Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2550 โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และศูนย์วิจัยทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดการเสวนาทางวิชาการ "ทหารกับการเมืองในพม่า" โดยมีผู้นำเสวนา ได้แก่ นายดุลยภาค ปรีชารัชช นักวิจัยอิสระ, ร.อ.ชุมพล รักงาม, พ.ต.หญิง ขวัญสุชา หงส์ไกรเลิศ และนายอดิศร เกิดมงคล ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


นายดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับการย้ายเมืองหลวงของพม่า ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเมืองหลวงใหม่ เปียงมะนา หรือ "เนปิดอว์" ของพม่า โดยอาศัยภาพถ่ายจากดาวเทียมที่มองเห็นถึงลักษณะการวางผังเมืองและภูมิประเทศโดยรอบ ตั้งอยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำสะโตงตอนบน ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ซึ่งนายดุลยภาคกล่าวว่าการตั้งเมืองเช่นนี้ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่ หากดูจากประวัติศาสตร์ของประเทศพม่าและของอุษาคเนย์ว่า มีรัฐจำนวนมากที่เลือกตั้งเมืองหลวงในลักษณะนี้และมีเจริญรุ่งเรือง นอกจากนี้ยังพบว่าเมืองเนปิดอว์ลักษณะคล้ายคลึงกับนครอังการาของตุรกี หรือ บราซิเลียของบราซิล


 


สำหรับการย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปเปียงมะนานั้น นายดุลยภาคมองว่าเป็นยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาลทหารพม่า โดยมีปัจจัยหลัก 3 ประการคือ


 


1) การรักษาความมั่นคงทางการเมืองและการทหาร ด้วยความหวาดระแวงจากภัยคุกคามต่าง ๆ เช่น การลุกฮือของประชาชนในเขตเมืองย่างกุ้งซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วในปี ค.ศ. 1988 ซึ่งเมืองเนปิดอว์จะกลายเป็นศูนย์อำนาจสำคัญที่ง่ายต่อการเข้าควบคุมหรือปราบปรามประชาชน รวมทั้งเพื่อที่จะขยายอำนาจควบคุมรัฐของชนกลุ่มน้อยด้านตะวันออก โดยเฉพาะ รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง และกะเรนนี ที่ยังต่อต้านรัฐบาลอยู่ ตลอดจนกลัวการรุกรานทางทะเลของสหรัฐอเมริกา โดยเนปิดอว์นั้นเหมาะสมที่จะใช้ภูเขาเป็นปราการป้องกัน


 


2) การพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณพื้นที่ตอนใน มีการขยายพื้นที่การเกษตรของภาคมัณฑะเลย์ในเขตลุ่มแม่น้ำสะโตง เพื่อผลิตเสบียงอาหารให้กองทัพ มีการวางระบบชลประทานเชื่อมโยงกับลุ่มแม่น้ำอิรวดี พัฒนาระบบคมนาคมเชื่อมต่อจีน อินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพลังงานน้ำจากเขื่อนสาละวิน ซึ่งการพัฒนาในประเทศพม่าจะส่งผลดีทางเศรษฐกิจในอนาคตอย่างมาก


 


3) การสร้างอำนาจของระบอบทหารและบารมีของผู้นำ โดยมีการนำขนบประเพณีโบราณตามแบบกษัตริย์พม่าโบราณมาใช้ เช่น การยกยอดฉัตรเจดีย์สำคัญๆ  ความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ที่มีข่าวลือว่าโหรประจำตัวพลเอก ตานฉ่วย ทำนายว่าดาวประจำตัวผู้นำเริ่มอับแสง เพื่อจะรักษาอำนาจไว้ต้องย้ายเมืองหลวงออกจากย่างกุ้ง นอกจากนี้การย้ายเมืองหลวงยังแสดงถึงกระบวนการต่อต้านและปลดแอกพม่าออกจากลัทธิอาณานิคม เนื่องจากย่างกุ้งถูกสถาปนาขึ้นโดยอังกฤษ  


 


ในแง่ของการย้ายเมืองหลวงอาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ มีความเห็นเพิ่มเติมว่า เมืองเนปิดอว์นั้นน่าจะมีจุดประสงค์ทางความมั่นคงของทหารมากกว่ามุ่งไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจหรือการค้าเหมือนเมืองย่างกุ้ง ดังนั้นจึงไม่แน่ใจว่าเมืองหลวงใหม่จะสามารถเจริญรุ่งเรืองหรือประสบความสำเร็จในเชิงสังคมและเศรษฐกิจได้ ซึ่งต้องเป็นเรื่องที่ต้องคอยดูกันต่อไป


 


