Skip to main content
sharethis

ศูนย์ติดตามประชาธิปไตย สถาบันความมั่นคงและนานาชาติ  ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม และคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาทางวิชาการ "ร่าง พรบ.ความมั่นคงกับปัญหาการสั่นคลอนสิทธิริดรอนประชาธิปไตย"


 


วิเคราะห์สถานการณ์ร้อนและสำคัญระดับต้นของสังคมไทยเวลานี้ "ประชาไท" นำเสนอผ่านมุมมอง รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้อภิปรายบนเวทีแบบ "คำต่อคำ"


 


โปรดตั้งสติหลังอ่าน...


 


 


000


รศ.สุรชาติ บำรุงสุข


คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


รู้สึกว่าสังคมไทยก่อน 19 กันยายน 2549 เป็นสังคมแบบที่เราเคยเล่านิทานให้ลูกๆฟัง เรื่อง อาละดินกับตะเกียงวิเศษ เมื่อบังเอิญอาละดินแก้ปัญหาไม่ได้ จะเปลี่ยนรัฐบาลก็ไม่ได้ เลือกตั้งก็ทำท่าจะแพ้เขาอีก จึงตัดสินใจไปลากยักษ์มายึดอำนาจดีกว่า เลยถูตะเกียง พอยักษ์ออกมาจากตะเกียงเลยยึดอำนาจได้ ตอนยักษ์ออกมายึดอำนาจนั้นมีอาวุธบ้าง คนก็ตื่นเต้นไปถ่ายรูปกับยักษ์บ้าง กับรถถัง กับปืนกล แต่สังเกตหรือไม่ตอนยักษ์มายึดอำนาจองค์กรของยักษ์ไม่มีกระบอง ไม่ใช่กองทัพบอกแต่เป็น กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน)  ซึ่งเป็นองค์กรเก่าที่อยู่กับสังคมไทยมายาวนานตั้งแต่ยุคสงครามเย็นที่สู้กับคอมมิวนิสต์


 


ในยุคที่สงครามเย็นสงบในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ได้ยกเลิก พรบ.การป้องกันและปราบปรามการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์ (พรบ.คอมฯ) แต่พอยกเลิก องค์กรที่ซ้อนอยู่กับ พรบ. คอมฯ อย่าง กอ.รมน.ไม่ถูกยกเลิกด้วย เลยกลายเป็นที่พูดกันโดยสำนวนว่า กอ.รมน.เป็นยักษ์ที่ไม่มีกระบอง ดังนั้น วันหนึ่งพออาละดินเอายักษ์ออกจากตะเกียง ยักษ์จึงอยากมีกระบองด้วย


 


ข้อสังเกตสอง เกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคง หลังจาก นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรียกเลิกกฎหมายคอมมิวนิสต์แล้ว กลับมีความพยายามที่จะเปิดเวทีในปัญหาของกฎหมายความมั่นคงมาตลอด ในและยุค พล.อ.ชวลิตร ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี กฎหมายความมั่นคงก็ตกไปอีกรอบหนึ่ง คือไม่มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งยอมรับการผ่านกฎหมายความมั่นคงเข้าสู่สภา


 


แต่พอมาถึงยุคที่ยึดอำนาจหลัง 19 กันยายน 2549 ยักษ์ทั้งไม่อยากกลับเข้าตะเกียงและอยากมีกระบองด้วย อาละดินถูตะเกียงเท่าไหร่ยักษ์ก็ไม่กลับ หนักกว่านั้นคือยักษ์มีกระบองและกำลังกลัวว่ายักษ์จะอยากเอาตะบองทุบหัวอาละดิน ดังนั้น ผลพวงที่ใหญ่ที่สุดจากการรัฐประหารที่เห็นชัดคือ หนึ่งเราได้รัฐบาลที่ไม่ทำงาน สองเราได้โครงการซื้ออาวุธล็อตที่ใหญ่ที่สุด สามเราได้กฎหมายความมั่นคง (ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจัก พ.ศ....)


