เขื่อนน้ำโขง "ความหายนะของชีวิตและระบบนิเวศ"

วันที่ 13 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เวลา 10.30 โครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า จัดงานแถลงข่าวเรื่อง "ยังควรมีคณะกรรมาธิการแม่โขง (MRC) อยู่อีกหรือ หากจะมี 6 เขื่อนบนแม่นํ้าโขงสายหลัก" ณ ที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศ ถ.เพลินจิต โดยมีนายสุริชัย หวันแก้ว สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นางเปรมฤดี ดาวเรือง ผอ.โครงการมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ และเพียรพร ดีเทศน์ โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมแถลงข่าว

 

สืบเนื่องจากการที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission หรือ MRC) และประเทศผู้บริจาคเตรียมประชุมหารือประจำปีในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550  ที่ จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา กลุ่มภาคประชาสังคมในประเทศแม่น้ำโขง 126 กลุ่มได้เรียกร้องให้ MRC ปฏิบัติพันธกิจในการปกป้องแม่น้ำโขงตาม "ข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน" ปี 2538  เมื่อมีกระแสข่าวว่าโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก 6 แห่งถูกหยิบยกขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง

 

นายสุริชัย หวันแก้ว สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า   "คณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขงมีความสำคัญ เนื่องจากมีหลายประเทศอยู่รวมกัน ขณะนี้กำลังเผชิญกับสถานการณ์ใหม่ คือ การสร้างเขื่อนที่เพิ่มมากขึ้นประเทศในภูมิภาคนี้จึงต้องการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการผลิตไฟฟ้า ขณะเดียวกันประชาชนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ส่วนมากต้องอาศัยแหล่งอาหารและระบบนิเวศ ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาด้วยความสมดุล ปัญหาภูมิภาคลุ่มแม่นํ้าโขงไม่ได้มีแค่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่อาจจะมีปัญหาการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และปัญหาของชีวิตในชุมชนที่ถูกคุกคามด้วยสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น เขื่อน"

 

ปัจจุบันคณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขงไม่มีประสิทธิภาพพอ เนื่องจากไม่เปิดเผยข้อมูลกับชาวบ้านว่าพวกเขาจะได้รับผลกระทบอะไรบ้างจากการพัฒนาดังกล่าว ซึ่งผลกระทบนั้นไม่ใช่แค่เพียงเล็กน้อย แต่หมายถึง "ความหายนะของชีวิตและระบบนิเวศ" ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหากมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง จากรายงานของ MRC ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2547 ระบุว่าเขื่อนเป็นภัยคุกคามต่ออนาคตของพันธุ์ปลาและการประมงในลุ่มแม่น้ำโขง

 

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าจุดสร้างเขื่อนดอนสะฮอง ทางตอนใต้ของลาว และเขื่อนซำบอ ทางตอนเหนือของกัมพูชาเป็นพื้นที่ที่เลวร้ายที่สุดสำหรับการสร้างเขื่อน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อการประมงซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก

 

รายงานฉบับล่าสุดซึ่งตีพิมพ์โดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติกัมพูชา ระบุว่า "ยังไม่พบผลดีของเขื่อนต่อการประมงในระยะยาว และยังไม่เคยมีมาตรการลดผลกระทบต่อการประมงที่มีประสิทธิภาพสำหรับลุ่มแม่น้ำโขง"

 

คณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขงต้องถูกตรวจสอบโดยประชาคมแม่นํ้าโขง และต้องออกมายืนยันพันธกิจในการอนุรักษ์แม่นํ้า และแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อโครงการเขื่อนเหล่านี้ในทันที เปรมฤดีกล่าว

 