สำหรับมุมมองของทหารไทยที่มีต่อพม่านั้น ร.อ.ชุมพล รักงาม และพ.ต.หญิงขวัญสุชา หงส์ไกรเลิศ มองรัฐบาลทหารพม่าในเชิงยุทธศาสตร์แห่งชาติของพม่า ว่าไม่มีการแบ่งแยกสหภาพ ไม่มีการแบ่งแยกความเป็นปึกแผ่นของชาติ และมีอธิปไตยมั่นคงถาวร ส่วนยุทธศาสตร์ทางการทหารนั้น มองว่ากองทัพพม่ามีวิธีการรบแบบกองโจร และทหารพม่าเป็นกองกำลังสำคัญในการปราบปรามชนกลุ่มน้อย และไม่มีนโยบายยุ่งเกี่ยวหรือรุกรานประเทศอื่น โดยที่สถานการณ์ภายในพม่านั้นจะเห็นว่ารัฐบาลทหารพม่ามีนโยบายแข็งกร้าวในการปราบปรามชนกลุ่มน้อย และพบว่ามีการตั้งหน่วยป้องกันภัยทางอากาศหลายหน่วย พร้อมทั้งยังมีการพัฒนาศักยภาพทหารทั้งทางบก ทางทะเลและทางอากาศ ในมุมมองของทหารไทยนั้นก็ชมว่าพม่ามีหน่วยข่าวกรองที่ยอดเยี่ยม แต่ก็ยังเป็นกังวลอย่างมากเรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในพม่า


 


อย่างไรก็ตามยุทธศาสตร์ของกองทัพไทยตามแนวชายแดน ก็จะพบว่ามีฐานกำลังประจำอยู่ตามพื้นที่แนวชายแดน โดยมีภารกิจในการป้องกันชายแดน จัดระเบียบ สร้างความสัมพันธ์ ซึ่งก็ยังมีกรอบความคิดที่ว่าปัญหาความสงบในพม่าทำให้รัฐบาลต้องเสียกำลังคนและงบประมาณในการที่ต้องเข้าไปแก้ไขปัญหา เช่น ยาเสพติด การพนัน ผู้หลบหนีเข้าโดยผิดกฎหมาย ผู้หนีภัยจากการสู้รบ และปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ


 


ส่วนกรณีการย้ายเมืองหลวงใหม่ไปที่เนปิดอว์นั้น ก็พบว่ามีการส่งกำลังบำรุงให้กองทัพ และเชื่อว่ามีวัตถุประสงค์ในการควบคุมชนกลุ่มน้อยมากกว่า รวมทั้งยังเหมือนเป็นการแย่งชิงทรัพยากรที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ชนกลุ่มน้อย เช่น ควบคุมการก่อสร้างเขื่อนสาละวิน


 


นายอดิศร เกิดมงคล ได้อภิปรายถึง เรื่อง "ขบวนการนักศึกษาในปี 88 จนถึง 5 กันยายน 2007" โดยเห็นว่า ขบวนการนักศึกษาในปี 1988 ไม่ได้มีการจัดตั้งหรือสร้างรูปแบบเป็นองค์กรที่ชัดเจน และยังเป็นการเคลื่อนไหวในลักษณะการทำงานแบบใต้ดิน โดยขบวนการนักศึกษามีพัฒนาการมาก่อนหน้าเหตุการณ์นี้แล้ว เช่น การประท้วงในสมัยเนวิน ที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง นายอดิศร ยังตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์เดินขบวนประท้วงในพม่าเมื่อปี 88 นั้น ไม่แยกขาดจากกระแสการเมืองโลกเท่าไรนัก เช่น เหตุการณ์เทียน อัน เหมิน ของจีน ในปี 1989 ฟิลิปปินส์ ในปี 1986 ซึ่งมีลักษณะการนำตัวเองไปสัมพันธ์กับโลกภายนอก รวมทั้งอิทธิพลจากงานเขียนจากนักคิดตะวันตก เหมือนนักศึกษาไทยหรือกระแสโลกขณะนั้น ที่เรียกว่า "การเคลื่อนไหวของเพลงร็อค" ส่วนวิธีการเคลื่อนไหวก็นำโดยกลุ่มของ มิน โก นาย เป็นตัวหลัก และมีกลุ่มอื่น ๆ เคลื่อนไหวอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ เหมือนเป็นดาวกระจาย


 