 


ในสภาพอย่างนี้ เราอาจโชคดีนิดหนึ่ง หลังรัฐประหารเราไม่ได้กลายเป็นรัฐทหาร เพราะคิดว่าเป็นระบอบทหารมากกว่า ระบอบการปกครองอาจจะไม่อยู่ในรูปรัฐบาลทหารเต็มรูปแต่เป็นระบอบทหารที่กองทัพเข้ามามีอำนาจทางการเมืองค่อนข้างมาก ทำให้เรานึกย้อนว่าผลพวงจาก 14 ตุลา 16 และ พ.ค. 35  ถึงวันนี้ไม่มีอะไรเหลือเหลือ เราย้อนกลับไปนานก่อน 14 ตุลามาก ขณะเดียวกัน กอ.รมน. ซึ่งไม่มีฐานะเป็นองค์กรถาวร เพราะความจริงแล้ว กอ.รมน.มีฐานะเหมือนหน่วยงานเฉพาะกิจที่อยู่กับกองทัพบก แต่ถ้ากฎหมายนี้ออก สิ่งที่เห็นชัดคือ กอ.รมน. ถูกยกฐานะให้เป็นหน่วยงานถาวร หากใช้สำนวนคือ ยักษ์เริ่มมีกระบองจริงๆ


 


ในความเป็นหน่วยงานถาวรถ้าเราคิดต่อคิด กอ.รมน. จะมีฐานะเหมือน "ทบวงความมั่นคงภายใน" ลองตั้งสติดีๆ กลับบ้าน อาบน้ำ ทานข้าวให้เรียบร้อย ทำใจให้สบายแล้วลองนั่นอ่านกฎหมายความมั่นคง (ที่ผ่าน สนช.วาระแรก) กอ.รมน.เป็นทบวบงความมั่นคงภายในโดยเราไม่รู้สึก แต่ในบางส่วน กอ.รมน.สามารถโอนคนเข้ามาปฏิบัติในหน่วยงานได้ ยิ่งถ้ามองในเชิงอำนาจ เรากำลังมีสภาความมั่นคง 2 สภาซ้อนกัน คือสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ กอ.รมน. ที่อาจเป็นสภาความมั่นคงตัวจริงถ้าดูในมาตราอำนาจในการวิเคราะห์ วินิจฉัยสถานการณ์


 


ปัญหาที่เห็นชัดคือ กระบวนการที่เกิดขึ้นในระบอบทหารที่เราเผชิญ สังคมไทยอาจจะมีทหารเข้ามายุ่งกับการเมือง แต่เราไม่มีกระบวนการทำให้อำนาจของทหารในการเมืองมีความเป็นสถาบัน พูดง่ายๆคือ ในยุคหนึ่งเราเคยมีความพยายามทำให้อำนาจของทหารเป็นสถาบันได้จริง แต่เอาเข้าจริงๆพอสถานการณ์การเมืองเปลี่ยนแล้วมันไม่เกิด แต่หากกฎหมายความมั่นคงออก การสร้างความเป็นสถาบันของอำนาจทหารในระบอบการเมืองไทยจะเกิด แต่สังคมไทยในความที่ไม่ซับซ้อนมากกับปัญหาเรื่องพวกนี้ยังไม่ค่อยรู้สึก


 


ท่านนายกรัฐมนตรี (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) บอกว่าอย่าไปกลัวเดี๋ยวท่านก็หมดวาระแล้ว ผู้บัญชาการทหารบก (พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ผบ.ทบ.) คนก่อนก็เกษียณอายุแล้ว แต่คิดว่าไม่ใช่ปัญหาตัวบุคคล ตัวกฎหมายที่กำหนดขึ้นไม่ได้ระบุว่าใครต้องเป็น ผบ.ทบ. แต่ตัวกฎหมายระบุว่า ผบ.ทบ. กำลังมีอำนาจเพิ่มเติมอย่างไรต่างหาก ตรงนี้เป็นประเด็นที่ต้องใส่ใจ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือมีคนใช้บ่อยว่าสถานะที่เกิดขึ้นคือรัฐซ้อนรัฐ แต่คิดว่าในกระบวนการที่เป็นจริง เรากำลังอยู่ภาวะที่ระบอบทหารของไทยกำลังถูกฟื้นตัวแล้วเป็นระบอบทหารที่ด้านหนึ่งมันไปอิงกับกระบวนการทางราชการ ในยุคหนึ่งมีคำที่พูดกันว่าระบอบอมาตยาธิปไตย (Bureaucratic Authoritorialism)