ด้านเพียรพร ดีเทศน์ โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า "ในบรรดาเขื่อนที่มีการผลักดันให้สร้างบนแม่น้ำโขงหลัก 6 เขื่อนในขณะนี้ เขื่อนดอนสะฮองถือว่ามีความคืบหน้ามากที่สุดในขณะนี้ และอาจจะเป็นเขื่อนที่มีการผลักดันให้เกิดขึ้นบนแม่น้ำแม่โขงทางตอนล่างเป็นเขื่อนแรก ถึงแม้ว่าผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนดอนสะฮองจะอ้างว่า เขื่อนนี้ไม่ได้สร้างคร่อมแม่น้ำโขงทั้งสาย อย่างไรก็ตามเขื่อนจะสร้างบริเวณ "ฮูสะฮอง" ซึ่งเป็นเส้นทางการอพยพที่สำคัญของปลา เป็นพื้นที่หาปลาที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของแม่น้ำโขงตอนล่าง ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาของนักวิทยาศาสตร์จาก World Fish Center" ยังชี้ให้เห็นอีกว่าฮูละฮองก็ย่อมเท่ากับเป็นการปิดกั้นเส้นทางการอพยพของปลา ในส่วนของประเทศไทย ปลาในลำน้ำสาขาของแม่โขงทั้งในภาคเหนือและอีสาน เช่น แม่น้ำกก แม่น้ำอิง แม่น้ำมูน/ชี และแม่น้ำสงคราม มีความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับแม่น้ำโขงสายหลัก งานวิจัยไทบ้านที่ปากมูล ซึ่งพบว่า ในจำนวนพันธุ์ปลาธรรมชาติ 126  ชนิด ที่กลับสู่แม่น้ำมูลเมื่อเปิดเขื่อนปากมูลในปี 2545 เป็นพันธุ์ปลาที่อพยพมาจากแม่น้ำโขงถึง 104 ชนิด เช่นเดียวกับงานวิจัยไทบ้านที่น้ำสงครามซึ่งระบุว่าพันธุ์ปลาธรรมชาติ 116 ชนิดนั้นเป็นปลาที่อพยพจากแม่น้ำโขงถึง 58 ชนิด   ดังนั้นการประมงของประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแน่นอน

 

อย่างน้อยที่สุด คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ต้องเปิดเผยและพิจารณาตรวจสอบการศึกษาที่ทำโดยนักวิชาการจากบริษัทผู้สร้างเขื่อนจากประเทศไทย มาเลเซีย และจีน ทั้งนี้ โดยเริ่มจากการเปิดเผยข้อมูลรายงานการศึกษาผกระทบด้านประมงของเขื่อนดอนสะฮอง ซึ่งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้ทำการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้วด้วย

 

หากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงไม่สามารถปฏิบัติพันธกิจตามข้อตกลงแม่น้ำโขงปี 2538 รวมทั้งไม่สามารถคุ้มครองความสมบูรณ์ของระบบนิเวศแม่น้ำโขงได้แล้ว การดำรงอยู่ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงย่อมไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย นอกจากเป็นเพียงหน่วยงานที่มีชื่ออยู่เท่านั้น จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับทุนช่วยเหลือจำนวนนับสิบล้านเหรียญสหรัฐต่อปี รวมทั้งไม่สมควรได้ความช่วยเหลือทางวิชาการจากประเทศผู้ให้ทุนทั้งหลาย

 

 

 





 

โครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักทางตอนล่างของลุ่มน้ำ

 

ช่วงปีที่ผ่านมามีการดำเนินการอย่างเงียบๆ และรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในลาวและกัมพูชา ซึ่งโครงการเขื่อนที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุดในขณะนี้ มีทั้งหมด 6 แห่ง ประกอบด้วย

 

1. เขื่อนปากแบ่ง แขวงอุดมไซ ประเทศลาว ขนาดกำลังการผลิต 1,350 เมกะวัตต์ มีการลงนามในเอ็มโอยู ระหว่างบริษัท ต้าถัง อินเตอร์เนชั่นแนล พาวเวอร์ เจเนเรชั่น จำกัด หนึ่งในยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานจากจีน กับรัฐบาลลาว เมื่อเดือนสิงหาคม 2550 เพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

