Skip to main content
sharethis

ประชาไท 21 พ.ย. 2550 คณะกรรมการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ออกแถลงการณ์เรียกร้อง สนช. ยุติบทบาทในการพิจารณากฎหมายทุกฉบับโดยทันที ระบุ เหลือเวลาดำรงตำแหน่งอีกเพียง 35 วัน แต่กลับยังเร่งพิจารณากฎหมายหลายฉบับที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน


 


แถลงการณ์


หยุด สนช. ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน


 


เหลือระยะเวลาอีกเพียง ๓๕ วันสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึง แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กลับยังคงเดินหน้าเร่งผ่านกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกหลายฉบับ อาทิ ร่างพรบ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.. ..., ร่างพรบ.น้ำ พ.. ..., ร่างพรบ.ป่าชุมชน พ.. ..., ร่างพรบ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.. ..., ร่างพรบ.ยา พ.. ... รวมทั้งพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องการกับการสื่อสารของประชาชนอีกหลายฉบับ


 


การพิจารณาร่างกฎหมายแต่ละฉบับย่อมมีความสำคัญกับประชาชนและสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะการบังคับใช้กฎหมายจะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยตรง รวมทั้งมีผลผูกพันกับสังคมไปอีกยาวนานโดยไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลชุดหนึ่งชุดใดโดยตรง


 


กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพและการสื่อสารของประชาชนและสื่อมวลชน ที่ผ่านการพิจารณาของ สนช. และมีผลบังคับใช้แล้วมีจำนวน ๒ ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ และ พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ส่วนร่างกฎหมายที่อยู่ในวาระการพิจารณาของ สนช. ได้แก่ ร่างพรบ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ... และร่างพรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ...


 


ทั้งนี้ร่างพรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ... ฉบับรัฐบาล ได้ผ่านการพิจารณาของสนช.โดย รับหลักการในวาระแรกด้วยคะแนน ๔๔ เสียง จากสมาชิกสนช.ที่ได้รับการแต่งตั้งทั้งหมด ๒๔๒ คน จึงไม่อาจนับได้ว่ามีความชอบธรรม ประการสำคัญคือเนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับนี้ มีสาระที่ปฏิเสธเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อที่ประชาชนร่วมผลักดันมากว่าสิบปี ด้วยการให้กรมประชาสัมพันธ์ กองทัพ หน่วยงานราชการ รวมถึงเอกชนรายใหญ่ที่ได้รับสัมปทาน คงอภิสิทธิ์ในทรัพยากรคลื่นความถี่ และจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อด้วยการให้อำนาจองค์กรอิสระสั่งระงับรายการได้ด้วยวาจา


 


อีกทั้งการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแปรญัตติจำนวน ๒๗ คน มีรายชื่อของผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการวิทยุและโทรทัศน์ ทั้งหน่วยงานราชการหรือเอกชน ซึ่งมีลักษณะของผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างชัดเจน ฉะนั้นการที่สภานิติบัญญัติชุดชั่วคราวรับหลักการร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการโครงสร้างสื่อซึ่งเกี่ยวพันกับผลประโยชน์มหาศาลเช่นนี้ ย่อมเป็นข้อบ่งชี้ถึงสัญญาณอันตรายต่อประชาชนและประเทศชาติ


 


ดังนั้นสภานิติบัญญัติที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร อันประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมาก หากยังมีความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ย่อมไตร่ตรองได้ว่านอกจากสถานะที่ได้มาขาดความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยแล้วยังอยู่ในสถานะชั่วคราว ที่สำคัญต้องไม่ตรากฎหมายขึ้นโดยละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน


 


หากสมาชิก สนช. กระทำเช่นนั้นเท่ากับเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย และยังอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่า เป็นการสนองคุณคณะรัฐประหารที่นำโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช.


 


ดังนั้นการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รีบเร่ง รวบรัด พิจารณาร่างกฎหมายที่สำคัญหลายฉบับที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระยะยาว ทั้งที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว รวมถึงการที่รัฐธรรมนูญ พ..๒๕๕๐ มาตรา ๓๐๓ (๑) ได้กำหนดให้รัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการเลือกตั้งเป็นผู้จัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายในหมวด ๓ สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ ๗ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน ให้เสร็จเรียบร้อยภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา หน้าที่ดังกล่าวจึงเป็นภารกิจของรัฐบาลใหม่ มิใช่สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดนี้ที่กำลังหมดวาระลง


 


 ดังนั้น คปส. จึงขอเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ยุติบทบาทในการพิจารณากฎหมายทุกฉบับโดยทันที จนกว่าจะมีรัฐสภาที่มาจากระบอบประชาธิปไตยทำหน้าที่ต่อไป พร้อมการตรวจสอบถ่วงดุลจากภาคสังคม


เพราะการบีบบังคับใช้กฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยปราศจากความชอบธรรม ย่อมส่งผลร้ายแรงต่อศักดิ์ศรีของพลเมืองและความมั่นคงของประเทศชาติในระยะยาว


 


                                                                                   ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิและเสรีภาพ


 


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส)


๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net