 


คิดว่าถ้าจะใช้มันไม่ใช่อมาตยาธิปไตยเฉย แต่สังคมไทยกำลังทำปริญญาเอ็มบีเอ คือ Military-Bureaucratic Authoritarianism คือระบอบอมาตยาธิปไตยที่อำนาจทหารเป็นแกนกลาง ไม่รู้ว่าปริญญาเอ็มบีเอสังคมไทยรอบนี้ เราที่อยู่ในสังคมไทยคิดอย่างไรและพร้อมหรือไม่ที่จะอยู่ในสังคมไทยที่มีปริญญาเอ็มบีเอ แต่ถ้าเป็นอย่างนี้น่าคิดต่อถึงอนาคตว่าเราพูดเรื่องประชาธิปไตยทำไมในเมื่อสังคมมันเป็นอย่างนั้น สังเกตหรือไม่ กฎหมายความมั่นคงรอบนี้คนไม่ค้านเท่าไหร่ สื่อก็ไม่ค่อยเล่น ในมหาวิทยาลัยก็ไม่สนใจ ถ้าเป็นยุคก่อนๆจัดหัวข้ออย่างนี้ เวทีนี้คงเต็ม แต่วันนี้คนไม่แน่น ชักเริ่มงงว่าถ้าสังคมไทยกำลังเป็นเอ็มบีเอแล้วประชาธิปไตยข้างหน้าจะเอาอย่างไร ไม่ต้องพูดถึงผลพวงของ 14 ตุลา 16 จะฉลองอะไร..ฉลองอดีตฝ่ายซ้ายบางส่วนที่เข้าไปเชียร์ทหาร ปัญหาที่เกิดคิดว่าระบอบทหารที่มากับการยึดอำนาจรอบนี้กินเนื้อลึกในสังคมไทย


 


ถ้ามองเฉพาะมุมของกฎหมาย เคยเขียนบทความชิ้นหนึ่งที่เคยสู้กับกฎหมายความมั่นคงในร่างแรก (มีการแก้ไขในฉบับร่างที่เข้าสู่การพิจารณาใน สนช. ซึ่งเป็นฉบับที่ผ่านวาระแรก) เห็นผล 6 อย่าง ถ้ากฎหมายความมั่นคงเกิด ข้อดีคือทหารไม่ต้องยึดอำนาจ เพราะมันเกิดรัฐประหารเงียบในตัวกระบวนการทางการเมือง อำนาจอยู่ในมือทหารโดยสภาพ หากลองอ่านตัวเหตุผลของกฎหมายซึ่งคิดว่าเป็นสาระหลัก ในสภาพที่เกิดรัฐประหารเงียบ รัฐบาลพลเรือนในอนาคตจะทำอย่างไร การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นใน 23 ธ.ค. นี้ จะได้เลือกหรือไม่ ถ้าได้เลือกผลของกฎหมายฉบับนี้หลังจากวันที่ 23 ธ.ค. 50 ล่ะ ประชาสังคมควรมีข้อเรียกร้องต่อพรรคการเมืองทุกพรรคว่าถ้าท่านเป็นรัฐบาลจะจับมือกันหรือไม่เพื่อให้ยกเลิกกฎหมายความมั่นคง ข้อเรียกร้องอย่างนี้ต้องชัดเจน พรรคการเมืองต้องเลิกเล่นบทกั๊กเสียที ถ้าพรรคการเมืองยอมรับเงื่อนไขประชาสังคมคิดว่ากฎหมายนี้ควรยกเลิก


 


แต่ในมุมกลับถามว่ารัฐไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายความมั่นคงหรือไม่ อาจจะต้องมีแต่ไม่ใช่กฎหมายความมั่นคงที่มีสาระครอบคลุมทุกอย่าง กฎหมายความมั่นคงร่างแรกครอบคลุมความผิดประมาณ 8-9 แบบ ในแบบสุดท้ายบอกว่า การกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐซึ่งไม่รู้คืออะไร ในร่างที่เข้าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถ้าดูตัวเหตุผลแล้วขอถามว่าความมั่นคงที่เป็นภัยคืออะไร ขออนุญาตอ่าน


 


"คือปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีหลากหลาย มีความรุนแรง รวดเร็วมาก ขยายตัวจนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและมีความสลับซับซ้อนจนอาจกระทบต่อเอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศและเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชน"


 


ถามว่าถ้าอ่านแล้วตีความไม่ว่าจะในกรอบของกฎหมายหรือในกรอบทางรัฐศาสตร์ตกลงแล้วภัยนั้นคืออะไร ?


 


ปัญหาที่สองคือใครจะเป็นผู้วินิฉัย ?


ประเด็นนี้บอกชัดในมาตรา 6 ว่า กอ.รมน. เป็นคนวินิจฉัยคือตรวจสอบ ติดตามตรวจสอบและประเมินแนวโน้ม ถ้าเป็นอย่างนี้ ทหารเป็นผู้วินิจฉัย เป็นผู้นิยามปัญหาความมั่นคง สมมติถ้าในอนาคตมีการชุมนุมขึ้นเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการให้ความหมายว่า การชุมนุมนั้นก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ หรือถ้ามีการชุมนุมขยายมากขึ้นก็บอกว่าอาจจะเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชน


 


ในสภาพสังคมที่เป็นเอ็มบีเอ รัฐประหารเงียบก็มาแบบเงียบ สังคมไทยคุ้นกับรัฐประหารแบบโฉ่งฉ่างมานานตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ (ธนะรัชต์) แต่เราไม่คุ้นกระบวนการที่เป็นเสมือนการรัฐประหารเงียบ โดยที่อำนาจทางการเมืองถูกส่งผ่านจากสถาบันของพลเรือนไปสู่กองทัพ


 


ประการที่ 2 คือการตอกย้ำชัดว่าระบอบทหารมันหวนกลับมาเกิด ที่น่าสนใจคือในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผมเชื่อว่าโลกาภิวัตน์สวนกระแสการก่อตั้งระบอบทหารหรือรัฐทหารทั่วโลก ในเอเชียถ้าเหลือคือปัญหาในพม่ากับปากีสถาน แต่เรามีกรณีที่ 3คือที่กรุงเทพฯ เราไม่สามารถพิสูจน์สมมติฐานซึ่งทางวิชาการพูดว่าการรัฐประหารมันเกิดไม่ได้ในยุคโกลาภิวัตน์ แต่กรณีประเทศไทยพิสูจน์ชัดว่ารัฐประหารมันเกิด และเกิดได้ดีด้วยในยุคโลกาภิวัตน์


 


ประการที่ 3 กฎหมายความมั่นคงส่งสัญาณที่ผิดพลาด เรามีรัฐประหารแล้วหลายท่านคงรู้ดีว่ารัฐประหารไม่เป็นจุดขายในเวทีระหว่างประเทศ ถ้าไม่ปิดข่าวว่าต่างประเทศพูดอะไรในบ้านเรา คงมีอะไรพูดอีกเยอะหรือใครที่เปิดอินเตอร์เน็ตคงเห็นอะไรอีกเยอะเหมือนกัน


 


ถ้าจุดขายไม่เกิดในขณะเดียวกันพยายามสร้างระบอบทหารด้วยการทำอำนาจของทหารให้มีความเป็นสถาบัน ถามว่าแบบนี้ระหว่างกรุงเทพฯกับปิ่นมะนาเมืองหลวงใหม่ของพม่าต่างกันหรือไม่ เราตอบไม่ออกเลย ในเอชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งหนึ่ง เราเคยเป็นตัวแบบของการเมืองที่ทหารถอยออกจากการเมือง เป็นตัวแบบฐานะที่สร้างประชาธิปไตยของเราได้ แต่วันนี้กลายเป็นตัวแบบด้านมืดที่สุดท้ายเราถอยกลับไปสู่โลกอดีต คือทหารยังมีอำนาจอยู่ในสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


 


สัญญาณอย่างนี้คิดว่าเมื่อรัฐประหารไม่มีจุดขายก็แย่พอแล้ว เรายังสร้างสัญญาณที่ผิดด้วยการสร้างกฎหมายความมั่นคงอีก เจ้าหน้าที่ทางทหารระดับสูงฝ่ายรัฐมักพูดเสมอว่ามีกฎหมายความมั่นคงในมาเลเซีย ซึ่งมีแต่ตั้งสติสักนิด หนึ่ง แล้วดูว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นจากกฎหมายความมั่นคงในมาเลเซีย


 


กฎหมายความมั่นคงของมาเลเซียคือ พรบ.คอมมิวนิสต์ แต่ไม่ได้ใช้ชื่อนี้เหมือนประเทศไทย เมื่อสงครามคอมมิวนิสต์ยุติด้วยข้อตกลงที่หาดใหญ่ ปี 1997 พรบ.คอมมิวนิสต์ของมาเลเซียไม่ยกเลิก ที่มาเลเซียวันนี้จับคนที่ต่อต้านรัฐบาล จับแม้กระทั่งปัญญาชนที่ออกไปพูดต่อต้านรัฐบาลนอกประเทศ สัญญาณอย่างนี้คิดว่าไม่เป็นผลดี ส่งสัญญาณว่าเราจะเป็นระบอบทหารที่แข็งแรงเท่านั้นเอง


 


ประการที่ 4 ปัญหาในการบริหารงานความมั่นคง เราจะมีทั้ง สมช. และ กอ.รมน. ถ้าใช้ภาษาคนทำงานความมั่นคงคือเรากำลังมีหน่วยงานระดับนโยบาย 2 หน่วยซ้อนกัน ข้อเสนอคือ ถ้าจะเอา กอ.รมน. ยุบ สมช.ก็ได้ ไม่มีประเทศไหนที่มีหน่วยงานด้านความมั่นคงระดับนโยบายซ้อนกัน ประเทศไทยมักพูดว่าเรามีข้อยกเว้นเพราะเป็นแบบไทยๆ แต่คำถามคือใครเป็นผู้ทำนโยบายกันแน่ ผลที่เกิดขึ้น ผมเคยพูดเสมอว่าสังคมไทยในงานด้านความมั่นคงมีคนหายไป 2 คน แล้วต้องประกาศหา จนวันนี้ก็ไม่เจอ คือ นายเอกภาพ กับนางสาวบูรณาการ หายไปหลายปีมากตั้งแต่ก่อนปล้นปืนใ 4 มกราคม 2547 ใน 3 จังหวัดภาคใต้ ปัญหาอย่างนี้อาจจะดูไม่เกี่ยวกับเราแต่มันคือขีดความสามารถของรัฐในงานด้านความมั่นคง


 


ประการที่ 5 คนที่ทำงานด้านสิทธิเริ่มตระหนักขึ้นเยอะว่าถ้ากฎหมายนี้ออก มาเลเซียคือตัวอย่างของปัญหา ผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นแน่ๆ


 


ประการที่ 6 ความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหาร ถ้าเป็นอย่างนี้ในอนาคตกระบวนการสร้างประชาธิปไตยของสังคมไทยจะประสบปัญหาเพราะสมดุลระหว่างอำนาจของทหารกับอำนาจทางการเมืองนั้นอำนาจไหกลับไปอยู่ในมือของทหารมากขึ้น กระบวนการสร้างความสัมพันธ์พลเรือนกับทหารที่เป็นประชาธิปไตยในอนาคตคจะประสบปัญหามากขึ้น


 


ขอเปิดประเด็นต่ออีกนิด เมื่อวันที่ 13 พ.ย. มีคนสัมภาษณ์ออกโทรทัศน์แล้วถามว่าจะเอาอย่างไรถ้าเขาประนีประนอมด้วยการยอมให้ กอ.รมน.ภาค และจังหวัดมีเอ็นจีโอหรือองค์กรภาคประชาชนไปนั่ง ผมบอกขอเสนอนี้ไม่ควรรับ ฝากเอ็นจีโอด้วย เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาหลักการไม่ใช่เอ็นจีโอเข้าไปนั่งแล้วเชื่อว่ากฎหมายนี้เชื่อว่าเป็นปัญหาที่ดีได้ ดีที่สุดวันนี้ผมเรียกร้องแต่ที่จริงคงทำไม่ได้ คืออยากให้เอ็นจีโอหรืออาจารย์ในสภาลาออกประท้วง


 


สื่อด้านหนึ่งคงอึดอัดอีกด้านหนึ่งมีหัวหน้าสื่อเข้าไปนั่งในสภา ก็ไม่ค่อยเห็นการเคลื่อนของสื่อกับปัญหากฎหมายความมั่นคง เคลื่อนช้ามากคือเคลื่อนหลังจากเป็นประเด็นแล้ว


 


สิ่งที่น่าถามเราจะเอาอย่างไรกับตัวเราเอง เคยวาดฝันหรือสร้างพิมพ์เขียวของสังคมประชาธิปไตยไทยในวันข้างหน้าหรือพร้อมจะอยู่กับสังคมเอ็มบีเอ ดังนั้น สังคมไทยต้องเอาสติกลับมา คิดว่าสังคมไทยวันนี้ต้องอ่านหนังสือเรื่อง "สติ" ของท่านพุทธทาส เพราะสังคมไทยขาดเยอะ ถ้าเอาสติกลับมาช่วยกันคิด ช่วยกันยั้งบางอย่าง เมื่อถูกถามว่าจะเสนออะไรถึงเพื่อนพ้องวงวิชาการ..มีอย่างเดียว เอาสติกลับมาสู่จิตวิญญาณทางวิชาการใหม่ ถ้าทำไม่ได้ ปัญญาชนสุดท้ายกลายเป็นแค่กลไกในระบบเอ็มบีเอหรืออมาตยาธิปไตยที่มีอำนาจทหารเป็นแกนกลาง


 


เอ็นจีโอบางส่วนยังสนุกหลังกระทืบรัฐบาลทักษิณเสร็จยังไปกระทืบเครือข่ายทักษิณในภาคอีสานบางพื้นที่ ลองเอาสติมาคิด เพราะถ้าเอ็นจีโอเคยพูดว่าประชาสังคมต้องเข้มแข็งแล้วเอ็นจีโอบางส่วนหนุนทหารตั้งแต่ยึดอำนาจหรือแม้กระทั่งหนุนทหารให้ออก พรบ.ความมั่นคง ไม่ใจว่ามีการต่อรองระหว่างเอ็นจีโอกับทหารหรือไม่ว่า ฝากเอ็นจีโออย่าทำ ไม่อยากเห็นเอ็นจีโอ นักวิชาการทรยศต่อสังคมไทย ปัญหาวันนี้เลยเอาหรือไม่เอาทักษิณไปแล้ว เลิกเสียที เพราะถ้าคิดแค่นั้นสังคมไทยเดินหน้าต่อไม่ได้


 


 


เรื่องที่เกี่ยวข้อง


 


บทความสุรชาติ บำรุงสุข (2) : กฎหมายความมั่นคงมาเลเซีย ข้อคิดสำหรับประเทศไทย - 12/11/2550


บทความสุรชาติ บำรุงสุข (1) : กฎหมายความมั่นคงกับการละเมิดสิทธิ บทเรียนจากมาเลเซีย


บทความ "สุรชาติ บำรุงสุข" : รัฐประหารเงียบ !


บทความ "สุรชาติ บำรุงสุข" - กฎหมายความมั่นคงใหม่ : กำเนิดรัฐทหารใหม่!


สุรชาติ บำรุงสุข : รัฐประหาร 2549 และการสูญเสียความฝันถึงอนาคตการเมืองที่ไกลกว่า เอา-ไม่เอา ทักษิณ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net