งหมด แต่สิ่งที่อยากให้สังคมทั้งหมดร่วมในตอนนี้คือ การเข้าใจปัญหาและมีแรงกดดัน แม้ว่า สนช.จะผ่านร่างกฎหมาย แต่เราจะแก้กฎหมายหลังการเลือกตั้งและมีรัฐบาลที่มาจากพลเรือน"


ทั้งนี้ นายไพสิฐ พานิชกุล นักวิชาการ ม.เที่ยงคืน ได้กล่าวในตอนท้ายว่า ในวันที่ 10 ธ.ค.นี้ ทางทีมนักวิชาการ ม.เที่ยงคืน จะจัดเวทีเสวนาวิชาการที่ ม.ธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการเผยแพร่และรณรงค์ให้สังคมไทยตื่นตัวในเรื่อง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวด้วย.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net