หลังจากเหตุการณ์ในปี 1988 ก็เกิดแตกออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ  ของนักศึกษา เช่น กลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวใต้ดิน นำโดย มิน โก นาย  มีการจัดตั้งพรรค DPNS ที่ไม่ลงเลือกตั้งแต่สนับสนุนพรรคเอ็นแอลดี บางส่วนที่หนีออกนอกประเทศก็ก่อตั้งกลุ่มย่อย ๆ หลายกลุ่ม เช่น กลุ่มนักศึกษาพม่าเพื่อประชาธิปไตย (ABSDF)  สำหรับเหตุการณ์เมื่อเดือนกันยายน 2007 ก็มีคำถามว่าขบวนการนักศึกษาในพม่าหายไปไหน แม้จะเห็นภาพว่าเป็นการเคลื่อนไหวของพระสงฆ์ แต่จริง ๆ แล้วก็มีอิทธิพลของคนรุ่นปี 88 อยู่ด้วย ก่อนหน้าการเดินขบวน ก็มีกลุ่มนักศึกษารุ่นปี 88 นัดกันแต่งชุดขาวไปสวดมนต์ตามวัดหรือศาสนสถานตามเมืองต่างๆ ของพม่า มีการล่ารายชื่อเพื่อเรียกร้องต่อที่ประชุมสมัชชาขององค์การสหประชาชาติ และมีแกนนำหลายคนถูกจับ


แต่สิ่งที่น่าสนใจมากในครั้งนี้ โดยนายอดิศรมองว่าเป็น การเคลื่อนไหวของ blogger และ youtube ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ และเห็นว่าส่วนมากเป็นแรงงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ในเมืองที่มีโอกาสเข้าถึงโลกอินเตอร์เน็ท และมีการอัพเดทสถานการณ์นาทีต่อนาที ส่วนกระบวนการจัดตั้งประชาชนในออกมาประท้วง ก็น่าจะเกิดจากกลุ่มต่าง ๆ ที่มีประสบการณ์การเคลื่อนไหวเมื่อ ปี 88 และน่าจะมีการบอกเล่าเหตุการณ์สู่คนรุ่นหลังในครอบครัวกันเองหรือแบบปากต่อปาก เพราะประวัติศาสตร์ในแบบเรียนของพม่าไม่มีการพูดถึงเหตุการณ์นี้


 


นอกจากนี้ยังพบว่ามีการเคลื่อนไหวภายนอกประเทศพม่าอยู่ทั่วโลก มีกลุ่มต่าง ๆ เช่น นักการเมืองและนักเคลื่อนไหว สื่อมวลชน นักวิชาการ และกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญที่สุด คือ สื่อมวลชนพม่าที่อยู่นอกประเทศ เช่น The Irrawaddy หรือ Mizzima ขณะที่กลุ่มนักวิชาการแทบไม่มีบทบาทในครั้งนี้ เพราะมุ่งประเด็นที่การวิเคราะห์เศรษฐกิจ สังคมในอนาคต ซึ่งไม่อยู่ในชีวิตประจำวันของประชาชน แต่กลุ่มที่น่าสนใจ คือ บรรดานักเคลื่อนไหวที่เป็นคนพลัดถิ่นในประเทศต่าง ๆ เช่น ผู้ลี้ภัย หรือ กลุ่มแรงงาน ซึ่งยังมีความผูกพันกับบ้านเกิดมากกว่า ทำให้เกิดภาวะ พม่ากระจายไปทั่วโลก ผ่านโลกไซเบอร์ และฟอร์เวิดเมล์ ที่รัฐบาลทหารพม่าไม่สามารถจะหยุดยั้งได้


 


นายอดิศร เชื่อว่าขบวนการนักศึกษาในทุกวันนี้ได้เปลี่ยนเป็นขบวนการภาคประชาชนแบบยืดหยุ่น และเหตุการณ์ต่อไปไม่น่าจะจบเหมือนเมื่อครั้ง ปี 1988 และมีสัมพันธ์กับโลกภายนอกมากขึ้น มีการศึกษาบทเรียนจากโลกตะวันตก การสร้างเครือข่ายของกลุ่มนักเคลื่อนไหวกันแบบหลวม ๆ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ครั้งนี้ของพม่าจะเป็นบทเรียนอันดีสำหรับการเคลื่อนไหวใดๆในอนาคต


 


Burma Peace Group : เพื่อสันติภาพของประชาชนในพม่า


 


burmapeacegroup@gmail.com


 


Burma Peace Group เป็น คณะทำงานเฉพาะกิจที่เกิดจากการรวมตัวของนักวิชาการ สื่อมวลชน นักพัฒนา ที่คลุกคลีกับประเด็นพม่ามาโดยตลอด พวกเรามีความคิดเห็นว่าท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมในประเทศพม่าที่เริ่มมา ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2550 เป็นต้นมา สามารถรุนแรงจนถึงขั้นวิกฤติได้ในอนาคต ทำให้มีความจำเป็นที่สังคมไทยจะต้องรับรู้ข้อมูลประเด็นพม่าในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน เพื่อช่วยให้เกิดการตัดสินใจที่จะรับมือกับสถานการณ์อย่างเท่าทัน


 


คณะทำงาน : พรพิมล ตรีโชติ งามศุกร์ รัตนเสถียร วสุ ศรียาภัย วันดี สันติวุฒิเมธี


                  อดิศร เกิดมงคล ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ สุชาดา สายหยุด


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net