 

2. เขื่อนไซยะบุรี กั้นแม่น้ำโขงที่แขวงไซยบุรี ขนาดกำลังการผลิต 1,260 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยบริษัท ช.การช่าง ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลลาวเพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และมีแผนจะเริ่มก่อสร้างได้ราวต้นปี 2544 บริษัทยังได้รับสัมปทานในการผลิตไฟฟ้าจากรัฐบาลลาวเป็นเวลา 30 ปี โดยคาดว่าจะสามารถขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ในปี 2548

 

3. เขื่อนปากลาย กั้นแม่น้ำโขงทางตอนใต้ของแขวงไซยบุรีติดกับแขวงเวียงจันทน์ ก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลสู่ อ.เชียงคาน จ.เลย เพียงไม่กี่กิโลเมตร เขื่อนแห่งนี้มีขนาดกำลังการผลิต 1,320 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของจีนที่ชื่อไซโนไฮโดร และไชนาเนชันแนลอิเล็กทรอนิกส์ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลลาวเพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ และจะได้รับสัมปทานในการผลิตไฟฟ้าจากรัฐบาลลาวเป็นเวลา 30 ปี ทั้งนี้ บริษัทไซโนไฮโดร คือ บริษัทเดียวกันกับที่ได้ลงนามเพื่อร่วมสร้างเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำสาละวินในพม่า

 

4. เขื่อนบ้านกุ่ม ชายแดนไทย-ลาว บริเวณ ต.โพธิ์ไทร อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ตรงข้ามกับแขวงจำปากศักดิ์ ทางกระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ว่าจ้างให้บริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท มาโก้ คอนซัลแตนท์ ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

 

5. เขื่อนดอนสะฮอง กั้นแม่น้ำโขงที่บริเวณน้ำตกคอนพระเพ็ง ในเขตเมืองโขง แขวงจำปาสัก ทางตอนใต้ของลาว ห่างจากชายแดนกัมพูชาเพียง 1 กิโลเมตร มีขนาดกำลังผลิต 240 เมกะวัตต์ โดยเมื่อปี 2549 รัฐบาลลาวได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับบริษัท เมกะเฟิรสท์คอร์ป ของมาเลเซีย เพื่อพัฒนาโครงการซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างทำการศึกษา โดยจะใช้เงินลงทุนราว 10,000 ล้านบาท และวางแผนที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2553

 

6. เขื่อนซำบอ ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 3,300 เมกะวัตต์ โดยบริษัท ไชนาเซาเทิร์นพาวเวอร์กริด บริษัทพลังงานจากจีนได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลกัมพูชาเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และให้บริษัทลูกทำการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับโครงการเพื่อนำเสนอรัฐบาลกัมพูชา  ข้อมูลเบื้องต้นชี้ว่าเขื่อนซำบอจะพาดขวางกลางลำน้ำโขง ที่ซำบอ เหนือเมืองกระแจ๊ะ ตัวเขื่อนคอนกรีตจะมีความยาวมากกว่า 1 กิโลเมตร มีบานประตูทั้งหมด 44 บาน (เขื่อนปากมูลมีบานประตู 8 บาน) พร้อมด้วยเขื่อนดินขนาบปิดกั้นลำน้ำทางฝั่งซ้ายและขวาอีกร่วม 4 กิโลเมตร

 

ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวของเขื่อนแห่งที่ 7 คือ เขื่อนผามอง กั้นแม่น้ำโขงชายแดนไทย-ลาว บริเวณอ.ปากชม จ.เลย ตรงข้ามกับแขวงเวียงจันทน์ ทางกระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ว่าจ้างให้บริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท มหานคร คอนซัลแตนท์ ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งรายงานระบุว่า เขื่อนแห่งนี้มีกำลังผลิตติดตั้ง 1,482 เมกกะวัตต์

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท